ทีนี้ในแง่ที่ ๒ ก็คือภาพที่พระพุทธศาสนามองตัวเอง โดยเฉพาะก็คือ สถาบันหรือพระสงฆ์นั่นเอง พระสงฆ์มองตัวเองอย่างไร มองโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ และมองเห็นตัวเองว่าเป็นสิ่งที่มีค่าเป็นคุณประโยชน์อย่างไรหรือไม่ หรือว่าได้แต่คอยหวั่นไหวไปตามคำที่เขากล่าวโจมตี พระสงฆ์เรานี้ย่อมได้รับฟังคำที่เขากล่าวมาทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่โจมตี ทีนี้พระสงฆ์นั้นมองตัวเองอย่างไร ภาพที่อยู่ในใจของตนเองนั้น อยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ ถ้าวิเคราะห์ออกไป จะเห็นว่าพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยทีเดียว ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มองไม่เห็นคุณค่าและความหมายของตนเองเท่าที่ควร ถ้าหากเป็นอย่างนี้แล้วก็จะเป็นผลร้ายแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จะทำให้เกิดความหวั่นไหวไปตามคำที่กล่าวโจมตีนั้น การหวั่นไหวนั้นมีได้ ๒ ประการ
ประการที่ ๑ ถ้าหากว่าเราเข้าข้างตนเองอย่างมีอคติ เราก็เกิดความโกรธโมโหเกลียดชังผู้ที่มากล่าวร้ายโจมตีนั้น และก็จะตอบโต้เพียงด้วยโทสะอย่างเดียว การตอบด้วยโทสะนั้นไม่ใช่ด้วยเหตุผล มุ่งแต่จะปกป้องตัว มุ่งแต่จะแสดงปฏิกิริยา อาจว่าร้ายตอบโต้ใส่เขา กล่าวหากลับไปแบบแก้แค้น ไม่ได้ความจริง ไม่ได้ความชัดเจน ไม่สามารถแสดงภาพของตนเองให้เขามองเห็นอย่างถูกต้อง และอาจให้เกิดความเข้าใจผิดมากยิ่งขึ้น
ประการที่ ๒ อาจเป็นไปในทางตรงข้าม คือ เห็นคล้อยไปตามคำกล่าวหานั้น เพราะไม่มีความเข้าใจตนเองเป็นพื้นฐาน ไม่มีเหตุผลของตนเป็นหลัก พอเขาชี้ส่วนบกพร่องที่โผล่ล้ำออกมา ก็เห็นจริงเห็นจังไปหมด หันมาเป็นปฏิปักษ์เคียดแค้นตนเอง และจับจุดแก้ปัญหาไม่ถูก มักพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบทำลายอย่างเดียว
ความมั่นใจในตนเอง เกิดจากการเข้าใจตนเองอย่างถูกต้อง เรียกง่ายๆ ว่ารู้จักตัวเองทั้งแง่ดีแง่ร้าย แต่จับจุดหรือจับหลักถูก มองเห็นคุณค่าของตนเอง มองเห็นประโยชน์และความสำคัญของสถาบันของตน ส่วนที่ผิดพลาดบกพร่องก็ยอมรับและคิดแก้ไขปรับปรุง มองเห็นเหตุปัจจัยของความผิดพลาดบกพร่องนั้น รับฟังผู้อื่นได้ ชี้แจงเหตุปัจจัยแห่งความผิดพลาดบกพร่องให้เขาเข้าใจตนเองอย่างถูกต้องได้ และสามารถใช้สิทธิป้องกันตนเองโดยชอบธรรม
กรณีบางอย่างมีส่วนดีและส่วนเสียอยู่ด้วยกัน เมื่อแยกได้แล้วก็สามารถรับฟังคิดแก้ไขปรับปรุงด้วย สามารถชี้แจงส่วนที่ดี และเหตุปัจจัยของส่วนเสียได้ด้วย ขอยกตัวอย่างการป้องกันตนโดยชอบธรรม โดยหยิบเอาเรื่องแรกที่มีผู้กล่าวโจมตีขึ้นมาพิจารณา คือ ที่เขาว่าพระเณรเอาเปรียบสังคม เล่าเรียนหนังสือโดยไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย ในเรื่องนี้ควรพิจารณาดังนี้
ปัจจุบันนี้ เรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของสังคม เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของบ้านเมืองก็ว่าได้ และความเสมอภาคทางการศึกษานี้ เป็นเป้าหมายสำคัญที่ว่า รัฐจะต้องพยายามเข้าให้ถึง จะต้องลงทุน พยายามดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างได้ผลดีที่สุด แต่ว่าความมุ่งหวังนั้นยังมีทางสำเร็จได้น้อย การณ์ปรากฏว่าปัจจุบันเป้าหมายอันนี้เราได้อาศัยคณะสงฆ์นั่นเองช่วยเหลืออยู่ ความจริงคณะสงฆ์เป็นสถาบันการศึกษาสมัยโบราณ ที่สังคมไทยเรายกเลิกไปแล้ว บอกให้พระสงฆ์วางมือ หมดภารกิจในการศึกษา แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว หาได้หมดไม่ กลับกลายเป็นว่าคณะสงฆ์ปัจจุบันนี้เป็นสถาบันสำคัญในการศึกษา
ท่านเคยได้ยินไหมว่า พระสงฆ์ในเมืองไทยเรานี้มีจำนวน ๓ แสนรูป จำนวน ๓ แสนรูปนี้ คิดเฉลี่ยต่ออัตราประชากรทั้งหมดประมาณ ๔๐ ล้านคน ได้อัตราส่วนระหว่างพระสงฆ์กับประชากร พระภิกษุสามเณร ๑ รูป ต่อพลเมืองประมาณ ๑๓๐ คน อัตราส่วนนี้เมื่อพิจารณาในแง่การศึกษา จะเห็นความแตกต่างเป็นอันมาก เมื่อปี ๒๕๑๒ ตัวเลขในทางการศึกษาของรัฐ ตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไป มีนักเรียน นิสิตนักศึกษาประมาณ ๔๗๐,๐๐๐ คน นี้เป็นสถิติการศึกษาฝ่ายรัฐ ส่วนในฝ่ายพระสงฆ์ที่มีประมาณ ๓ แสนรูป มีพระภิกษุสามเณรเป็นนักเรียน ตามสถิติเข้าสอบประมาณ ๒๓๐,๐๐๐ รูป หมายความว่า ในสถิติการศึกษาของประเทศไทย สถิติของคฤหัสถ์หรือการศึกษาของรัฐทั้งหมดมี ๔๗๐,๐๐๐ คน ของพระ ๒๓๐,๐๐๐ รูป ของพระนี้ประมาณครึ่งหนึ่งของตัวเลขการศึกษาฝ่ายคฤหัสถ์ เมื่อพูดในแง่การศึกษาจึงได้อัตราส่วนพระ ๑ ต่อคฤหัสถ์ ๒ แต่ตัวเลขรวม พระ ๑ ต่อคฤหัสถ์ ๑๓๐ กว่า ก็หมายความว่า ของพระนั้น ตัวเลขส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางการศึกษา และส่วนใหญ่ถ้าพิจารณาในแง่พลเมืองก็คือ พลเมืองที่อยู่ในวัยการศึกษา แล้วในบรรดาผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนระดับมัธยมขึ้นไป (เราถือว่าผู้ที่จะเข้ามาบวชนั้น เป็นผู้สำเร็จประถมศึกษาไปแล้ว) เมื่อจัดเป็น ๓ ส่วน จะเป็นพระเณรเสีย ๑ ส่วน คฤหัสถ์ ๒ ส่วน นี้การศึกษาของประเทศไทยมาอยู่ในวัดเสียเท่านี้ และการศึกษาของพระสงฆ์นั้น รัฐให้เงินทุนประมาณ ๑ ล้าน ๕ แสนบาทต่อปี ในขณะเดียวกับการศึกษาฝ่ายคฤหัสถ์ตั้งแต่มัธยมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๑๒ นั้น ใช้เงินทั้งหมด ๑,๕๖๔ ล้านบาท สรุปแล้วเงินงบประมาณที่ให้แก่พระสงฆ์นั้น ถ้าคูณด้วย ๒ เพื่อให้จำนวนพระสงฆ์ที่เป็นนักเรียน มีจำนวนเท่ากับนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์ ตัวเลขงบประมาณจะได้ ๓ ล้านบาท หมายความว่ายังน้อยกว่าตัวเลขหลักหน่วยตัวสุดท้ายสำหรับงบประมาณของรัฐเพื่อการศึกษา ในระบบการศึกษาของรัฐบาลประมาณ ๑,๕๖๔ ล้านบาท สำหรับนักเรียน ๔๗๐,๐๐๐ คน ทบทวนอีกครั้งว่า พระสงฆ์ ๒๓๐,๐๐๐ รูป ได้งบประมาณ ๑.๕ ล้านบาท คูณด้วย ๒ เป็น ๔๖๐,๐๐๐ รูป ตัวเลขนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์ ๔๗๐,๐๐๐ คน ก็พอๆ กัน แล้วของพระนั้นจะได้งบประมาณ ๓ ล้านบาท ในขณะที่งบของนักเรียนในระบบการศึกษาของรัฐจะได้ถึง ๑,๕๖๔ ล้านบาท นี่คือสภาพการศึกษาในประเทศไทย แล้วก็ในเมื่อการศึกษาของรัฐนี้ ยังไม่สามารถจะให้ความเสมอภาคได้ คือเราไม่สามารถจะจัดโรงเรียนให้แก่ชนบทอย่างทั่วถึง ไม่สามารถให้ผู้มีฐานะเศรษฐกิจต่ำต้อยมาเข้าถึงการศึกษาได้ ผู้ที่ไม่สามารถเข้ามาสู่ระบบการศึกษาของรัฐ ก็เข้าสู่ระบบการศึกษาของวัดต่อไป เอาประเพณีดั้งเดิมเป็นที่พึ่ง คนที่ไม่ชอบก็ได้แต่ด่าว่า ไม่เคยศึกษาเหตุผล จึงแก้ปัญหาไม่ได้
ฉะนั้น สถิติการศึกษาของพระก็เป็นไปในทางที่ตรงกันข้ามกับของคฤหัสถ์ ดังตัวอย่างที่พูดมาแล้ว ซึ่งเราจะพูดไม่ได้เลยว่า พระสงฆ์เอาเปรียบสังคม และการที่พระเณรเรียนหนังสือโดยได้รับความอุปถัมภ์จากประชาชนนั้น ก็เป็นข้อดีที่ว่า การศึกษาของพระสงฆ์เป็นภาระรับผิดชอบของประชาชนโดยตรง ส่วนการศึกษาของนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ได้รับผลประโยชน์จากประชาชนโดยอ้อม โดยรัฐบาลไปเก็บภาษีมาแล้วเอามาให้เขาถึงที่ เขาไปเรียนตามโรงเรียน ตามสถาบันการศึกษา ตามมหาวิทยาลัย ถึงเวลาก็ไปรับผลประโยชน์เอาจากภาษีอากรทันที โดยที่ว่ารัฐบาลจัดส่งมาให้เสร็จ โดยไม่ต้องเดินไปหา ส่วนพระนั้น จะไปรับผลประโยชน์จากประชาชนต้องเดินไปรับบิณฑบาตด้วย อันนี้คือข้อแตกต่าง เพราะฉะนั้น จะพูดไม่ได้ว่าพระสงฆ์เอาเปรียบประชาชน
นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ถ้าหากว่าพระสงฆ์มีความเข้าใจในเรื่องนี้พอสมควรแล้ว จะมีความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง เชื่อมั่นในสถาบันของตนเองเพิ่มขึ้น และจะกล่าวตอบโต้ออกไปด้วยความมั่นใจในตัวเองและด้วยเหตุผล ความมั่นใจในตนเองนี้ เป็นคุณค่าส่วนรากฐานที่จะทำให้เกิดขั้นตอนแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องในการแสดงออก คือจะไม่แสดงด้วยอาการอันหวั่นไหว
การหวั่นไหวที่กล่าวมาแล้วมี ๒ อย่าง คือ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะมีท่าทีที่ถูกต้องก็ต้องมองเห็นภาพของตนเองอย่างถูกต้อง โดยวิธีนี้พระสงฆ์เราจะมีความมั่นใจตนเอง และกระทำการต่างๆ ด้วยเหตุผล เป็นการกระทำที่ดีงาม