แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ก้าวสำคัญของการศึกษา คือการเกิดความสุขจากการสนองความใฝ่รู้

จะยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นในชีวิตประจำวัน เรื่องนี้ยกตัวอย่างบ่อยๆ ในการกิน จะมีความสุข ๒ อย่าง คนที่ไม่มีการศึกษากับคนที่มีการศึกษาจะมีความสุขต่างกัน คนที่มีการศึกษาจะได้ความสุข ๒ อย่าง แต่คนที่ไม่มีการศึกษาจะมีความสุขอย่างเดียว และความสุขอย่างเดียวที่เขาได้ก็คือความสุขที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการศึกษา

ทันทีที่มนุษย์เกิดมา มีหู มีตา มีปาก มีฟัน พอเกิดมาก็มีอายตนะ หรืออินทรีย์สำหรับรับรู้ติดมาด้วย อินทรีย์นั้นทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

  1. รู้สึก หรือเสพ
  2. รู้ หรือศึกษา

พร้อมกับที่เรารับรู้ทุกครั้งนั้น อินทรีย์ เช่น ตาของเราทำหน้าที่ ๒ อย่าง อย่าเข้าใจว่ารับรู้อย่างเดียว พอเราได้เห็นอะไรมันจะมีความรู้สึกสบาย ไม่สบาย เรียกว่าสุข-ทุกข์ นี่ด้านความรู้สึก แต่อีกด้านหนึ่งคือรู้ รู้ว่าเป็นอะไร เขียวแดง รูปร่างกลม แบน ยาว เป็นต้น ด้านความรู้สึกจะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคนก่อน พอเรารู้สึกสบาย เราชอบ เราจะเอา แต่พอรู้สึกไม่สบาย เราเปลี่ยน เราไม่เอา จากนั้นพฤติกรรมก็ตามมาว่า จะคิดอย่างไร จะเอาอย่างไร และจะทำให้ได้มา อันไหนที่ไม่ชอบ ทำให้รู้สึกไม่สบาย ก็จะชัง จะเกลียด จะเลี่ยง จะหนี จะทำลาย

ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือ ความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะได้เก็บไว้เป็นสถิติสำหรับสติ เป็นข้อมูลสำหรับระลึก และใช้ประโยชน์ให้ปัญญาพิจารณา เข้าถึง เข้าใจ

ในการดำเนินชีวิตขั้นแรก เมื่อเรายังไม่มีการศึกษา เราจะมีความรู้สึกได้ทันที คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากอายตนะที่ได้รับการสนองว่า รู้สึกสบายก็ชอบใจ ก็มีความสุข อันนี้ไม่ต้องมีการศึกษา เวลากินเราก็มีลิ้นที่จะรับความรู้สึก พอเรากินรับความรู้สึกอาหารอร่อยก็สุข ความสุขประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยการศึกษา ตอนแรกกินเพื่ออร่อยเพื่อสนองความต้องการของลิ้น ได้รสที่เราชอบใจ ได้กินก็รู้สึกมีความสุข ตอนนี้ยังไม่มีเรื่องของการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พอเริ่มคิด พอเริ่มมีการศึกษา เราก็ถามตัวเองว่าที่กินนั้นกินนี้เพื่ออะไร กินเพื่ออร่อยหรือ? พอเริ่มถามก็จะเริ่มเห็นว่ามันไม่ใช่ เรากินไม่ใช่เพียงเพื่ออร่อย แต่เพื่อช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง มีสุขภาพดี จะได้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดี ร่างกายมีความแข็งแรง เราจะได้ทำสิ่งที่เราต้องการหรือมีการสร้างสรรค์ ถ้าพูดอย่างผู้ที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรมก็คือว่า จะได้ใช้ชีวิตร่างกายนี้ดำเนินชีวิตที่ดีงามและทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ได้ ตอนนี้ก็จะเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการกินขึ้นมาใหม่

พอเกิดความเข้าใจว่าเรากินเพื่อสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น พอเกิดความเข้าใจอย่างนี้ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทันที เริ่มตั้งแต่ในจิตใจ ตอนที่กินเพื่ออร่อยนั้นมันจะกินจนกระทั่งว่ากินไม่ไหว และเกิดผลเฉพาะหน้าคือ กินจนลุกไม่ขึ้น หรืออาหารไม่ย่อย เกิดโทษ หรือว่ากินโดยไม่คำนึงว่าอาหารมีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่ เราก็อาจจะกินอาหารที่เป็นพิษเข้าไป ในระยะยาวร่างกายก็เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไขมันในเส้นเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคสารพัดก็จะเกิดตามมา การกินเพื่อเสพ คือเพื่อบำเรอลิ้นนี้จึงเกิดโทษได้ แต่พอเรากินเพื่อสนองความต้องการที่เกิดจากความรู้เข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงว่ากินเพื่อสุขภาพ ก็จะเกิดพฤติกรรมใหม่ในการกิน คือ

  1. รู้ว่าถ้ากินปริมาณน้อยหรือมากเกินไปจะเป็นโทษต่อร่างกาย ก็จะจำกัดปริมาณอาหารที่กินให้พอดี
  2. เลือกประเภทอาหารว่า อาหารอะไรมีคุณค่าต่อร่างกาย ก็เลือกกินอาหารนั้น

ถึงตอนนี้อาหารที่ไม่อร่อยหรือไม่ค่อยอร่อยแต่มีคุณค่ากลับอยากกิน ความอยากชนิดนี้ เมื่อยังไม่มีการศึกษานั้นไม่มี เพราะว่าตอนที่ยังไม่มีการศึกษาก็มีความอยากที่จะกินเพื่อให้ลิ้นได้รสอร่อยอย่างเดียว ถ้าต้องกินอาหารที่ไม่อร่อยก็ต้องทุกข์อย่างเดียว พอเกิดปัญญาเกิดความรู้แล้วต้องการกินอาหารที่มีคุณค่า บางทีอาหารนั้นไม่อร่อยแต่อยากกิน และกินแล้วได้ความสุขด้วย

คนเราสามารถมีความสุขชนิดใหม่จากการสนองความต้องการที่เกิดจากการศึกษา หมายความว่า เมื่อเราเริ่มมีการศึกษาคือมีการเรียนรู้ เกิดปัญญาขึ้น เราก็เกิดความอยากชนิดใหม่และเมื่อเราสนองความอยากนั้น เราก็มีความสุข เราจึงแยกความอยากเป็น ๒ ประเภท คือ

  1. ความอยากที่มากับความไม่ต้องรู้ คือ อวิชชา คืออยากเพียงว่าได้สนองความต้องการเสพ เช่น ได้อร่อย เป็นต้น นี้เรียกว่า ตัณหา
  2. ความอยากที่เกิดจากปัญญารู้เข้าใจคุณค่าหรือประโยชน์ เรียกว่า ฉันทะ

ความอยากประเภทที่สอง ก็คืออยากในคุณภาพชีวิต ซึ่งทำให้เรามีความสุขชนิดใหม่ พอเราสนองตัณหาเราก็เกิดความสุข เราสนองฉันทะเราก็เกิดความสุข ทีนี้คนยิ่งพัฒนาไปก็ยิ่งเกิดปัญญารู้เข้าใจคุณค่าของสิ่งต่างๆ ดีขึ้น กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความสุขชนิดใหม่มากขึ้น

สิ่งที่พัฒนามากขึ้นที่สำคัญยิ่งก็คือความรู้ที่ทำให้เกิดความต้องการที่ถูกต้อง แม้แต่รู้ว่ากินอาหารเพื่ออะไร กินอาหารอะไรจึงจะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ ซึ่งทำให้เขาอยากกินอาหารประเภทที่มีคุณค่า เพราะตัวความรู้เกิดขึ้น ทำให้เขารู้ว่าชีวิตของเขาต้องการอะไร ซึ่งต่างจากความคิดที่ว่าตัวตนของเขาต้องการอะไร ต่อจากนั้นก็จะเกิดความใฝ่รู้ ความใฝ่รู้นั้นก็ทำให้เขาปฏิบัติต่อชีวิตของตนเองถูกต้อง ทำให้เขาได้ชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น เขาจะเกิดความใฝ่รู้ขึ้นมา เพราะความใฝ่รู้ทำให้ได้ความรู้ที่นำมาซึ่งชีวิตที่ดีงาม เริ่มแต่ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิต เมื่อได้ความรู้ก็คือได้สนองความใฝ่รู้นั้น เพราะฉะนั้นจึงทำให้มีความสุข

เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้น เด็กก็จะเกิดความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ และเมื่อได้ความรู้ก็มีความสุข ที่ว่านี้จึงเป็นช่องทางแห่งความสุขอย่างใหม่ว่า เมื่อเด็กเรียนถ้าเขาไม่มีความใฝ่รู้หรือถ้าเขาต้องรู้สิ่งที่เขาไม่มีความใฝ่รู้ เขาก็จำใจรู้หรือเรียนด้วยความทุกข์ แต่ถ้าเด็กมีความใฝ่รู้ ต้องการรู้โดยเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนเป็นต้น เขาก็จะเกิดความสุขในการเรียน นี้คือความสุขที่เราต้องการ ถ้าเป็นเพียงความสุขในการเสพก็อันตราย และไม่เกี่ยวกับการศึกษา นอกจากว่าเราจะมาจัดทำเพียงเพื่อให้เป็นตัวเอื้อต่อการที่เขาจะได้สนองความใฝ่รู้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง