การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผิด เมื่ออารยธรรมติดตัน
ทุกคนทุกชนชาติต้องร่วมกันแก้ไข

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการนำเอาหลักพระพุทธศาสนามาใช้ในการจัดการศึกษา ควรจะพูดถึงสภาพปัจจุบันและปัญหาของโลกเสียก่อน การศึกษาที่จะจัดให้ได้ผลดี จะเรียกว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรืออะไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงการจัดการแก้ไขปัญหาให้ได้ผลด้วย ถ้าการจัดการศึกษาไม่สามารถใช้แก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จ ถ้าเราเอาหลักการนั้นมาใช้จัดการศึกษาก็คงไม่บรรลุความมุ่งหมาย ถึงแม้ว่าเราจะพูดให้ไพเราะอย่างไรก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะประโยชน์สำคัญอยู่ที่ผลสำเร็จในเชิงปฏิบัติว่า ปัญหาของโลกมนุษย์ในปัจจุบันมีอะไร เรามองเห็นทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยหลักการนั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มต้นด้วยปัญหาเรื่องสภาพชีวิตในสังคม ที่การศึกษาจะต้องเข้ามารับมือแก้ไข

มองดูโลกในยุคปัจจุบัน เราก็มาติดกับถ้อยคำที่นิยมมากที่สุดเวลานี้ คือ คำว่า “โลกาภิวัตน์” ซึ่งเพิ่งเข้ามาแทนคำว่า “โลกานุวัตร” ที่นิยมพูดกันมาก แต่ตอนนี้ถูกราชบัณฑิตบอกให้งดใช้ ให้หันมาใช้คำว่าโลกาภิวัตน์แทน ศัพท์นี้เป็นที่นิยมใช้กันมาก เวลาจะตั้งหัวข้อปาฐกถาก็นิยมใส่คำว่าโลกาภิวัตน์เข้าไปด้วย

กระแสของ “โลกาภิวัตน์” เป็นไปอย่างรุนแรง โลกสมัยนี้ถือว่าอยู่ในสภาวะที่ “ไร้พรมแดน” หมายความว่าถึงกันหมดไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็ตาม สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นก็แพร่หลายกระจายทั่วไป ในสภาพที่ความเจริญขยายไปทั่วจนทั้งโลกติดต่อถึงกันหมด เช่น การแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูล เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดมีภาวะอย่างหนึ่งคือ การที่มนุษย์จะรับถ่ายทอดจากกัน หรือการที่จะมีอิทธิพลของสิ่งที่เกิดขึ้นแพร่ขยายเข้าไปในที่ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการแทรกซึมหรือการระบาดหรืออะไรก็ตาม หมายความว่า กระแสที่เกิดขึ้นมีทั้งดีและร้าย กระแสนี้จะมีอิทธิพลมากถ้าเรา ไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งก็ตาม แล้วมองตัวเองว่าเป็นผู้ด้อย เราก็จะเป็น “ผู้รับ” กระแสที่เรียกว่า เป็นความเจริญที่เกิดขึ้นในโลก

กระแส “โลกาภิวัตน์” มีอิทธิพลมาก เพราะสิ่งที่แพร่ไปในโลกปัจจุบันนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เป็นรูปธรรมในทางร้าย เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น โรคเอดส์ ปัจจุบันก็อาศัยกระแสโลกาภิวัตน์จึงแพร่หลายไปทั่วโลก ถ้าโรคเอดส์เกิดขึ้นในสมัยก่อนก็จะไม่แพร่หลายไปไกล เพราะการสื่อสาร การคมนาคม การขนส่งไม่ค่อยทั่วถึง จึงแพร่ระบาดไปยาก แต่เมื่อมีความเจริญของโลกตามกระแสโลกาภิวัตน์ ก็ทำให้โรคเอดส์อาศัยไปด้วย ตัวอย่างที่เป็นด้านกลางๆ จะถือว่า ดีบ้างร้ายบ้าง ก็เช่น เทคโนโลยีต่างๆ เทคโนโลยีเกิดขึ้นในประเทศไหนสักแห่ง ในไม่ช้าก็จะมีกันทั่ว อย่างปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่ถือว่าเจริญที่สุด พอเกิดขึ้นในอเมริกาไม่ช้าประเทศไทยก็มี ถึงแม้ถ้ายังไม่มีเข้ามาขาย เราก็เดินทางไปซื้อที่อเมริกาได้

ส่วนทางด้านนามธรรมก็มีเรื่องข่าวสารข้อมูล ความคิดเห็น แนวความคิด ค่านิยมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนระบบการต่างๆ ในทางเศรษฐกิจก็ตาม ในทางการเมืองก็ตาม ซึ่งก็แพร่ขยายไปได้ทั่วถึงหมด

การศึกษาจะต้องช่วยให้มนุษย์อยู่ได้อย่างดีที่สุด ในสภาพของสังคมหรือโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำให้คนมีความสามารถในการปรับตัว คำว่า “ปรับตัว” จะต้องเข้าใจความหมายให้ชัด สังคมบางสังคมมีความเก่งในด้าน “การปรับตาม” คือ การเลียนแบบ การเลียนแบบนี้ ถ้ามองไม่รอบคอบ อาจเข้าใจผิดเป็นว่าเป็นการปรับตัวเก่ง แต่ที่จริงการเลียนแบบไม่ได้เป็นการแสดงความสามารถอะไร เพราะเรายินดี เราชอบสิ่งใด เราก็ทำตามสิ่งนั้น โดยมิได้คำนึงถึงผลดีและผลเสียที่มีต่อชีวิตและสังคม ดังนั้น จะต้องระวังอย่าให้เป็นการปรับตัวเพียงด้วยการเลียนแบบ

ในการปรับตัวนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เข้ามาจะทำให้เกิดผลดีหรือผลร้าย และเราจะปรับตัวอย่างไรจึงจะเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของเรา ดังนั้น “การสิกขา” จะต้องช่วยให้คนมีความสามารถในการปรับตัว

กระแสโลกาภิวัตน์ที่แพร่เข้ามานั้นมีทั้งดีและไม่ดี เราจะต้องมีความรู้หรือรู้เท่าทัน ไม่ใช่ไหลไปตาม ซึ่งจะกลายเป็นการเลียนแบบ หรือการปรับตามอย่างที่ว่า เวลานี้เมื่อเรามีความรู้สึกว่า เราเป็น “ฝ่ายรับ” ก็เท่ากับเป็นความรู้สึกที่ยอมรับความด้อย และมีความโน้มเอียงที่จะรับ โดยมองเห็นผู้อื่นหรือประเทศที่พัฒนาแล้วว่าเป็นผู้เจริญ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เข้ามาจากภายนอก จะเป็นวัตถุก็ตาม จะเป็นนามธรรมก็ตาม เราก็มีความโน้มเอียงที่จะรับ ยิ่งสิ่งที่เป็นนามธรรมจำพวกค่านิยม และแนวความคิดต่างๆ เช่นทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันคือระบบทุนนิยม ระบบผลประโยชน์ การแข่งขันซึ่งกำลังมีแรงสูง แผ่เข้ามาทั้งในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ก็จะเข้ามาครอบงำมนุษย์ในสังคมที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นผู้ตามได้ง่าย

แม้แต่แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาเหมือนกันว่า หลักการ ความหมาย และรูปแบบต่างๆ ของมันที่เข้ามาซึ่งเราถือว่าเป็นของประเทศที่เจริญแล้วนั้น เราเคยวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ว่ามันดีจริงหรือเปล่าหรือมันยังมีข้อบกพร่องจุดอ่อนอย่างไร แม้กระทั่งความเหมาะสมกับตัวเราที่จะเอามาใช้ อันนี้เป็นเรื่องของการศึกษาที่จะต้องทำให้คนมีปัญญาที่จะรู้เท่าทันและเท่าถึง

ถ้าเราไม่มีปัญญาที่จะรู้เท่าทันส่วนที่ดีและส่วนที่ด้อยของสิ่งที่เข้ามาเหล่านี้ เราจะไม่สามารถปรับตัวให้ได้ผลดี และการที่จะอยู่ในประชาคมโลกปัจจุบันนี้ ไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่ว่าจะเดินตามกระแสความเจริญเท่านั้น แต่หมายถึงการที่มนุษย์ทุกคน และชุมชนในสังคมโลกทั้งหมด จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ถ้าเราไม่มีสติปัญญาเพียงพอ เราจะไม่สามารถแม้แต่จะปรับตัวให้ได้ดี ไม่ต้องพูดถึงว่าเราจะไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขและสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกได้อย่างไร

เวลานี้การศึกษาจะต้องมองไปถึงขั้นที่ว่า มนุษย์ทุกคนหรือคนในสังคมทุกสังคม ในประเทศทุกประเทศ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด เราจะต้องเดินร่วมหรือคู่เคียงไปด้วยกันกับมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ รวมทั้งมนุษย์ในประเทศที่พัฒนาสูงสุดแล้ว

แต่ที่จริง ถ้าจะทำให้ถูก ในเมื่อเวลานี้ ประเทศที่พัฒนาสูงสุดเหล่านั้นได้นำอารยธรรมมนุษย์มาถึงจุดติดตันโดยที่เราก็ยอมรับความติดตันนั้น และยังไม่สามารถหาทางออกได้ เราจะต้องพัฒนาสติปัญญาให้ก้าวล้ำเลยหน้าแม้แต่ประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วเหล่านั้น เราจึงจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์ได้ ฉะนั้น การเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาตามกระแสโลกาภิวัตน์นั้น เราจะไม่ใช่อยู่ในฐานะเพียง “ผู้ตั้งรับ” ถ้าสังคมของเราอยู่ในฐานะ “ผู้ตั้งรับ” เราก็จะต้องพิจารณาและแก้ไข ให้สังคมของเราเป็น “ฝ่ายรุก” ด้วย

อีกอย่างหนึ่ง การรับนั้นนอกจากคู่กับรุกแล้ว ก็คู่กับให้ด้วย สังคมของเราไม่ควรจะเอาแต่รับให้แก่ตนอย่างเดียว ในฐานะที่เราจะต้องมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกที่ดีของประชาคมโลก ช่วยสร้างสรรค์ แก้ปัญหาของโลก เราจะต้องมีอะไรให้แก่โลกด้วย เพราะฉะนั้นในโลกนี้เพื่อให้มีดุลยภาพ มนุษย์ทุกคนต้องมีทั้ง “ได้” และมีทั้ง “ให้” สังคมของเราก็เช่นเดียวกัน คนไทยไม่ควรจะมองแต่ในแง่ที่จะ “รับ” แต่จะต้องคิดให้หนักถึงการที่จะมีส่วน “ให้” แก่โลก การศึกษานี่แหละ จะทำให้เราสามารถสำรวจศักยภาพของตนเอง เช่นว่า คนไทยเรามีอะไรดีที่จะให้แก่โลกบ้างไหม? เราสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกไหม?

ถ้าเราพิจารณาตรวจสอบตัวเองให้ดี เราอาจพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ ที่จะทำอย่างนั้นได้ หรือถ้าไม่พบเลยจริงๆ ก็มุ่งมุพัฒนามันขึ้นมา โดยเฉพาะดังที่บอกข้างต้นแล้วว่า เวลานี้โลกของเรามาถึง “จุดติดตัน” ปัญหาของโลกมีมากมาย และประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีความสามารถที่จะแก้ปัญหานี้ ยังไม่มีทางออกในการแก้ปัญหาอารยธรรมของโลก ฉะนั้น ทุกประเทศในโลกที่มีศักยภาพจะได้ช่วยกันคิด ไม่ใช่จะมัวรอประเทศใหญ่ๆ คิดให้อย่างเดียว บางทีประเทศเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละอาจจะเป็นผู้เสนอทางออกให้แก่อารยธรรมของโลก ช่วยแก้ปัญหาและทำให้ออกจากการติดตันไปได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.