ธรรมกับการพัฒนาชีวิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักการใหญ่ในการพัฒนาชีวิต

การพัฒนานั้น เป็นศัพท์ที่นิยมใช้ในสมัยปัจจุบัน ความจริงเป็นคำที่มาจากพระพุทธศาสนา แต่เดิมท่านใช้ว่า วัฒน หรือ วัฒนา สมัยก่อนเวลาให้พรกัน เรานิยมพูดว่า ขอให้วัฒนาสถาพร วัฒนาก็คือ เจริญ ตอนนั้นไม่นิยมใช้คำว่าพัฒนา จนกระทั่งเมื่อ ๓๐ ปี มาแล้ว จึงเริ่มมีการนิยมใช้คำว่าพัฒนา และนำคำว่าพัฒนานั้นมาใช้ในวงการต่างๆ โดยเฉพาะในการสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติ ซึ่งดูจะเน้นในทางวัตถุมาก เช่น การสร้างถนนหนทาง การสร้างตึกรามบ้านช่อง การทำให้มีบริการไฟฟ้า น้ำประปา ขยายกว้างขวางออกไป มีเครื่องอุปโภคบริโภค บริการสาธารณูปโภค ที่ใช้กันได้ทั่วไป ตลอดจนความบริบูรณ์พรั่งพร้อม สะดวกสบายทางวัตถุทุกอย่างที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ อันนี้เรามักเรียกว่าการพัฒนา

การพัฒนาในแง่นี้เน้นด้านวัตถุ แต่แท้จริงแล้วการพัฒนานั้น ไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่การทำให้วัตถุเจริญเติบโตอย่างเดียว แต่หมายถึงการสร้างความเจริญงอกงามในทางนามธรรมด้วย ในทางนามธรรมนั้นสิ่งสำคัญก็คือ ชีวิตของเรานี้เอง ชีวิตของเรานี้เป็นที่ประมวลของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายไว้ และส่วนที่สำคัญยิ่งของชีวิตนั้นก็คือ จิตใจที่เป็นนามธรรม

ในเมื่อคำว่าพัฒนามีความหมายกว้าง เป็นศัพท์ที่ใช้แบบคลุมๆ ในทางพระพุทธศาสนามีคำที่มีความหมายว่าทำให้เจริญงอกงาม หรือฝึกฝนให้เจริญยิ่งขึ้นไป ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับพัฒนานี้หลายคำ เราจึงควรเลือกเอาคำที่มีความหมายกระชับจำเพาะที่จำกัดขอบเขต ตรงกับที่เราต้องการ คำสำคัญที่ใช้กับการทำชีวิตให้เจริญงอกงาม ได้แก่คำว่า ภาวนา คือ การพัฒนาที่ใช้กับชีวิตนั้น ใช้คำว่าภาวนา ภาวนาในที่นี้อย่าเอาไปสับสนกับคำว่า ภาวนา ที่แปลว่าท่องบ่นสวดมนต์ อันนั้นเป็นความหมายหนึ่ง ซึ่งเลือนไปจากความหมายเดิมที่แปลว่าการทำให้ชีวิตเจริญงอกงามนี้ เมื่อได้ศัพท์เฉพาะสำหรับการพัฒนาชีวิตแล้ว เราก็แยกการใช้ถ้อยคำกันออกไปให้ชัดเจนได้ ไม่สับสน คือ ถ้าพัฒนาสิ่งที่เป็นรูปธรรมภายนอก เช่น พัฒนาวัตถุ พัฒนาสังคม พัฒนาบ้านเมือง พัฒนากิจการต่างๆ ก็ใช้คำว่า พัฒนา ถ้าพัฒนาชีวิต หรือพัฒนาคน พัฒนามนุษย์ ก็ใช้คำว่า ภาวนา

ตอนแรกนี้ ก่อนจะพูดต่อไปถึงรายละเอียด อยากจะพูดถึงหลักการทั่วไปของการพัฒนาชีวิต ที่เรียกว่าภาวนานี้ ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านแสดง ภาวนา หรือ การพัฒนา ชีวิต ไว้ ๔ อย่างด้วยกัน ขอเอาหลักวิชามาแสดงไว้ก่อน คือ

๑. กายภาวนา แปลว่า การทำกายให้เจริญ หรือพูดอย่างภาษาปัจจุบัน คือ การพัฒนากาย พัฒนากายอย่างไร จะได้พูดกันต่อไป

๒. ศีลภาวนา แปลว่า การพัฒนาศีล ศีลเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในสังคม การพัฒนาศีล ก็คือ การพัฒนาในด้านการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

๓. จิตภาวนา การพัฒนาจิตใจ หรือการทำจิตใจให้เจริญงอกงาม และ

๔. ปัญญาภาวนา การทำปัญญาให้เจริญงอกงาม หรือ พัฒนาปัญญา

นี้คือหลัก ๔ ประการในการพัฒนาชีวิต ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ถ้าเอาหลักนี้มาตั้งเป็นหัวข้อ ก็ถือว่าครบหมดแล้ว เรื่องของการพัฒนาชีวิตก็มีอยู่ ๔ ข้อนี้เท่านั้น ต่อไปนี้อยากจะแสดงความหมายย่อๆ ว่าหลัก ๔ อย่างนี้เป็นอย่างไร เอาหลักก่อน ต่อจากหลักจึงจะแยกแยะไปหารายละเอียด

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง