อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคน ซึ่งควรพูดไว้ด้วย ก็คือเรื่องความสุข ความสุขเป็นเรื่องใหญ่มาก ในการศึกษาคือการพัฒนาคนที่ถูกต้อง การศึกษาที่แท้เริ่มเมื่อไรคนก็เริ่มมีมิติใหม่ของความสุขและมีความสุขเพิ่มขึ้นในทันที การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขชนิดใหม่และเป็นความสุขที่เป็นอิสระแก่ตนเองยิ่งขึ้น
มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาคือยังไม่มีการศึกษานั้น ก็มีตาหูจมูกลิ้นกายและใจเกิดขึ้นมากับตัว และเขาก็ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้นในการสื่อสารกับโลกภายนอก แต่โดยส่วนใหญ่เขาจะใช้ตาหูจมูกลิ้นกายนั้นในการเสพหาความสุข เพราะฉะนั้นแหล่งความสุขของมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษาจึงมาจากการเสพด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย แต่พอมนุษย์เริ่มมีการศึกษา ตาหูจมูกลิ้นกายที่เขาใช้ในการเสพหาความสุขชุดเดียวกันนี่แหละ เขาก็เอาไปใช้เป็นจุดเริ่มของการศึกษา การศึกษาเริ่มที่ไหน ก็เริ่มที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจของเรานี่เอง
ตาหูจมูกลิ้นกายใจของเราทำหน้าที่กี่อย่าง ตอบว่าทำหน้าที่ ๒ อย่าง
๑. ทำหน้าที่รับรู้ ดู เห็น ฟัง ว่าอะไรเป็นอะไร ว่าเป็นสีเขียว ดำ แดง เหลือง รูปร่างยาวกลมแบนเหลี่ยม เสียงไพเราะ เสียงไม่ไพเราะ เสียงนกเสียงกา เป็นต้น นี่ด้านหนึ่ง
๒. อีกด้านหนึ่ง ตาหูจมูกลิ้นกายนั้นทำหน้าที่รู้สึก ซึ่งเป็นด้านที่ไม่ค่อยนึกกัน
ที่จริงด้านรู้สึกนี้แหละมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนมากกว่าด้านรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ด้านรู้กับด้านรู้สึกมาพร้อมกันที่ตาหูจมูกลิ้นกายของเรา แต่มนุษย์ทั่วไปจะตกอยู่ใต้อำนาจของด้านรู้สึก ตาดูหูฟังพอรู้สึกสบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ พอชอบใจก็คิดจะเอาจะได้จะอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วก็มีพฤติกรรมสนองตามความรู้สึกนั้น เมื่อชอบใจจะเอา ก็ทำก็พูดเพื่อให้ได้มา ถ้าไม่สบายก็ไม่ชอบใจ แล้วก็หาทางเลี่ยงหลบหนีกำจัด เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ก็จะเกิดวงจรแห่งปฏิกิริยาต่อความรู้สึกทางตาหูจมูกลิ้นกาย คือเมื่อได้เจอสิ่งที่ชอบใจก็เป็นสุข เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ สำหรับมนุษย์ที่ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายในการเสพนี่ ความสุขความทุกข์ของเขาจะวนเวียนอยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ คือ ชอบใจก็สุข ไม่ชอบใจก็ทุกข์
ทีนี้ พอมนุษย์เริ่มใช้ตาหูจมูก เป็นต้น ในการเรียนรู้ นั่นคือเริ่มการศึกษา มนุษย์จะดูรู้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร เป็นเพราะอะไร ฯลฯ พอเริ่มเรียนรู้ คือไม่ใช่รู้เฉยๆ แต่เรียนรู้คือเอาประโยชน์จากสิ่งที่รู้ เพื่อเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตที่จะทำอะไรอย่างไร เป็นต้น เมื่อเราเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น เราเอาประโยชน์มาได้ เราได้ความรู้ได้ประโยชน์ การได้ความรู้นั้นสนองความต้องการของเรา ก็ทำให้เราเป็นสุข
ตอนแรกเรามีความต้องการเสพ เมื่อเราสนองความต้องการเสพเราก็สุขจากเสพ แต่เมื่อเราต้องการรู้ เราสนองความต้องการในการรู้ เราก็สุขจากการสนองความต้องการรู้นั้น เราก็สุขจากการเรียนรู้ ต่อมาเราพัฒนาความต้องการรู้นี้เป็นความอยากรู้มากขึ้นๆ จนกลายเป็นความใฝ่รู้ คราวนี้พอได้สนองความต้องการในการใฝ่รู้ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นจากความใฝ่รู้นั้น
ความสุขจากการเรียนรู้นี่เป็นอิสระจากความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะการเรียนรู้นั้น เรียนรู้ได้ทั้งสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อความชอบใจและไม่ชอบใจ สิ่งที่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ เขาจึงเริ่มเป็นอิสระ เริ่มสามารถมีความสุขที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งเสพ และไม่ขึ้นต่อความชอบใจและไม่ชอบใจ เขามีแหล่งแห่งความสุขเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
สำหรับคนพวกที่อาศัยความสุขจากสิ่งเสพ สุขทุกข์ของเขาก็วนเวียนอยู่กับสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือถ้าเจอสิ่งที่ชอบใจก็สุข เจอสิ่งไม่ชอบใจก็ทุกข์ แต่พอสุขจากการเรียนรู้ ทั้งสิ่งที่ชอบใจและสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ทำให้เขาสุขได้ทั้งนั้น เพราะเขาได้เรียนรู้ บางทีสิ่งไม่ชอบใจเขาเรียนรู้ได้มากกว่าสิ่งที่ชอบใจเสียอีก ตอนนี้ยิ่งดีใหญ่เพราะมีความสุขชนิดใหม่ นี่คือสิ่งที่ได้มาพร้อมกับการเริ่มต้นของการศึกษา การศึกษาเริ่มเมื่อไรคนก็เริ่มมีมิติใหม่แห่งความสุข เริ่มมีความสุขใหม่มาถ่วงดุล ความสุขจากชอบใจไม่ชอบใจเริ่มมีอำนาจต่อชีวิตของเขาน้อยลง หมายความว่า นอกจากความสุขจากเสพแล้วเขายังมีความสุขจากการเรียนรู้เพิ่มเข้ามาอีก พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า พอเริ่มพัฒนา คนก็มีความสุขจากการศึกษา เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากความสุขจากการเสพ
ต่อไปการศึกษานำความสุขอะไรมาให้อีก ตอบว่า ต่อจากความสุขจากการเรียนรู้ การศึกษาก็นำมาซึ่งความสุขจากการกระทำ หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ต่อจากสุขจากการศึกษา ก็มีความสุขจากการสร้างสรรค์ อันนี้สำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะสุขจากการเรียนรู้แต่มีสุขจากการทำด้วย
คนพวกที่สุขจากเสพก็คือสุขจากการที่ไม่ต้องทำอะไร อันนี้เป็นตัวก่อปัญหาร้ายที่สุด คนที่หาความสุขจากการเสพ ก็คือคนที่ต้องการได้รับการปรนเปรอบำรุงบำเรอ จะได้สบาย ไม่ต้องทำอะไร สำหรับคนประเภทนักเสพนี้ การกระทำคือความทุกข์ ส่วนมนุษย์ที่มีการศึกษาจะมีความสุขจากการกระทำ
ขอให้พิจารณาว่าคนเราเรียนรู้เพื่ออะไร ก็เพื่อจะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ เพราะการเรียนรู้ทำให้เกิดปัญญา ซึ่งช่วยให้ทำอะไรได้ เมื่อคนต้องการผลอย่างใดอย่างหนึ่ง การที่เขาจะทำสิ่งนั้นได้ เขาจะต้องรู้ การที่จะรู้สัมพันธ์กับการที่จะทำ ทำเพื่ออะไร ก็เพื่อสนองความต้องการให้สิ่งนั้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในภาวะที่ดีที่พึงปรารถนา เรียกง่ายๆ ว่า ความอยากให้มันดี ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นไปก็เรียกว่าเป็นความใฝ่ดี เจออะไรต่ออะไรก็อยากให้มันดีไปหมด เมื่ออยากให้มันดี ก็อยากทำให้มันดี เมื่ออยากทำให้มันดี ก็ลงมือทำด้วยความต้องการซึ่งทำให้มีความสุขในการกระทำ
ว่าตามธรรมชาติ การเรียนรู้กับความอยากทำให้มันดีหรือความใฝ่สร้างสรรค์นี้ มีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยสืบต่อกัน กล่าวคือเมื่อเรียนรู้ ก็เกิดความรู้หรือได้ความรู้ เมื่อความรู้เกิดขึ้น ก็ทำให้แยกได้โดยมองเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่อยู่ในภาวะที่ดีที่สมบูรณ์ ที่ควรจะเป็น กับอีกสิ่งหนึ่งในประเภทเดียวกันที่อยู่ในภาวะที่ไม่ดีไม่สมบูรณ์ที่ไม่ควรจะเป็น เช่น เห็นต้นไม้ที่ใบแห้งเหี่ยวเฉา กับต้นไม้ที่มีใบดกเขียวขจี พอเกิดความรู้แยกต่างอย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดความอยากให้สิ่งที่ไม่ดีไม่สมบูรณ์ ซึ่งอยู่ในภาวะที่ไม่ควรจะเป็นนั้น เปลี่ยนไปสู่ภาวะที่ควรจะเป็นที่ดีที่สมบูรณ์ เรียกว่าเกิดความอยากให้มันดี เมื่อความอยากให้มันดีเกิดขึ้นแล้ว ก็จะตามมาด้วยความอยากทำให้มันดี ที่เรียกว่าความใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้คนเข้าไปรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยเป็นต้น เพื่อทำให้ต้นไม้ที่เหี่ยวเฉา กลายเป็นต้นไม้ที่งอกงามใบเขียวสะพรั่งขึ้นมา
อีกประการหนึ่ง ทุนในเรื่องความใฝ่ดีนี่คนเรามีกันอยู่แล้วทุกคน เช่น เมื่อนึกถึงอวัยวะร่างกายของเราอย่างมือพร้อมทั้งนิ้วห้านิ้วนี้ เราก็อยากให้มันดีให้มันสมบูรณ์ หน้าตาของเราๆ ก็อยากให้มันงดงามหมดจดสมบูรณ์ ทีนี้ถ้าเราแผ่ขยายความปรารถนาดีหรือความอยากให้มันดีนี้ออกไป พอเราไปสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับอะไรเราก็อยากให้มันดีไปหมด เรามานั่งที่นี่เราก็อยากให้สถานที่เรียบร้อยสวยงาม อยากให้มันสะอาด ไม่ว่าจะไปเจออะไรก็อยากให้มันดี ไปเจอคนก็อยากให้เขาหน้าตาอิ่มเอิบผ่องใส แข็งแรงสมบูรณ์ (ความอยากให้มันดีนี้ถ้ามีต่อคนเรียกว่าเมตตา นี่ตัวเดียวกัน)
เมื่ออยากให้มันดีก็เลยอยากทำให้มันดี เมื่ออยากทำให้มันดีแล้ว พอลงมือทำตามนั้น เราก็ได้สนองความต้องการที่จะทำให้มันดี เราก็เลยสุขจากการทำให้มันดี ความอยากทำให้มันดีนี้เรียกว่าใฝ่สร้างสรรค์ เมื่อทำตามนั้น ก็เกิดความสุขจากการสนองความใฝ่สร้างสรรค์ แล้วความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ก็มาประสานกันและหนุนกันยิ่งขึ้น พร้อมกับที่ทำให้ยิ่งมีความสุขมากขึ้น
ความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้ทางพระเรียกว่าฉันทะ สองตัวนี้เป็นคู่ตรงข้ามกับความต้องการเสพที่เรียกว่าตัณหา ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาไม่ต้องพัฒนา แต่ความต้องการเสพนี้ตันเพราะไปเจอทุกข์จากการต้องทำแล้วก็ติดอยู่แค่นั้น ทุกข์สุขก็วนเวียนอยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ ทีนี้พอเราสร้างฉันทะขึ้นมาก็มีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ทำให้ต้องสนองความใฝ่รู้และความใฝ่สร้างสรรค์ ก็เดินหน้าไปได้ ความสุขก็เพิ่มขึ้น ทั้งสุขจากการเรียนรู้หรือสุขจากการศึกษา และสุขในการกระทำหรือในการสร้างสรรค์ ชีวิตและสังคมก็ก้าวไปสู่ความเจริญงอกงาม
อนึ่ง มนุษย์มองวัตถุเป็นสองแบบ พวกหนึ่งมองวัตถุเสพเป็นจุดหมายโดยเห็นว่าความสุขหรือชีวิตที่ดีอยู่ที่การมีสิ่งเสพ เราต้องมีมันให้พรั่งพร้อมแล้วเราจะสบาย จะได้ไม่ต้องทำอะไรอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แต่เมื่อเรามีความสุขจากการศึกษา และมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ เราจะมองวัตถุเสพทั้งหลายเป็นปัจจัย
ทำไมพระพุทธศาสนาเรียกวัตถุเสพบริโภคว่าเป็นปัจจัย ปัจจัยคือเครื่องเกื้อหนุน ที่จะช่วยให้เราทำสิ่งดีงามที่เราต้องการ เราพยายามจะทำสิ่งที่ต้องการที่ดีงามยิ่งขึ้นไป เราจะพัฒนาชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้นไปอีก วัตถุเสพและเทคโนโลยีทั้งหลายก็มาเป็นปัจจัยเครื่องเกื้อหนุนให้เราทำได้ตามประสงค์ ยิ่งมันมาเราก็ยิ่งทำได้สะดวก เราก็ยิ่งทำใหญ่ เพราะเรามีความสุขจากการทำ แต่มนุษย์พวกที่หาสุขจากเสพหรือพวกนักเสพจะจบแค่นั้น เพราะจุดหมายของเขาอยู่ที่วัตถุเสพ เมื่อมีพรั่งพร้อมแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร มันตันแค่นั้น เวลานี้อารยธรรมมาถึงจุดนี้แล้ว
สังคมบริโภคก็คือสังคมที่มุ่งหมายความสุขจากการเสพ เมื่ออารยธรรมเจริญมาถึงจุดนี้วัตถุเสพก็จะกลายเป็นจุดหมายของชีวิต แล้วอารยธรรมก็จะตันที่นี่ เพราะฉะนั้นจะต้องรีบแก้ไขให้มนุษย์มีความสุขจากการสร้างสรรค์
ในเวลาที่หมดแล้วนี้ขอฝากนิดหนึ่งว่า ความสุขนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพูดกันมาก มีความสำคัญต่อสิ่งที่เราเรียกในปัจจุบันว่าจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาถือว่าสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหรือข้อธรรมสำคัญในกระบวนการพัฒนาจิตใจ เมื่อคนมาสัมพันธ์กับเทคโนโลยีจะต้องพัฒนาเขาให้มีท่าทีที่หนึ่งคือให้มองเทคโนโลยีเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ ไม่ใช่มองเป็นเครื่องบำรุงบำเรอ เทคโนโลยีนั้นมีทั้งความหมายเชิงบำรุงบำเรอเป็นเครื่องเสริมเพิ่มความสุขจากการเสพ และอีกด้านหนึ่งมันเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ที่สนองความต้องการให้เกิดความสุขจากการทำได้สำเร็จ มนุษย์ในบางสังคมมีความโน้มเอียงในการหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี ก็จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพบำเรอ แต่มนุษย์ในบางสังคมอาจจะมีความโน้มเอียงในทางหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี
สองอย่างนี้ให้ดูได้ที่เด็ก ถ้าเด็กคนไหนหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี จะเป็นที่น่าหนักใจ พ่อแม่จะเดือดร้อน ชีวิตของเขาจะไปดีได้ยาก แต่ถ้าเด็กคนไหนหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี พ่อแม่จะเริ่มสบายใจได้ และเขาจะช่วยสร้างสรรค์สังคมของเราให้เข้มแข็ง เวลานี้ต้องรีบแก้ไข เด็กของเรากำลังโน้มไปในทางหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพบำเรอ สังคมนี้เรียกร้องเทคโนโลยีประเภทเสพบำเรอ ไม่เรียกร้องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและสร้างสรรค์ เน้นเทคโนโลยีเพื่อการเสพบำเรอ ไม่มุ่งหาเทคโนโลยีเพื่อการผลิต เราต้องเรียกร้องเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและการสร้างสรรค์ให้มาก
แม้แต่เทคโนโลยีชิ้นเดียวกันบางทีก็ใช้ได้ทั้งสองแง่ แล้วแต่จะเน้น เช่น รถยนต์ที่ใช้เพื่อการเสพบำเรอ กับใช้เพื่อการสร้างสรรค์ เราจะต้องเน้นในแง่การใช้เพื่อสร้างสรรค์ นี่คือการสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมองมันเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์
ขอเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับความสุข ว่าเรื่องนี้เป็นแกนกลางของการศึกษาทีเดียว คือเมื่อมีการศึกษาคนจะเริ่มเข้าสู่มิติใหม่แห่งความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เป็นอิสระอยู่กับตน ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งเสพ มนุษย์ที่หาความสุขจากสิ่งเสพจะต้องไปขึ้นต่อวัตถุเสพนั้น ไม่เป็นอิสระแก่ตนเอง สูญเสียอิสรภาพ ความสุขในชีวิตของตนไม่เป็นไท เพราะต้องไปขึ้นต่อมัน แต่พอเรามีความสุขจากการเรียนรู้และจากการสร้างสรรค์ ความสุขก็มาอยู่ที่ตัวเอง การศึกษาจะต้องช่วยให้เกิดภาวะนี้ ถ้าการศึกษาไม่ช่วยให้เกิดความสุขประเภทนี้ก็แสดงว่าการศึกษาไม่ถูกต้อง
ถ้าการศึกษาไปสนองเป้าหมายในการหาความสุขจากสิ่งเสพ การศึกษาก็จะมีลักษณะเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอสุข การศึกษาในสังคมกำลังมีสภาพอย่างนี้ และความหมายของการศึกษาก็เพี้ยนไปกลายเป็นว่าการศึกษาคือการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่ถ้าเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง จะทำให้มีการพัฒนาด้านในไปด้วยเป็นคู่กันอย่างสมดุล คือพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย เช่น พัฒนาความสุขจากการเรียนรู้ หรือความสุขจากการศึกษา และความสุขจากการสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดขึ้นภายในตนเอง เป็นความเจริญงอกงามของชีวิต และทำให้มนุษย์เป็นอิสระมากยิ่งขึ้น ความสุขแบบนี้นอกจากเป็นผลดีแก่ชีวิตของตนเองแล้วก็เกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วย ทำให้ไม่ต้องมีการแย่งชิงเบียดเบียนกัน แต่เป็นการเกื้อหนุนสังคมและทำลายธรรมชาติแวดล้อมน้อย
ความสุขที่จะได้จากการพัฒนาคนอย่างถูกต้องหรือการศึกษาที่แท้ ยังมีอีกหลายอย่าง เพราะคนยิ่งพัฒนาขึ้นไป ความสุขก็ยิ่งพัฒนาขึ้นด้วย ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ คือความสุขนั้นทั้งมากขึ้นและประณีตขึ้นด้วย แต่ในที่นี้ได้แค่พูดไว้เป็นตัวอย่าง เพราะเวลาจำกัด
ก่อนจบขอเน้นว่า การศึกษาจะต้องระวังไม่ให้กลายเป็นการผลิตนักหาความสุข แต่การศึกษาจะต้องผลิตผู้มีความสุขหรือผลิตนักสร้างสรรค์ความสุข และในที่สุดจะต้องผลิตนักให้ความสุข เวลานี้เรากำลังผลิตนักหาความสุขมากกว่านักให้ความสุข ถ้าการศึกษาดำเนินไปด้วยดีอย่างถูกต้องและประสบความสำเร็จจริง จะต้องเป็นการศึกษาที่ผลิตนักให้ความสุข
บัดนี้หมดเวลาไปแล้ว ยังมีเรื่องที่ควรพูดเกี่ยวกับสารสนเทศอีกมาก เช่นว่าเราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรจึงจะถูกต้อง แต่ขอพูดไว้นิดหนึ่งในเวลาที่จำกัดที่สุด
สารสนเทศเป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน หลักการในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะกับสารสนเทศนี้มี ๒ อย่าง โดยสัมพันธ์กับ หนึ่ง ปัจจัยภายใน สอง ปัจจัยภายนอก ผู้ที่รับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะนักการศึกษาที่สัมพันธ์กับเด็กจะต้องทำสองอย่างพร้อมกัน คือ ทำหน้าที่จัดสรรปัจจัยภายนอกด้วย และช่วยพัฒนาปัจจัยภายในให้แก่เด็กด้วย
ด้านปัจจัยภายนอกทำอย่างไร ก็คือจัดสรรสภาพแวดล้อมเช่นสารสนเทศที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก หมายความว่าสังคมทั้งหมด รวมทั้งสื่อมวลชนหรือใครก็ตามที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ จะต้องจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก นี่ด้านที่หนึ่ง
ทีนี้สอง พร้อมกันนั้นก็ต้องเสริมปัจจัยภายในตัวเด็กด้วย เราจะไปหวังไม่ได้ว่าเด็กออกไปสู่สังคมและชีวิตในโลกกว้างแล้วแกจะไปพบแต่สิ่งที่ดี เด็กจะต้องไปอยู่ท่ามกลางความเป็นจริงซึ่งมีทั้งดีทั้งร้าย เราจึงต้องช่วยเด็กให้พัฒนาปัจจัยภายใน เพื่อให้เขาเจริญเติบโตอย่างแท้จริง และช่วยตัวเองได้ การพัฒนาปัจจัยภายในก็คือการพัฒนาความสามารถที่เด็กจะเอาประโยชน์ได้จากประสบการณ์ทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่เลวที่สุด สารสนเทศหรือข่าวสารข้อมูลอะไรแม้แต่ที่เลวร้ายที่สุด ตั้งแต่คำด่า เด็กต้องหัดคิดพิจารณาหาเอาประโยชน์ได้ ไม่ใช่ไปมัวแต่รับรู้แบบชอบใจไม่ชอบใจ ทางพระท่านให้ระวังนัก คือ พอใช้ตาหูจมูกลิ้นกายใจรับรู้อะไรมันก็ไปตกที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจทันที ซึ่งผิด การศึกษาไม่เกิด แต่ต้องรับรู้แบบโยนิโสมนสิการ คือ
การสัมพันธ์เชิงรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ มีหลักสองอย่างนี้ คือ หนึ่ง ให้ถึงความจริง สอง ให้เห็นประโยชน์และเอาประโยชน์จากมันให้ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องพัฒนาให้เด็กมีความสามารถถึงขั้นที่ว่าเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว เด็กจะออกไปเจอข่าวสารข้อมูลหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรเราก็ไม่กลัว
บัดนี้เลยเวลาไปแล้ว ขอถือว่าวันนี้ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาคน โดยหลักการใหญ่ที่สัมพันธ์กับยุคสมัย เพื่อให้สังคมไทยของเราอยู่รอดปลอดภัยด้วยดีและมีความเจริญก้าวหน้าด้วยการพัฒนาคน ขออนุโมทนาทุกท่านในที่ประชุม และขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ทุกท่าน