สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทในปัจจุบัน

ดังได้กล่าวแล้วว่า การสูญเสียบทบาทของพระสงฆ์ เริ่มจากสังคมเมืองหลวงไปก่อน และค่อยๆ ขยายสู่สังคมเมือง และสังคมชนบทต่อๆ ไป โดยนัยนี้ การที่บทบาททั้งหมดสูญสิ้นไปนั้น จะต้องกินเวลานานมาก และปัจจุบันรูปสังคมแผนเก่าก็ยังเหลืออยู่อีกมาก ในสังคมชนบทเช่นนั้น บทบาทของพระสงฆ์แบบเดิมจึงยังคงเหลืออยู่ มากบ้างน้อยบ้าง สุดแต่ว่าสังคมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเพียงใด ในท้องถิ่นห่างไกลมากๆ พระสงฆ์ยังมีบทบาทหลายอย่างเหมือนเดิม บทบาทที่เพี้ยนไป เช่น เมื่อเลิกเป็นครูสอนและดำเนินงานของโรงเรียนแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน เป็นผู้นำในการชักชวนชาวบ้านสร้างโรงเรียน เป็นผู้แนะแนวทางการศึกษา นำเด็กบ้านนอกมาเข้าเรียนในกรุง ส่วนวัดในกรุงก็ทำหน้าที่เป็นอย่างหอพักที่มีการควบคุมและฝึกหัดอบรมความประพฤติไปด้วย เมื่องานพัฒนาเข้าไปถึงหมู่บ้าน พระสงฆ์จำนวนมากก็เข้าร่วมงาน เป็นผู้นำในการเสนอความคิด ริเริ่ม เป็นที่ปรึกษา และเป็นศูนย์รวมเรียกความร่วมมือ ในการสร้างสาธารณสมบัติและสิ่งสาธารณูปโภค เช่น บ่อน้ำ สะพาน เขื่อน ทำนบ ถนน ศาลา โรงประชุม เป็นต้น และเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดงานต่างๆ ในขณะเดียวกัน ในสังคมเมือง บทบาทของวัดก็เพ่งมาในด้านเป็นที่รักษาศิลปกรรมของชาติ เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นพิพิธภัณฑ์ บทบาทส่วนใหญ่ของพระสงฆ์ในวัดในเมือง ก็เป็นไปในด้านการประกอบพิธีกรรมตามประเพณี การทำบุญต่างๆ งานศพ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการปกครอง เพราะตำแหน่งบริหารส่วนใหญ่อยู่ในเมือง การเป็นนักเรียนนักศึกษา และการสงเคราะห์คนรุ่นเก่าที่มาถือศีลฟังธรรมในวัด

การที่สังคมได้ก้าวเข้าสู่ความเจริญแบบใหม่ โดยที่พระสงฆ์ไม่มีส่วนร่วมในการเหนี่ยวรั้ง และช่วยแนะแนวทาง ดังกล่าวในหัวข้อก่อนแล้วนั้น เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคมอย่างมากมาย พระสงฆ์ซึ่งอาศัยสังคมอยู่ ก็รู้สึกถึงปัญหาข้อนี้ด้วย และอาศัยความสัมพันธ์ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานเดิม จึงเกิดความสำนึกในความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยเหลือสังคมขึ้นอีก1 การเริ่มบทบาทใหม่ๆ ของพระสงฆ์จึงตั้งต้นขึ้นอีกครั้ง บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมเมือง เช่น การตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นต้น ก็จัดเข้าในประเภทบทบาทใหม่แบบนี้ เมื่อพระสงฆ์ในสังคมเมืองเริ่มบทบาทนี้ขึ้นแล้ว สังคมนอกออกไปก็ถือแบบอย่างตาม จัดได้ว่าเป็นบทบาทในยุคใหม่และมีข้อสังเกตควรพิจารณาในเรื่องนี้บางประการ คือ

๑. สำหรับบทบาทแบบเก่า ท่าทีของพระสงฆ์ในสังคมเมืองกับสังคมหมู่บ้านอาจต่างกัน กล่าวคือ ในเมืองเป็นรูปดึงบทบาทที่หมดไปแล้วหรือกำลังจะหมดไปกลับเข้ามา แต่ในชนบทเป็นแบบรักษาไว้ ส่วนบทบาทใหม่สังคมเมืองเป็นผู้ริเริ่ม และสังคมชนบทปรับตัวตาม

๒. ทัศนคติที่ถูกต้องในปัจจุบัน มิใช่การที่จะฝืนคงบทบาทเดิมไว้ทุกอย่างในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นแต่คงหลักการไว้ และพิจารณาปรับปรุงว่าจะดำเนินต่อไปในรูปใด

๓. ทัศนคติเดิมที่เป็นมานาน เนื่องจากบทบาทของพระสงฆ์ที่คงอยู่ในรูปการรอรับปัญหา และเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่วัดติดต่อกันมาเป็นระยะนานดังกล่าวในข้อบทบาทในอดีต ความเคยชินต่อท่าทีนี้ อาจเป็นอุปสรรคหรือถ่วงการเริ่มบทบาทใหม่บ้าง เพราะไม่คุ้นกับการที่จะใช้ความคิดออกสำรวจสภาพและความเป็นไปในสังคมข้างนอก ตลอดจนไม่ถนัดในการทำงานนอกกำแพงวัด

๔. การรู้สึกตัวนี้เป็นไปอย่างไม่พร้อมกัน เป็นจุดๆ หย่อมๆ การดำเนินไปของบทบาทจึงอาจเปะปะไม่ประสานกัน มีสิ่งผิดแปลก ตลอดถึงข้อเสียหายเกิดขึ้นได้ไม่น้อย เพราะเป็นการต่างคนต่างทำ ไม่มีการวางแผนรวมเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง ขาดระบบกลาง

 

1เหตุผลอื่นจากนี้ ก็คงมีด้วยเป็นแน่
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.