กฐินสู่ธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๑. เรื่องของชาวพุทธ

เทศกาลท้ายฝน1

ชีวิตของชาวไทยในชนบท ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนมากเป็นชาวไร่ชาวนา ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน ฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลสำคัญ เป็นฤดูกาลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน บรรยากาศที่ชุ่มฉ่ำและพืชพันธุ์ธัญญาหารที่งอกงามเขียวขจีในฤดูนี้ เป็นเครื่องชุบกายและฟื้นใจให้สดชื่นมีชีวิตชีวา แต่ในเวลาเดียวกัน ถนนหนทางและพื้นแผ่นดินที่เฉอะแฉะมีโคลนเลนเป็นหลุมเป็นบ่อ ก็เป็นอุปสรรคแก่การเดินทาง และการดำเนินชีวิตในที่แจ้ง ทำให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง ไม่คล่องแคล่วสะดวกดาย

พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ซึ่งในยามปกติย่อมเที่ยวจาริกไปในถิ่นต่างๆ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจเผยแพร่พุทธธรรม ครั้นฤดูฝนย่างเข้ามา ก็หยุดสัญจร เข้าพำนักอยู่ประจำที่ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลา ๓ เดือน เพื่อหลีกเว้นเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืชพันธุ์ที่พึ่งจะเริ่มงอกงาม และเปิดโอกาสให้ชาวชนบทประกอบการกสิกรรม โดยไม่ต้องห่วงกังวลถึงพระสงฆ์ที่จะเดินทางออกไปต่างถิ่น หรือเข้ามาจากถิ่นอื่นๆ อีกทั้งตัวพระสงฆ์นั้นเอง ก็ไม่ต้องประสบปัญหาอันเกิดจากการเดินทางที่ยากลำบากด้วย

นอกเหนือจากเหตุผลอันเกี่ยวด้วยดินฟ้าอากาศแล้ว การที่พระสงฆ์หยุดอยู่ประจำที่ในฤดูฝน ได้อำนวยโอกาสให้กิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาและปฏิบัติธรรมในแต่ละท้องถิ่นดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็งจริงจังยิ่งขึ้น พระสงฆ์ที่เป็นผู้ใหญ่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในธรรมวินัย เป็นนักเผยแผ่ ก็ได้มีโอกาสหยุดพักผ่อน ทบทวนงาน คิดการที่จะทำต่อไป และอำนวยความรู้ความชำนาญแก่พระสงฆ์อื่นที่พำนักร่วมอยู่ พระสงฆ์ที่มีความรู้ความชำนาญน้อยลงมา ก็มีโอกาสที่จะได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และปรึกษาสอบถามท่านผู้มีความรู้ความชำนาญมากกว่า แม้พุทธศาสนิกชนชาวบ้านทั้งหลาย ก็มีโอกาสได้สดับธรรมและสนทนาสอบถามเรื่องราวทางพระศาสนากับพระสงฆ์ผู้อยู่ประจำที่ได้สม่ำเสมอยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังได้เกิดประเพณีที่ให้ชายหนุ่มอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วอุปสมบท เพื่อรับการศึกษาอบรมทางพระศาสนาอย่างจริงจังในช่วงที่มีบรรยากาศเหมาะสมนี้อีกด้วย เพราะเหตุที่เทศกาลฝนหรือเทศกาลพรรษามีความหมายและคุณค่าอย่างนี้ ในสมัยต่อมา แม้ปัญหาเกี่ยวด้วยดินฟ้าอากาศจะลดความสำคัญลง แต่ความหมายของเทศกาลพรรษาก็ยังทรงคุณค่าอยู่ได้อย่างมั่นคง

ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน พระสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ ประมาณ ๘-๙ เดือน อยู่ประจำที่ในเทศกาลพรรษา ๓ เดือน เสมือนว่า ทำงานนอกสถานที่ ๓ ส่วน ในสถานที่ ๑ ส่วน ทำงานกระจายเพื่อประชาชนทั่วไป ๓ ส่วน ทำงานเจาะจงเพื่อชุมชนหนึ่งโดยเฉพาะ ๑ ส่วน ออกไปเผื่อแผ่แจกให้เขา ๓ ส่วน กลับมาตระเตรียมฟื้นตัวใหม่ ๑ ส่วน ในลักษณะหนึ่งเป็นเหมือนเครื่องประจุไฟฟ้า (แบตเตอรี่) ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าไประยะหนึ่งแล้ว กลับมาอัดกระแสเตรียมพร้อมที่จะใช้งานต่อไปใหม่

เทศกาลพรรษาเริ่มต้นด้วยงานพิธีเป็นเครื่องหมายให้รู้กัน ฉันใด ก็สิ้นสุดลงด้วยมีงานพิธีเป็นเครื่องหมายฉันนั้น เริ่มต้นพรรษาเรียกว่า เข้าพรรษา สิ้นสุดพรรษา เรียกว่า ออกพรรษา

อย่างไรก็ดี ลักษณะงานพิธีสำหรับเริ่มต้นพรรษา และสิ้นสุดพรรษานั้น หาได้เหมือนกันอย่างแท้จริงไม่

เมื่อเริ่มต้นพรรษา มีวันวันหนึ่งกำหนดไว้โดยเฉพาะสำหรับเริ่มต้นเรียกว่า เข้าพรรษา (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) และพิธีกรรมก็เป็นพิธีสำหรับเข้าพรรษา โดยพระสงฆ์กล่าวคำแสดงความตั้งใจ หรือตัดสินใจว่า “ข้าพเจ้าจะจำพรรษาตลอดเวลา ๓ เดือนในวัดนี้”

เมื่อสิ้นสุดพรรษา วันที่พรรษาสิ้นสุดลงมีจริง เรียกว่า วันออกพรรษา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) แต่พิธีกรรมที่จะให้พรรษาสิ้นสุดลงหามีไม่ เพราะเมื่อวันเวลาที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนเต็มตามที่กล่าวคำตั้งใจแล้ว การจำพรรษาย่อมสิ้นสุดลงโดยตัวของมันเอง เป็นของอัตโนมัติ แทนที่จะมีพิธีสำหรับให้พรรษาสิ้นสุดลง กลับมีพิธีกรรมและงานพิธีอื่น ซึ่งมีลักษณะเป็นการเริ่มต้นมากกว่า คือ เริ่มต้นเวลาหลังจากพรรษาสิ้นสุดแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีพิธีเริ่มต้นเวลาในพรรษาที่เรียกว่า เข้าพรรษา กับพิธีเริ่มต้นเวลานอกพรรษา ที่จะพูดถึงต่อไป

พิธีเริ่มต้นเวลานอกพรรษานั้น มีความหมายเชื่อมโยงเวลาในพรรษากับเวลานอกพรรษาให้สัมพันธ์กัน คือ อ้างอิง หรืออาศัยเวลาที่ผ่านมาในพรรษานั้นเป็นฐาน เพื่อเริ่มต้นกิจการงานในเวลานอกพรรษาที่จะมีมาต่อไปให้ได้ผลดี

วัสสานกาล หรือ พรรษากาล หรือฤดูฝนนั้น ความจริงมี ๔ เดือน พระสงฆ์จำพรรษาเพียง ๓ เดือน เดือนสุดท้ายของฤดูฝนจึงยังเหลืออยู่ ๑ เดือน ขอเรียกง่าย ๆ ว่า เดือนท้ายฝน (เริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) เป็นเดือนที่เหลือไว้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับงานหรือศาสนกิจนอกพรรษาต่อไป งานพิธีในเวลาช่วงนี้ขอเรียกว่า เทศกาลท้ายฝน

พิธีกรรมและงานพิธีในท้ายฝนนี้มีถึง ๓ อย่าง บางอย่างเป็นพิธีที่ต้องทำในวันสิ้นสุดพรรษา บางอย่างทำได้ตลอดเดือนท้ายฝน บางอย่างเป็นพิธีตามบทบัญญัติในวินัยของพระสงฆ์ บางอย่างเป็นพิธีอันมีมาตามประเพณี บางอย่างเป็นทั้งบทบัญญัติในวินัยสงฆ์ และเป็นพิธีอันมีมาตามประเพณี

พิธีกรรมและงานพิธี ๓ อย่างนี้ มีชื่อว่า พิธีมหาปวารณา (เรียกง่ายๆ ว่า พิธีปวารณา) งานตักบาตรเทโวโรหณะ (ชาวบ้านเรียกว่า ตักบาตรเทโว) และงานทอดกฐิน งานใดเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร จะได้พูดต่อไป

1พิมพ์ครั้งแรก ในวารสารธรรมปทีป ของวัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ปีที่ ๓ เล่มที่ ๑๙ ฉบับมหาปวารณา พ.ศ.๒๕๒๐
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง