ตอนนี้ก็มาถึงขั้นที่ว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุขจริงๆ คนเรานี้ ถ้ารู้จักความสุขว่ามีหลายชนิด เราก็จะพยายามเข้าถึงความสุขเหล่านั้น และเราก็จะได้ความสุขมากขึ้น
ความสุขนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ มิใช่มีแค่อย่างเดียวหรือสองอย่าง แต่มีมากมายทีเดียว
พระพุทธศาสนาแสดงความสุขไว้หลายอย่าง บางครั้งพูดไว้ถึง ๑๐ ชนิด แสดงว่าคนเรานี้มีทางได้ความสุขเยอะแยะ แต่โดยมากคนมาติดอยู่กับความสุขชนิดเดียว เลยไม่ได้รู้รสความสุขที่สูงขึ้นไป วันนี้จะพูดถึงความสุขสัก ๕ แบบ
แต่ก่อนที่จะพูดถึงความสุขนั้น ก็เตรียมความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมให้ดีไว้อย่างหนึ่งก่อน
ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเตรียมไว้ให้พร้อมในการที่จะมีความสุข ก็คือสิ่งแวดล้อมทางสังคม อันหมายถึงการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์
ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์นั้น มีหลักธรรมประจำตัวอยู่หมวดหนึ่ง สำหรับเป็นหลักในการที่จะวางใจหรือมีท่าทีแห่งจิตใจต่อผู้คนรอบด้าน ตลอดจนเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมชุดนี้ ที่จริงก็เป็นหลักธรรมง่ายๆ แต่บางทีเราก็ใช้ไม่เป็น นี่ก็คือ พรหมวิหาร ๔ นั่นเอง ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เราดำเนินชีวิตกันมาจนบัดนี้ เราก็ยังเข้าใจและใช้ธรรมชุดนี้กันไม่ค่อยถูก ช่วงเวลาเกษียณอายุแล้วนี้ เป็นโอกาสที่จะบำเพ็ญธรรมชุดนี้ให้เต็ม ให้สมบูรณ์ จะได้เป็นพระพรหมที่แท้เสียที
“พรหมวิหาร” แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม พรหมนั้น ศาสนาพราหมณ์ถือว่า เป็นผู้สร้างโลก เป็นเทพเจ้าผู้ดลบันดาลสิ่งทั้งหลาย เป็นผู้สร้างสรรค์และอภิบาลโลก แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เราไม่ต้องไปรอพระพรหมให้มาสร้างโลก อภิบาลโลก เราทุกคนควรจะเป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์อภิบาลโลกด้วยกันทุกคน เพราะฉะนั้นจึงมาทำตัวให้เป็นพรหมกันเถิด แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงพรหมวิหารไว้ให้เราปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนเป็นพระพรหม
เราจะเป็นพระพรหมได้ โดยมีธรรม ๔ ข้อ คือมี
เมตตา กับ กรุณา นี่เมืองไทยคุ้นชื่อมาก พูดกันอยู่เสมอจนเป็นคำไทยสามัญ แต่แยกความหมายกันไม่ค่อยออก เพราะฉะนั้น ตอนแรกจะต้องแยกความหมายระหว่าง เมตตา กับกรุณา ให้ชัดว่าต่างกันอย่างไร
วิธีแยกให้ชัดง่ายๆ ก็คือ ธรรมหมวดนี้เป็นท่าทีของจิตใจสำหรับแสดงต่อผู้อื่น เมื่อเป็นธรรมสำหรับแสดงต่อผู้อื่น ความหมายของมันจะชัดด้วยการพิจารณาดูสถานการณ์ที่ผู้อื่นเขาประสบว่า เขาอยู่ในสถานการณ์ใด แล้วเราจะใช้ธรรมข้อใด
สถานการณ์ที่ ๑ คนอื่นเขาอยู่ดีเป็นปกติ ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจหรือเรื่องราวที่จะดีใจอะไรเป็นพิเศษ ในกรณีนี้เราพึงมีเมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดี ความเป็นมิตร
เมตตามาจากต้นศัพท์เดียวกับคำว่ามิตร มิตตะ แปลง อิ เป็น เอ ก็เป็น เมตตะ เติมสระอาเข้าไป ก็เป็นเมตตา รากศัพท์เดียวกัน เมตตาจึงแปลว่า น้ำใจมิตร คุณสมบัติของมิตร หรือความเป็นมิตร
เป็นอันว่า สำหรับคนที่อยู่เป็นปกติ เรามีความเป็นมิตร มีไมตรี มีเมตตา มีความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข
สถานการณ์ที่ ๒ คนอื่นเขาตกต่ำเดือดร้อน พอเขาทรุดต่ำตกลงไปจากสถานะเดิม คือประสบความเดือดร้อน เราก็ย้ายไปสู่คุณธรรมข้อที่ ๒ คือ กรุณา ซึ่งได้แก่ความมีใจพลอยหวั่นไหวเมื่อผู้อื่นประสบความทุกข์ แล้วก็อยากจะช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา ทำให้เขาขึ้นมาสู่ภาวะปกติ หายทุกข์ หายร้อน
คนไทยพูดถึงเมตตา-กรุณากันบ่อยมาก จะเป็นเพราะว่าคนไทยมีเมตตากรุณามากหรืออย่างไร แต่ข้อต่อไปไม่ค่อยมีใครพูดถึง
สถานการณ์ที่ ๓ คนอื่นขึ้นสู่ภาวะที่สูงขึ้นไป คือประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามน่าชื่นชม มีความก้าวหน้า หรือมีความสุข เราก็ย้ายต่อไปสู่คุณธรรมข้อที่ ๓ คือ มุทิตา ซึ่งแปลว่า พลอยยินดีด้วย เอาใจส่งเสริมสนับสนุน
คนเรานี้ ที่ประสบสถานการณ์กันอยู่โดยทั่วไปก็ ๓ อย่างนี่แหละ คือ เป็นปกติ ๑ ตกต่ำ ๑ ขึ้นสูง ๑ เราก็มี เมตตา กรุณา มุทิตา ไว้ปฏิบัติต่อเขาให้ครบทั้ง ๓ สถานการณ์
แต่แค่นี้ไม่จบ ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นสถานการณ์ที่ ๔ ข้อนี้น่าสงสัย เพราะ ๓ สถานการณ์ก็น่าจะครบแล้ว ยังมีอะไรอีก สถานการณ์ที่ ๔ คืออะไร
สถานการณ์ที่ ๔ คือ ในโลกมนุษย์นี้ เราไม่ได้อยู่กับมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น เราต้องอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตในธรรมชาติด้วย หมายความว่า โลกมนุษย์นั้นตั้งอยู่บนฐานของกฎธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง
ถ้าความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์แม้จะดี คือมนุษย์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ไปทำความเสียหายต่อหลักการแห่งความจริง ความถูกต้องดีงามที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เมื่อไรก็ตามที่โลกมนุษย์นี้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม โลกมนุษย์นั้นก็จะวิปริตแปรปรวน ตั้งอยู่ไม่ได้
ด้วยเหตุที่ว่ามนุษย์เรานี้มิได้สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่เราสัมพันธ์กับความเป็นจริงของธรรมด้วย ฉะนั้น จึงต้องมีข้อที่ ๔ ไว้ให้
ข้อที่ ๔ ก็คือสถานการณ์ที่ว่า ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อ ๑, ๒, ๓ จะส่งผลกระทบเสียหายต่อหลักความจริง ความเป็นธรรม หรือหลักการแห่งความถูกต้องความดีงามที่เป็นของกลางในธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อ ๑, ๒, ๓ จะต้องถูกหยุดยั้ง และมนุษย์จะต้องย้ายไปปฏิบัติธรรมข้อที่ ๔
สถานการณ์ที่ ๔ นี้ก็เช่นว่า เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จไปขโมยเงินเขามาได้ ๕,๐๐๐ บาท ดีใจใหญ่ เราเห็นว่าเด็กนั้นประสบความสำเร็จ เราจะไปมุทิตา ถูกต้องไหม? ไม่ถูกต้อง ใช่ไหม? เพราะว่า ถ้าเราไปดีใจ ไปส่งเสริม ก็ไปกระทบเสียหายต่อธรรม กลายเป็นการทำลายหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในกรณีของผู้พิพากษา เช่น จำเลยทำความผิดจริง ไปฆ่าคนมา ผู้พิพากษาคิดว่า ถ้าเราตัดสินให้เขาเข้าคุก เขาก็จะมีความทุกข์ ก็เกิดกรุณา สงสาร เลยตัดสินให้พ้นผิด อย่างนี้ไม่ถูก เพราะการมีกรุณาในกรณีนี้ จะส่งผลกระทบต่อธรรม ทำให้เสียหลักความจริงความถูกต้องดีงาม ทำลายหลักการกฎเกณฑ์กติกาที่รองรับสังคมอยู่
ในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ส่งผลกระทบเสียหายต่อหลักการแห่งความเป็นธรรม ชอบธรรม หรือตัวหลักการ ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายที่จะยึดเหนี่ยวให้สังคมมนุษย์อยู่ได้ เราจะต้องหยุดข้อที่ ๑, ๒, ๓ ไว้ แล้วย้ายไปข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อความเป็นจริง ต่อธรรม ต่อหลักการและกฎเกณฑ์กติกานั้นๆ อันนี้เรียกว่า อุเบกขา
อุเบกขา แปลว่า คอยมองดู มาจาก อุป + อิกฺข อิกฺข แปลว่า มอง อุป แปลว่า ใกล้ๆ หรือคอย หมายความว่า เพื่อไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการของธรรม เราจึงเฉยต่อคนนั้น คือ ปล่อยหรือเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติต่อเขาไปตามธรรม ตามหลักการ หรือตามกฎเกณฑ์กติกา ใครมีหน้าที่อย่างไร ก็ทำไปตามนั้น หลักการหรือกฎเกณฑ์ว่าอย่างไร ก็ทำไปตามนั้น เราก็มองดูคอยอยู่ ถ้ามีอะไรต้องทำเมื่อไร ก็ทำ โดยใช้ปัญญาพิจารณาปฏิบัติให้ถูกต้อง
อุเบกขานี่ต้องใช้ปัญญา ต่างจากเมตตา กรุณา มุทิตา ที่ใช้ความรู้สึกมาก คือรู้สึกรัก รู้สึกเห็นใจสงสาร และรู้สึกพลอยดีใจช่วยหนุน ส่วนอุเบกขา ต้องมีปัญญา คือต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นความจริง แล้วจึงเอาความรู้นั้นมาปรับความรู้สึกให้ลงตัวพอดี การที่ปัญญาความรู้นั้นมาปรับความรู้สึกให้ลงตัวพอดีได้ วางตัวถูกต้องเป็นกลางอยู่ในธรรม นี้เรียกว่า อุเบกขา
เป็นอันว่า เราจะต้องมีอุเบกขาด้วย จึงจะรักษาสังคมนี้ไว้ได้ มิฉะนั้น สังคมนี้ก็จะปั่นป่วนวุ่นวาย
ถ้าเราใช้เมตตา กรุณา มุทิตามาก เราจะมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี แต่ถ้าขาดอุเบกขา คนจะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลจนกระทั่งเสียหลักการ ไม่เหลียวแล ไม่ดูหลักการว่า จะเสียความเป็นธรรมในสังคมไหม หลักเกณฑ์ กฎหมาย กติกาไม่เอา จะช่วยเหลือเอื้อประโยชน์กันระหว่างบุคคลอย่างเดียว
สังคมไทยนี้ น่าจะหนักไปทาง ๓ ข้อแรก ส่วนข้อ ๔ นี่ ขาดมาก อุเบกขาแทบจะไม่มี และไม่รู้จักด้วยซ้ำ เวลาพูดถึงอุเบกขา ก็เข้าใจผิดนึกว่าเฉยแล้วเป็นอุเบกขา แต่พระสอนว่า ถ้าเฉยไม่มีปัญญา ก็เป็น เฉยโง่ เป็นอกุศล เรียกว่า อัญญาณุเบกขา
ข้อที่ ๔ นี้เป็นตัวคุมท้าย และคุมทั้งหมด สำหรับรักษาให้โลกนี้อยู่ในธรรม อยู่ในความถูกต้องดีงาม รักษาหลักการของสังคม ทำให้สังคมอยู่ในความเป็นธรรม
แต่ถ้าเรามีอุเบกขามากอย่างเดียว ก็เอาแต่ตัวใครตัวมัน ทุกคนรับผิดชอบต่อหลักการ คุณทำถูกต้องตามหลักการ หรือตามกฎหมาย ฉันไม่ว่า แต่ถ้าคุณทำผิดหลักการและกฎเกณฑ์กติกาเมื่อไร ฉันจัดการทันที เวลาอื่นนอกจากนั้น ต่างคนต่างอยู่ ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่เอาใจใส่ ไม่มีน้ำใจต่อกัน สังคมนั้นก็ขาดความอบอุ่น แห้งแล้ง คนก็เครียด ใจไม่สบาย เป็นโรคจิตกันมาก ก็เสียดุลอีก
ฉะนั้น สังคมจึงต้องมีพรหมวิหารให้ครบและให้เหมาะพอดี ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้สำหรับ ๔ สถานการณ์ ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว สังคมจะมีดุลยภาพ เริ่มตั้งแต่ในสังคมเล็ก คือครอบครัว
ทีนี้หันมาดูคนสูงอายุ ว่าจะต้องปฏิบัติพรหมวิหารให้ครบอย่างไร เริ่มตั้งแต่ต่อลูกของตนเอง
หนึ่ง เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา เลี้ยงดูให้เขาอยู่เป็นสุข
สอง ถ้าเขาเกิดเรื่องเดือดร้อนเป็นทุกข์ มีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น เราก็กรุณา สงสาร ช่วยเหลือแก้ไขให้หมดปัญหา
สาม เมื่อเขาประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เราก็มุทิตา พลอยยินดีด้วย ช่วยส่งเสริมสนับสนุนยิ่งขึ้นไป
สี่ สถานการณ์ที่จะต้องวางอุเบกขา มีอย่างน้อย ๓ กรณี คือ
๑. เมื่อลูกสมควรต้องหัดรับผิดชอบตัวเอง ฝึกทำอะไรต่ออะไรให้เป็น เพราะว่า ลูกมิใช่อยู่ในโลกที่มีแต่พ่อแม่หรือมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น อีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะต่อไปเมื่อเขาโตแล้ว เขาต้องไปอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง โลกนั้นมีกฎกติกา ทั้งกฎเกณฑ์ในธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ในสังคม ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเหตุผลของเรื่องนั้นๆ ซึ่งเขาจะต้องไปอยู่กับความเป็นจริงเหล่านั้น
โลกนี้ไม่ได้ตามใจเราเหมือนอย่างพ่อแม่ตามใจลูก มันไม่ได้เป็นไปตามใจปรารถนา เพราะฉะนั้น ลูกจะต้องหัดรับผิดชอบตัวเอง อะไรที่สมควรจะทำให้เป็น ต้องฝึกทำไว้ พ่อแม่จะเห็นแก่ลูกว่ารัก ไม่อยากให้เขาลำบาก ไม่อยากให้เขาเหน็ดเหนื่อย แล้วไปทำแทนให้ทั้งหมด ลูกก็เลยไม่รู้จักโต แล้วก็รับผิดชอบตัวเองไม่เป็น
พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกไม่เป็น โอ๋ลูกเกินไป เพราะขาดอุเบกขา ส่วนพ่อแม่ที่รู้จักอุเบกขา เมื่อมาถึงสถานการณ์ที่ ๔ คือมีเรื่องอะไรที่ลูกจะต้องสมควรฝึกไว้ ทำไว้ หัดให้เป็น เราต้องให้เขาฝึกทำหัดทำ ต้องยอมให้เขาเหนื่อยบ้าง ลำบากบ้าง แม้แต่หัดเดินก็ยังต้องมีความเหน็ดเหนื่อยลำบากบ้าง ถ้ากลัวลูกลำบากไปอุ้มตลอดเวลาแล้ว ลูกจะเดินเป็นได้อย่างไร
เหมือนอย่างคนสมัยก่อน ตอนที่เริ่มมีการเรียนหนังสือ ใหม่ๆ เขาใช้กระดานชนวน และใช้ดินสอหิน พ่อแม่บางคนกลัวลูกจะเจ็บมือ เพราะใช้ดินสอหิน ก็เลยไม่ให้เรียน นี่คือเพราะขาดอุเบกขา ลูกก็เลยไม่ได้รับการศึกษา
เป็นอันว่า จะต้องยอมให้ลูกเหน็ดเหนื่อยยากลำบากบ้าง เพื่อให้เขาหัดทำ ฝึกทำ รับผิดชอบตัวเอง จะได้ทำอะไรๆ เป็น
ตรงนี้ขอแทรกให้เห็นความสำคัญของอุเบกขาในการเลี้ยงลูกอีกหน่อย อุเบกขานี้นับว่าเป็นตัวดุลให้การเลี้ยงลูกพอดีที่จะได้ผลอย่างดี
สามข้อแรก เมตตา กรุณา มุทิตานั้น หนักไปทางความรู้สึกคือความรัก ที่อยากให้ลูกมีความสุข ถ้าไม่ระวัง ก็จะหนักไปทางตามใจ เอาใจ ถ้าหนักนัก ก็ถึงขั้นบำรุงบำเรอปรนเปรอ เขาต้องการอะไร ก็ให้ ก็ทำให้หมด จนลูกอ่อนแอทำอะไรไม่เป็น ดูแลรับผิดชอบตัวเองไม่ได้
ทีนี้ อุเบกขาก็เข้ามาดุลให้พอดี ให้ได้ผลดีจริง ดุลอย่างไร? ถ้าพูดสั้นๆ สามข้อแรกนั้น ด้วยความรักอยากให้ลูกมีความสุข พ่อแม่ก็ทำให้แก่ลูก ทำให้ๆ ตามใจลูก (อย่างที่ว่าแล้วคือจนลูกอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็น) ทีนี้ เมื่อมีอุเบกขา พ่อแม่ก็เปลี่ยนเป็น ดูให้ลูกทำ
“ดูให้ลูกทำ” อย่างไร? คือ อุเบกขาที่แท้นั้น มากับปัญญา โดยมีสติกำกับการ พ่อแม่มีปัญญามองเห็นว่าต่อไปข้างหน้า ลูกเติบโตขึ้น จะรับผิดชอบตัวเองได้ดี จะเป็นคนที่ก้าวหน้าไปได้ดีนั้น จะต้องทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ทำอะไรได้เก่งกาจชำนิชำนาญบ้าง ปัญญาจะเป็นตัวบอกว่าควรจะให้เขาหัดทำสิ่งใด ฝึกในเรื่องใด หรือหัดรับผิดชอบอะไร ทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ทำอะไรเก่ง
เมื่อปัญญาพิจารณามองเห็นแล้ว ก็จัดรายการเรื่องที่จะให้ลูกได้ฝึกได้หัดทำ แล้วด้วยอุเบกขา ก็ดูให้ลูกทำ โดยตัวเองทำหน้าที่แนะนำตอบคำถามเป็นที่ปรึกษาและช่วยปรับแก้ ให้ลูกทำได้ทำเป็น จนเก่งกาจชำนิชำนาญ นี่คือ อุเบกขาในสถานการณ์ที่ ๑ ให้เขาหัดรับผิดชอบตัวเอง ทำอะไรต่ออะไรให้ได้ให้เป็น
๒. เมื่อลูกจะต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา ครอบครัวนั้นเป็นตัวแทนของสังคมใหญ่ ในสังคมมนุษย์ต้องมีกฎเกณฑ์ กติกา ซึ่งทุกคนในสังคมนั้นจะต้องรับผิดชอบปฏิบัติตาม
ครอบครัวก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีกฎเกณฑ์กติกา เพื่อให้สมาชิกของครอบครัวอยู่กันสงบเรียบร้อย มีวินัย และเป็นการฝึกเด็กให้พร้อมที่จะไปรับผิดชอบดำเนินชีวิตในสังคมต่อไป เพราะฉะนั้นกฎต้องเป็นกฎ ถ้าเขาทำอะไรผิด ก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา ถ้าเขาทำถูก ก็ว่าไปตามถูก ถ้าลูกทะเลาะกัน ก็ต้องมีความยุติธรรม นี่คือมีอุเบกขาเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรม
๓. เมื่อลูกรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว เขาสำเร็จการศึกษาแล้ว มีงานมีการทำ มีครอบครัวของเขาแล้ว ท่านว่าพ่อแม่ต้องรู้จักวางอุเบกขา ปล่อยให้เขารับผิดชอบชีวิตและครอบครัวของเขาเอง ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตและครอบครัวของเขา โดยวางใจเรียบสงบว่า เขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ไม่ใช่เอาแต่เมตตากรุณา รักเขามาก ก็เลยเจ้ากี้เจ้าการเข้าไปจัดการในบ้านของเขา ในครอบครัวของเขา เที่ยวจี้เที่ยวชี้อยู่เรื่อยว่า ลูกอยู่อย่างนี้นะ จัดของอย่างนี้นะ ฯลฯ
ถ้าพ่อแม่เข้าไปจัดแจงวุ่นวายมาก ลูกแทนที่จะเป็นสุข ก็ไม่เป็นสุข และจะรู้สึกไม่สบายใจ อาจจะอึดอัดพูดไม่ออก บางทีถ้าเขาไม่ขัดแย้งกับพ่อแม่ ก็ไปขัดแย้งกับคู่ครองของเขาเอง ท่านจึงว่า ถึงเวลาที่จะต้องวางอุเบกขา ให้เขารับผิดชอบตัวเขา ครอบครัวของเขาเป็นของเขา เราก็แค่คอยมองดู ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือเมื่อไร ก็เข้าไปช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษา นี่เรียกว่า อุเบกขา
ถ้าพ่อแม่วางอุเบกขาถูก ก็เกิดความสมดุลในชีวิต และความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความสัมพันธ์กับธรรม ท่านผู้สูงอายุส่วนมากก็เป็นผู้ที่มีลูกหลานด้วย ตอนนี้จึงจะต้องวางใจกับลูกหลานให้ถูกต้องว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาเอง เราวางใจเป็นอุเบกขา นิ่งสงบ พร้อมจะช่วยเหลือเขา แต่เราไม่เข้าไปจุกจิก ไม่วุ่นวาย ไม่เจ้ากี้เจ้าการ
ตอนนี้ถึงเวลาของพระพรหมที่จะวางอุเบกขา ถ้าทำใจได้อย่างนี้ ใจก็จะสบายอย่างพอดี ถ้าเสียหลักนี้ ก็จะไม่เป็นพระพรหมที่สมบูรณ์