เพื่ออนาคตของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ตอน ๑ แก้ปัญหา

การศึกษาไทย: เพื่อแก้ปัญหาอะไร?

ก่อนที่จะพูดว่า การศึกษาระบบนี้แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาให้สังคม เราก็ต้องมาดูว่า การศึกษาแบบนี้เราได้เริ่มต้นจัดขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอะไร หมายความว่า เพื่อความมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาอะไรนั่นเอง ถ้าอย่างนี้แล้วก็รู้สึกว่าจะมีความชัดเจน

ปัญหาของประเทศไทย ในขณะเมื่อจะเริ่มต้นจัดการศึกษาแบบนี้ขึ้นนั้น เป็นปัญหาที่เรียกได้ว่าอันเดียว แม้จะมีหลายด้าน คือการคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก ซึ่งพร้อมกับปัญหานี้ก็โยงไปถึงปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นลักษณะอีกด้านหนึ่งของปัญหาเดียวกัน กล่าวคือ ประเทศไทยของเราไม่เจริญก้าวหน้าพอที่จะแข็งข้อต่อต้านประเทศอาณานิคมเหล่านั้น คำว่าไม่เจริญก้าวหน้าในที่นี้ หมายถึงว่า ไม่เจริญก้าวหน้าในทางวัตถุ ในทางวิทยาการและระบบการต่างๆ เมื่อมีปัญหาอย่างนี้ขึ้นก็จะต้องหาทางแก้ ซึ่งผู้นำของประเทศในเวลานั้นก็จะต้องหันมามุ่งที่จะระดมกำลังเข้าแก้ปัญหานี้ ในการที่จะแก้ปัญหานี้ สิ่งที่จะต้องทำก็คือ

๑. รวมกำลังรวมจิตรวมใจคนทั้งชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีจิตสำนึกร่วมกันตลอดจนกระทั่งมีศูนย์อำนาจอันเดียวกัน พุ่งไปทางเดียวกันแน่วแน่ตามผู้นำ แล้วก็คอยเป็นกำลังหนุน เป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพให้กับผู้นำ ในการที่จะแก้ปัญหานั้น หรือในการที่จะต่อสู้กับลัทธิอาณานิคม

๒. จะต้องเร่งรัดปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย ทันเหตุการณ์ ภายในเวลาอันรวดเร็ว

นี้เป็นหลักการสำคัญสองประการ ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้ผลอย่างนี้ก็มีสองอย่าง เอาเฉพาะที่เป็นตัวเอก ก็คือ

ประการที่ ๑ การปกครอง ได้แก่ การจัดแบบแผน ระบบการปกครองให้เข้าสู่ความมุ่งหมายที่ว่า รวมศูนย์อำนาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมใจคนทั้งชาติ เพื่อให้ระดมกำลังได้เต็มที่ และมุ่งหน้าไปในทางเดียวกัน

ประการที่ ๒ ก็คือ จัดการศึกษาเพื่อเสริมคุณภาพคน หรือสร้างคนที่มีคุณภาพ ที่จะมาเป็นเครื่องมือช่วยในการพัฒนาประเทศชาติหรือสร้างสรรค์ความทันสมัยนั้น และให้การศึกษานั้นเป็นปัจจัยที่จะช่วยเสริมให้การปกครองได้ผลตามที่ต้องการด้วย

ฉะนั้น จึงสรุปสิ่งที่จะต้องทำได้ดังนี้

ก. ทำให้คนรวมเข้าในระบบแบบแผนอันเดียวกัน ด้วยการจัดระบบการปกครอง และลึกลงไปก็คือ ด้วยการจัดระบบการศึกษา ที่จะเป็นฐานให้แก่ระบบการปกครองนั้น

ข. สร้างกำลังคนให้แก่รัฐ โดยเฉพาะในเวลานั้น ข้อสำคัญก็คือ ด้วยการเตรียมคนเข้ารับราชการ เพราะข้าราชการเป็นฐานสำคัญอันดับแรกที่จะรวมกำลังคนได้ เอามาใช้ได้ และเป็นแหล่งแรกที่จะต้องสร้างเสริมคุณภาพ

เมื่อจะทำให้ได้ผลเช่นนี้ ว่าเฉพาะในทางการศึกษาจะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่จะต้องดำเนินการในด้านการศึกษาก็คือ

๑) จัดระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์ ให้เอื้อต่อและสอดคล้องกับระบบแบบแผนการปกครอง และแผ่ระบบรวมศูนย์นี้ไปทั่วประเทศ ให้เป็นเครื่องชักนำคนทั้งชาติ เข้ามาอยู่ในระบบแบบแผนการปกครองอันเดียวกัน โดยอาจจะให้มีความรู้แบบเดียวกัน คิดแบบเดียวกัน พูดแบบเดียวกัน ทำเหมือนกันด้วย ซึ่งก็จะทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้เต็มที่

๒) จัดหลักสูตรการศึกษาให้พลเมืองได้เล่าเรียนวิทยาการสมัยใหม่ ที่จำเป็นสำหรับการเร่งรัดปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยโดยเฉพาะจำพวกวิชาชีพชั้นสูงซึ่งในตอนนั้นจะเห็นว่ามีการเน้นบางวิชา อย่างที่เปิดขึ้นก็มีพวกกฎหมาย การปกครอง การพาณิชย์ วิศวกรรม สถาปัตย์ การแพทย์ รวมทั้งการฝึกหัดครู เพื่อเตรียมคนให้มีคุณภาพ แล้วจะได้พัฒนาวิชาการต่างๆ อย่างที่ว่าข้างต้นด้วย

เพื่อให้เป็นอย่างนี้ ก็ได้มีปฏิบัติการในทางการศึกษาที่สำคัญสองประการ

ประการที่หนึ่ง คือ ดำเนินการศึกษาระดับพื้นฐานทั่วประเทศออกไปจากส่วนกลาง

ประการที่สอง คือ จัดการศึกษาระดับสูงในส่วนกลาง ดังจะเห็นได้ว่ามีการตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก หรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และพัฒนาต่อมาอีกจนกระทั่งเป็นมหาวิทยาลัย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด มหาวิทยาลัยทั้งหลายในปัจจุบันก็พัฒนามาจากการศึกษาแบบนี้

เมื่อมองในขั้นสุดท้าย การศึกษาพื้นฐาน (ประการที่หนึ่ง) ก็ช่วยให้คนได้มาเข้าสู่การศึกษาที่อยู่ในส่วนกลาง (ประการที่สอง) นี้อีกชั้นหนึ่งนั่นเอง ถ้าดูตามสภาพในปัจจุบันก็คือเริ่มจากประถมศึกษาในชนบทจนมาเข้ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้อคำนึงที่จะจัดการศึกษาข้อแรกที่สุดก็คือ การศึกษาระดับพื้นฐานในชนบททั่วประเทศจะทำอย่างไร

พอถึงตอนนี้เรื่องก็เลยโยงไปหาพระ โยงไปหาอย่างไร ก็มองเห็นว่า วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นศูนย์กลางของการศึกษามาแต่สมัยโบราณ พระเป็นผู้นำของชนบทและมีบทบาทสำคัญในการศึกษา เพราะฉะนั้น ก็จะต้องให้พระเป็นผู้นำในเรื่องการศึกษาระดับพื้นฐาน ที่จะดำเนินการขึ้นในชนบททั่วประเทศ และแม้แต่ตัวพระนั้นเองก็จะต้องรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางด้วยเหมือนกัน พูดให้แน่นเข้าอีกว่า พระเป็นผู้นำและเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านอยู่แล้วและพระก็เป็นผู้ให้การศึกษาแก่ชาวบ้านอยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้น ก็เอาการศึกษาแบบรวมศูนย์ไปมอบถวายแก่พระ แล้วก็ให้พระใช้ความเป็นผู้นำที่มีอยู่แล้วนั่นแหละรวมชาวบ้านเข้าสู่ศูนย์กลาง ด้วยการให้การศึกษาแบบรวมศูนย์เสียเลยทีเดียว ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ราษฎร แก่รัฐ และแก่วัดพร้อมไปด้วยกัน

ถึงขั้นนี้ก็เป็นอันได้นโยบายและเห็นทางปฏิบัติ ทางรัฐบาลในสมัยนั้นก็จึงได้ให้พระในฐานะตัวแทนของฝ่ายการศึกษา และกระทรวงมหาดไทยในฐานะตัวแทนของฝ่ายปกครอง มาช่วยกันดำเนินการศึกษา ดังที่ได้ปรากฏชัดเจนว่า ในด้านการศึกษานั้น ในหลวงรัชกาลที่ห้า ได้อาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดดำเนินการศึกษาในชนบททั่วประเทศ แล้วก็โปรดฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยฝ่ายปกครอง เป็นผู้เกื้อหนุนในด้านอุปกรณ์เป็นต้นทุกอย่าง เพื่อให้พระดำเนินการศึกษาไปได้ด้วยดี

เรื่องที่ว่านี้แสดงให้เห็นว่า การศึกษากับการปกครองมาเกื้อหนุนกันอย่างไร หรือว่าการดำเนินการศึกษาพื้นฐานทั่วประเทศนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อให้มาเอื้อต่อการปกครองอย่างไร ดังได้กล่าวแล้วว่า ในเวลานั้น เราจะต้องจัดระบบการปกครองให้ประชาชนทั้งชาติอยู่ในแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน การปกครองนี้หมายถึงการปกครองทั้งฝ่ายบ้านเมืองและพระสงฆ์ และเราก็ได้อาศัยการศึกษามาเป็นตัวช่วยให้วางระเบียบแบบแผนการปกครองเช่นนั้นได้สมประสงค์

เรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจน ดังจะแสดงให้เห็นตัวอย่าง กล่าวคือ เมื่อจะวางพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับแรกของประเทศไทยนั้น ได้มีการเตรียมการในทางการศึกษาก่อน ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นได้ชัดจากประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ อาตมภาพจะขอโอกาสอ่านสักหน่อย จะได้เห็นชัดว่าการศึกษาสัมพันธ์กับการปกครองอย่างไร

“มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ด้วยเมื่อ ร.ศ. ๑๑๗ ได้โปรดให้พระราชาคณะหลายรูปออกไปจัดการศึกษาตามอารามในหัวเมือง และได้ทรงอาราธนาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ที่สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ ให้ทรงรับภาระธุระอำนวยการนั้นในฝ่ายสมณะ และได้โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงรับหน้าที่อุดหนุนการนั้น ในส่วนหน้าที่เจ้าพนักงานฝ่ายฆราวาส ความแจ้งอยู่ในประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง ซึ่งได้ออกเมื่อ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗ นั้นแล้ว พระสงฆ์เถรานุเถระ และเจ้าพนักงานในฝ่ายฆราวาส ได้ช่วยกันจัดและอำนวยการตามพระราชดำริ ด้วยความสามารถและอุตสาหะ อันเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้เห็นผลความเจริญในการเล่าเรียน ตลอดจนความเรียบร้อยในการปกครองพุทธมณฑลขึ้น โดยลำดับมา บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรจะตั้งเป็นแบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ให้มั่นคงเรียบร้อยได้แล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ เดือนมิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑”

เอาแค่นี้ก่อน เพียงเท่านี้ก็ชัดแล้วว่า ก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น ก็ได้มีการจัดการเล่าเรียนในหัวเมืองแล้ว จนกระทั่งว่า การศึกษานี้ได้ทำให้พระสงฆ์ ตลอดจนประชาชน เข้ามาอยู่ภายในระบบแบบแผนที่จะจัดตั้งเป็นการปกครองอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จึงได้ออกพระราชบัญญัตินี้ นับว่าเป็นนโยบายที่เราจะต้องมองรวมทั้งประเทศว่า ดำเนินการเพื่อความมุ่งหมายอะไร ความมุ่งหมายก็เป็นดังที่อาตมภาพกล่าวมาแล้วข้างต้น คือ เมื่อทำอย่างนี้ การศึกษาก็เกื้อหนุนแก่การปกครอง และการปกครองที่จัดก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้น แล้วเราก็ได้ผลสำเร็จตามนั้น กล่าวคือ ประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จ แก้ปัญหาได้จริงตามที่มุ่งหมาย

๑. เราพ้นจากการครอบครองของลัทธิอาณานิคม

๒. ประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าทันสมัยในทางวัตถุ วิทยาการ และระบบการที่ทันสมัยแบบประเทศตะวันตก

จึงตอบได้ว่า การศึกษาไทยสมัยใหม่นี้ ได้แก้ปัญหาให้แก่สังคมได้แล้ว ฉะนั้น ที่ตั้งคำถามไว้ว่า การศึกษาไทยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาให้สังคมไทย เราก็ตอบคำถามนั้นเสร็จไปแล้วเป็นขั้นที่หนึ่ง อันนี้เป็นช่วงที่หนึ่ง ต่อไปก็จะถึงช่วงที่สอง ซึ่งจะมาดูกันในปัจจุบันนี้ว่า การศึกษาไทยได้มีการสร้างปัญหาหรือไม่

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง