เมื่อการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว จะศึกษาอย่างไร เริ่มต้นที่ไหน ตามปกติของมนุษย์เมื่อจะทำอะไรนั้น เราจะเริ่มต้นด้วยความเชื่อ มีความเชื่อขึ้นมาก่อน ซึ่งทางพระศาสนาเรียกว่า ศรัทธา แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ก็เริ่มต้นด้วยความเชื่อ อย่างน้อยก็เชื่อว่าในธรรมชาติต้องมีกฎเกณฑ์ มีกระบวนการแห่งเหตุผล มีระเบียบในธรรมชาติ เมื่อมีความเชื่อนี้จึงสืบสวนสังเกต ทำการหาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดปัญญา แก้ข้อสงสัย แต่ต้องมีความเชื่อเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อหรือศรัทธานั้น มีความหมายและคุณค่าที่ยังต้องแยกแยะพิจารณา กล่าวคือ ความเชื่อนั้นพูดได้ในแง่หนึ่งว่าแบ่งเป็น ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งคือความเชื่อที่ทำให้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ความเชื่ออีกประเภทหนึ่งตรงกันข้าม คือความเชื่อที่ทำให้เลิกศึกษา ความเชื่อประเภทที่ทำให้ต้องศึกษาต่อไปดังเช่น ความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ ที่กล่าวแล้ว กล่าวคือ เมื่อเขาเชื่อว่าธรรมชาติต้องมีกฎเกณฑ์ มีระเบียบ ก็ทำให้เขาต้องค้นหาว่ากฎเกณฑ์นั้นคืออะไร และด้วยความเชื่อนี้เขาก็มีพลังที่จะค้นคว้าสังเกตรวบรวมข้อมูล พิสูจน์ ทดลองต่อไป ส่วนความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เลิกศึกษาก็คือความเชื่อประเภทที่มอบจิตมอบใจฝากปัญญาไว้กับผู้อื่น ด้วยวางใจว่าเขาจะช่วยเหลือทำอะไรๆ ให้ได้ทุกอย่าง โดยที่เราไม่ต้องคิดไม่ต้องทำอะไรเลย ปลงใจมอบภาระให้เขาคิดให้ทุกอย่าง ได้แต่รอคอย ท่านว่าอย่างไรก็ว่าก็ทำไปตามนั้น
ในทางพระพุทธศาสนา ระบบการปฏิบัติก็เริ่มด้วยความเชื่อหรือศรัทธาเหมือนกัน แต่ลองมาพิจารณาดูว่าเป็นศรัทธาประเภทไหน ความเชื่อในพระพุทธศาสนา ที่เป็นเบื้องต้นของการศึกษา เรียกว่า ตถาคตโพธิศรัทธา คือความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หมายถึงเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เชื่อว่ามนุษย์มีปัญญาที่พัฒนาเป็นพุทธได้ คือเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ที่จะฝึกฝน พัฒนาได้จนสูงสุดเป็นพุทธ ตถาคตโพธิศรัทธานั้น โยงมาถึงตัวมนุษย์ เพราะความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตนให้เป็นพุทธได้ มีความมั่นใจในตนเองในฐานะเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ ก่อนจะเริ่มการศึกษา ต้องมีความเชื่อนี้อยู่เป็นพื้นฐาน ชาวพุทธถ้าไม่มีความเชื่อนี้ ก็อาจจะเขวออกไปจากพระพุทธศาสนา อาจจะถึงกับกลายเป็นนักบวงสรวงอ้อนวอนไปก็ได้ ดังนั้น จึงถือเป็นหลักสำคัญว่า พุทธศาสนิกชนต้องเริ่มจากจุดนี้ว่าเรามีความเชื่ออย่างนี้หรือไม่ เราได้ปลูกฝังศรัทธานี้แล้วหรือไม่ ศรัทธานั้นพระพุทธเจ้าตรัสคำจำกัดความไว้ในพระไตรปิฎกว่า หมายถึงตถาคตโพธิศรัทธา แต่เราไม่ค่อยได้สนใจกันว่าศรัทธาที่พระพุทธเจ้าต้องการนั้น คือ ศรัทธาอย่างไร ศรัทธานี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าปราศจากศรัทธานี้ การศึกษาจะเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อไม่เชื่อในศักยภาพของตนเองว่าจะพัฒนาได้ ก็ไม่เชื่อในการพัฒนาตนเอง ไม่เกิดแรงจูงใจที่จะฝึกฝนพัฒนาแต่อย่างใด
ในพระพุทธศาสนานั้นถือหลักการนี้สำคัญมาก จึงมีพุทธภาษิตและถ้อยคำต่างๆ ที่พยายามเร้าใจพุทธศาสนิกชน ให้มีความเข้มแข็งมุ่งมั่นในการฝึกฝนพัฒนาตน โดยยึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง เช่นเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติก็มีคำตรัสเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า อาสภิวาจา (วาจาอาจหาญ)ว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่สุดแห่งโลก วาจานี้ถือได้ว่า เป็นคำประกาศอิสรภาพของมนุษย์ หรือคำประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ ที่กล่าวว่าเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาท่ามกลางศาสนาพราหมณ์ ซึ่งสอนให้เชื่อในพระพรหม ว่าเป็นผู้สร้างโลก บันดาลทุกสิ่งทุกอย่างและลิขิตชะตากรรมของมนุษย์ มนุษย์จะต้องฝากความหวังและโชคชะตาไว้กับเทพเจ้า คอยอ้อนวอนเอาอกเอาใจเพื่อให้ยกโทษและประทานรางวัล ด้วยการทำพิธีบวงสรวงสังเวย มีพิธีบูชายัญเป็นต้น ในสมัยพุทธกาล สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องพยายามแก้ไขอย่างมาก คือพิธีบูชายัญ อ้อนวอนเทพผู้เป็นใหญ่ให้โปรดปราน ทำให้เกิดข้อปฏิบัติที่เป็นโทษต่อชีวิตและสังคม พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงความเชื่อของประชาชนให้เห็นว่า มนุษย์สามารถพัฒนาตนจนเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เลิศได้ แม้แต่ยิ่งกว่าเทวดา มาร และพรหม ซึ่งเราจะเห็นว่า ในพระไตรปิฎกมีข้อความมากมายที่ให้เห็นว่า พระพรหม และเทวดา ทั้งหลายมาเคารพบูชาพระพุทธเจ้า มาฟังธรรมจากมนุษย์ เช่น คาถาแห่งหนึ่งว่า
มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํอตฺตทนฺตํ สมาหิตํ
. . . . . . . .. . . . . . . .
เทวาปิ นมสฺสนฺติ. . . . . . . .
แปลความว่า พระพุทธเจ้าทั้งที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นผู้ฝึกฝนตนแล้ว มีจิตตั้งมั่น. . . แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ ดังนั้น จึงถือเป็นหลักการว่า มนุษย์นั้นให้พัฒนาตนไปเถิด เมื่อพัฒนาตนดีแล้ว แม้แต่เทวดาและพระพรหมก็จะเคารพนับถือสักการะบูชา นี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่พัฒนาได้ เมื่อเชื่ออย่างนี้แล้ว ก็จะเลิกฝากความหวังฝากโชคชะตาไว้กับเทพเจ้า จะหันมาพึ่งตนเอง และฝึกฝนพัฒนาตน หลักตถาคตโพธิศรัทธา หรือเรียกง่ายๆ ว่า โพธิศรัทธา จึงมีความสำคัญมาก สรุปคือ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตนซึ่งพัฒนาได้จนเป็นพุทธ ซึ่งแม้แต่เทพก็เคารพบูชา
ประการต่อไป หลักการนี้ทำให้มีความมั่นใจ มีกำลังในการที่จะดำเนินตามระบบของการฝึกฝนพัฒนาตน เพราะเมื่อมีความเชื่อก็มีกำลังใจที่จะทำต่อไป
ในที่นี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า หลักการนี้ ถ้ามองด้วยท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจเห็นว่าจะทำให้มนุษย์หยิ่งผยองลำพองตน แต่ความจริงนั้น ตรงกันข้าม ถ้าเข้าใจถูกต้อง หลักการนี้จะไม่ทำให้เราผยองลำพองเลย เพราะเราไม่ได้เชื่อว่าเรานี้เก่งเกินคนอื่น แต่เราเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนได้ ความเชื่อนี้จะทำให้เกิดความสำนึกว่า เราเป็นสัตว์ที่ยังต้องพัฒนา และทำให้เราต้องการพัฒนาตน เมื่อมีความสำนึกและความต้องการอย่างนี้ เราก็ย่อมอ่อนน้อมถ่อมตน ดังนั้น หลักการนี้จึงทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่หยิ่งผยองลำพองตน
ข้อที่พึงเน้นก็คือ หลักการนี้จะนำไปสู่จิตสำนึกในการศึกษา คือ การที่มีความตระหนักสำนึกตนอยู่เสมอว่า เรานี้ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตน เมื่อมีความสำนึกในการที่จะต้องพัฒนาตนอย่างนี้แล้ว ก็จะก้าวไปสู่การมีท่าทีของจิตใจอย่างถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายที่ได้ประสบรอบตัว ผู้ที่มีจิตสำนึกในการศึกษา หรือมีจิตสำนึกในการพัฒนาตนแล้ว จะมองเห็นทุกสิ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้อยู่เสมอ คือมองสิ่งทั้งหลายด้วยท่าทีของการหาข้อมูล เพื่อเอามาใช้ในการพัฒนาตน ดังนั้น หลักการเรื่องตถาคตโพธิศรัทธาจึงโยงต่อไปยังหลักสำคัญ คือ จิตสำนึกในการศึกษา ซึ่งจะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ ถ้าสร้างไม่ได้ การศึกษาที่แท้จริงก็ยากที่จะเกิด คนส่วนมากก็จะมีท่าทีของปุถุชนต่อไป
ท่าทีของปุถุชนก็คือการรับประสบการณ์ต่างๆ ด้วยท่าทีของการยินดี ยินร้าย หรือชอบชัง ชอบหรือไม่ชอบแล้ว ความรู้ก็จบอยู่แค่นั้น ต่อจากนั้น ก็คิดปรุงแต่งเกิดเรื่องราวเป็นปัญหาหรือก่อทุกข์ต่อไป แต่เมื่อเกิดจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว ก็จะเปลี่ยนจากการรับประสบการณ์ต่างๆ ด้วยท่าทีของปุถุชน มาเป็นท่าทีของนักศึกษา คือ ท่าทีของการมองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ไปหมด เมื่อมีประสบการณ์เข้ามา จะไม่มองว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่จะมองว่าได้เรียนรู้อะไร จะเอาอะไรมาใช้ในการพัฒนาตนได้บ้าง เป็นการมองไปอีกอย่างหนึ่งโดยมีท่าทีที่เปลี่ยนไป
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนานี้เริ่มจากมนุษย์ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เรียนเรื่องมนุษย์ เพื่อจะแก้ปัญหาของมนุษย์ โดยพัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง นี้เรียกว่าหลักตถาคตโพธิศรัทธา เป็นหลักการเบื้องต้นหรือหลักการพื้นฐาน
หลักการแห่งตถาคตโพธิศรัทธานี้จะโยงต่อไปอีกสู่หลักการที่สอง ซึ่งความจริงเป็นเรื่องที่โยงกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อมองเข้าไปในหลักตถาคตโพธิศรัทธา คือความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธนั้น ก็จับสาระได้ว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนไปจนสูงสุด แล้วกลายเป็นพุทธได้ แล้วมองดูภาพต้นไม้แห่งการพัฒนา ก็จะได้องค์ประกอบคู่สำคัญขึ้นมาคือ มนุษย์กับพุทธะ มนุษย์เป็นฐานแล้ว จุดสุดยอดเป็น พุทธะ
มองต่อไปอีก มนุษย์จะเป็นพุทธได้ จะพัฒนาตนอย่างไร ก็คือพัฒนาตนให้มีปัญญา รู้เข้าใจถึงความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์หรือใครก็ตามก็ต้องเรียนรู้ ความจริงของธรรมชาติ เมื่อรู้ความจริงในธรรมชาติถึงที่สุดก็เป็นพุทธ ก็มาถึงคู่ที่สอง คือธรรมชาติและความจริงของธรรมชาตินั้น การรู้จักธรรมชาติ เช่นว่า นี้เป็นต้นไม้ นี้เป็นเมฆ ฟ้า ฝน ทะเล ภูเขา รู้จักเช่นนั้นยังไม่เรียกว่ารู้ความจริงของธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่บางคนอาจไม่รู้จักต้นไม้ หรืออัญมณีบางชนิด แต่เขาเข้าใจสาระหรือแก่นแท้คือกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น การรู้จักธรรมชาติในที่นี้ไม่ใช่รู้จักอย่างที่ตามองเห็น แต่เข้าใจกฎเกณฑ์ที่เป็นสาระเป็นแก่นแท้เป็นความจริงในธรรมชาตินั้น พระพุทธเจ้าเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินั้น จึงเป็นพุทธ การที่เป็นพุทธ ก็คือ การเข้าถึงความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ความจริงคือสาระหรือแก่นแท้ของธรรมชาตินั้นเรียกว่าธรรม เมื่อเข้าถึงธรรมชาติซึ่งเป็นฐานโดยรู้ความจริง รู้กฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติเป็นอย่างนั้นก็คือรู้ธรรม ถึงตอนนี้ก็ได้องค์ประกอบคู่ที่สอง คือ ธรรมชาติกับธรรมะ จากรากฐานคือธรรมชาติ ก็ไปสู่ยอดคือ ธรรม หรือ ธัมมะ
มนุษย์ทั้งหลายจำนวนมาก หรือแม้สัตวโลกอื่นๆ ทั้งหมดนี้ ในสมัยก่อนเรียกรวมกันว่าสัตว์โลก สมัยนี้บัญญัติใหม่ว่าสังคม ในที่นี้ขอเรียกอนุโลมตามศัพท์สมัยใหม่ว่า สังคม สังคมประกอบด้วยสัตว์ทั้งหลาย หรือมนุษย์ทั้งหลายมากมาย สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ควรจะได้พัฒนาตนตามหลักที่กล่าวมาข้างต้น คือพัฒนาตนจนสูงสุดเป็นพุทธ ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายในสังคมพัฒนาตนขึ้นไปเป็นจำนวนมากแล้ว เรามีศัพท์บัญญัติเรียกชนกลุ่มนี้ว่า สังฆะ สังฆะคือสังคม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่พัฒนาตนเป็นพุทธแล้ว สังฆะจึงเป็นอุดมคติของสังคม เป็นอันว่าได้องค์ประกอบคู่ที่สามคือ สังคมกับสังฆะ จากฐานคือสังคม พัฒนาไปถึงจุดสุดยอดก็เป็น สังฆะ
ถึงตอนนี้เราก็ได้หลักสามอย่าง แยกเป็น ๒ ชุด ชุดหนึ่งเป็นฐานคือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม อีกชุดหนึ่งเป็นจุดสุดยอดที่พัฒนาแล้วด้วยการศึกษา คือ พุทธ ธรรม และสังฆะ ซึ่งเราเรียกว่าหลักรัตนตรัย นี่คือหลักใหญ่ข้อที่สอง เป็นอันว่า หลักตถาคตโพธิศรัทธาก็โยงมาสู่หลักรัตนตรัยคือหลักของคุณค่าสูงสุด คุณค่าสูงสุดของมนุษย์คือ ๓ สิ่งนี้ ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและความมั่นใจ ที่จะถือเอาเป็นอุดมคติของการพัฒนามนุษย์ คือ หนึ่ง มีความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาให้เป็นพุทธได้ สอง มีความเชื่อในธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาซึ่งเราจะต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเข้าใจและปฏิบัติถูกต้องก็จะมีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ แต่ถ้าเข้าใจและปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็เป็นโทษแก่ตัวมนุษย์เอง สาม มั่นใจว่า เมื่อหมู่มนุษย์ได้พัฒนาตนเองแล้วเราก็จะมีสังคมที่เป็นอุดมคติที่ดีงาม เรียกว่าเป็นสังฆะ รวมสามอย่างนี้เป็นคุณค่าสูงสุดสำหรับมนุษย์ จึงเรียกว่า พระรัตนตรัย
คุณค่าสูงสุด หรือพระรัตนตรัยนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สรณะ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ สำหรับใช้นำทางชีวิตและสังคม กล่าวคือ จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า เราจะต้องพัฒนาศักยภาพของตนตามแนวทางที่จะเป็นพุทธ จะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และปฏิบัติตามความจริงคือธรรมนั้น และจะต้องพัฒนาสังคมให้ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นพุทธเพื่อรวมกันเข้าเป็นสังฆะ นี้เป็นหลักนำทางชีวิตและสังคมที่จะต้องระลึกเตือนใจอยู่เสมอ เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ก็เรียกได้ว่า ถึงพร้อมด้วยไตรสรณาคมน์ คือเป็นการเข้าถึงหลักแห่งสรณะ รวมความว่า หลัก ๓ อย่างนี้ เรียกว่าไตรรัตน์หรือรัตนตรัย ในแง่ที่เป็นคุณค่าสูงสุด เรียกว่าสรณะหรือไตรสรณะ ในแง่ว่าเป็นหลักนำทางชีวิตและสังคมที่จะต้องระลึกไว้เสมอ
ฉะนั้น เราจะเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างองค์ประกอบทั้งสามว่า เรามีพุทธเป็นแม่แบบหรืออุดมคติของมนุษย์ หรือพุทธในฐานะผู้ค้นพบและประกาศความจริงในธรรมชาติ ความจริงนั้นก็คือธรรมซึ่งเป็นแม่แบบเป็นสาระของธรรมชาติ และทำให้คนทั้งหลายที่เข้าใจและปฏิบัติตามเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม และทำให้สังคมนั้นพัฒนาเป็นสังฆะ รวมเป็นหลักสามประการ เรียกว่าเป็นแม่บทใหญ่ของระบบความคิดที่เรียกว่า พุทธธรรม หรือเป็นแม่บทใหญ่ เป็นกรอบรวมที่สมบูรณ์ ครอบคลุมระบบความสัมพันธ์ทั้งหมด ที่มนุษย์แต่ละบุคคลจะต้องเกี่ยวข้อง ในการดำรงชีวิตก็ตาม ในการพัฒนาตนก็ตาม การระลึกถึงหลักสามประการนี้เสมอ ก็คือในแง่ฐานล่าง เมื่อจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงองค์ทั้งสาม คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม เช่น ถ้าจะพัฒนาเทคโนโลยี ก็ต้องดูว่า เทคโนโลยีนี้ช่วยให้มนุษย์ดีขึ้นด้วยไหม เกื้อกูลต่อธรรมชาติไหม ทำลายธรรมชาติหรือขัดแย้งกับธรรมชาติไหม และเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมหรือไม่ การคำนึงในระดับฐานล่าง ๓ ประการ ใช้ในกรณีของการดำรงชีวิต ส่วนในการพัฒนาตน ก็คำนึงถึงหลัก ๓ ประการ ในระดับจุดยอดที่เป็นองค์ของสรณะ ๓ คือ ระลึกเตือนใจว่า เราพัฒนาตามแนวทางสู่ความเป็นพุทธหรือไม่ ปฏิบัติตามหลักความจริงถูกต้องหรือไม่ จะทำให้มีสังคมที่ดีงามหรือไม่ ต้องคำนึงอยู่เสมอในการดำรงชีวิตและในการพัฒนาตน