ถ้าเชิดชูพระคุณแม่ขึ้นมาได้ สังคมไทยไม่สิ้นความหวัง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คุณแม่ยิ่งทำหน้าที่ได้ผลมาก
หากมีกำลังหนุนทั้งที่บ้านและสถานที่เล่าเรียน

แม่ก็เป็นคุณครู คุณครูก็เป็นแม่ได้

ความเป็นแม่มี ๒ นัย คือ แม่โดยเป็นผู้ให้กำเนิด และแม่โดยธรรม คุณแม่นั้นตามปกติได้ครบทั้งสองนัย แต่ถึงเราจะไม่ใช่เป็นผู้ให้กำเนิด ก็เป็นแม่โดยธรรมได้ คือคุณธรรมของแม่มีในผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นแม่ได้ ความเป็นแม่อยู่ที่จิตใจที่มีคุณธรรม มีความรักแท้จริงที่เป็นเมตตากรุณา คุณธรรมนี้เกิดขึ้นมาเมื่อไร ความเป็นแม่ก็เกิดเมื่อนั้น

คุณพ่อคุณแม่นี่ทางพระมองใน ๓ สถานะ คือ

๑. พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร มารดาบิดาเป็นพระพรหมของลูก

๒. ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร เป็นบูรพาจารย์ เป็นครูอาจารย์คนแรก

๓. อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ เป็นอาหุไนยบุคคลของลูก

อาหุไนยนี้เป็นคำเรียกพระอรหันต์ สังคมไทยเราจึงเรียกพ่อแม่ว่าเป็นพระอรหันต์ของลูก คือ เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ต่อลูก ความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่ความบริสุทธิ์ พ่อแม่ก็บริสุทธิ์ใจต่อลูก รักลูกด้วยใจจริงและจริงใจ

คุณพ่อคุณแม่นั้นส่วนหนึ่งก็มีหน้าที่ร่วมกัน แล้วอีกส่วนหนึ่งก็มีหน้าที่ที่ชำนาญพิเศษคนละอย่าง

หน้าที่ร่วมกันนั้นแน่นอนว่า ก็คือการที่จะต้องเลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโตอย่างดี แต่พร้อมกันนั้นคุณพ่อจะทำหน้าที่หนักในส่วนนอกที่สัมพันธ์กับสังคม โดยเน้นในแง่ของการให้ความมั่นคงปลอดภัย คล้ายๆ ว่าแม่อยู่ใกล้ชิดคอยดูแลติดตัว แต่ก็ต้องมีผู้ที่เหมือนกับคอยปกปักรักษา ระวังภัยต่างๆ เป็นด่านรอบนอกด้วย

ในด้านการให้กำลัง สนับสนุน อุ้มชู ประคับประคอง คุ้มครอง รักษาความมั่นคงปลอดภัย แง่นี้คุณพ่อจะมาเด่น อันนี้สัมพันธ์กับสภาพสังคมของเราที่เป็นมาด้วย จะเห็นว่าพ่อเด่นด้านนี้ ถ้าพ่ออยู่ก็รู้สึกว่าปลอดภัย มีความมั่นคงมั่นใจ ส่วนแม่นี้เยือกเย็นลึกซึ้ง ให้ความรู้สึกที่หนักในด้านเมตตา มีความรักใกล้ชิดสนิทใจ

เมื่อมองในแง่ความสมดุล พ่อก็ไปช่วยในข้ออุเบกขามากหน่อย เพราะถ้าเอาแต่เมตตาแสดงความรักมากเกินไป บางทีก็เลยทำให้เด็กถูกตามใจเกินไป แล้วบางทีก็จะเอนเอียงง่ายด้วย จึงต้องมีอุเบกขาเพื่อให้รักษาความพอดีไว้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความเป็นจริงของธรรมชาติ และรักษากฎเกณฑ์กติกา หรือหลักการที่เรียกว่า ธรรมนั่นเอง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง