ธรรมะเพื่อผู้สูงอายุ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สมองก็แจ่มใส จิตใจก็เข้มแข็ง

อิทธิบาทข้อที่ ๓ คือ จิตตะ ได้แก่การมีใจจดจ่อ ใส่ใจอยู่กับเรื่องที่ทำ ก็มุ่งไปที่สมาธินั่นแหละ เมื่อใจอยู่กับสิ่งที่ต้องการทำ ซึ่งเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์แล้ว จิตจะตัดอารมณ์อื่นที่ไม่เข้าเรื่องออกไปได้

คนแก่มักจะรับอารมณ์จุกจิก พออารมณ์ที่ไม่สบายใจเข้ามากระทบหูกระทบตา ก็เก็บเอามาทำให้ใจคอไม่สบายโดยไม่เข้าเรื่อง ได้แต่ครุ่นคิดว่าทำไมเขาเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีอะไรอย่างอื่น ก็กระทบกับลูกหลาน เก็บถ้อยคำของเขามาคิดขุ่นมัวในใจตัวเอง ถ้าไม่มีอะไรเป็นหลักผูกใจไว้ ใจจะไหวหวั่น และต้องวุ่นอยู่เรื่อยๆ

ทีนี้ พอมีเรื่องที่อยากจะทำ ใจรักใจชอบ จนใฝ่ใจเอาเป็นหลักของจิตได้แล้ว ใจก็ไม่รับเรื่องจุกจิก ถึงกระทบผ่านเข้ามาบ้าง ก็ตัดออกไปได้ง่าย ลืมได้ไว พอใจอยู่กับหลักแล้ว ก็ไม่วุ่นไม่ขุ่น แต่จะสงบแน่วแน่ ยิ่งได้ทำสิ่งที่ใจชอบ ก็สบายใจเลย จิตใจเป็นสุข ไม่มีอารมณ์อื่นมารบกวนจิตใจ

เมื่อใจจดจ่ออยู่แต่กับเรื่องที่อยากจะทำนี้ นอกจากทำให้ชีวิตเป็นสุขแล้ว การที่ใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างแท้จริง ก็ทำให้อายุยืน เพราะใจที่จดจ่อนี้เป็นตัวสมาธิ ใจไม่แกว่ง ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ไปเสียสมอง ไม่ไปเสียพลังงานกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เวลาก็ผ่านไปๆ โดยไม่อะไรวุ่นใจ ตรงข้ามกับใจที่รับอารมณ์ไม่เข้าเรื่อง ทำให้จิตคิดปรุงแต่ง พอจิตคิดวุ่นขุ่นมัว ก็เสียพลังงาน สมองต้องทำงานหนัก และทำให้เครียด ใจเหนื่อยหน่าย ร่างกายก็แก่เร็ว ร่วงโรยง่าย

คนที่มีสมาธิ จิตใจสงบแน่วแน่ ไม่มีอะไรกวน จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ก็สบาย พลังงานไม่เสียเปล่าไปเลย คนที่เจริญสมาธินั้น พอใจสงบลง ลมหายใจก็จะผ่อน จะเบา จะประณีตจนกระทั่งเมื่อถึงฌานที่ ๔ จะไม่หายใจ

คำว่า “ไม่หายใจ” คือโดยมาตรฐานของคนปกติ วัดไม่ได้เลยว่าหายใจอยู่ หมายความว่าไม่มีลมหายใจปรากฏ แต่เราไม่ต้องรอไปถึงฌานที่ ๔ หรอก พอทำจิตให้สงบ ลมหายใจประณีตแล้ว ก็ต่างจากคนที่มีจิตใจวุ่นวาย ยกตัวอย่าง เมื่อคนโกรธ ลมหายใจจะแรง หายใจฟืดฟาดๆ อย่างกับคนเดินขึ้นเขาที่ออกแรงเหน็ดเหนื่อยมาก บางทีหายใจทางจมูกไม่พอ ต้องหายใจทางปากด้วย คนโกรธก็เช่นเดียวกัน หายใจแรง เพราะว่าตอนนั้นร่างกายใช้พลังงานเผาผลาญมาก เพราะฉะนั้น ถ้าโกรธบ่อยๆ จึงแก่เร็ว

ส่วนคนที่หงุดหงิดคิดขุ่นมัว ถึงจะไม่แสดงความโกรธออกมา ก็เกิดอาการกระทบกระทั่งใจ เป็นปฏิฆะ สมองคิดวุ่นวาย ก็ใช้พลังงานเกินปกติอยู่ดี ถ้าเป็นอย่างนั้นอยู่เรื่อยๆ ก็แก่เร็ว

ทีนี้พอเรามีใจสงบ มีอารมณ์ที่ดี จิตใจอยู่กับสิ่งหนึ่งที่เรามุ่งหวังจะทำจริงๆ ใจไม่มีอะไรรบกวน ไม่วุ่นวาย ไม่ฟุ้งซ่าน ใจสบาย ชีวิตร่างกายก็ใช้พลังงานน้อย เลือดลมก็เดินดี ลมหายใจก็ประณีต

แถมบางทีเราใช้ลมหายใจในทางส่งผลที่ดีย้อนกลับเข้ามาอีกด้วย ขออธิบายว่า เมื่อกี้นี้ เราใช้จิตส่งผลต่อกาย คือ พอจิตใจของเราสงบดี ลมหายใจก็พลอยประณีตดีไปด้วย คราวนี้ ในทางกลับกัน ถ้าทำลมหายใจให้ประณีต จิตใจก็จะพลอยสงบลงด้วย

ดังนั้น เมื่อรู้วิธีใช้ลมหายใจให้เป็นประโยชน์ เราก็มาฝึกปรับลมหายใจ

ในเวลาว่าง หรือเมื่อไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี นั่งอยู่ว่างๆ เราก็มาหายใจอย่างมีสติ หายใจเข้าสบายๆ หายใจออกสบายๆ อย่างสม่ำเสมอ เป็นการปรับสภาพชีวิตจิตใจ ทั้งปรับร่างกาย แล้วก็ปรับจิตใจด้วย พอเราตั้งใจหายใจให้สบาย หายใจเข้าออกๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นการปรับสภาพร่างกายให้สบาย และปรับอารมณ์ไปด้วย แล้วจิตใจของเราก็พลอยสบาย ได้ผลทั้งสองอย่างพร้อมกันไปเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีอะไรทำ ก็อย่าปล่อยให้ใจฟุ้งซ่าน พอทำงานเสร็จ ก็มานั่งหายใจเข้า-ออก ใช้ลมหายใจให้เป็นประโยชน์เป็นเครื่องบำรุงชีวิต ทำใจสบาย ให้จิตอยู่กับลมหายใจ พอปรับลมหายใจได้ ผลดีก็ตามมาเหมือนอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้

ถ้าร่างกายของเราไม่ปกติ จิตใจก็ไม่ปกติ ลมหายใจก็ไม่ปกติ พอเราปรับลมหายใจให้ปกติ มันกลับมาปรับสภาพจิตใจให้เป็นปกติไปด้วย เหมือนอย่างคนที่โกรธ ลมหายใจไม่ปกติ คนประหม่าลมหายใจไม่ปกติโดยไม่รู้ตัว บางคนนี่พอตื่นเต้นตกใจ บางทีเหมือนจะไม่หายใจ ทีนี้ถ้ามีสตินึกได้ เราปรับลมหายใจเสีย มันก็มาช่วยปรับอารมณ์ เช่น ทำให้หายกลัว หายประหม่า หรือกลัวน้อยลง ประหม่าน้อยลง อย่างน้อยใจก็อยู่กับตัว จิตไม่เตลิด ตั้งสติได้ดีขึ้น

เป็นอันว่า การปรับลมหายใจนี้ ช่วยเราได้มาก เราก็เอาทั้งสองทาง คือให้จิตใจก็สบาย ลมหายใจก็ดี การเผาผลาญใช้พลังงานก็จะน้อย ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น ก็แก่ช้า ดังนั้น ถ้าเกิดมีอารมณ์ไม่ดี เราก็ปรับลมหายใจ ลมหายใจก็กลับมาช่วยปรับอารมณ์ให้จิตใจสบาย เป็นการรู้จักใช้สิ่งที่เรามีอยู่ในชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์

รวมความที่เป็นสาระก็คือ ให้จิตใจนี้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เสียพลังงานไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง สมองไม่ต้องคิดว้าวุ่น ให้จิตใจอยู่กับสิ่งที่เราต้องการจะทำ เป็นสมาธิ นี่ข้อ ๓ คือ จิตตะ

ข้อ ๔ วิมังสา เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา เวลานี้ก็ยอมรับกันว่า คนแก่ ถ้าไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช้ความคิดเสียบ้าง ก็จะแก่เร็ว และสมองก็จะฝ่อ ทางธรรมท่านบอกว่าต้องมีวิมังสา คือใช้ปัญญาตรวจตราพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล ให้เห็นความจริงในสิ่งที่เราทำ ที่เห็นว่ามีคุณค่าเป็นประโยชน์นั้น

เมื่อเรามีสิ่งที่ต้องการจะทำ ที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์แล้ว ใจของเราก็มีที่หมาย และปัญญาก็มีจุดที่จะพิจารณา เราก็เอาปัญญามาพิจารณาสิ่งที่เราทำนั้น

เริ่มตั้งแต่ตรวจสอบมันว่าเป็นอย่างไร ได้ผลดี มีผลเสีย มีข้อบกพร่องอย่างไร มีจุดอ่อน จุดด้อยตรงไหน ควรแก้ไขปรับปรุงที่ใดอย่างไร จะทดลองเปลี่ยนแปลงอย่างไร คิดพิจารณาในเรื่องเหล่านี้ ใช้ปัญญาอยู่เสมอ ไม่ใช้ความคิดไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

เมื่อเราเอาปัญญามาใช้กับเรื่องที่มีจุดหมาย ก็ไม่มีเรื่องของความฟุ้งซ่าน ไม่มีเรื่องของอารมณ์อย่างเมื่อกี้นี้ แต่เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ เป็นปัญญาที่ปลอดโปร่ง เป็นความคิดตามกระแสความจริง ซึ่งเป็นเรื่องของความสบาย

เวลาพูดถึงปัญญานี่ต้องระวังอย่างหนึ่ง คืออย่าเอาไปปนกับความคิดปรุงแต่ง เวลาคนคิดนั้น จะมีการคิด ๒ อย่าง คือ คิดไปตามสภาวะของธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพความเป็นจริง ตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างหนึ่ง กับคิดตามความปรุงแต่งของตนอย่างหนึ่ง

คิดตามความปรุงแต่ง ก็กลายเป็นคิดปรุงแต่ง คิดปรุงแต่งหมายความว่า คิดไปตามความพอใจ หรือไม่พอใจ เช่น เกิดความขัดใจขึ้นมา ก็คิดไปว่าทำไมเขาจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาไม่เป็นอย่างโน้น อะไรอย่างนี้ คิดไปตามความโลภ ความโกรธ คือเอาความโลภ เอาความโกรธมาเป็นตัวปรุง ทำให้จิตวุ่นวาย แล้วก็เกิดผลเสีย เช่น มีความเครียดตามมา

แต่ถ้าเราคิดด้วยปัญญาบริสุทธิ์ คือคิดไปตามสภาวะ คิดไปตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ อันนี้จะไม่เครียด จะคิดไปแบบสบายๆ กลายเป็นว่าเรามาเล่นกับเรื่องของความเป็นจริงของโลกและชีวิต หรือสิ่งทั้งหลายตามสภาพของมัน

การคิดพิจารณาไปตามสภาวะนั้น แม้จะคิดไปอย่างเป็นงานเป็นการ ก็ไม่ถูกครอบงำ แต่เราเป็นผู้มองดู เช่นว่า ตรงไหนบกพร่อง จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ตรวจตราดูไป ใจก็สบาย และสมองก็ได้ใช้ความคิดไป ก็ไม่ฝ่อ นี้คือข้อที่ ๔ วิมังสา รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง

อิทธิบาท ๔ นี่แหละเป็นหลักการสำคัญ ที่จะทำให้อายุยืน เพราะทำให้ชีวิตของเรามีกำลัง แล้วก็มีทางเดินที่มุ่งไปข้างหน้าสู่จุดหมาย ซึ่งทำให้ชีวิตมีความหมายที่จะอยู่ต่อไป ไม่ใช่อยู่อย่าง เลื่อนลอย นอกจากนั้นยังเป็นตัวตัดอารมณ์ ป้องกันสิ่งที่ไม่ควรจะเข้ามารบกวนจิตใจและชีวิตของเรา ทำให้ชีวิตปลอดโปร่งโล่งเบาด้วย

เมื่อข้างในตัวก็มีพลัง ทางเดินที่จะไปข้างหน้าก็แน่ชัด ข้างนอกก็ไม่มีอะไรมาขัดขวาง ชีวิตก็ยืนยาวยืดขยายอายุออกไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง