แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

“สังฆะ” คือชุมชนแห่งการศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้

อย่างพระพุทธเจ้าตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาเป็นชุมชนเพื่ออะไร ก็เพื่อจะให้คนที่ต้องการฝึกหัดพัฒนาตัวเองได้เข้ามาฝึกฝนพัฒนาตัวเองได้เต็มที่ พอตั้งสงฆ์ขึ้นและมีวัดวาอารามก็จะได้เป็นแหล่งศึกษา และเมื่อบุคคลที่เข้ามาในสงฆ์ในวัดนี้มีการศึกษาดีแล้ว ก็จะได้เป็นที่ที่ประชาชนจะเข้ามาหาความรู้และออกไปให้การศึกษาแก่ประชาชน หรือว่าเป็นจุดศูนย์กลางที่คนรู้กันว่า ถ้าต้องการการศึกษา ก็มาที่นี่ ตลอดจนกระทั่งเป็นแหล่งชุมชนการศึกษาที่ผู้ที่ต้องการจะมาศึกษาจริงๆ จังๆ จะเข้ามาอยู่ร่วมด้วย ในลักษณะที่เรียกว่า “การบวช”

เพราะฉะนั้นการบวชแต่โบราณจึงเรียกว่า “บวชเรียน” ถือว่าการบวชเป็นการเรียน หรือว่าบวชเพื่อเรียน และชีวิตของพระเองตั้งแต่บวช พอบวชเสร็จพระอุปัชฌาย์ก็จะบอกคำสอนเบื้องต้น เรียกว่า อนุศาสน์ ๘ อย่าง คือ คำสอนเบื้องต้นให้รู้ว่าพระมีข้อปฏิบัติอย่างไร การดำเนินชีวิตต้องอาศัยอะไรบ้าง ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ด้วยวิธีอย่างไร และจะทำอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อทำแล้วจะพ้นจากความเป็นพระ และปิดท้ายก็จะบอกว่าต่อไปนี้ท่านจะต้องตั้งใจศึกษาในไตรสิกขา นี่คือชีวิตของพระทั้งหมด อยู่ที่ไตรสิกขา คือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ๓ ด้าน

เราเข้าใจกันว่าวัดเท่านั้นเป็นศูนย์กลางหรือชุมชนที่เอาจริงเอาจังในการศึกษา แต่ว่าที่จริงแล้วมนุษย์ทั้งหมดก็คือ ผู้ที่จะต้องศึกษา เมื่อศึกษาไปได้บรรลุผลสำเร็จในการเรียนรู้ ฝึกหัดพัฒนาตนเอง ก็จะมีชื่อเรียกว่า เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เป็นต้น ที่เราเรียกว่าเป็นอริยบุคคล แต่ศัพท์หนึ่งที่เรามักจะมองข้ามก็คือ คำรวมที่เรียกท่านเหล่านี้ว่า “เสกขะ”

สิกขา แปลว่าการศึกษา เป็นการกระทำ เป็นระบบหรือเป็นกระบวนการ ทีนี้พอเป็นคนก็เปลี่ยน อิ เป็น เอ สิกขา เปลี่ยนเป็น เสกขา แล้วตัด อา ออกเหลือ เสกข หรือ เสข แปลว่าผู้ยังต้องศึกษา เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ที่เรียกว่า อริยบุคคลนั้นเป็นผู้กำลังศึกษา คือ เริ่มได้รับผลจากการศึกษา แล้วพอจบการศึกษาก็เป็นพระอรหันต์ เรียกว่า อเสกขะ หรือ อเสขะ แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษา

ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ต้องศึกษาตลอด ไม่ว่าเป็นมหาเถระบวชมา ๘๐ ปี ๙๐ ปี อย่างดีก็ได้เป็นนักศึกษา บวชมาตลอดชีวิตก็ยังยากที่จะได้เป็นนักศึกษาในพุทธศาสนา จะเป็นนักศึกษานั้นจะต้องเป็นโสดาบันขึ้นไป แต่ว่าในยุคหลังนี้ท่านผ่อนให้ ท่านบอกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน ยอมให้เป็นเสกขะหรือเป็นนักศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้นชีวิตในพุทธศาสนาจึงเป็นชีวิตแห่งการศึกษาโดยตลอด

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ การที่จะบอกว่าเราจะสร้างบุคคลให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น เป็นเรื่องเก่าเหลือเกิน แต่เก่านี้เป็นเก่าตามหลักการของธรรมชาติ ไม่ใช่เก่าเพียงเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ แต่เก่าในที่นี้ก็คือ คืนไปสู่ธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง เพราะธรรมชาติมนุษย์นั้นคือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก หรือเป็นสัตว์ที่จะมีชีวิตที่ดีงามได้ด้วยการเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ไม่สามารถจะมีชีวิตที่ดีงามได้เปล่าๆ นี้แหละเป็นข้อด้อยของมนุษย์ แต่พร้อมกันนี้ก็เป็นข้อดีของมนุษย์ในแง่ของความประเสริฐด้วย คือพิเศษแปลกกว่าสัตว์อื่นทั้งในแง่ที่แย่และดีกว่า ซึ่งอยู่ที่การฝึก

เมื่อเราพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้ว ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอด อันนี้เราด้อยกว่าสัตว์อื่น เพราะสัตว์อื่นไม่ต้องเรียนรู้มากก็อยู่ได้ ถึงตอนนี้แหละที่เราพูดต่อไปว่า

มนุษย์พิเศษในแง่ที่ ๒ คือในแง่ที่เลิศกว่า คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้เรียนรู้ได้ ข้อนี้เราเก่งประเสริฐเลิศกว่าสัตว์อื่น เพราะสัตว์อื่นนั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกแทบไม่ได้ คือว่ามันเกิดมาอย่างไรมันก็ตายไปอย่างนั้น เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใดก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น ส่วนมนุษย์นี้พอฝึกแล้วก็ก้าวไปสู่ความประเสริฐเลิศล้ำได้ สัตว์อื่นไม่สามารถจะเป็นอย่างนี้ได้ มนุษย์ประเสริฐด้วยการศึกษาคือการฝึกหรือการเรียนรู้ และด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานั้นก็ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เราจึงบอกว่ามนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้นประเสริฐได้แม้ยิ่งกว่าเทวดาและพรหม พระพุทธศาสนาถืออย่างนั้น แม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการมนุษย์นั้น อันนี้เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา คือ หลักการศึกษา

เราอาจจะเสียเวลาในเรื่องนี้มากไป แต่ก็อยากจะย้ำไว้ว่า เรื่องของการศึกษานี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่โยงไปหาพุทธศาสนา ที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าจะไปเน้นที่ตัวพุทธศาสนา แต่ต้องการเน้นในแง่ที่ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างนั้นเอง และพุทธศาสนาสอนในเรื่องของธรรมชาติ ตามที่มันเป็นจริงว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว คือการที่จะมีชีวิตที่ดีงามได้ด้วยการศึกษา และมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการศึกษา ความพิเศษในแง่ของความประเสริฐของมนุษย์ก็อยู่ที่การศึกษา คือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานี้แหละ พูดสั้นๆ ว่า ความพิเศษและความประเสริฐของมนุษย์ ก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

ตอนนี้เราก็หันกลับไปสู่บทบาทพื้นฐานของครู คิดว่าตอนนี้คงจะเน้นเรื่องการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารน้อยลง แต่จะมาเน้นที่การช่วยให้เด็กสามารถได้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลเหล่านั้น เช่นสามารถนำมาใช้สร้างสรรค์ เอามาแก้ปัญหาได้ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่จะชี้นำการดำเนินชีวิตที่ดีงามหรือทำคนให้เป็นคนดี บทบาท ๒ อย่างนี้ยืนตัวเป็นหลัก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง