จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน
ตามแนวธรรมชาติ1

ขออำนวยพรท่านองคมนตรี ท่านผู้หญิงในฐานะประธานในพิธี ท่านนายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์มาให้พูดในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการพัฒนาคนในยุคสารสนเทศ คือยุคปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีเวลาพูดจำกัด จึงคิดว่าจะต้องเร่งรีบเข้าสู่ประเด็นที่เป็นหัวข้อของการประชุม

หัวข้อที่ให้พูดนี้เป็นเรื่องสัมพันธ์กับกาล กับยุคสมัย คือเป็นการพัฒนาคนสำหรับสภาวการณ์ปัจจุบัน แต่ในการพูดนั้นคิดว่าคงต้องแยกเป็น ๒ ส่วน ตอนแรกจะพูดถึงหลักการทั่วไป แต่จะพูดสั้นๆ และในตอนที่สองจึงพูดเรื่องการพัฒนาคนสำหรับสภาวการณ์ปัจจุบันที่เรียกว่ายุคสารสนเทศ

ในด้านหลักการนั้น ในตอนต้นขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า จิตวิทยา ก็ดี คำว่า ศาสนา ก็ดี เป็นคำพูดในระบบความคิดปัจจุบันซึ่งเป็นแนวคิดที่พูดได้ว่าเป็นแบบตะวันตก คือแนวความคิดแบบชำนาญพิเศษหรือแยกส่วน หมายความว่าเรานิยมจัดแบ่งวิชาการเป็นต้น ออกเป็นเรื่องๆ ด้านๆ เฉพาะไป เรามีเรื่องจิตวิทยา เรามีเรื่องจริยธรรม เรามีเรื่องศาสนา แม้แต่คำว่าศาสนาเองที่ใช้กันอยู่ ก็เป็นศาสนาในความหมายของตะวันตก

ในความเป็นจริงนั้นวิชาการเหล่านี้เราคงแยกจำเพาะไม่ได้ เพราะเรื่องของชีวิตมนุษย์ ตลอดจนเรื่องของโลกทั้งหมด เป็นสิ่งที่โยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่เราพูดแยกออกไปเพื่อความสะดวกในทางระบบความคิด แต่ในเชิงปฏิบัติการและการนำเข้าสู่ความเป็นจริงจะต้องเอามาโยงสัมพันธ์กันให้ได้

สำหรับเรื่องจิตวิทยา ศาสนา และจริยธรรมนั้น เวลานี้บางทีเมื่อใช้กันไปเราก็ติดในความหมายเฉพาะอย่างเฉพาะด้าน แล้วก็เกิดปัญหาคือการโยงกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นในที่นี้อาตมภาพจะหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำเหล่านี้ คือจะพูดกันตามสภาพความเป็นจริงเลย หมายความว่าไม่ต้องไปแยกว่าจิตวิทยา หรือศาสนา หรืออะไรทั้งนั้น แต่จะพูดถึงการพัฒนาคน

1ปาฐกถานำ ในการประชุมวิชาการของสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙ (เดิมมีชื่อเรื่องว่า “จิตวิทยา และศาสนาเพื่อการพัฒนาคนในยุคสารสนเทศ” ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อหามากขึ้น)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง