ศิลปศาสตร์แนวพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศิลปศาสตร์แนวพุทธ1

ขอเจริญพร ท่านคณบดี ท่านอาจารย์ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้สนใจใฝ่รู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพขอแสดงมุทิตาจิต คือ แสดงความยินดีต่อคณะศิลปศาสตร์ ในโอกาสที่มีอายุครบ ๒๗ ปี ซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควร ที่ว่ายาวนานนี้ก็ว่าไปตามความรู้สึก คือ เป็นความรู้สึกต่อตัวเลขจำนวน แต่ถ้าว่าตามความรู้สึกต่อเหตุการณ์ละก็ รู้สึกว่าไม่นานเลย เหมือนกับไวๆ นี้เอง เพราะว่าการตั้งคณะศิลปศาสตร์นั้น อยู่ในช่วงระยะเวลาที่อาตมภาพอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลอยู่ในสถานที่ ที่พอจะรับทราบเหตุการณ์เกี่ยวกับการก่อตั้งได้ และมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เหตุการณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ เพราะฉะนั้น ในแง่ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ จึงเป็นเรื่องใกล้ๆ เมื่อเร็วๆ นี้เอง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกเกี่ยวกับกาลเวลา ส่วนการที่ได้แสดงความยินดีนั้น มีความหมายอย่างน้อย ๒ ประการคือ

๑. ยินดีในแง่ที่ว่า คณะศิลปศาสตร์นี้ เมื่อได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ก็ได้เจริญงอกงามมาตามลำดับ ผ่านลุล่วงพ้นอุปสรรคต่างๆ อยู่มาได้จนกระทั่งถึงวันนี้

๒. ในเวลาที่ผ่านมา ๒๗ ปีนี้ คณะศิลปศาสตร์ได้ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ทำประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมาก ในทางการศึกษา การที่ได้ใช้เวลาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ควรแสดงมุทิตาจิต

วันนี้ ทางคณะได้นิมนต์ให้พูดเรื่อง ศิลปศาสตร์ และก็เติมคำว่า แนวพุทธ เข้าไปด้วย ทีนี้ การมาพูดเรื่องศิลปศาสตร์ในที่ประชุมนี้ ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องหรือเป็นเจ้าของวิชาเอง ดังชื่อคณะก็บอกชัดอยู่แล้วว่า คณะศิลปศาสตร์ ก็เท่ากับว่าเอาคนที่ไม่ใช่เจ้าของเรื่องศิลปศาสตร์ มาพูดให้ผู้เป็นเจ้าของเรื่อง หรือเป็นเจ้าการในเรื่องศิลปศาสตร์ฟัง จึงเป็นคล้ายกับว่าจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะฉะนั้น คงจะต้องพูดในแง่เป็นการประดับปัญญาบารมี คือ ถือว่าท่านผู้ฟังนั้นเป็นผู้มีปัญญาบารมีอยู่แล้ว ผู้พูดก็มาพูดเพียงว่าประดับปัญญาบารมี ทำให้ปัญญาของท่านงดงามขึ้น หรือว่ารุงรังยิ่งขึ้นก็แล้วแต่ หมายความว่า ถ้าประดับไม่ดีก็กลายเป็นรุงรัง

1คำบรรยาย เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ ครบรอบ ๒๗ ปี วันอังคารที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๒ ณ ห้องประชุมชั้น ๔ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.