การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถึงแม้มีข้อมูลข่าวสารมากมาย
แต่ถ้ารับและใช้ไม่เป็น ก็ไม่มีความหมาย

ยุคนี้เป็น “ยุคโลกาภิวัตน์” และโลกาภิวัตน์ที่เด่นที่สุด แม้ว่าอาจจะไม่ใช่สำคัญที่สุดก็คือ ข่าวสารข้อมูล หรือจะเรียกว่าสารสนเทศ หรืออะไรก็ตามที ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า information ในปัจจุบันมักใช้ชื่อนี้เป็นชื่อของยุคสมัยด้วย ว่าเป็น “ยุคข่าวสารข้อมูล” (Information Age) เป็นยุคที่ข่าวสารข้อมูล มีบทบาทอย่างยิ่งในสังคม มีการแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางทั่วถึง มีปริมาณมากมายมหาศาล และมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

ในแง่นี้มนุษย์สมัยปัจจุบันได้เปรียบมนุษย์สมัยก่อน ซึ่งการที่จะรู้ข่าวสารแสนจะยาก เมื่อไม่รู้โดยตรงก็กลายเป็นข่าวลือ ฉะนั้นมนุษย์สมัยก่อนจึงตกอยู่ใต้อำนาจข่าวลือมาก อย่างเมืองหนึ่งต้องการจะติดต่อกับอีกเมืองหนึ่ง อาจจะใช้ม้าเป็นพาหนะในการสื่อสาร ซึ่งเป็นการส่งข่าวสื่อข่าวด้วยวิธีที่มีขีดจำกัดอย่างยิ่ง แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ เรามีเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ข่าวเกิดขึ้นที่ไหนชั่ววินาทีเดียวก็รู้ไปทั่วโลกแล้ว ฉะนั้น ในยุคปัจจุบันมนุษย์มีข้อได้เปรียบมาก จนกระทั่งมองไปว่า มนุษย์สมัยนี้เป็นมนุษย์ที่มีปัญญามาก เพราะว่า “ความรู้” นั้น คือขุมแห่งสติปัญญา

อย่างไรก็ตาม “ความรู้” เป็นคำที่มีความหมาย ๒ ด้าน คือ

ด้านที่ ๑ ความรู้ หมายถึง ข้อมูลที่ถูกรับรู้ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ

ด้านที่ ๒ ความรู้ หมายถึง ความสามารถในจิตใจของคนที่เข้าใจหยั่งถึงหรือเข้าถึงความจริงของเรื่องราวหรือสิ่งนั้นๆ

มนุษย์มีความสับสนระหว่างความหมายของความรู้ทั้ง ๒ ด้านนี้ ที่จริงมนุษย์ควรจะแยกความหมายของความรู้ทั้ง ๒ ด้านนี้ได้อย่างชัดเจน ความรู้ในความหมายที่ ๑ อาจจะเรียกว่า “ข้อรู้” ส่วนความรู้ในความหมายที่ ๒ จึงจะเรียกได้ว่าเป็น “ความรู้” ซึ่งเป็นตัวปัญญา คนหลายคนสะสมข้อรู้ไว้ได้มาก ตามข้อรู้ได้เก่ง ทันหมด แต่ไม่ได้ความรู้ หรือปัญญาเลย

เวลานี้มนุษย์มีแหล่งเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลมากและมีการสื่อสารได้รวดเร็ว พร้อมทั้งมีปริมาณมากด้วย มนุษย์สมัยนี้จึงถือว่าได้เปรียบ สามารถมีความรู้ได้กว้างขวาง ก็ควรจะเป็นคนมีสติปัญญาดีขึ้น แต่ความจริงกลายเป็นว่า ความรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้อาจจะทำให้คนหลงงมงายมากขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมี “การศึกษา” ที่จะทำให้คนปฏิบัติต่อข่าวสารได้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความรู้ที่แท้ ที่เป็นปัญญา

การปฏิบัติต่อข่าวสารได้ถูกต้องนั้นมีทั้ง “รับเป็น” และ “ใช้เป็น” คือทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม ถ้าเรารับไม่เป็น และใช้ไม่เป็นอาจจะเกิดโทษมหันต์ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังให้ดี

เวลานี้สังคมที่พัฒนาแล้วที่ถือว่าตัวเองมีความเจริญด้วยเครื่องมือข่าวสารข้อมูลก็ปรากฏว่าได้หันมาให้ความสนใจและเป็นห่วงด้านนี้กันมากขึ้น จนกระทั่งบางคนถือว่าสังคมเวลานี้ไม่ใช่สังคมข่าวสารข้อมูลแล้ว แต่จะเป็นสังคม misinformation คือ เป็นสังคมที่มีข่าวสารข้อมูลผิดพลาดเป็น “มิจฉาสาร” หรือว่า แทนที่จะเป็นข่าวสาร ก็เป็นข่าวไร้สาร และกิจการ “สื่อสาร” ก็เป็น “สื่อไร้สาร” ในเวลาที่เราพูดว่า “สื่อสาร” เราก็คิดว่านี่ถูกต้อง และเราก็ภูมิใจว่า สื่อต่างๆ นี้นำความรู้มาให้ และหลงไปว่ามันเป็น “สาระ” ที่จริงสื่อสารก็คือสื่อสาระ แต่บางกรณีมันกลายเป็นสื่อไร้สาร คือ สื่อไร้สาระนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องระวัง

คนที่ปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลผิด จะทำให้เกิดผลเสียดังนี้

๑. เกิดภาวะที่ว่า ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้น ยิ่งเพิ่ม “โมหะ” คือทำให้ความหลงงมงายมากขึ้น ได้แต่ถูกข้อมูลท่วมทับ แล้วตกเป็นเหยื่อของข่าวสารข้อมูล ลองดูจากคนที่ดูโทรทัศน์ว่าเป็นคนที่ได้ความคิดได้ปัญญาจากข่าวสาร หรือได้แต่เสพข่าวบริโภคข่าว พอให้ตื่นเต้นกับไป พวกไหนมากกว่ากัน และเป็นคนที่รู้จักรับเอาข่าวสารในโทรทัศน์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือถูกชักจูงไปเป็นเหยื่อของข่าวสาร พวกไหนมากกว่ากัน คนที่เสพข่าวสาร ถ้าไม่รู้จักใช้วิจารณญาณ ไม่มีการศึกษาที่ดี ก็จะไม่ทันข่าวสารข้อมูล อาจจะกลายเป็นเหยื่อของข่าวสารข้อมูล และกลับกลายเป็นว่า ข่าวสารข้อมูลยิ่งมากก็ยิ่งพร่า เมื่อพร่าก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และก็ทำให้เกิดโมหะมากขึ้นนั่นเอง

๒. เกิดภาวะที่เรียกว่า “สมองเมื่อย” ซึ่งเกิดขึ้นกับคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากข่าวสารข้อมูลมีจำนวนมากมายและรวดเร็ว ทำให้รับไม่ไหวและรับไม่ทัน การที่มาภูมิใจว่า ข่าวสารมากจะมีความรู้มากนั้น ไม่จริงหรอก คนหนึ่งๆ จะมีความสามารถหรือวิสัยในการรับข้อมูลไม่มากเท่าไร แม้แต่หนังสือที่เป็นเล่มๆ ออกมามากๆ เราก็อ่านไม่ทัน หนังสือพิมพ์เราก็อ่านไม่ทัน ข่าวโทรทัศน์ ข่าววิทยุ เราก็ฟังไม่ทั่วไม่ทัน ในเมื่อข่าวสารมีมาก และการที่จะอยู่ในโลกปัจจุบันให้ได้ผลดีมีชีวิตที่ดี เราจะต้องทันต่อสิ่งเหล่านี้ เมื่อเรารับมือกับมันไม่ถูกท่าและรับไม่ไหว ก็เกิดภาวะที่เรียกว่า “สมองเมื่อย” คือ สมองล้ารับไม่ไหว จนกระทั่งคนบางกลุ่มกลายเป็นคนที่ปล่อยเลย ไม่เอาแล้ว ไม่อยากรู้แล้ว มันเมื่อยเหลือเกิน สมองรับไม่ไหวแล้วเลยกลายเป็นว่า ปล่อยปละละเลย ไม่เอาเรื่องกับข่าวสารข้อมูล กลายเป็นผลเสีย เพราะฉะนั้น อย่าไปภูมิใจกับการที่เราเจริญด้วยข่าวสารข้อมูล ถ้าเราไม่ทันมัน ปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันจะเกิดโทษมากกว่าเกิดคุณ

๓. เกิดภาวะที่เรียกว่า information anxiety ได้มีคนแต่งหนังสือล้อเลียนยุคสมัยนี้ ที่เราชอบเรียกสังคมปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้วว่าเป็น information society (สังคมแห่งข่าวสารข้อมูล) แต่ข่าวสารข้อมูลนั้น ถ้าปฏิบัติต่อมันไม่เป็น ไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดโทษ ดังที่เขาใช้ศัพท์ใหม่ล้อ information society ว่า information anxiety หมายความว่า คนยุคปัจจุบันนี้มีความกระวนกระวายต่อข่าวสารข้อมูล เพราะชีวิตและการงานถูกมันรุกเร้าบีบคั้น

อย่างนักธุรกิจจะดำเนินธุรกิจให้ได้ดี จะต้องทันต่อข่าวสารข้อมูล ต้องใช้ข้อมูลเป็น เอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจของตนเอง ยิ่งปัจจุบันนี้โลกอยู่ในระบบแข่งขัน การที่จะเอาชนะคู่แข่งได้ จะต้องรู้ก่อนเขา รู้มากกว่าเขา รู้เหนือเขา ในเรื่องข่าวสารข้อมูลต่างๆ จึงทำให้เกิดความกังวลและกระวนกระวายว่ามีอะไรใหม่ๆ ที่เรายังไม่รู้หรือไม่ เขามีข้อมูลอะไรเหนือกว่าที่เราไม่รู้หรือไม่ เรื่องนี้เวลานี้ไปถึงไหน ฯลฯ ก็เลยเกิดภาวะที่เป็น anxiety คือเกิดความกระวนกระวาย

“การศึกษา” คือ ตัวผู้รับผิดชอบ ฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาที่ทำเรื่องนี้ให้ได้ มิฉะนั้นจะต้องบอกว่า การศึกษาไม่สามารถตามสังคมได้ทัน ไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปนำสังคมหรือแก้ไขปัญหาสังคม ตกลงว่า ในยุคของข่าวสารข้อมูลนี้มนุษย์จะต้องมีการศึกษาที่ทำให้เขามีประสิทธิภาพทั้งใน “การรับ” และ “การใช้” ข่าวสารข้อมูล

ใน “ภาครับ” ทำอย่างไรจะสามารถรับข้อมูลต่างๆ ได้ชัดเจน ถ่องแท้ มีความรู้ความเข้าใจจริง อย่างข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ไหม ทำอย่างไรเราจะสามารถเข้าถึงความจริงของเรื่องราวเหล่านั้น ถ้าเป็นคนไม่มีการศึกษาเพียงพอ และรับข่าวสารโดยไม่มีวิจารณญาณ ก็รับไม่เป็น ก็ได้แต่ตื่นเต้นผ่านๆ ไป หรือรับเอาทั้งดุ้น หรือไม่ก็เชื่อง่ายและหลงไปตามนั้น ถ้าแหล่งข่าวมีความต้องการแอบแฝง คนก็กลายเป็นเหยื่อไป ฉะนั้นจะต้องมีวิธีการที่จะรับข้อมูลให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ ชัดเจน เข้าถึงเนื้อหาสาระ

นอกจากจะรับได้ชัดเจนแล้วจะต้องรู้จัก “เลือก” ข่าวสารมาทั้งหมดเราไม่สามารถรับทุกอย่างได้ เราจะต้องสามารถในการเลือก คัด เจาะ ค้น กระเทาะ และขยาย หมายความว่า ข่าวสารข้อมูลอะไรที่มีความสำคัญต่อชีวิต ต่อสังคม หรืออันไหนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ความเจริญ ความเสื่อม อะไรต่างๆ เหล่านี้ ต้องจับให้ถูก แล้วเจาะประเด็นในเรื่องนั้นให้ชัดเจนให้ได้ แค่นี้ก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว ยุคนี้ “การศึกษา” จะต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้เช่นเดียวกัน

ในการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล คนเป็นจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระได้อย่างชัดเจนถ่องแท้ คือ จับประเด็นไม่ได้ จับจุดไม่ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหามากในยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้น “การศึกษา” อีกนั่นแหละ จะต้องทำให้คนจับประเด็นของเรื่องให้ได้ ถ้าคนจับประเด็นในข่าวสารมาได้เขาก็สบาย หนังสือทั้งเล่ม บางคนเปิดอ่านเพียงแป๊บเดียว ก็จับประเด็นได้แล้ว และสามารถจำเนื้อหาได้เพราะเข้าใจ และเมื่อเราจับหรือยกประเด็นได้แล้ว เราก็สามารถนำไปขยายเป็นหนังสือทั้งเล่มได้ทันที เพราะฉะนั้นคนที่จับประเด็นได้ เจาะจุดได้ จะได้เปรียบเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ในยุคปัจจุบันที่มีข่าวสารมากมายจึงจำเป็นจะต้องให้คนมีความสามารถใน “การรับ” ในแง่การจับประเด็นหรือเข้าถึงจุดของเรื่องของปัญหา

“ภาคใช้” เป็นการเอาข้อมูลข่าวสารมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น สื่อสารเป็น เมื่อรับข่าวสารเข้ามาแล้วก็ต้องมีการสื่อสารออกไปด้วย ถ้ามีแต่เพียงรับข่าวสาร มันก็หยุด มันก็นิ่งอยู่ เขาสื่อสารมาเราก็รับ แต่ถ้าตัวเราไม่มีความสามารถที่จะสื่อสาร มันก็ตันจบกัน ข่าวสารจะออกมาได้ด้วยสื่อสาร พอข่าวสารมาอยู่ที่เรา เราจะใช้ประโยชน์ได้ ขั้นที่หนึ่ง เราก็ต้องสื่อสาร แต่เรามีความสามารถหรือไม่ในการที่จะสื่อสาร คือต้องสื่อสารเป็น เช่น ต้องพูดเป็น เขียนเป็น อย่างน้อยต้องสามารถสื่อความต้องการของตนให้คนอื่นเข้าใจได้ การศึกษาปัจจุบันมีคนร้องทุกข์กันมากว่านักเรียนจบไปแล้วพูดไม่เป็นเขียนไม่เป็น ต้องการอะไรพูดให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาจะต้องมีบทบาทในการสร้างคุณสมบัติหรือความสามารถเหล่านี้ คือ

๑. ความสามารถที่จะสื่อให้คนอื่นเข้าใจความต้องการของตนได้ ให้เขารู้และเข้าใจความรู้ที่ตนถ่ายทอดให้เขาได้ ด้วยการถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เขาเข้าใจชัดเจนถ่องแท้ ตลอดจนสามารถชี้แจงชักจูงให้ผู้อื่นเห็นคล้อยตามได้ ซึ่งเป็นประสิทธิภาพในการสื่อสารสูงยิ่งขึ้นไปตามลำดับ

๒. ความสามารถที่จะนำเอาข่าวสารข้อมูลต่างๆ และความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยง มาประสาน มาปรุง มาแต่ง สร้างสรรค์ เป็นความรู้และความคิดใหม่ได้ ข้อนี้สำคัญมาก คนที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม ต้องมีความสามารถข้อนี้

คนเราโดยทั่วไปก็มีความรู้โดยรับเอาความรู้มาจากคนอื่นนั่นแหละ แต่ที่จริงความรู้ที่อ่านฟังรับเอามานั้นยังเป็นความรู้ของคนอื่น ยังไม่เป็นของตัวเรา ความรู้จากการที่คนอื่นหรือครูบาอาจารย์ถ่ายทอดมา ยังไม่ถือว่าเป็น “ปัญญา” ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง แต่เป็นเพียงความรู้ของคนอื่น ที่เรารับเอามาเก็บไว้หรือสะสมไว้ การที่จะเป็น “ปัญญา” ได้ เราจะต้องเข้าถึงความจริงของความรู้นั้น และสามารถสืบสาวเหตุปัจจัย เอามาสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ตลอดจนปรุงแต่งเป็นความรู้ความคิดใหม่ได้ คนที่จะแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ได้ต้องมีปัญญานี้ เพราะว่า เราจะใช้ความรู้ที่มีอยู่มาปฏิบัติต่อสถานการณ์อันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญหาเกิดขึ้น ความรู้เก่าที่เคยใช้กับสถานการณ์ก่อน ยังเป็นเหมือนวัตถุดิบเท่านั้น ยังใช้ไม่ได้ เราจึงต้องโยงเอาความรู้และข้อมูลต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นความรู้ความคิดใหม่ แล้วปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นให้สอดคล้อง จึงจะเป็นการแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้

เด็กที่อ่านหนังสือ แต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน คนหนึ่งแค่จะรู้ตามที่เขาเขียนไว้ก็ยากเต็มที อีกคนหนึ่งเข้าใจได้ตามที่เขาเขียนเล่าหรืออธิบายไว้ แต่ความเข้าใจเป็นความรู้กระจัดกระจาย จับประเด็นหรือจับสาระไม่ได้ อีกคนหนึ่งจับประเด็นได้รู้สาระสำคัญทั้งหมดด้วย อีกคนหนึ่งนอกจากเข้าใจเนื้อความทั้งหมดและจับประเด็นได้แล้ว ยังได้คติที่แตกออกไปหรือเกิดแง่มุมความคิดใหม่ขึ้นจากสิ่งที่ผ่านเข้ามากระทบความคิดของตน อีกคนหนึ่งสามารถเชื่อมโยงความรู้ทั้งที่ได้ใหม่จากหนังสือนั้นและความรู้เดิมที่ตนมีอยู่แล้ว เอามาสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นได้ เขาอาจจะเขียนหนังสือขึ้นมาใหม่อีกเล่มหนึ่งก็ได้ นี้เป็นเรื่องของขีดระดับความสามารถในการที่จะเข้าถึงข่าวสารข้อมูล

จะเห็นได้ว่า “ภาครับ” มี ๒ ขั้น “ภาคใช้” ก็มี ๒ ขั้น ทั้งหมดนี้เป็นปัญญาที่ทางพระมีคำเฉพาะเรียกว่า “ปฏิสัมภิทา ๔” ปฏิสัมภิทา แปลว่าปัญญาแตกฉาน เป็นปัญญาชุดที่ใช้ปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล ถ้าใครมีปัญญาชุดนี้ครบ ๔ อย่าง จะเป็นผู้พร้อมที่จะทำงานข่าวสารข้อมูลได้ และอยู่ในสังคมยุคข่าวสารข้อมูลได้ดี “ปฏิสัมภิทา ๔” ได้แก่

๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในเนื้อหา หรือเนื้อความ คือ เข้าใจความหมายและรายละเอียดถูกต้องชัดเจน มองเห็นเนื้อความตลอดทั้งหมด

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในตัวหลัก ตัวประเด็น คือ จับสาระ จับหลัก จับประเด็นได้ รู้จุดของเรื่องหรือปัญหา

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในการใช้ภาษาสื่อสาร คือ เข้าถึงอรรถรสของภาษา สามารถใช้ภาษาหรือถ้อยคำสื่อความหมาย ความต้องการ ตลอดจนชักนำและชักจูงให้ผู้อื่นเห็นตามได้

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ คือ สามารถเชื่อมโยงเอาความรู้ที่มีอยู่มาปรับใช้ให้ได้ผลในสถานการณ์นั้นๆ แก้ปัญหาได้ และสร้างสรรค์เป็นความรู้ ความคิดใหม่ขึ้นได้

สองข้อแรก เป็นเรื่องของ “ภาครับ” ส่วนสองข้อหลัง เป็นเรื่องของ “ภาคใช้” เป็นคุณสมบัติสำคัญชุดหนึ่งในการศึกษา โดยเฉพาะพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาตนอย่างดี หลายท่านจะมีคุณสมบัติชุดนี้ด้วย ในยุคนี้เราจะต้องพัฒนาคนให้ปฏิบัติต่อข่าวสารได้อย่างที่ว่ามาตามหลักธรรมชุดนี้ อย่างน้อยต้องดูเป็น ฟังเป็น คิดเป็น เช่น เด็กดูโทรทัศน์เป็นไหม รู้จักเลือกรายการที่เป็นประโยชน์มีคุณค่า มีเนื้อหาสาระส่งเสริมคุณภาพชีวิตไหม ดูแล้วได้คติได้ปัญญาได้ประโยชน์ไหม หรือดูแล้วได้แต่หลงใหลเพลิดเพลินไป เสียทั้งเวลาและสุขภาพ “ฟังเป็น” ก็เช่นเดียวกัน

การศึกษาเริ่มต้น จะต้องให้ความสำคัญในเรื่อง “ดูเป็น” และ “ฟังเป็น” ซึ่งหมายถึงการรู้จักใช้อายตนะ หรือใช้อินทรีย์ให้ได้ประโยชน์ ไม่เกิดโทษ คือ ใช้ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส และกายสัมผัส ซึ่งถือว่าสำคัญมากในการพัฒนามนุษย์เบื้องต้น จัดอยู่ในหลักที่เรียกว่า อินทรียสังวร ซึ่งรวมอยู่ในขั้น “กายภาวนา” คือการพัฒนากาย หรือพัฒนาการทางกาย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.