วันอาสาฬหบูชา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ข. อริยสัจจ์ ๔

อริยสัจจ์ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐหรือความจริงของอริยะ หรือสัจธรรมที่รู้แล้วจะทำให้กลายเป็นอริยะหรืออารยชน ๔ ประการ

อริยะ หรืออารยชน คือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ห่างไกลจากอวิชชา เป็นผู้เจริญแล้วอย่างแท้จริง จะเป็นอริยะหรืออารยชนที่แท้จริงได้ ก็ต้องรู้เข้าใจความจริงและดำรงชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับความจริงของชีวิตที่จะทำให้ชีวิตเป็นอิสระหลุดพ้นจากความมืดบอด เป็นไท ไม่ต้องฝากความวางใจไว้กับอำนาจลึกลับพ้นวิสัยอย่างใดๆ อริยสัจจ์ ๔ ประการนั้นคือ

๑) ทุกข์ ได้แก่ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์ในรูปของความบีบคั้น ขัดข้อง ติดขัด อัดอั้นต่างๆ บุคคลจะต้องกำหนดรู้หรือทำความรู้จักมัน ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า มันคืออะไร อยู่ที่ไหน และแค่ไหนเพียงไร กล่าวคือ ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง แม้จะเป็นสิ่งที่นึกว่าน่ากลัวไม่เป็นที่ชอบใจ เริ่มต้นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลายที่รวมเรียกว่าโลกและชีวิตนี้ว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งกันเข้า ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงตัว และหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ไม่มีหยุดนิ่ง สิ่งทั้งหลายก็ตาม ชีวิตนี้ที่เรียกตัวเองว่าฉันว่าเราก็ตาม ไม่มีอำนาจในตัวเองเด็ดขาด ไม่เป็นตัวเองโดยสิ้นเชิงที่จะเรียกร้องสั่งบังคับให้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่าตัวเอง ให้เป็นไปตามปรารถนา

สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ตามเหตุตามปัจจัย ไม่เกี่ยวกับความชอบใจหรือไม่ชอบใจของเรา เมื่อเหตุปัจจัยมาประจวบให้ปรากฏในรูปที่ตรงกับใจปรารถนา เราก็ชอบใจ เมื่อปรากฏในรูปที่ไม่ตรงกับใจปรารถนา เราก็ไม่ชอบใจ

เมื่อยึดถือติดคาอยู่ว่าจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งมั่นหมายลงไป ครั้นสิ่งต่างๆ นั้นหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ตรงกับที่ยึดอยากมั่นหมาย เราก็ถูกบีบคั้นกดกระชากบดขยี้ เป็นภาวะที่เรียกว่าความทุกข์ ซึ่งโดยสาระก็เป็นเพียงความขัดแย้งกระทบฉีกกระชากกัน ระหว่างอาการเปลี่ยนแปลงแปรผ่านไปของสิ่งทั้งหลาย กับเส้นเชือกแห่งความยึดความอยากที่เราสร้างขึ้นเท่านั้นเอง

การที่จะแก้ไขป้องกันปัญหาหรือความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มิใช่ไปนั่งปั่นเส้นเชือกแห่งความยึดความอยากแล้วเอาไปผูกรัดเหนี่ยวรั้งสิ่งทั้งหลายไว้ ซึ่งมีแต่ทำให้เหนื่อยเปล่า ซ้ำจะถูกฉุดกระชากเอาไปบดขยี้ทำให้ทุกข์ทรมานยิ่งขึ้นอีก แต่จะต้องรู้เข้าใจเท่าทันความจริงของสิ่งเหล่านั้น รู้เหตุปัจจัยของภาวะที่เป็นไปอย่างนั้น รู้ว่าอะไรจะเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ แค่ไหนเพียงไร แล้วเข้าไปจัดการกับสิ่งเหล่านั้น ตรงตัวเหตุตัวปัจจัยที่จะให้เป็นไปอย่างนี้หรืออย่างนั้นตามที่รู้ที่เข้าใจแล้วนั่นเอง

๒) สมุทัย ได้แก่เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหาเมื่อรู้เท่าทันความทุกข์เข้าใจปัญหาแล้ว ก็สาวหาสาเหตุของทุกข์ หรือต้นตอของปัญหาต่อไปตามหลักแห่งความสัมพันธ์สืบทอดของเหตุปัจจัย หรือตามหลักใหญ่ที่ว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุและจะดับไปเพราะเหตุดับ วิเคราะห์ให้เห็นชัดว่าอะไรบ้างเป็นปัจจัย ปัจจัยไหนเป็นตัวการสำคัญเจ้าบทบาทใหญ่ ปัจจัยเหล่านั้นสัมพันธ์สืบทอดกันมาอย่างไรจึงปรากฏออกมาเป็นรูปปัญหาอย่างนั้น

เมื่อว่าโดยรวบรัด ตัวการสำคัญแห่งทุกข์ของชีวิต ก็คือตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากที่มนุษย์เอาไปเกี่ยวเกาะคล้องรัดสิ่งทั้งหลายนั้นเอง ปัจจัยตัวการนี้สัมพันธ์สืบทอดกันมากับปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้ ความไม่มีปัญญาไม่ใช้ปัญญา จึงปรากฏเป็นปัญหาในรูปต่างๆ ที่เรียกรวมๆ กันว่า ทุกข์ ความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัยที่จะต้องรู้ในข้อนี้ มีชื่อเฉพาะว่า ปฏิจจสมุปบาท

๓) นิโรธ ได้แก่ความดับทุกข์ ภาวะที่สิ้นปัญหาหรือภาวะที่ว่างโล่งปลอดโปร่งจากปัญหา เริ่มด้วยชีวิตที่เป็นอิสระ ไม่ถูกฉุดกระชากลากไปด้วยเส้นเชือกแห่งความอยาก มีจิตใจเบิกบาน ผ่องใส สะอาดสงบ ด้วยความเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

๔) มรรค ได้แก่มรรคาอันนำไปสู่ความดับทุกข์ หรือกระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา กล่าวคือ มรรคามีองค์ ๘ ประการ หรือมัชฌิมาปฏิปทาที่กล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง มรรคานี้เป็นระบบจริยธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนา หรือทางดำเนินชีวิตของชาวพุทธ ซึ่งมีปัญญาคือความรู้ความเข้าใจเท่าทันสภาวะของสิ่งทั้งหลาย เป็นพื้นฐานและเป็นแกนนำ ชาวพุทธที่แท้ต้องเจริญก้าวหน้าเติบโตขึ้นเรื่อยไปในวิถีการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ถ้าแต่ก่อนเป็นอยู่ด้วยความเขลางมงายมาก เคยนั่งถือเส้นเชือกแห่งความอยาก คอยคล้องรัดสิ่งต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ต่อไปข้างหน้าจะต้องมีพลังใจเข้มแข็ง ฝึกฝนตนให้ใช้ปัญญามากขึ้น มีความรู้เท่าทันโลกและชีวิตมากขึ้น เรียนรู้วิธีคิดแบบวิเคราะห์เหตุปัจจัยให้มากขึ้น เข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่ตัวเหตุตัวปัจจัยด้วยความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสเป็นอิสระได้บ่อยครั้งขึ้น อย่างน้อยเมื่อปั่นเส้นเชือกรัดตัวขึ้นแล้ว ก็รู้จักตัดเชือกนั้นในคราวที่ควรจะตัดได้บ้าง

การที่จะดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน มีจิตใจเป็นอิสระสงบสะอาดใสสว่างอยู่เสมอนั้น โดยปกติมิใช่เป็นสิ่งที่ทำได้เร็วพลันทันที เพราะการดำเนินชีวิตแห่งปัญหาเป็นสิ่งที่เราสั่งสมสร้างมาด้วยอาศัยความเคยชินตลอดระยะเวลายาวนาน การที่จะแก้ไขชำระล้างหรือเดินทางใหม่ จึงต้องอาศัยวินัย ความเข้มแข็งมั่นคง และการฝึกหัดอยู่เสมอให้เคยชินขึ้นมาแทน ด้วยเหตุดังนี้ กระบวนการฝึกอบรมในวิถีแห่งมรรคจึงประกอบด้วยหลักการที่เรียกว่าสิกขา ๓ ศีล สมาธิ และปัญญา

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการฝึกหัดนี้ คือความมีสติ ผู้ฝึกตนควรพยายามสร้างสติขึ้นไว้เสมอๆ สติ เป็นตัวยั้งจากทางผิดและชักเข้าสู่ทางถูก เมื่อสติเกิดแล้ว นั่นคือตัดเส้นเชือกที่รัดตัวเสียได้ ปัญญาจะตามมาละลายล้างทางผิดและส่องทางถูก จากนั้นอาศัยสมาธิ คือความแน่วแน่มั่นคงเข้มแข็งของจิตใจ ก็จะใช้วิริยะคือความเพียรเดินรุดหน้าไปในทางถูก หันห่างทางผิดไกลออกไปโดยลำดับ เมื่อทำได้สม่ำเสมอ ผลสำเร็จก็จะตามมา คือความเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ และชีวิตที่เป็นสุขตามอริยมรรคา

ที่กล่าวมานี้ คือการทำความเข้าใจกันอย่างสังเขปเกี่ยวกับมัชฌิมาปฏิปทาและอริยสัจจ์ ๔ ที่เป็นใจความของปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.