ธรรมกับการพัฒนาชีวิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชีวิตที่ดี พัฒนาในท่ามกลางความสมดุล

ลักษณะที่ ๕ คือ ลักษณะที่เรียกว่าความมีสมดุล หรือมีดุลยภาพ การพัฒนาชีวิตจะต้องเป็นการพัฒนาอย่างมีสมดุล สมดุลคือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างกลมกลืนพอดี ระหว่างองค์ประกอบทั้งหลาย ที่มีส่วนรวมอยู่ในการดำเนินชีวิตของเรา อะไรบ้างมีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาชีวิตของเรา มองกว้างออกไป ก็มี

๑. ตัวเราเอง หรือชีวิตของเรา ซึ่งเมื่อแยกออกไปก็มีกายกับใจ

๒. มองไปภายนอก เรามีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน เราก็เกี่ยวข้องกับสังคม สังคมจึงเป็นองค์ประกอบที่สอง

๓. ธรรมชาติแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องพึ่งพาอาศัย

เป็นอันว่า องค์ประกอบใหญ่ๆ สามประการนี้เราจะต้องมีความเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต และในการพัฒนาชีวิตสมดุลหรือดุลยภาพ เป็นภาวะของความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้องค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ดำรงอยู่ด้วยดี และเกื้อกูลกัน ถ้าเราจะพัฒนาชีวิตให้ถูกต้อง ก็ต้องรักษาสมดุลในความสัมพันธ์กันระหว่างองค์ประกอบสามอย่างนี้ เริ่มแต่บริหารกายกับใจของเรานี้ให้มีความสมดุล ให้ส่วนที่เป็นความเจริญทางด้านกายของเราสอดคล้องเกื้อกูลมีผลดีต่อจิตใจด้วย และให้ส่วนที่เป็นความเจริญทางจิตใจก็เกื้อกูลมีผลดีต่อกายด้วย ให้มันเกื้อกูลประสานสอดคล้องซึ่งกันและกัน เหมือนตัวอย่างที่ว่ารับประทานอาหารเมื่อกี้ รับประทานอาหารเอาแต่กายสบาย แต่เสร็จแล้วก็มีปัญหาทางใจขึ้นมา หรือบางทีก็ปล่อยให้ปัญหาทางใจมาบีบคั้นกายเกินไป เช่น ไม่สบายใจแล้วเลยเบื่อหน่ายไม่ยอมกินอาหาร ในแง่สังคมก็เหมือนกัน บางทีคิดแต่จะทำเพื่อชีวิตของเรา แต่ไม่เกื้อกูลสังคมทำให้เกิดความเดือดร้อนเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ผลเสียก็ย้อนกลับมาหาเราด้วย ธรรมชาติแวดล้อมก็เหมือนกันเราก็ต้องอยู่อย่างเกื้อกูลกับมัน เราได้รับประโยชน์จากธรรมชาติ ก็ต้องรู้จักถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติ คือรู้จักรักษาธรรมชาติให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จะได้เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้ต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการพัฒนาไปอย่างมีดุลยภาพ หรืออย่างสมดุล นี้เป็นการมองอย่างกว้างที่สุด

ถ้ามองดูแคบเข้ามา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ปัจจุบัน มองดูเฉพาะการพัฒนาในส่วนของกายกับใจ หรือทางด้านวัตถุกับทางจิตใจ การพัฒนาในยุคปัจจุบันก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการพัฒนาที่เน้นทางด้านวัตถุ การพัฒนาที่เน้นทางด้านวัตถุ ก็คือการพัฒนาที่เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่พร้อมกันนั้นการพัฒนาอีกด้านหนึ่งที่เราขาดแคลนไปมาก ก็คือการพัฒนาทางจิตใจ และคุณค่าทางนามธรรม ซึ่งอาจใช้ศัพท์รวมๆ ว่า วัฒนธรรม การพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม และด้วยวัฒนธรรม ได้ขาดแคลนไปในการพัฒนาที่ผ่านมา ปัจจุบันได้มีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพิจารณา และได้ยอมรับกันว่า สาเหตุที่ทำให้การพัฒนาปัจจุบันนี้มีปัญหาเกิดความผิดพลาด ก็เพราะว่าขาดองค์ประกอบทางด้านวัฒนธรรม เพราะไปเน้นแต่ทางด้านวัตถุโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งแต่ความขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ปัจจุบันก็เลยหันมาบอกว่า จะต้องพัฒนาโดยถือจิตใจและคุณค่าทางนามธรรม ที่เรียกว่าวัฒนธรรมเป็นหลัก ถึงกับองค์การสหประชาชาติประกาศทศวรรษนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๑ ไปถึง พ.ศ. ๒๕๔๐ ว่าเป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม เพราะได้เห็นปัญหาแล้วว่า การพัฒนาของโลกที่ผ่านมานี้ขาดองค์ประกอบและปัจจัยสำคัญด้านวัฒนธรรมไป เป็นอันว่า เราจะต้องให้มีสมดุลหรือดุลยภาพระหว่างการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่มุ่งความขยายตัวทางเศรษฐกิจ กับการพัฒนาด้วยวัฒนธรรม ที่มุ่งความเจริญงอกงามของชีวิต อันนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่ง คือความประสานสัมพันธ์เกื้อกูลและการรักษาดุลยภาพระหว่างองค์ประกอบ ๓ ประการ แห่งระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ เรื่องลักษณะของการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้องก็ขอผ่านเพียงเท่านี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง