หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มองข้ามเรื่องวินัย
ก็เข้าใจพุทธศาสนาไม่ถูกต้อง

การที่เรามองข้ามเรื่องวินัย ทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาที่มาจากภายนอก บางทีก็มีทัศนคติต่อพระพุทธศาสนาในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น พวกฝรั่งบางคนที่บอกว่า พระพุทธศาสนาเป็นแต่เพียงจริยธรรมทางจิตใจ หรือเป็นจริยธรรมส่วนบุคคล เป็นศาสนาของการปลีกหนี หลบลี้ไปจากสังคม อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอันนี้เราก็อาจจะว่า ฝรั่งนั่นเองได้ศึกษาหลักการของพระพุทธศาสนาไม่ทั่วถึง มองข้ามเรื่องวินัยไปเสีย และไม่ใช่แต่ฝรั่งคนนอกเท่านั้น ชาวพุทธเองไม่น้อยก็มองอย่างนั้น เรื่องนี้ขอให้มองดูตัวอย่างง่ายๆ เช่น มองดูความรู้สึกภายในใจของเราที่มีต่อพระอรหันต์ หรืออย่างที่เราพูดสมัยนี้ว่าภาพพจน์ ภาพพจน์ต่อพระอรหันต์ ถ้าหากว่ามองในแง่ของธรรม หลายคนอาจจะมีความรู้สึกโน้มเอียงไปในทางที่คิดว่า พระอรหันต์เป็นบุคคลที่เฉยๆ ไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราว ปลีกตัวไปอยู่ต่างหากจากสังคม อะไรทำนองนี้ อาจจะมีท่านผู้ศึกษาธรรมแล้วมองพระอรหันต์เป็นอย่างนี้ไปก็ได้

แต่ถ้ามองจากแง่ของวินัย เราจะเห็นอีกด้านหนึ่งว่า อ้อ! พระอรหันต์ก็คือผู้นำ ผู้เป็นตัวอย่างในการที่จะรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม มีเรื่องราวที่จะกระทบอะไรส่วนรวมเกิดขึ้น จะต้องเอาใจใส่ถือเป็นเรื่องสำคัญ กิจกรรมในพุทธศาสนาที่เป็นประวัติศาสตร์มาจนปัจจุบันนี้ เช่น เรื่องการสังคยนานี้ พระอรหันต์เป็นผู้นำทั้งนั้น เมื่อมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นกระทบกระเทือน หรือทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลง พระอรหันต์ก็เป็นผู้นำในการที่จะริเริ่มจัดทำเรื่องเหล่านั้น ขวนขวายในการที่จะดำเนินกิจการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของพระศาสนา หรือแก้ไขกำจัดสิ่งที่ผิดพลาด แม้ในทางธรรมเองที่จริงหลักการเหล่านี้ก็มีอยู่

อย่างในอปริหานิยธรรมบอกว่า จะต้องมีการประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันสม่ำเสมอ พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นแก้ไข จัดการป้องกันกำจัดสิ่งเสียหายทั้งหลาย แล้วก็ให้ขมีขมันในเรื่องราวของส่วนรวม อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่หลักการในทางธรรมเหล่านี้ บางทีเราก็มองข้ามไปเสีย เพราะมันจะมาออกผลที่แท้ในรูปของสิ่งที่เรียกว่าวินัยนี้ ฉะนั้น องค์ประกอบสำคัญทั้งสองที่มารวมเป็นชื่อของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าธรรมวินัยนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงลักษณะทั่วไปของพระศาสนาอย่างหนึ่ง อาตมภาพเห็นว่าวินัยนี้แหละ คือ ส่วนของพระพุทธศาสนาที่จะขยายออกมาเชื่อมกับสังคมศาสตร์สมัยใหม่ได้ หรือจะเรียกสังคมศาสตร์ว่าเป็นวินัยศาสตร์ ก็พอจะได้เหมือนกัน

สรุปสาระตอนนี้ พุทธศาสนาถือว่าสำคัญ ทั้งบุคคลและระบบ ทั้งปัจเจกชน และสังคม ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก และจิตใจภายใน ต้องประกอบกันเสริมกัน อาตมภาพคิดว่าได้เสียเวลาไปมากพอสมควรแล้วกับชื่อเรียกพระพุทธศาสนาอย่างที่หนึ่งคือเรื่องธรรมวินัยนี้ ก็ขอก้าวไปสู่ชื่อเรียกที่สอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.