กฐินสู่ธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

กฐินขยายผล กลายเป็นกิจกรรมของประชาชน

ในการที่จะเสร็จเป็นกฐินนั้น มีกิจกรรมสำคัญแยกได้เป็นสองตอน ได้แก่

  1. ตอนเข้าที่ประชุม ซึ่งมี ๒ ช่วง คือ ประชุมมอบผ้ากฐินให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งไป และเมื่อพระทั้งวัดไปช่วยกันทำจีวรเสร็จแล้วก็มาประชุมกันอีก พระที่ได้จีวรก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกิจกรรมที่สำเร็จแล้ว และที่ประชุมก็อนุโมทนา กับ
  2. ตอนนอกที่ประชุม ซึ่งก็มี ๒ ช่วงเหมือนกัน คือ การหาผ้ามาก่อนมอบ กับตอนมอบกันแล้วก็ไปทำจีวร

กิจกรรม ๒ อย่างนี้ เดิมเป็นหน้าที่ของพระ ตามพุทธบัญญัติ พระต้องทำหมด แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเปิดโอกาสไว้ในพุทธบัญญัติว่า ผ้าที่เอามามอบให้ จะเป็นผ้าที่ทำมาเสร็จแล้วก็ได้ หมายความว่า มีญาติโยมนำมาถวายก็ได้ แต่ต้องถวายได้มาในวันนั้น และเอามามอบกันในที่ประชุม

ตรงนี้แหละ คือจุดที่แยกเป็น ๒ ตอน ตอนที่เป็นเรื่องของที่ประชุม คือตอนมอบผ้าและตอนอนุโมทนาเป็นเรื่องของพระสงฆ์โดยแท้ ส่วนอีกตอนหนึ่งที่เป็นเรื่องของการหาผ้าและทำผ้า ท่านขยายกว้างออกไป คือนอกจากพระสงฆ์จะสามัคคีกันเองแล้ว ถ้าคฤหัสถ์จะศรัทธาและร่วมใจ ก็ให้คฤหัสถ์เข้ามาสามัคคีด้วยได้ คือ เข้ามาร่วมในเรื่องกฐินนี้ ในส่วนของการเอาจีวรมาถวายพระสงฆ์

แต่ตรงนี้ขอย้ำว่า ญาติโยมพุทธศาสนิกชนนั้นต้องมีศรัทธาของเขาเอง ต้องเกิดจากน้ำใจของเขาเอง พระสงฆ์จะไปบอกเขาไม่ได้เป็นอันขาด จะไปพูดเลียบเคียงทำเลศนัยไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าไปบอกว่าวัดฉันยังไม่มีใครมาทอดกฐิน แล้วเขามาทอดกฐิน กฐินนั้นก็เป็นโมฆะ จะไปแสดงอะไรก็ตามที่เป็นเลศนัยทำให้เขามาทอดกฐิน ผิดทั้งนั้น ทำให้การกรานกฐินเป็นโมฆะ

การที่ญาติโยมจะมีน้ำใจศรัทธาและมีความสามัคคี ก็หมายความว่า พระในวัดนั้น ต้องมีความประพฤติดี มีความสามัคคี ปฏิบัติถูกต้องตามศีลาจารวัตรที่ทำให้ญาติโยมมีศรัทธาเลื่อมใส เขาจึงอยากจะร่วมมือช่วยเหลือโดยเอาผ้ามาถวาย

ในส่วนที่ญาติโยมทำได้ แสดงสามัคคีได้ โดยเอาผ้ามาถวายนี่แหละ ก็จึงทำให้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ทำต่อกันมาจนขยายตัวเป็นประเพณีทอดกฐิน ซึ่งเราเรียกว่าไปทอดกฐิน การทอดกฐินก็เลยเป็นเรื่องของคฤหัสถ์เข้ามามีส่วนด้วย ตกลงก็จึงมี ๒ ส่วน คือส่วน กรานกฐิน เป็นเรื่องของพระ และส่วน ทอดกฐิน เป็นเรื่องของคฤหัสถ์ คือการเอาผ้ากฐินไปถวายสงฆ์ ถวายเป็นของส่วนรวม ถวายเป็นของกลาง

เวลาไปถวายตัวผ้ากฐิน ซึ่งเป็นแกนของเรื่อง ที่เรียกว่า องค์กฐิน นั้น จะต้องไม่ถวายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เอาไปวางไว้ต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ท่านก็ไปตกลงกันเองในที่ประชุมว่าจะมอบให้แก่พระรูปใด

สาระสำคัญของกฐินนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องของความสามัคคีในพระสงฆ์แล้วขยายออกไปสู่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ โดยเปิดโอกาสให้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ได้มาร่วมแสดงความสามัคคีด้วย และการที่ฝ่ายคฤหัสถ์จะมาแสดงความสามัคคีด้วยนั้น ก็มีผลย้อนกลับในแง่ที่เป็นทั้งการย้ำเตือน และการพิสูจน์ ถึงการที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติดีสามัคคีกันอยู่ก่อน

เป็นอันว่า ตอนนี้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์มาสามัคคีกับพระสงฆ์แล้ว ต่อมาพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ก็สามัคคีกันเองอีก แทนที่ว่าคนเดียวมาถวายก็ไปร่วมกันทำอย่างที่เรานิยมมีกฐินสามัคคี ตลอดจนมีประเพณีที่เรียกว่าจุลกฐิน เพื่อแสดงความสามัคคีให้มากขึ้น โดยต้องทำทุกอย่างให้เสร็จในวันเดียว ตั้งแต่นำผ้ามาปั่นเป็นด้าย เอาด้ายนั้นมาทอเป็นผ้า เอาผ้านั้นมาซักมาเย็บมาย้อมเป็นจีวร ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว และถวายให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง เรียก จุลกฐิน ล้วนเป็นเรื่องของการสามัคคีทั้งนั้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสามัคคีข้ามถิ่น คือ พุทธศาสนิกชนในถิ่นนี้ถือตัวว่าเป็นเจ้าของวัดนี้ เป็นศรัทธาของวัดนี้ ก็ไปทอดกฐินที่วัดอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดของตำบลนั้น เป็นการแสดงน้ำใจต่อวัดนั้น และต่อชาวตำบลอีกตำบลหนึ่งนั้น บางทีก็ข้ามจังหวัดอย่างที่ท่านทั้งหลายมาทอดนี้ เป็นการแสดงน้ำใจสามัคคีที่ขยายวงกว้างออกไป สาระสำคัญของกฐินจึงอยู่ที่การแสดงออกซึ่งความสามัคคี

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง