ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอและวินัยไม่มีเสรีภาพก็หายไป

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทวนกันทุกปี

ทีนี้ มาถึงเรื่องวันมาฆบูชา ตามปกติเราจะต้องพูดกันถึงความหมายและเหตุการณ์เกี่ยวข้อง ที่ปรารภในการทำมาฆบูชา คือการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ นี้

เคยพูดในปีก่อนๆ แล้วว่า พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญกันมาเป็นประจำ เราไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำกันอยู่ทุกปี อาจจะทบทวนในจุดสำคัญ เพียงเล็กน้อย เช่นว่า วันมาฆบูชา ก็คือวันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ ปีนี้ก็ไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดว่าองค์ ๔ มีอะไรบ้าง

หัวข้ออย่างนี้ แต่ละท่านก็ทบทวนเองในใจ เด็กๆ ถ้ายังนึกไม่ออก กลับไปถึงบ้าน ก็ถามคุณพ่อคุณแม่ และคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเตรียมตัวไว้ ต้องตอบลูกให้ได้ด้วย

จาตุรงคสันนิบาตนั้น ไม่ใช่ตัวเป้าหมาย เป็นเพียงว่าพระพุทธเจ้าทรงปรารภจาตุรงคสันนิบาตแล้ว จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ เพราะฉะนั้น เป้าหมายของจาตุรงคสันนิบาต จึงอยู่ที่โอวาทปาติโมกข์

เราอย่าไปติดอยู่แค่จาตุรงคสันนิบาต ถ้าไม่มีโอวาทปาติโมกข์ จาตุรงคสันนิบาตก็จะหายไปเลย จะไม่ปรากฏขึ้นมาเป็นเหตุการณ์ใหญ่ หรือจะทำให้มีมาฆบูชา เพราะฉะนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่โอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์นั้น แปลว่า โอวาทหรือพระดำรัสสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน ถ้าจะพูดกันด้วยภาษาง่ายๆ สั้นๆ ก็บอกว่าเป็น “คำสอนแม่บท”

คำสอนแม่บทนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระอรหันต์ล้วน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีรายละเอียดมาก คือรู้กัน เพราะพระอรหันต์ย่อมมีความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว การที่ตรัสออกมา ก็เป็นเพียงซักซ้อมนัดหมายให้มีจุดที่จะกำหนดร่วมกัน เวลาไปทำงาน

วันนี้ แม้จะไม่พูดถึงรายละเอียด แต่ก็จำเป็นต้องทบทวนตัวหลักของโอวาทปาติโมกข์นั้น ซึ่งมีแค่สามคาถากึ่ง คือ สามคาถา กับครึ่งคาถา

วิธีทวนก็คือ ว่าเป็นภาษาบาลีเลย ถ้าว่าซ้ำกันทุกปีๆ แล้วปีนี้อธิบายข้อนั้น ปีนั้นอธิบายข้อโน้น ต่อไปก็ชัดเจนหมดทุกข้อ พอยกหัวข้อขึ้นมาพูด ก็กระจ่างใจไปเลย

วันนี้จะขอกล่าวคำบาลีที่เป็นคาถา ทุกท่านต้องยอมให้เวลากับคาถาภาษาบาลีนี้ เริ่มด้วย

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทฺนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ

นี้คาถาที่หนึ่ง ได้แล้วหนึ่งคาถา

ต่อไปคาถาที่สอง

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

ต่อไปท่อนที่สาม ซึ่งมีคาถากึ่ง หรือคาถาครึ่ง

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

จบเท่านี้ ไม่มาก

คนไทยเรานี้ ที่จริงชอบคาถากันอยู่แล้ว นี่เจอคาถา ก็น่าจะเอาไปท่องกัน แต่นั่นแหละ ญาติโยมมักจะชอบแต่คาถาขลังๆ คาถาที่เป็นสาระมีความหมายอย่างนี้ ไม่ค่อยท่อง

แล้วคาถาที่ว่าขลังที่ชอบท่องกันนั้น โดยมากแปลไม่รู้เรื่อง เพราะตอนที่จะท่อง ก็ไม่รู้เรื่อง พอท่องต่อกันมา ก็เลยเพี้ยนหมด ไม่รู้ว่าอักขระตัวไหนกลายเป็นอะไร ได้แค่ชอบของที่เชื่อ แต่ของจริงที่ขลังแท้ กลับไม่เอา

คาถาอย่างโอวาทปาติโมกข์นี่แหละที่ขลังจริง ขลังที่สุดเลย เป็นคาถาของพระพุทธเจ้าแท้ๆ แล้วก็มีความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุมหมด เอาไปใช้ได้ผลจริง เห็นชัดเลย อันนี้สิควรจะท่องกัน

เอาละ คนไทยถึงจะท่องคาถาขลังอะไรก็ตาม ก็ขอให้ท่องคาถาอย่างนี้ไว้เป็นหลักบ้าง แล้วนำมาสวดกัน ตามวัดพอถึงวันมาฆบูชานี้ ก็ต้องสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ในเวลาทำวัตรด้วย

ในโอวาทปาติโมกข์สามคาถากึ่งนี้ วันนี้เป็นอันว่าจะไม่อธิบายทั้งหมด ถึงจะอธิบายก็คงไม่ไหว เวลาไม่พอแน่ เพราะแต่ละข้อเป็นเรื่องใหญ่ วันนี้เอาแค่ตั้งข้อสังเกต

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.