คำถามต่อไปก็คือ เราจะพัฒนาตนได้อย่างไร ดังได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตนี้เป็นปัญหา การพัฒนาตนนั้นเป็นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา ในการดับทุกข์ ในการบรรลุถึงอิสรภาพ การที่จะทำได้ก็คือ เมื่อมีความเชื่อในศักยภาพของตนเป็นพื้นฐานแล้ว ก็มาปฏิบัติตามวิธีการแก้ปัญหา เพราะการพัฒนาตนก็คือพัฒนาปัญญาให้มีความรู้ที่เข้าใจในเหตุปัจจัยของกระบวนการแห่งเหตุผลที่มีในธรรมชาติ แล้วเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ การนำเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ เป็นระบบการแก้ปัญหาตามแนวทางของปัญญา การแก้ปัญหาตามระบบวิธีเหตุผลนี้ เราเรียกว่าเป็นหลักอริยสัจ ๔ เป็นวิธีการแห่งปัญญาในระบบการแก้ปัญหาตามเหตุผล คนที่เชื่อในหลักตถาคตโพธิศรัทธา มีศรัทธาในพระรัตนตรัยแล้ว ถ้าเชื่อถูกต้องตามแนวทางจริงแล้ว ก็จะก้าวมาสู่การแก้ปัญหาตามหลักของอริยสัจ เหมือนดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า
พหุํ เว สรณํ ยนฺติ . . . ชนทั้งหลายจำนวนมาก ถูกภัยหรือความกลัวคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขาต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เป็นต้นเป็นที่พึ่งที่ระลึก แต่ที่พึ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ทำให้คนพ้นจากความทุกข์ได้จริง ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะนำทางชีวิตแล้ว มารู้เข้าใจหลักการของอริยสัจแล้วแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจนี้ จึงจะพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง
ดังนั้น หลักรัตนตรัยก็มาเชื่อมโยงกับหลักอริยสัจ คือเมื่อเราเชื่อในรัตนตรัย เราก็จะแก้ปัญหาตามวิธีการของปัญญาที่เรียกว่าอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นหัวข้อง่ายๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ ครอบคลุมพระพุทธศาสนาทั้งหมด
ทุกข์ คือปัญหาของมนุษย์ หรือแปลตามศัพท์ว่า สิ่งที่บีบคั้นจำกัดขัดข้องของชีวิตและสังคม ชีวิตและสังคมของเรายังไม่ปลอดโปร่ง ยังไม่มีอิสรภาพ เรียกว่ามีทุกข์อยู่ ทุกข์เป็นตัวปัญหา
ต่อจากนั้นต้องค้นหาสาเหตุ สาเหตุของปัญหานั้นมีศัพท์เรียกว่า สมุทัย เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็ต้องละสาเหตุ
ต่อไปหลักการในการละเป็นอย่างไร เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของชีวิตและสังคมคืออะไร วัตถุประสงค์ หรือสิ่งที่ต้องการนั้น เราจะต้องรู้เข้าใจ และต้องรู้หลักการในการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง หลักการนี้เรียกว่านิโรธ หรือความพ้นทุกข์ เป็นหลักการดับทุกข์ และสภาวะที่เป็นจุดหมายเมื่อดับทุกข์ได้สำเร็จ
เมื่อมีหลักการในการแก้ปัญหาแล้ว รู้จุดหมาย รู้ความต้องการแล้ว ก็มีเรื่องที่ต้องรู้ต่อไปคือ จะมีกลวิธีในการปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้บรรลุจุดหมายนั้น เพื่อจะกำจัด แก้ไขสาเหตุนั้น วิธีปฏิบัตินั้นเรียกว่ามรรค
ดังนั้น จึงสรุปหลักการแก้ปัญหาว่ามี ๔ ข้อ คือ ทุกข์ ได้แก่ ปัญหา หรือสิ่งบีบคั้นจำกัดขัดข้อง สมุทัย สาเหตุของปัญหา นิโรธ หลักการและจุดหมายของการแก้ปัญหา มรรค วิธีการปฏิบัติของมนุษย์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ให้สำเร็จ
อริยสัจนี้เป็นหลักแม่บทในการแก้ปัญหา และพัฒนาตนเพื่อสร้างอิสรภาพของมนุษย์ เรียกว่าเป็นวิธีการแห่งปัญญาในการแก้ปัญหา หรือการแก้ปัญหาตามระบบวิธีของเหตุและผล ข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักอริยสัจ คือเป็นหลักที่ต้องใช้ปัญญา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้องใช้ปัญญา โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุอิสรภาพ ซึ่งเป็นภาวะที่หลุดพ้น ปลอดปัญหา
ข้อสังเกตต่อไปคือ อริยสัจนี้เป็นหลักการแก้ปัญหาตามเหตุผล ถ้าเรียงลำดับตามหลักการของเหตุผล ท่านเรียงผลก่อนเหตุเป็นคู่ๆ คือ ข้อหนึ่ง ทุกข์หรือปัญหา ข้อสอง สาเหตุของปัญหา ข้อหนึ่งคือทุกข์เป็นผล ข้อสองคือสมุทัยเป็นเหตุ อีกคู่หนึ่ง นิโรธคือจุดหมายที่ต้องการ ก็เป็นผล ส่วนมรรคเป็นวิธีปฏิบัติให้สำเร็จผล ก็เป็นเหตุ โดยสาระสำคัญคือเป็นเรื่องของเหตุผล
มีปัญหาว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเรียงผลก่อนเหตุ ถ้าตามลำดับสามัญเราคิดว่าต้องเรียงเหตุก่อนผล เพราะเหตุมาก่อน การที่เรียงเช่นนี้ก็มีเหตุผล กล่าวคือ การเรียงผลก่อนเหตุตามวิธีของอริยสัจนี้ เป็นหลักการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และใช้ได้ผลจริง ในการสอนก็ตาม การปฏิบัติก็ตาม จะให้ได้ผลจริงต้องเรียงเช่นนี้ เราประสบปัญหาก่อน แล้วเราจึงสืบหาเหตุ เสร็จแล้วก็ดูว่าปัญหานั้นจะแก้ไขได้ไหม สาเหตุนั้นจะกำจัดได้ไหม เมื่อจะลงมือแก้ปัญหาก็ต้องรู้ก่อนว่า จุดหมายที่ต้องการคืออะไร เราต้องการจุดหมายนั้นไหม แล้วจึงดำเนินวิธีปฏิบัติให้ถึงจุดหมายนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเรียงผลก่อนเหตุ เรียงอย่างนี้เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่เรียงตามทฤษฎี แต่เรียงเพื่อให้ใช้ได้ผลตามความเป็นจริง
ในการสอนก็เช่นเดียวกัน ต้องเรียงอย่างนี้ คือสอนจากสิ่งที่ปรากฏไปหาสิ่งที่ไม่ปรากฏ จากสิ่งที่รู้อยู่แล้วไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ จากสิ่งที่คนสนใจอยู่แล้วไปหาสิ่งที่ยังไม่สนใจ ถ้าสอนสมุทัยก่อน คนก็ไม่สนใจว่าสอนทำไม แต่ถ้าสอนเริ่มด้วยปัญหาที่เขาประสบอยู่ ทุกข์ที่เขาเผชิญอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสนใจและมองเห็นอยู่แล้ว ก็ทำให้ชี้แจงกันง่าย และคนก็มีความสนใจอยากแก้ปัญหา เป็นการเร้าความสนใจ ดังนั้นจึงต้องสอนทุกข์หรือปัญหาก่อน คนมีปัญหาก็อยากพ้นไปจากปัญหา คนมีทุกข์ก็อยากพ้นทุกข์ เมื่อเขามองเห็นปัญหาแล้ว เขาก็อยากแก้ไขแน่นอน เราก็บอกว่าต้องค้นหาสาเหตุของมัน แล้วมาช่วยกันค้นหาเหตุปัจจัย ก็ก้าวไปสู่ข้อที่สองได้ ส่วนในข้อที่ ๔ ก็ต้องเร้าความสนใจให้เห็นว่าทุกข์นี้แก้ได้ ปัญหาแก้ไขได้ แก้ไขแล้วดีอย่างไร เมื่อคนรู้ว่าแก้ไขแล้วดีอย่างไร มองเห็นจุดหมายที่ดี เขาก็มีกำลังใจที่จะปฏิบัติ ยิ่งอยากไปถึงจุดหมายเท่าไร เขาก็ยิ่งพร้อมที่จะปฏิบัติเท่านั้น แต่ถ้าบอกวิธีปฏิบัติเสียก่อน เขาเห็นว่ายากแล้วอาจไม่สนใจแก้ไขเลย ดังนั้น โดยวิธีการต้องทำเช่นนี้ หลักอริยสัจจึงเรียงจากผลไปหาเหตุ เป็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำให้มนุษย์มีกำลังใจว่า ปัญหาของมนุษย์แก้ไขได้ด้วยการกระทำของมนุษย์เอง ด้วยสติปัญญาของมนุษย์เอง โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจดลบันดาลจากภายนอก นี้เป็นแนวทางของอริยสัจ และเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาชีวิตนี้เอง เกี่ยวกับการดำรงอยู่แห่งชีวิตของเรานี่เอง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด อริยสัจจับตรงลงไปที่ตัวชีวิตของทุกคน จึงเป็นเรื่องของทุกคนและทุกชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะสนใจก็ได้ ไม่สนใจก็ได้ ทุกคนที่ต้องการแก้ปัญหาให้ได้ผล ก็ต้องดำเนินตามแนวอริยสัจนี้
สิ่งที่ต้องสนใจต่อไป คือหน้าที่ของเราต่ออริยสัจ ซึ่งเรียกว่ากิจในอริยสัจ กิจคือหน้าที่หรือสิ่งที่ต้องทำ หมายความว่า อริยสัจแต่ละข้อมีข้อกำหนดว่าเราควรจะทำอะไรต่อมัน เราต้องรู้ว่า ทุกข์นี้เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร สมุทัยเรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร นิโรธเรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร มรรคเรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร
ทุกข์คือปัญหา เรามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ของเราต่อปัญหา คือต้องรู้เข้าใจว่าตัวปัญหาคืออะไร ต้องเข้าใจให้ชัด ท่านเรียกว่าหน้าที่ต่อทุกข์คือ ปริญญา ปริญญาคู่กับทุกข์ ปริญญาคือการกำหนดรู้ ทำความรู้จัก รู้ความทุกข์ รู้ปัญหา จะแก้ปัญหาต้องรู้จักปัญหาก่อน ปัญหาอยู่ที่ไหน มีขอบเขตแค่ไหน ถ้าไม่รู้จักปัญหา ก็แก้ไขไม่สำเร็จ
สมุทัย เหตุของทุกข์ เรามีหน้าที่จะต้องละต้องกำจัด ศัพท์พระเรียกว่า ปหานะ
นิโรธ จุดหมายหรือผลที่ต้องการนั้น เรามีหน้าที่ต้องประจักษ์แจ้ง ต้องเข้าถึง ต้องบรรลุ หรือทำให้สำเร็จ เรียกตามศัพท์ว่า สัจฉิกิริยา
มรรค วิธีปฏิบัติ หน้าที่ของเราคือลงมือทำหรือลงมือปฏิบัติ ศัพท์พระเรียกว่า ภาวนา
สรุปว่า ทุกข์ ต้องรู้จัก สมุทัย ต้องละ ต้องแก้ นิโรธ ต้องประจักษ์แจ้ง ต้องเข้าถึง และ มรรค ต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ เมื่อรู้หน้าที่แล้ว ก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง