ปี ๔๙ ใช้ให้ครบสี่เท้า ต้องก้าวหน้าแน่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

มี “สี่เท้า” ปี “๔๙” ไปดีแน่

 

อย่างไรก็ตาม จะเอาแค่นั้นคงไม่พอ เพราะว่าเพียงคิดจะให้ตัวเลขมีความหมายดีๆ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร แล้วมันจะก้าวไปได้อย่างไร ตัวเลขอย่างเดียวเป็น “เก้า” แต่ถ้าเราไม่ “ก้าว” ไป มันจะไปได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ต้องคิดให้ดีๆ

แล้วเรื่องโชคลางนี้ บางทีก็เอาไปประสานบรรจบกับเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อย่างที่พบในหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้ ก็อ้างปีใหม่ ๔๙ นี่แหละ บอกว่าจะมีพิธีมงคล เอาพระมาทำพิธี ตั้ง ๙,๙๙๙ องค์ นี่ก็เป็นเรื่องของความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เราจะต้องวางใจให้ถูกต้อง

รวมแล้ว เรื่องเหล่านี้ก็เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับสังคมไทยของเราว่า เรามีความเชื่อถือในเรื่องของโชคลางและเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาก

โชคลางนั้น ก็เป็นเรื่องของการที่เราไปยอมว่าแล้วแต่มันจะเป็นไป คล้ายกับลัทธิที่ว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย หรือเป็นการเชื่อต่ออำนาจภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้

ถ้าเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็ดูเฉียดๆ กันอยู่กับพระพุทธศาสนา บางทีเราบอกว่าเป็นพุทธศาสนา แต่เมื่อ วิเคราะห์กันดูแล้วก็ยังน่าสงสัย น่าแคลงใจอยู่ อย่างที่ชอบเอามาพูดกันนั้น มันมักจะไปเข้าทางของลัทธิหวังผลดลบันดาล ซึ่งต้องระวังให้หนัก

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เมื่อมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ในเรื่องของปีใหม่ ๒๕๔๙ นี้ ชาวพุทธเราก็ต้องเข้าใจ และวางใจให้ถูก

อย่างที่ว่าไปแล้ว เรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์นั้น คนไทยเราชอบมาก แต่ถึงจะมองในแง่ดี ก็ต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ชัดและต้องรู้ด้วยว่าอย่าติดอยู่แค่นั้น

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้เรามาเถียงกันว่าอิทธิปาฏิหาริย์หรือฤทธิ์นี้ จริงหรือไม่จริง แต่ทรงสอนไว้ว่า ถึงจริง ก็ไม่หวังพึ่ง นี่แหละจุดสำคัญ คำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้ คือเรายอมรับได้เลยว่าฤทธิ์มีจริง แต่ท่านไม่ให้มัวไปหวังพึ่งฤทธิ์นั้น

ท่านสอนหลักการใหญ่ไว้ ซึ่งเราก็จำกันได้ทุกคนว่า ให้รู้จักพึ่งตนเอง ก็ฤทธิ์เป็นของคนอื่น แล้วเราจะไปหวังพึ่งฤทธิ์ได้อย่างไร ถ้าเราหวังพึ่งฤทธิ์ มันก็แสดงว่าเราไม่ได้ปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง

ฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นเรื่องที่ต้องคอยให้คนอื่นบันดาลให้แล้วเราลองพิจารณาดูตัวเองซิว่า การที่เราต้องคอยให้คนอื่นบันดาลให้นั้น เราอ่อนแอหรือเปล่า ถ้าเราไม่ทำเอง ไม่เพียรพยายาม ไม่ใช้เรี่ยวแรงกำลังของตัว ถ้าเราทำให้เกิดความสำเร็จเองไม่ได้ จะกลายเป็นความอ่อนแอไหม

ฤทธิ์ปาฏิหาริย์นั้น เราจะต้องทำให้เกิดมีของเราเอง พระพุทธศาสนาท่านไม่ให้เรารอหวังพึ่งฤทธิ์ของคนอื่น แต่ท่านให้เราสร้างฤทธิ์ให้เกิดมีเป็นของตนเองขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงมีหลักธรรมสำหรับสร้างฤทธิ์ของตนเอง ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ชัดเจน

หลักธรรมข้อนี้ชาวพุทธทุกคนรู้จักกันทั้งนั้น แต่บางทีไม่ได้นึก

คำว่า “ฤทธิ์” ภาษาบาลีเรียกว่า อิทธิ ส่วน ฤทธิ์ เป็นคำสันสกฤต บางทีเราก็พูดควบกันเป็น “อิทธิฤทธิ์” คือบาลีว่า อิทธิ สันสกฤตว่าฤทธิ์ รวมกันเป็นอิทธิฤทธิ์ พูดซ้อนกัน เป็นคำซ้ำซ้อน บางทีก็เรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ บางทีก็พูดว่าฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็คือคำเดียวกันนั่นเอง

เรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์ ก็อย่างที่บอกแล้วว่าท่านไม่ได้ปฏิเสธ ท่านไม่ได้บอกว่าไม่จริง แต่ท่านบอกว่า ถึงจริง เราก็ไม่หวังพึ่ง ข้อสำคัญก็คือว่า เราจะต้องสร้างฤทธิ์ขึ้นมาเอง

ได้กล่าวแล้วว่า ฤทธิ์คืออิทธิ แล้วหลักธรรมอะไรที่สร้างฤทธิ์ หลักธรรมนี้ ถ้าเป็นนักเรียนพุทธศาสนา ต้องรู้จักกันทั่วหมด หลักธรรมสำหรับสร้างฤทธิ์ ก็คือ อิทธิบาท นั่นเอง

ในคำว่า “อิทธิบาท” นั้น อิทธิ ก็คือฤทธิ์ และฤทธิ์นั้น แปลว่าความสำเร็จก็ได้ ความรุ่งเรืองก็ได้ แล้ว บาท แปลว่าอะไร บาทก็บาทา บาทาก็คือเท้า เท้าก็คือเครื่องอุปกรณ์ที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมาย

เป็นอันว่า อิทธิบาท ก็คือเท้าที่จะก้าวไปสู่ฤทธิ์ หรือเท้าที่จะก้าวไปให้ถึงความสำเร็จ ให้เข้าถึงความรุ่งเรือง อิทธิบาท ๔ ก็คือสี่เท้าที่จะก้าวไปให้ถึงฤทธิ์

ถ้าใครปฏิบัติตามหลักอิทธิบาทสี่ ก็จะเป็นผู้มีฤทธิ์ และมีฤทธิ์ที่เราทำได้เอง ซึ่งก็จะสมชื่อปี ๒๕๔๙ ที่เราจะก้าวเข้าไป

นี่แหละ เรามีสองเท้าแล้ว ยังไม่ค่อยยอมก้าว ท่านเลยให้ซะสี่เท้า ตอนนี้มีอิทธิบาท ๔ บาทาสี่ มีสี่เท้า ท่านให้ตั้งสี่เท้าแล้ว ถ้ายังไม่ก้าว ก็เห็นจะแย่แล้วคราวนี้

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ใช้เท้าสี่ของอิทธิบาทนี้ ก้าวกันไปซะที อิทธิบาท ๔ นี้ ถ้ามีแล้ว ก้าวแน่นอน ก้าวไปสู่ความสำเร็จ เรามี “สี่เท้า” ก็ได้ “๔๙” แน่

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง