เรื่องที่คนไทยควรเข้าใจให้ถูก

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๓ -
ปฏิบัติธรรม ต้องให้สมดุล

ธรรมอยู่ในระบบสัมพันธ์
ถ้ามองแยกกระจาย ก็เห็นผิด ปฏิบัติพลาด ก่อผลเสียหาย

ยังมีอีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้ธรรมไม่ครบองค์รวม อันนี้ก็สำคัญที่จะทำให้เห็นว่า ทำไมจึงใช้ธรรมกันผิด ขอพูดอีกสักตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่า ธรรมนั้นถ้าใช้ไม่ครบองค์รวมก็จะมีปัญหา แม้แต่ธรรมที่เป็นกุศลก็เกิดโทษได้ เพราะอาจจะเป็นปัจจัยแก่อกุศล

ในประเทศไทยเรานี้ ในการสอนศีลธรรมเมื่อระยะ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ได้มีแนวโน้มของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักวิชาการที่จบมาจากตะวันตก คิดกันใหญ่ว่าเราจะต้องสอนจริยธรรมสากล หลักศีลธรรมที่สอนกันอยู่นั้นอิงพระพุทธศาสนา จะเอาหลักพุทธศาสนามาสอนไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีหลายศาสนา เราต้องเป็นกลาง ต้องใช้จริยธรรมสากล จากแนวโน้มนี้ต่อมาก็ปรากฏว่า วิชาศีลธรรมได้หมดไปจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ วิชาพุทธศาสนาก็หมดไป แล้วมีวิชาจริยธรรมเข้ามา ซึ่งพยายามจะให้เป็นจริยธรรมสากล

มีการประชุมกันในเรื่องนี้ และคิดกันถึงขนาดที่ว่า ข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นบาลีไม่ควรใช้ เพราะมาจากพุทธศาสนา ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นสากล ในที่ประชุมพิจารณากันว่าจะใช้ศัพท์จริยธรรมเป็นภาษาไทยให้หมด เช่น สตินี่เป็นคำบาลี ไม่ควรใช้ ต้องหาคำไทยมาแทน จะเอาอะไรดี สัจจะก็ไม่ได้ เป็นคำบาลี ต้องเอาคำไทยว่าความจริง เมตตา ไม่ได้ เป็นคำบาลี ต้องใช้ความรัก จริยธรรมสากลคิดกันขนาดนี้

แต่ที่จริงนั้น หนึ่ง... คำเหล่านี้มาจากพุทธศาสนาก็จริง แต่มันกลายเป็นคำไทยแล้ว มันเป็นคำสามัญ เป็นคำไทยธรรมดา สอง... คำเหล่านี้เป็นบัญญัติ (concept) ที่มีความหมายกว้างขวางมาก เราไม่สามารถหาคำไทยมาแทนเท่ากันได้ อย่างคำว่า “สติ” คำเดียว ถ้าแปลเป็นไทยแม้แต่สองบรรทัดก็ยังไม่ได้ความหมายเท่าสติคำเดียว เนื่องจากคำเหล่านี้มีความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุม กินความกว้าง เราจะไปเที่ยวเปลี่ยนตามใจชอบไม่ได้

ที่หย่อนกว่านั้นก็คือ เลือกข้อธรรมมาใช้ เริ่มด้วยไปทำบัญชีหัวข้อธรรมมาว่ามีอะไรบ้าง แล้วก็มาเลือกกันดูว่า ข้อไหนเป็นจริยธรรมที่เป็นสากล คือชาติไหนๆ ก็ยอมรับทั้งนั้น เช่นว่า เมตตา เอาไหม เมตตานี่ใช้ได้ ก็เอาเมตตามาใส่ลงไป กรุณาเอาไหม เอ้า! ใช้ได้ อุเบกขา เอ้ย! อย่าเพิ่ง เอาไว้ก่อน ความรับผิดชอบ นี่สำคัญ เอาไว้ เมื่อเลือกธรรมแบบนี้มาแล้ว ก็จัดเป็นหลักสูตร นี่คือ เลือกธรรมเป็นข้อๆ มา ที่เห็นว่าจะใช้ในหลักสูตร แล้วก็สอนกันแบบนี้ นี่คือจริยธรรมในระยะที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลักธรรมกระจัดกระจายหมด ไม่เป็นหมวดหมู่

ที่จริงในสังคมไทยก็มีแนวโน้มนี้อยู่แล้ว คือปฏิบัติธรรมกันไม่ครบชุด เช่น เมตตา กรุณา เราพูดกันบ่อย ส่วนมุทิตา ชักจะเลือนไป ไม่ค่อยพูดถึง แต่อุเบกขา ไม่เอาเลย ซ้ำยังหลงเข้าใจผิดด้วย เพราะไม่เข้าใจว่าอุเบกขาคืออะไร หลักธรรมพลัดกันแตกกระจัดกระจายหลุดออกไปจากชุดของมันหมด

เราไม่สังเกตหรือว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมเป็นหมวดๆ เป็นชุดๆ การที่สอนเป็นชุดนั้นมีความหมาย นั่นคือระบบองค์รวมที่ฝรั่งกำลังตื่นแตกกัน เพราะว่าหัวข้อธรรมเหล่านั้น เป็นองค์ประกอบของส่วนรวมที่สมบูรณ์ ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งไปแล้วระบบก็ไม่สมบูรณ์ หมายความว่า ธรรมแต่ละหมวดๆ นั้นเป็นระบบดุลยภาพ เมื่อปฏิบัติครบแล้ว มันจะดุลซึ่งกันและกันให้พอดี เกิดความพอดีขึ้นมาในชุดของมันที่เป็นระบบนั้น นี่คือระบบองค์รวม เพราะฉะนั้น ธรรมต้องปฏิบัติครบชุด ถ้าแยกออกมาเป็นข้อๆ กระจายหลุดจากกันแล้วจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างง่ายๆ

หลักธรรมที่เราคุ้นกันนักหนา คือ พรหมวิหาร ๔ นี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของการปฏิบัติธรรมไม่ครบชุด ทำให้ไม่เกิดดุลยภาพในองค์รวม เรามี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไว้ใช้ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเป็นท่าทีของจิตใจต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ครบถ้วนบริบูรณ์

มนุษย์นั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์ ๔ อย่าง ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามสถานการณ์นั้นๆ ถ้าปฏิบัติผิดสถานการณ์ ธรรมนั้นแม้จะเป็นกุศล ก็อาจจะพลาด ทำให้เกิดผลเสียได้

สถานการณ์ที่ ๑ เพื่อนมนุษย์ของเรา เป็นอยู่ปกติ ไม่ได้เดือดร้อน ไม่มีภัยอันตราย ไม่มีปัญหาอะไร เราก็มีท่าทีของธรรมข้อที่หนึ่ง คือเมตตา ซึ่งได้แก่ความรัก ความอยากให้เขาเป็นสุข ความปรารถนาดี ความเป็นมิตร เมตตาก็มาจากรากศัพท์เดียวกับมิตรนั่นเอง

ต่อมา สถานการณ์ที่ ๒ เขาตกต่ำลง เดือดร้อน เป็นทุกข์ มีปัญหา เราก็ต้องย้ายจากเมตตา ไปกรุณา คือพลอยหวั่นใจ หวั่นไหวในความทุกข์ของเขา คิดจะหาทางปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์

ต่อมาสถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ได้ดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ ทำอะไรๆ ถูกทางแล้ว เราก็ย้ายมาสู่คุณธรรมข้อที่สาม คือมุทิตา หมายความว่าพลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน

นี่ผ่านมา ๓ สถานการณ์แล้ว ในหมู่คนไทยเรา ปรากฏว่าหลายคนแยกไม่ออกแม้แต่เมตตากับกรุณา ว่าต่างกันอย่างไร ธรรมหมวดนี้เป็นธรรมที่แสดงออกต่อคนอื่น คือ ต่อเพื่อนมนุษย์ จึงกำหนดความแตกต่างได้ด้วยการปฏิบัติในความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้น ตามสถานการณ์ที่เกิดกับเขา ฉะนั้น วิธีแยกความหมาย ก็ดูที่สถานการณ์ที่เกิดแก่เขา คือ สถานการณ์ที่เขาเป็นปกติเราก็มีเมตตา สถานการณ์ที่เขาตกต่ำเป็นทุกข์เราก็มีกรุณา สถานการณ์ที่เขาขึ้นสูงประสบความสำเร็จเราก็มีมุทิตา

มนุษย์ทั่วไปจะตกอยู่ใน ๓ สถานการณ์นี้ เราก็มีครบแล้ว ปฏิบัติให้ถูกสถานการณ์ สามอย่างนี้ แล้วมีสถานการณ์อะไรอีก สามอย่างก็น่าจะครบแล้ว คน ถ้าไม่ปกติก็ต้องเดือดร้อน เป็นทุกข์ หรือมิฉะนั้น ก็ได้ดีมีสุข แล้วจะมีสถานการณ์อะไรอีก ทำไมพระพุทธเจ้ายังตรัสข้อที่ ๔ อีก สถานการณ์อะไร

บางท่านสอนว่า คือสถานการณ์ที่เขาได้ทุกข์จากผลกรรมที่เขาทำของเขาเอง ในข้อที่เราไม่สามารถจะช่วยได้ การตอบอย่างนี้ ต้องระวัง ต้องให้เห็นหลักที่ชัดเจน

อาจารย์ผู้ใหญ่มีชื่อเสียงมากของไทยท่านหนึ่งเอาอันนี้ไปพูดในการปาฐกถา ท่านบอกว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนวางอุเบกขา กรรมของใครกรรมของมัน เห็นคนตกต่ำยากจน ก็บอกว่า โอ้! เป็นกรรมของเขาเอง เขาก็รับผลของกรรมของเขาไป ก็เลยไม่มีใครช่วยเหลือกัน สังคมไทยก็เลยแย่ นี่แหละ ถ้าพูดอย่างนี้ อุเบกขาก็โดนตี

ฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือ Buddhism and Society เป็นหนังสือหนาใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยของฝรั่งบางแห่งด้วย เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในพม่า ฝรั่งคนนี้ไปเอากรณีศึกษา (case study) ไว้ด้วย

เขายกตัวอย่างในเมืองพม่ามาเรื่องหนึ่ง จริงหรือไม่จริงผมก็ยังสงสัย.แต่ฝรั่งคนนี้ยกตัวอย่างมาเล่าว่า เขาไปที่ชนบทแห่งหนึ่ง มีคนตกน้ำแล้วไม่มีใครช่วย เพราะคนพม่าบอกว่าเป็นกรรมของเขา แล้วก็ให้วางอุเบกขา ได้สองหลักคือ หนึ่ง หลักกรรม ว่าเป็นกรรมของเขา สอง อุเบกขา วางเฉย ไม่ช่วย

ฝรั่งคนนี้ก็เลยบอกว่า นี่เห็นไหม พุทธศาสนาทำให้คนเป็นอย่างนี้ เขาตี หนึ่ง... หลักกรรม สอง...หลักอุเบกขา โยงกันว่า คนพุทธอุเบกขาเพราะเห็นว่าเป็นกรรมของเขา เลยไม่ช่วยกัน เพราะฉะนั้นสังคมก็เลยตกต่ำเดือดร้อนอย่างนี้ เขาได้ทีก็ตีแพะไล่เลย เป็นการบอกไปด้วยว่าในสังคมของเขา ไม่อย่างนี้หรอก ของเขานี่ต้องช่วยกันสุดฤทธิ์เลย ฉะนั้น สังคมฝรั่งจึงได้เจริญขึ้นมา เขาว่าอย่างนั้น เอาล่ะสิ อย่างนี้จะแก้อย่างไรล่ะ

ในที่นี้เขาว่า ที่ไม่ช่วย เพราะอ้างหลักกรรมกับอุเบกขา ไม่ใช่อ้างเรื่องว่ายน้ำเป็นหรือไม่เป็น เขาตีหลักกรรมกับอุเบกขา แล้วก็กลายเป็นว่า เห็นคนจนก็ว่านี่เป็นกรรมของเขา ไปเห็นคนพิการ ก็ว่ากรรมของเขา เพราะฉะนั้นก็ให้เขารับกรรมไป เราก็อุเบกขา ใช่ไหม

พระพุทธเจ้าทรงวางหลักจริยธรรมบนฐานแห่งสัจจธรรมนะ จริยธรรมในพระพุทธศาสนาจึงไม่เป็นของบัญญัติตามชอบใจของศาสนาหรือของคนผู้ใดกลุ่มใด พระพุทธเจ้าไม่ได้วางหลักธรรมเอาเองว่า อย่างนี้ดี อย่างนั้นไม่ดี เธอทำผิด ฉันไม่ชอบใจ ต้องลงโทษ เธอทำดี ฉันโปรดปราน ให้รางวัล อย่างนี้ไม่มี

พระพุทธศาสนาสอนว่า ธรรมเป็นธรรมดาของธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงสอนจริยธรรมไปตามกฎธรรมชาติ คือตามความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ จริยธรรมที่พระองค์สอน ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจจธรรมคือความจริงตามธรรมชาติ ฉะนั้น จริยธรรมจึงเป็นความจริงด้วย ไม่ใช่เป็นของบัญญัติเอาตามชอบใจ ของสังคมนี้ว่าดี สังคมโน้นว่าไม่ดี อย่างที่ฝรั่งว่า ของเราไม่ใช่อย่างนั้น

เป็นอันว่า หลักพรหมวิหารก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของสัจจธรรม เราจะมองพรหมวิหารได้ครบทุกสถานการณ์ เมื่อเรามองครบระบบของธรรมชาติทั้งหมด คือมองให้ตรงตามธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องมองไปให้ถึงตัวธรรม

เพื่อให้สังคมยั่งยืน คนต้องสัมพันธ์กันแต่พอดี
มนุษย์ช่วยกันดี แต่ต้องรักษาธรรมไว้ด้วย

เริ่มแรก พรหมวิหารเป็นธรรมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราชัดเจนแล้วว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ก็ต้องมี เมตตา กรุณา มุทิตา ถ้ามนุษย์อยู่ด้วยกัน โดยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันตามสถานการณ์ทั้งสาม ด้วยคุณธรรมทั้งสามข้อนี้แล้ว โลกมนุษย์ก็อยู่ด้วยดี แต่แค่นี้พอที่จะให้อยู่ด้วยดีจริงหรือ? ขอให้ดูต่อไป

โลกมนุษย์นี้ ไม่ได้อยู่ตามลำพัง ภายใต้โลกมนุษย์นี้ มีสิ่งที่เป็นฐานรองรับอยู่ คือความจริงของสัจจธรรม หรือธรรมที่เป็นหลักการของธรรมชาติ ได้แก่ความเป็นจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือหลักการแห่งความจริง ความถูกต้องดีงาม ธรรมคือความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินี้ ครอบคลุมและควบคุมธรรมชาติทั้งหลาย รวมทั้งโลกมนุษย์ไว้ทั้งหมด โลกมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงของธรรมนั้นซึ่งใหญ่กว่า ฉะนั้นความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์นี้ จะต้องไม่ไปกระทบกระเทือนหรือทำลายธรรม แต่จะต้องให้สอดคล้องกับธรรม โลกมนุษย์จึงจะเป็นไปได้ด้วยดี

ฉะนั้น เราจึงมิใช่มีหน้าที่แต่เพียงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมที่เป็นกฎธรรมชาตินี้ด้วย

ทีนี้หมู่มนุษย์จะปฏิบัติต่อกันด้วยดี จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไปทำผิดต่อธรรม ทำให้เสียธรรมเข้าเมื่อไร โลกมนุษย์นั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อหนึ่งก็ตาม ข้อสองก็ตาม ข้อสามก็ตาม ไปส่งผลกระทบทำความเสียหายต่อตัวธรรมเข้า นี่คือสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งจะต้องอุเบกขา ได้แก่สถานการณ์ที่ว่าถ้าขวนขวายในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็จะไปกระทบต่อตัวธรรม จะทำให้ระบบของธรรมคลาดเคลื่อนเสียหาย จึงต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไว้ก่อน เพื่อรักษาธรรมไว้ เพราะฉะนั้น ในกรณีเช่นนั้น เมตตา กรุณา มุทิตา จะออกโรงไม่ได้ และจะต้องมาถึงอุเบกขา

ขอยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งไปลักขโมยของเขา ประสบความสำเร็จได้เงินมา ๕,๐๐๐ บาท ถ้าเราถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ ๓ เราก็มุทิตา ดีใจด้วย ส่งเสริมเลย แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็กระทบต่อธรรม ทำให้ธรรมเสียหาย หรือผู้พิพากษาพิจารณาคดี รู้ว่าจำเลยนี้ทำความผิดจริง ไปฆ่าเขาตาย แต่เมื่อคิดว่าจำเลยจะต้องตกทุกข์ได้ยากไปติดคุก ก็สงสาร อยากจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา นึกว่าเป็นสถานการณ์ที่ ๒ ก็เลยกรุณา แต่กรุณาในที่นี้ แสดงออกไปก็เข้าสถานการณ์ที่ ๔ ผิดธรรมทันที ทำให้เสียความเป็นธรรม ทำให้เสียหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม จึงต้องเปลี่ยนเป็นอุเบกขา

เป็นอันว่า ถ้าการสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะเป็นสถานการณ์ที่หนึ่งก็ตาม สองก็ตาม สามก็ตาม ไปกระทบต่อธรรมเข้าเมื่อไร ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต้องหยุด แล้วเข้าเป็นสถานการณ์ที่สี่ เราก็วางอุเบกขาต่อคนนั้น คือ เฉยต่อเขา ไม่เอาแล้ว ฉันไม่ดีใจต่อเธอ ไม่สนับสนุนเธอ ฉันไม่ช่วยเธอแล้ว เธอทำอย่างนี้ฉันไม่เอาด้วยกับเธอละ เราเฉย วางใจเป็นกลางต่อเขา เพื่อให้ธรรมมาจัดการ

เราวางอุเบกขาต่อคน คือ เฉย หยุดขวนขวาย ไม่ช่วยเหลือเขา เพื่อจะได้ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงธรรม การปฏิบัติตามธรรมจะได้ดำเนินไป กฎต้องเป็นกฎ ธรรมต้องเป็นธรรม ใครมีหน้าที่ปฏิบัติตามธรรมก็มาจัดการไปตามธรรมนั้น พูดสั้นๆ ว่า เพื่อปฏิบัติตามธรรม จึงต้องยกเว้นสถานการณ์ที่ ๑,๒,๓ เสีย ข้อหนึ่ง สอง สาม ออกแสดงไม่ได้ เพื่อให้ข้อ ๔ มา

ฉะนั้น อุเบกขา ตัวมันจึงแปลว่า เข้าไปมองดู หรือคอยมองดูอยู่ใกล้ๆ ให้เขาได้รับผลถูกต้องตามธรรม และแสดงถึงปัญญาด้วย เพราะว่า ๓ ข้อแรกความเด่นอยู่ที่ความรู้สึก พอสถานการณ์มาก็แสดงได้ทันที แทบไม่ต้องใช้ปัญญาเลย แต่ข้อที่ ๔ จะแสดงได้ ต้องมีปัญญา ต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรผิด อะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม อะไรเป็นบาปเป็นบุญ เหตุผลเป็นอย่างไร

นี่แหละ สถานการณ์ที่ ๔ ที่เรามาอธิบายกันว่า ให้เป็นไปตามกรรม เป็นอย่างนี้ คือเป็นสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือระหว่างบุคคลจะไปกระทบต่อธรรมเข้า หมายความว่า กรรมของเขาจะต้องถูกตัดสินด้วยธรรม หรือต้องบังเกิดผลตามธรรม เพราะถ้ากระทบต่อธรรมแล้วเรายังขืนเข้าไปวุ่นวายแทรกแซง ฐานของสังคมมนุษย์ก็เสีย ธรรมที่รองรับโลกมนุษย์อยู่ก็วิปลาส และโลกมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องหยุดความสัมพันธ์กับคน เพื่อรักษาธรรม

พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ครบว่าจะอยู่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เท่านั้นไม่พอ ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมด้วย โลกมนุษย์จึงจะอยู่ได้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมไม่ครบชุด ก็ยุ่งและเกิดโทษ เมตตากรุณา กลับทำให้เกิดปัญหา เสียความยุติธรรม เสียความชอบธรรม ทำให้หลักการของสังคมตั้งอยู่ไม่ได้ สังคมก็วุ่นวายปั่นป่วน พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกธรรมหมวดนี้ว่าพรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพระพรหม คือ ธรรมประจำใจของผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก

ในศาสนาพราหมณ์นั้นเขาถือว่า พรหมเป็นผู้สร้างโลก พอสิ้นกัปป์หนึ่งโลกทลาย พระพรหมก็สร้างโลกใหม่อีกทีหนึ่ง แล้วโลกก็อยู่ไปอีกกัปป์หนึ่ง ทีนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเราให้ไม่ต้องรอพระพรหมที่เป็นเทวดาที่จะมาสร้างโลก แต่ทรงสอนให้มนุษย์ทุกคนนี่แหละเป็นพรหม คือมาช่วยกันเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้อภิบาลโลก หล่อเลี้ยงบำรุงรักษาให้โลกตั้งอยู่ได้ด้วยดี เมื่อเราปฏิบัติตามธรรม ๔ ข้อนี้เราทุกคนก็เป็นพรหม คือเป็นผู้ที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ อภิบาลรักษาบำรุงโลก

พระพุทธเจ้าต้องการให้ทุกคนเป็นพรหม เบื้องแรกให้มารดาบิดาเป็นพรหมก่อน ต่อมาให้มนุษย์ทุกคนเป็นพรหม เมื่อเราปฏิบัติตามธรรม ๔ ข้อนี้ครบถ้วนดี โลกมนุษย์คือสังคมก็อยู่ได้ โลกอยู่ได้ เพราะทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์อภิบาล ไม่มีปัญหาเลย แต่เวลานี้เกิดความผิดพลาดมีปัญหา เพราะสังคมเอียง เสียดุลในการปฏิบัติธรรม ๔ ข้อนี้

พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้ ถ้าเราจัดเป็นพวกเป็นฝ่าย จะเหลือ ๒ เท่านั้น คือ ข้อ ๑ ถึง ๓ ได้แก่เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นธรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ หรือคนต่อคน ส่วนข้อที่ ๔ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในกรณีที่เกี่ยวกับธรรม หรือพูดรวบรัดว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม จึงเป็น ๒ ฝ่าย คือมนุษย์กับมนุษย์ฝ่ายหนึ่ง และมนุษย์กับธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนกับคน และคนกับธรรม จะเห็นว่าในหมู่มนุษย์การปฏิบัติระหว่าง ๒ ฝ่ายนี้ มีการเอียงสุดได้

ในสังคมบางสังคม มนุษย์มีการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน มีน้ำใจต่อกันอย่างดี เด่นในเมตตา กรุณา ตลอดจนมุทิตามาก แต่สังคมนั้นอ่อนในอุเบกขา สังคมประเภทนี้เป็นอย่างไร ในแง่ดี ก็จะมีความรู้สึกอบอุ่น แช่มชื่นด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันดี แต่ในแง่เสีย คนจะช่วยเหลือกันเป็นเรื่องส่วนตัวจนกระทั่งมองข้ามหลักการ มองข้ามกฎเกณฑ์กติกา มองข้ามความเป็นธรรมและความชอบธรรม พอมีอะไรเกิดขึ้นก็คิดว่าจะไปหาเพื่อนไปหาผู้ใหญ่ให้ช่วย เสร็จแล้ว กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย ไม่เอาเลย เลี่ยงหมดเลย สังคมนี้ก็เสียดุล สังคมอย่างนี้ระยะยาวก็จะเสื่อม เพราะว่าอ่อนในอุเบกขา เรียกว่าเอียงสุดไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เอาแต่จะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคล

ส่วนในบางสังคม ความสัมพันธ์จะเด่นในอุเบกขา คือเอาแต่กฎเกณฑ์ กติกา และหลักการ ตลอดจนกฎหมาย สังคมมีกติกาวางไว้แล้ว หลักการมีอยู่แล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น ตัวใครตัวมัน ถ้าแกผิดฉันฟัน แต่ระหว่างนั้น ไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ช่วยเหลือกัน ทุกคนดิ้นรนขวนขวายเอาเอง ทุกคนช่วยตัวเองและพึ่งตนเอง สังคมแบบนี้ก็แห้งแล้งน้ำใจ ขาดความอบอุ่น มีความเครียดสูง คนเป็นโรคจิตโรคประสาทกันมาก

จากหลักที่พูดมานี้ ก็ลองมาพิจารณาดูว่าเวลานี้สังคมเป็นอย่างไร สังคมไทยของเรานี้เอียงไหม จะเห็นได้ว่า สังคมไทยของเรา เอียงมาในทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อที่ ๑ และ ๒ มาก ข้อที่ ๓ ก็ยังหย่อน แต่ข้อที่ ๑ ที่ ๒ หนัก จนกระทั่งแสดงออกมาทางถ้อยคำที่ใช้ในสังคมของเรา คือคำว่า เมตตา กรุณา นี้เราพูดกันเรื่อย เป็นศัพท์สามัญ แต่มุทิตาพูดน้อยลง อุเบกขาไม่พูดเลย แสดงว่า ธรรมเสียดุลแล้ว

ทีนี้ หันไปดูสังคมฝรั่งบ้าง เรื่องเมตตา กรุณา มุทิตานี้ เอาน้อย แต่อุเบกขามาแรง ทุกคนต้องอยู่กับหลักการ ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายก็แล้วกัน ถ้าทำผิดก็โดน ถ้าทำถูกแกไปได้ กฎเป็นกฎ ไม่เอาใครทั้งนั้น สังคมอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะรักษาความเที่ยงธรรมไว้ได้ รักษากฎเกณฑ์กติกาของสังคมได้ แต่แห้งแล้งและเครียดอย่างที่ว่า ก็เสียดุลอีก

สังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สูงนั้น นอกจากเสียความเป็นธรรม รักษากฎเกณฑ์กติกาและหลักการไว้ไม่ค่อยได้แล้ว ในระยะยาว คนจะหวังพึ่งกันมากเกินไป คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีนิสัยชอบหวังพึ่งผู้อื่น คอยรับความช่วยเหลือจากคนอื่น โดยคิดว่าไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวจนลงเราก็ไปขอยืมเพื่อนได้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวแม่เรา ญาติเรา ผู้ใหญ่ของเราก็ช่วยเราได้ เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็เลยเฉื่อยชา เกียจคร้าน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา จึงทำให้คนโน้มเอียงไปในทางประมาท เฉื่อยชา สังคมก็จะเสื่อมหรืออืดอาด

ส่วนสังคมที่หนักในอุเบกขา เอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ก็แห้งแล้งอย่างที่ว่า แต่ก็เป็นเครื่องบีบคั้นและเร่งรัดคนให้กระตือรือร้นขวนขวาย สร้างสรรค์ความเจริญได้ ทุกคนจะดิ้นรนขยันตัวเป็นเกลียว เพราะฉะนั้น จึงทำให้สร้างความเจริญก้าวหน้าได้ดี แต่ถ้าแห้งแล้งและเครียดเกินไปก็อาจจะถึงจุดเดือด คนจะเกิดความโกรธ มีโทสะว่า อะไรกัน มันไม่ช่วยเหลือกันบ้างเลยเชียวหรือ คนจะโกรธแค้น จนกระทั่งว่าหลักการกติกาเหล่านี้ เราไม่เอากับมันแล้ว ทำลายมันเลย หลักการของสังคมก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเอียงสุดจนเกินไป ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ทั้งคู่ จึงต้องปฏิบัติให้พอดี ซึ่งอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะรักษา ดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ข้อนี้ไว้ ซึ่งแยกเป็น ๒ ฝ่าย คือเมตตา กรุณา มุทิตา ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และอุเบกขาในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นชุดและต้องปฏิบัติให้ครบ เวลานี้เราปฏิบัติธรรมกัน แม้แต่ในชุดพรหมวิหารนี้ก็วุ่น ธรรมที่มาในสังคมไทย แตกกระจัดกระจายเป็นข้อๆ ไปหมด ยิ่งไปเรียนในโรงเรียน ยิ่งไปเรียนแบบจริยธรรมสากล ก็เลยไปกันใหญ่

ต้องมองหลักให้ชัด และปฏิบัติให้ครบ
จึงจะพบทางรอดสู่อารยธรรมที่ยั่งยืน

เป็นอันว่า เมตตา กรุณา ถึงแม้จะดี แต่ถ้าปฏิบัติผิด ก็เกิดโทษ นอกจากนั้นฝรั่งยังเอาไปติเตียนอีกด้วย เช่นในหนังสือของอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ (Albert Schweitzer) ซึ่งเป็นนักปราชญ์สำคัญคนหนึ่งของตะวันตก มีชื่ออยู่ในสารานุกรม (encyclopedia) ใหญ่ๆ แทบทุกชุด ท่านผู้นี้เป็นหมอสอนศาสนา และมีอิทธิพลมาก คราวหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ขึ้น ก็มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ซึ่งส่งอาจารย์ทางโน้นมาช่วย

ศาสตราจารย์คนหนึ่งชื่อโรเบิร์ต แอล ซัตตัน (Robert L. Sutton) ได้มาสอนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และได้แต่งหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งดูเหมือนจะชื่อว่า Public Administration in Thailand แปลว่า รัฐประศาสนศาสตร์ในประเทศไทย เขาวิเคราะห์ประเทศไทยและสังคมไทยแล้วก็บอกว่า ปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาของสังคมไทยคือ หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ สอง พุทธศาสนา แล้วเขาก็แจกแจงวิเคราะห์ว่าพุทธศาสนาเป็นเหตุปัจจัยให้สังคมไทยไม่พัฒนาอย่างไร ตอนนั้น ชาวพุทธเราส่วนหนึ่งก็ลุกขึ้นมาด่าซัตตันเป็นการใหญ่ (ต่อมาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ได้โอนไปรวมกับส่วนงานการศึกษาอื่นๆ ตั้งขึ้นเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือ NIDA ในปัจจุบัน)

ในข้อความที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น ตอนหนึ่ง โรเบิร์ต แอล ซัตตัน ได้อ้างอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ที่เขียนไว้ว่า พุทธศาสนาสอนให้คนทำความดี แต่การทำความดีของพุทธศาสนาคืออย่างไร? คือเว้นจากความชั่ว เช่น เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ แค่นี้คือทำความดี พุทธศาสนาสอนให้ทำความดี ก็แค่เว้นจากความชั่ว เว้นความชั่วก็คือทำดีแล้ว และในทำนองเดียวกัน พุทธศาสนาสอนให้คนช่วยเหลือกันโดยแผ่เมตตา คือตั้งความปรารถนาดีให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข สรุปว่า พุทธศาสนาสอนความดีแบบ passive ไม่ active คือ สอนความดีแบบอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เจริญเมตตา ก็แค่ตั้งใจดีนอนแผ่อยู่ในมุ้ง แค่นี้ก็ทำดีแล้ว เลยไม่ช่วยให้คนออกไปดำเนินการสร้างสรรค์ในสังคม

โรเบิร์ต แอล ซัตตัน ก็โจมตีพุทธศาสนาตามอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ เข้าไป แล้วหนังสือพวกนี้มีอิทธิพล นักวิชาการไทยเราเชื่อไม่น้อย นี่ผมเอามาเล่าเป็นตัวอย่างเท่านั้น

เรื่องกรรม เรื่องอุเบกขา เรื่องเมตตา และอะไรๆ หลายเรื่อง โดนฝรั่งตี แล้วนักวิชาการไทยก็ตี แม้แต่ดอกเตอร์คนหนึ่งที่เป็นลูกหรือลูกสะใภ้หรือหลานคนหนึ่งของท่านผู้ใหญ่อดีตคนวัดที่มีชื่อเสียงมาก ก็ยังเขียนติเตียนไว้ว่า เพราะคนภาคอีสานถือหลักอนิจจังตามคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงทำให้มีชีวิตแบบอยู่ไปวันๆ แล้วก็เลยไม่เจริญ ไม่สามารถพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าได้ นี่ขนาดคนที่อยู่ในเชื้อสายยังว่าอย่างนี้

ฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาทให้หนักทีเดียว เพราะคนของเรา แม้แต่พระเอง ถ้าเข้าใจธรรมไม่รอบคอบแล้ว อาจจะเป็นปัญหาได้อย่างหนัก ในวงวิชาการนั้น เรายังไม่ได้ไปสัมผัสอีกมาก คนที่เข้าใจกันได้ดีกับเราก็เยอะ แต่คนที่ยังไม่เข้าใจก็มากอยู่ จะต้องตื่นตัวรู้เท่าทัน โดยเฉพาะตัวเราเองจะต้องเข้าใจธรรมให้ชัดเจน ชนิดโยงกันได้ทั้งระบบ

เป็นอันว่า ธรรมนั้นจะต้องปฏิบัติให้ครบชุดองค์รวมอย่างที่ว่าแล้ว เพราะมันมีความประสานสัมพันธ์กันและเติมเต็มแก่กัน ถ้าขาดชุดแล้ว ชีวิตและสังคมมนุษย์ก็จะเอียง เสียหลัก เสียดุล เกิดผลเสีย ธรรมที่เป็นกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้อย่างไร ธรรมที่เป็นอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้อย่างไร จะใช้อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล เช่น ใช้ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ฉันทะได้อย่างไร ดังนี้เป็นต้น จะต้องวิเคราะห์กันให้ชัด จะได้ไม่พลาด เป็นการช่วยสังคมของเรา และแก้ความเห็นผิด โดยเฉพาะของคนที่เป็นผู้นำทางปัญญา

ที่พูดมาทั้งหมดคราวนี้ ได้โยงไปหาหลักธรรมง่ายๆ เพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่ที่จริงหลักธรรมเพียงแค่นี้ก็เพียงพอที่จะสร้างอารยธรรมใหม่ที่ยั่งยืนได้แล้ว

ที่ว่าจะสร้างอารยธรรมใหม่นั้น ในที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องสร้างขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง แต่หมายถึงการเปลี่ยนจากอารยธรรมปัจจุบันที่ติดตันไม่ยั่งยืน ให้กลายเป็นอารยธรรมที่แท้ที่ถูกต้อง ที่จะนำมนุษยชาติไปสู่สันติสุขได้อย่างแท้จริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.