หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พระพุทธศาสนาสอนแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์
และปฏิบัติได้ในปัจจุบัน

ลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็คือ การสอนแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ในปัจจุบัน ข้อนี้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ท่านเน้นมาก ท่านที่ได้อ่านพระสูตรมากๆ คงจะจำพุทธพจน์เกี่ยวกับเรื่องคนถูกยิงด้วยลูกศรได้ คือ มีพุทธพจน์ทำนองอุปมาว่า บุคคลผู้หนึ่งถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ เมื่อญาติไปตามแพทย์ เพื่อจะมาถอนลูกศร บุรุษที่ถูกลูกศรอาบยาพิษนี้ก็ไม่ยอมให้แพทย์ถอนลูกศร บอกว่าข้าพเจ้าจะต้องขอทราบเสียก่อนว่า ลูกศรอาบยาพิษที่ยิงข้าพเจ้านี้ทำด้วยอะไร เริ่มต้นตั้งแต่ว่า หัวลูกศรทำด้วยวัตถุชนิดไหน หางลูกศรทำด้วยวัตถุชนิดใด ทำด้วยขนนกประเภทใด ตัวลูกธนูนี้ทำด้วยไม้ชนิดใด ยาพิษที่ใช้อาบลูกศรเป็นยางไม้ประเภทไหน แล้วก็คนที่ยิงข้าพเจ้านี้มันเป็นใคร เป็นคนในวรรณะกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ หรือศูทร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ขอทราบสิ่งเหล่านี้ก่อนแล้วจึงจะยอมให้ถอนลูกศร

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าทำอย่างนี้ คนที่ถูกลูกศรอาบยาพิษนั้น จะต้องตายก่อนที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด อันนี้ฉันใด การที่จะตอบคำถามต่างๆ ที่สนองความอยากรู้ของมนุษย์นี้ โดยเฉพาะที่ท่านเรียกว่า อัพยากตปัญหา ว่าโลกนี้เที่ยง โลกนี้ไม่เที่ยง โลกนี้มีที่สุด ไม่มีที่สุด เป็นต้น คำถามประเภทนี้ถ้ามนุษย์จะมาหาคำตอบให้ได้เสียก่อนโดยไม่ยอมปฏิบัติ ไม่ดำเนินชีวิตของตนให้ถูกต้อง มนุษย์จะต้องตายเสียก่อนโดยไม่ได้ประโยชน์จากชีวิตเลย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คำถามประเภทนั้นหรือเรื่องประเภทนั้น พระองค์ไม่ตอบ และไม่ทรงสอน สิ่งที่พระองค์สอนคืออะไร ก็คือ อริยสัจ ๔ เพราะอะไร ก็เพราะว่ามันเป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หรือระบบการครองชีวิตที่ประเสริฐ คือ มันใช้ได้ นำมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ได้

พุทธพจน์ทำนองนี้มีในที่อื่นๆ อีก เช่น ตรัสถึงว่า วาจาอะไรที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็จะตรัสตอบว่า พระองค์ตรัสสิ่งที่เป็นความจริง ซึ่งมีประโยชน์ นำมาใช้ได้ โดยทรงรู้จักเวลาที่จะตรัสหรืออย่างพระพุทธพจน์เกี่ยวกับใบไม้สีเสียด หรือใบไม้ประดู่ลายที่ว่า ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่าไม้นั้น ทรงเอาพระหัตถ์กำใบไม้ขึ้นมากำหนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือของเรานี้กับใบไม้ในป่าอย่างไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายก็ย่อมตอบว่า ใบไม้ในป่ามีมากมาย ใบไม้ในกำพระหัตถ์ของพระองค์นั้นน้อยนิดเดียว

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าข้อนี้ฉันใด สิ่งที่เราสอนแก่เธอทั้งหลายก็ฉันนั้น สิ่งที่เราสอนแก่เธอนั้นเป็นเหมือนใบไม้ในกำมือนี้ซึ่งมีนิดหน่อย ส่วนสิ่งที่รู้แต่ไม่ได้สอนนั้น เหมือนใบไม้ในป่า ทำไมจึงไม่สอน เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ส่วนสิ่งที่สอนก็เพราะมันเป็นไปเพื่อประโยชน์ มันใช้ดับทุกข์ได้

ที่กล่าวมานี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ เมื่อจะพิจารณาคำสอนต่างๆ จะต้องดูว่า ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับการที่จะถอนลูกศรออกเสีย คือใช้แก้ปัญหาของชีวิตที่เกิดขึ้นนี้ได้ นี่คือสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นเราต้องแบ่งว่า ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับคนไข้ ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับหมอ ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับผู้สอนหมออีกทีหนึ่ง ถ้าอย่างนี้เราก็อาจจะแยกได้ว่า ถ้าเราเป็นอาจารย์แพทย์ ก็คงจะไม่ต้องถึงกับไปบีบคั้นบังคับ กำหนดเอากับคนทั้งหลายอื่น หรือคนไข้ทั้งหลายว่า ท่านจะต้องมาเรียนรู้ให้ได้อย่างข้าพเจ้าที่เป็นอาจารย์แพทย์เสียก่อน แล้วจึงจะแก้โรคได้ ซึ่งไม่จำเป็น ความรู้ที่พอจะใช้แก้โรคมันจะมีส่วนหนึ่ง

ถ้าแบ่งได้อย่างนี้แล้ว ปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจในหลักการทางพระศาสนานี้ ก็อาจจะพอจัดแบ่งออกได้เป็นแง่ๆ ขั้นๆ ขณะนี้อาตมภาพรู้สึกว่าเป็นปัญหากันอยู่ในเรื่องที่ว่า จะต้องรู้แค่ไหนจึงจะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาได้ หรือจะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.