ศิลปศาสตร์แนวพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)


การศึกษาศิลปศาสตร์

ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน

ตอนแรกได้เริ่มบรรยายเกี่ยวกับถ้อยคำเพื่อให้เห็นความเป็นมาของคำว่าศิลปศาสตร์ แล้วต่อมาก็ได้ยุติที่คำว่าศิลปศาสตร์อย่างที่ใช้ในความหมายปัจจุบัน คือ ที่ใช้สำหรับเรียกวิชาการ อย่างที่กำหนดให้เรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะที่คณะศิลปศาสตร์ คือ เป็นวิชาจำพวก Liberal Arts เป็นอันว่าเราก็หวนกลับมาหาความหมายในปัจจุบันตามแนวคิดที่รับมาจากตะวันตก ซึ่งหมายถึงการศึกษาเล่าเรียนวิชาการที่เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะเล่าเรียนวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม การที่พูดว่าเป็นวิชาพื้นฐานนั้น คำว่า วิชาพื้นฐาน ก็เป็นคำที่น่าสงสัยว่าจะมีความหมายอย่างไร ที่ว่าเป็นพื้นฐานของการศึกษาวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้น เป็นพื้นฐานอย่างไร

มีหลายคนทีเดียวเข้าใจคำว่าพื้นฐานในแง่ที่ว่าเป็นวิชาเบื้องต้น ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปเรียนวิชาชั้นสูง คือวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ ซึ่งเหมือนกับเป็นวิชาที่สูงขึ้นไป การเข้าใจเช่นนี้ เป็นการมองอย่างง่ายเกินไป

ที่จริง คำว่า วิชาพื้นฐาน มีความหมายอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือเป็นวิชาที่เป็นพื้นฐานรองรับวิชาการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การเล่าเรียนวิชาอื่นๆ มั่นคง เป็นไปได้ ถูกทิศถูกทาง โดยมีผลจริงและมีผลดีตามความมุ่งหมาย หมายความว่า ถ้าไม่มีวิชาการเหล่านี้เป็นพื้นฐานแล้ว วิชาการอื่นๆ ที่ศึกษาจะไม่มีความมั่นคง จะไม่ได้ผลดี ไม่ได้ผลจริงตามความมุ่งหมาย ตลอดจนอาจจะพูดว่า วิชาพื้นฐานนั้น เป็นวิชาการซึ่งให้ความหมายที่แท้จริงแก่การเรียนวิชาการอื่นๆ ทีเดียว

ถ้ามองในความหมายแง่ที่ ๒ นี้ การเป็นวิชาพื้นฐานนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าขาดพื้นฐานเสียแล้ว การศึกษาวิชาอื่นๆ ที่เป็นวิชาชีพ และวิชาเฉพาะ ก็เท่ากับขาดรากฐาน ง่อนแง่น คลอนแคลน เลื่อนลอย ไม่มีเครื่องรองรับ แล้วก็จะไม่สัมฤทธิผลตามความมุ่งหมายของมัน

ที่ว่าศิลปศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน โดยมีความหมายต่างๆ อย่างน้อย ๒ ประการนี้ ก็ต้องเน้นในความหมายที่ ๒ ซึ่งที่จริงแล้วเรียกได้ว่าเป็นความหมายที่แท้จริงของมัน และเป็นความหมายที่ทำให้การเป็นพื้นฐานนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ความสำคัญของการเป็นวิชาพื้นฐานนี้มีอย่างไรบ้าง ขอให้มองดูในแง่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.