ทีนี้จะก้าวต่อไปสู่ความหมายที่สองของธรรม คือเศรษฐศาสตร์กับสัจธรรม ที่พูดมาเมื่อกี้ ในเรื่องเศรษฐศาสตร์กับธรรมในแง่จริยธรรมนั้น จริยธรรมยังพอแยกออกจากเศรษฐศาสตร์ได้บ้าง เพราะเราเห็นได้ว่า ในกิจกรรมอย่างเดียวกันนั้น อาจมองได้สองอย่าง โดยมองคนละด้าน คือจะมองในแง่เศรษฐกิจ ก็อาจจะมองเป็นเศรษฐกิจอย่างเดียวไปเลย หรือจะมองในแง่ของจริยธรรม ก็มองเป็นจริยธรรมได้ในการกระทำอย่างเดียวกัน เหมือนเรามานั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ แต่ละท่านๆ นั่งอยู่นี้ก็ทำกิจกรรมอย่างเดียว แต่ในกิจกรรมอย่างเดียวของท่านนั้น จะมองในแง่จริยธรรมก็ได้ ถ้ามองในแง่จริยธรรม กิจกรรมของท่านก็เป็นความประพฤติดี ใฝ่ดี ต้องการหาความรู้ ต้องการพัฒนาปัญญา ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต นี่ก็เป็นจริยธรรม แต่ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ ก็อาจจะพิจารณาได้ในแง่ที่ว่า เรามาทำให้สิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทองไป ในที่ประชุมนี้ ทางการต้องใช้จ่ายให้แก่เราในการติดตั้งและเดินเครื่องแอร์คอนดิชั่น เป็นต้น อะไรทำนองนี้ แม้ในกิจกรรมเดียวกันก็มองได้หลายแง่ เพราะสิ่งเหล่านี้ปนอยู่ด้วยกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ยังสามารถแยกออกได้ว่าอันไหนเป็นความหมายในแง่จริยธรรม อันไหนเป็นความหมายในแง่เศรษฐกิจ แต่สำหรับความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ ธรรมในแง่สัจธรรม เราไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย ธรรมในแง่สัจจธรรม ไม่สามารถแยกออกต่างหากจากเศรษฐศาสตร์ เพราะธรรมในแง่นี้เป็นเนื้อเป็นตัวของเศรษฐศาสตร์เอง ธรรมที่เป็นเนื้อเป็นตัวของเศรษฐศาสตร์เอง ก็คือกระบวนการของเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล ถ้าเศรษฐศาสตร์รู้และปฏิบัติการไม่ทั่วถึง ไม่ถูกต้องตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เศรษฐศาสตร์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ และเศรษฐศาสตร์นั้นก็ไม่เป็นความจริง คือ ไม่เป็นเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง เพราะขัดต่อความเป็นจริงในธรรมชาติและในความเป็นไปของชีวิตสังคมมนุษย์ นี้ก็คือการที่จะแก้ปัญหาไม่สำเร็จ หรือสร้างผลดีตามความมุ่งหมายไม่สำเร็จ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเศรษฐศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนั่นเอง เพราะไม่ถูกต้องตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย หรือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์แห่งความเป็นจริง ถ้าเศรษฐศาสตร์ผิดพลาดในแง่นี้ ก็เรียกว่า เป็นการที่เศรษฐศาสตร์ไม่ถูกต้องตามธรรมในความหมายที่สองคือในแง่สัจจธรรม เป็นอันว่า ธรรมในที่นี้ก็คือ ธรรมดาของธรรมชาติ ซึ่งเป็นสภาวะที่มีอยู่ในวิทยาการและกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นสาขาความรู้อะไรที่ต่างหากออกไป เพราะฉะนั้น ทรรศนะปัจจุบันที่มองธรรมเป็นของต่างหากออกไปอย่างหนึ่ง ตามแนวคิดแบบความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง หรือ specialization นั้น จึงนับว่าเป็นการผิดพลาดมาก เพราะจะทำให้เราละเลยทอดทิ้งความหมายที่สำคัญในแง่นี้ไป