เมื่อได้พูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ ในความเข้าใจทางพระพุทธศาสนาทั่วไป และได้โยงเข้ามาสู่แง่ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจแล้ว ก็มีหัวข้อที่ควรยกออกมาพูดแยกเป็นประเด็นๆ สักสองสามอย่าง ฉะนั้น ในที่นี้ก็อยากจะพูดเรื่องเฉพาะสักนิดหน่อย แต่พอดีเวลาล่วงไปมากแล้ว ก็คงจะพูดเท่าที่ได้ ประเด็นที่อยากจะพูดเพื่อย้ำเน้นเรื่องที่พูดไปแล้ว ก็คือเรื่อง ความต้องการ แต่คราวนี้จะเอามาพูดโดยเปรียบเทียบกับเรื่องความต้องการในทางเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ ก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่ง อย่างที่ว่ามาแล้ว ความเข้าใจในเรื่องความต้องการของพุทธศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันนี้ มีทั้งข้อเหมือนและไม่เหมือน ตอนแรกนี้จะพูดถึงแง่ที่เหมือนเสียก่อน แง่ที่เหมือนก็คือ เศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน มีความเข้าใจตรงกับพุทธศาสตร์ที่ว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด หรือไม่จำกัด ซึ่งเราจะเห็นว่า พุทธศาสนาได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้มากมาย เช่นที่บอกว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี แม่น้ำเต็มได้ แต่ตัณหาไม่มีเต็ม หรือว่า ถึงแม้เงินทองจะตกจากฟากฟ้าเป็นห่าฝน ก็ไม่สามารถสนองความต้องการของคนให้เต็มได้ หรือแม้จะเนรมิตภูเขาทั้งลูกให้เป็นทองคำ ก็ไม่สามารถทำความต้องการของคนๆ เดียว ให้เต็มอิ่มได้ดังนี้เป็นต้น จะเห็นว่า เรื่องความต้องการของคนที่ไม่มีสิ้นสุดนี้ พระพุทธศาสนาพูดไว้มากมาย ในทางเศรษฐศาสตร์ก็มีความเข้าใจคล้ายกันว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่จำกัด แต่มีข้อต่าง ข้อต่างก็คือ เศรษฐศาสตร์ถือว่า ความต้องการที่ไม่จำกัดหรือไม่สิ้นสุดนี้ตายตัว แก้ไม่ได้ มีอยู่อย่างเดียว แต่พุทธศาสตร์บอกว่า ความต้องการของมนุษย์แยกได้เป็นสองอย่าง หนึ่ง ความต้องการเสพสิ่งปรนเปรอตน อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่จำกัด เป็นความต้องการแบบที่เรียกว่า ตัณหา แล้วก็สอง ความต้องการคุณภาพชีวิต อันนี้มีเครื่องวัดได้ ร่างกายของเราต้องการคุณภาพชีวิต ทำอย่างไรจะให้เจริญเติบโต ให้มีสุขภาพดี อันนี้มีขอบเขต ความต้องการคุณภาพชีวิตนี้มีขอบเขตจำกัด เพราะฉะนั้นจึงมีความสิ้นสุดได้ ความต้องการคุณภาพชีวิตนี้เรียกว่า ฉันทะ ถึงตอนนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการนี้เริ่มไม่เหมือนกันแล้ว
นอกจากนี้ พุทธศาสนามีความเชื่อพื้นฐานต่อไปอีกที่แถมเข้ามา ดังได้พูดไปแล้วว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ หมายความว่า ฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปให้มีปัญญา รู้จักดำเนินชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นได้ ลักษณะหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพนี้ก็คือ การหันเหหรือเปลี่ยนจากความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน มาเป็นความต้องการคุณภาพชีวิตให้มากขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กันไปกับการพัฒนาปัญญา หมายความว่า เมื่อมนุษย์มีปัญญามากขึ้น อวิชชาน้อยลง ความต้องการคุณภาพชีวิตก็จะมากขึ้น และตรงจุดมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในชีวิตของปุถุชน ความต้องการสองอย่างนี้ขัดกันบ่อยๆ เมื่อเริ่มพัฒนา หรือยังอยู่ในระหว่างพัฒนาไปได้ไม่มาก ก็จะมีการกินอาหารเพื่อเสพรส เพื่อเอร็ดอร่อยด้วย โดยที่พร้อมกันนั้น ก็อาจจะต้องการคุณภาพชีวิตด้วย ตรงข้ามกับคนที่ไร้การศึกษา ยังไม่พัฒนา ซึ่งจะมุ่งเสพรสอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตเลย คนที่มีความต้องการต่างกันนี้ก็จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไป เช่น ผู้ที่กินอาหารโดยอยากเสพรสอร่อย หนึ่ง ก็ย่อมมีทางที่จะใช้จ่ายเปลืองเงินทองมาก เพราะของที่จะให้เสพรสอร่อยก็อาจจะต้องทำให้แพงมาก เพราะต้องปรุงแต่งสีสันกลิ่นรส และทำให้โก้เก๋สวยงาม ต้องยั่วยุความต้องการ ซึ่งอาจจะต้องมีการโฆษณา ก็เอาเงินค่าโฆษณาไปรวมในต้นทุน สอง สิ่งที่เสพเพื่อสนองตัณหาหรือความอยากเสพรส มักจะมีพิษเป็นโทษต่อร่างกายโดยไม่รู้ เช่น มีสารที่ปรุงแต่งสี ปรุงแต่งรส ปรุงแต่งกลิ่น ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้กันมาก และ สาม เมื่อกินโดยมุ่งแต่จะเสพรส ก็มักทำให้กินเกินประมาณ ก็กลายเป็นโทษต่อร่างกายของตัวเองอีก เพราะฉะนั้น พฤติกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มาจากการสนองความต้องการแบบนี้ ก็จะเป็นไปอย่างหนึ่ง ทีนี้ พอมนุษย์มีปัญญา รู้จักกินโดยสนองความต้องการคุณภาพชีวิต พฤติกรรมการกินก็จะต่างออกไปเลย เขาอาจจะไม่ซื้อของบางอย่าง ทั้งที่อร่อยแต่แพงและไม่ค่อยมีคุณค่าอาหาร หรือรู้จักปรับตัวเองให้ได้ความอร่อยพอสมควร แต่มุ่งที่คุณภาพชีวิต ฉะนั้น การใช้จ่ายของเขาจะมีความหมายทางเศรษฐกิจต่างออกไปมาก ไม่ว่าในด้านการสิ้นเปลืองเงินทองก็ตาม ในด้านเป็นโทษเป็นคุณแก่ร่างกายก็ตาม และในด้านการกินเกินประมาณ หรือไม่เกินประมาณก็ตาม