เรื่องที่คนไทยควรเข้าใจให้ถูก

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๒ -
ใช้ธรรมเพื่อก้าวไป ไม่ใช่เพื่อนอนสบาย

ถ้าสันโดษเพื่อสุข ก็จบลงด้วยความขี้เกียจ

คนไทยเรานี้ใช้ธรรมบางข้อไม่ถูก เมื่อเอาธรรมมาใช้ผิด ก็เกิดโทษ แม้แต่กุศลธรรมเมื่อใช้ผิดก็เกิดโทษ และอีกอย่างหนึ่ง บางทีชาวพุทธเราก็ใช้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลกันเสียมาก ไม่ว่าจะใช้ผิดหรือใช้ไม่ครบ ก็เสียหายทั้งนั้น ใช้ผิดกับใช้ไม่ครบนั้น เป็นคนละอย่างกัน ที่ว่าใช้ไม่ครบ เช่น ใช้ไม่ครบชุดของมัน ไม่ครบถ้วนตามระบบองค์รวม ใช้เว้าๆ แหว่งๆ มีตัวอย่างเยอะ จะพูดกันเรื่องนี้ก็ยังว่ากันได้อีกมาก ตอนนี้ ก็เลยต้องขอยกเอาเรื่องสันโดษมาพูดเสริมอีก

เรื่องสันโดษนี้ ก็เป็นตัวอย่างของการใช้ธรรมที่ไม่ครบถ้วนกระบวนการ สันโดษนั้นไม่ใช่จบแค่ความหมาย ความหมายว่าตามศัพท์ ก็แปลว่า ความพอใจ อันนี้แปลตามตัวหนังสือ แต่มันไม่ใช่คำจำกัดความทางวิชาการ

ทีนี้เราแปลให้กว้างออก ความสันโดษก็คือ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ จากนั้นก็ขยายความออกไปอีกในเชิงวัตถุว่า สันโดษ คือความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตน ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม นี่เป็นคำจำกัดความที่กว้างขึ้นไปอีก เพราะบอกกำกับไว้ว่า ในการที่จะสันโดษนั้นจะต้องขยันหมั่นเพียรด้วย และได้มาโดยชอบธรรมด้วย เพราะสันโดษนี้มุ่งกำจัดทุจริตด้วย กล่าวคือ ถ้าไม่สันโดษในของตนก็ไปยินดีในของคนอื่น แล้วก็ไปลักขโมยของเขา แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำจำกัดความหรือความหมาย

สันโดษไม่จบเท่านั้น เพราะธรรมนั้น เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ ธรรมทั้งหลายมีความสัมพันธ์ส่งผลต่อกันในระบบองค์รวม เพื่อนำไปสู่จุดหมายรวมอันเดียวกัน คือการบรรลุพระนิพพาน คือเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ในเมื่อธรรมทุกข้อส่งผลไปรวมกัน ธรรมทุกข้อก็ต้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกัน ธรรมข้อย่อยก็ต้องสอดคล้องกับหลักการข้อใหญ่ จึงเรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ที่แปลกันมาว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งอรรถกถาท่านอธิบายว่า ธรรมน้อยต้องคล้อยแก่ธรรมใหญ่ ซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติเพื่อเจริญก้าวหน้าสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา

ปัจจัยที่จะใช้ในการสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่งนั้น อย่ามองตัวเดียวแยกออกมา ต้องมองตัวควบ ตัวประสาน ตัวสัมพันธ์ หรือตัวประกอบอื่นด้วย ปัจจัยตัวเดียวกันนั้น เมื่อใช้ประกอบกับปัจจัยอีกตัวหนึ่ง ทำให้เกิดการสร้างสรรค์เจริญก้าวหน้า แต่พอปัจจัยตัวเดียวกันนั้นไปประกอบร่วมกับปัจจัยอีกตัวหนึ่งต่างออกไป กลับทำให้เกิดความเสื่อมไปเลย

สันโดษก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่ใช้สันโดษเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะไปร่วมกับปัจจัยอื่นเพื่อทำให้เกิดการสร้างสรรค์ แต่ใช้สันโดษล้วนๆ เฉพาะตัว ก็ไปหยุดอยู่ที่ความพอใจ แล้วก็สบาย พอแค่นี้ ก็ได้ความสุข แต่ผลตามมาก็ขี้เกียจเท่านั้นเอง นอนสบาย ไม่ต้องเอาอะไร แค่นี้เราสุขแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนสันโดษแบบนี้

สันโดษมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ธรรมทุกข้อต้องมีความมุ่งหมาย บางคนตอบว่า สันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ยังไม่เคยพบที่ไหนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สันโดษเพื่อมีความสุข แต่สันโดษนั้นทำให้มีความสุขในตัวของมันเองทันทีเลย แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข เวลาเราสันโดษแล้วเราก็สุขได้เลย เราจะพอใจในปัจจัย ๔ ที่มีน้อยๆ และเราก็มีความสุขในทันที สันโดษทำให้เราเป็นคนมีความสุขได้ง่าย แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข ความสุขเป็นผลพลอยได้ที่เกิดตามมาเองจากสันโดษ แต่ไม่ใช่จุดหมายของสันโดษ

ถ้าปฏิบัติสันโดษแล้วนอนสบายเป็นสุข มันก็ไม่สอดคล้องกับธรรมที่เป็นหลักการใหญ่ หลักการใหญ่คือการที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมาย ถ้าสันโดษแล้วนอนสบาย มันก็ไม่ก้าว สันโดษจะต้องสัมพันธ์กับธรรมอื่นๆ เพื่อให้ก้าวไปสู่จุดหมายใหญ่ ในระบบองค์รวมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ธรรมย่อยๆ จึงสัมพันธ์กัน เมื่อกี้จึงพูดถึงความหมายหลายแง่

ในแง่ความหมาย เราอาจจะพูดสั้นหรือพูดยาวก็ได้ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า สันโดษคือความพอใจ สันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ สันโดษคือความพอใจตามมีตามได้ในสิ่งที่เป็นของตน ตลอดจนว่าสันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตนด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม

ที่ให้ความหมายมาทั้งหมดก็อย่างนี้ แต่ยังไม่จบเท่านั้น ในระบบความสัมพันธ์ต้องมีต่อ สันโดษต้องมีคำตามด้วยว่า สันโดษในอะไร นี่แหละ ตอนนี้ที่สำคัญมาก ในพระสูตรมีไหมที่พระพุทธเจ้าตรัสทิ้งไว้ลอยๆ นอกจากในคาถาเท่านั้นที่ตรัสลอยๆ เช่น สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ แต่ถ้าตรัสในร้อยแก้วเป็นพระสูตร เป็นคำสอน ต้องตามมาด้วยคำต่อตามว่า สันโดษในจีวร...ในบิณฑบาต...ในเสนาสนะ ตามมีตามได้ และท้ายสุดจะมีธรรมอื่นมารับอีก เช่น ในอริยวงศ์ ๔ ข้อที่ ๔ ว่ายินดีในการเจริญกุศลธรรม และพอใจในการละอกุศลธรรม แสดงว่ายังต้องตามมาอีกว่า สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร ซึ่งก็จะเห็นว่าสันโดษ ๓ ข้อต้นมาสอดคล้องกับข้อที่ ๔ นี้ โดยส่งผลมาสู่เป้าหมายที่ต้องการในข้อที่ ๔ ซึ่งมาปิดท้าย

เพียงแค่หลักอริยวงศ์ ๔ นี้ ก็ให้ความชัดเจนแล้วในเรื่องขอบเขตและความมุ่งหมายของสันโดษ ในระบบความสัมพันธ์ขององค์ธรรมต่างๆ ต้องขอย้ำว่า สองอย่างนี้สำคัญมาก คือ สันโดษในอะไร และ สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร (=สันโดษแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป) แต่ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนว่า สันโดษในอะไร

สันโดษท่านบอกคำต่อตามไว้เสร็จแล้วว่า สันโดษด้วยวัตถุปัจจัยบำรุงชีวิต ถ้าเป็นคฤหัสถ์เราก็ขยายความหมายว่าพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุข มีความสุขได้ง่ายด้วยวัตถุสิ่งเสพตามมีตามได้ ไม่ต้องวุ่นวายทะเยอทะยานมักมากในสิ่งเสพเหล่านั้น

เมื่อเราสันโดษในสิ่งเสพสิ่งบริโภคอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสธรรมไว้อีกคู่กันกับความสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ คือตรัสความไม่สันโดษ ไว้เป็นหลักธรรมเหมือนกัน แต่ก็มีคำต่อตามว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ทิ้งลอยๆ ถ้าพูดว่าไม่สันโดษเฉยๆ ก็ผิดอีก ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ขอให้ไปดูเถอะ ตรัสไว้มากมาย แต่เราไม่เอามาสอนกัน

สันโดษอยู่ในกระบวนการปฏิบัติธรรม คือ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในระบบความสัมพันธ์ สู่จุดหมายใหญ่อันเดียวกัน ฉะนั้น มันจึงต้องมีความมุ่งหมายเพื่อจะก้าวหน้าไปสู่ธรรมที่สูงขึ้นไป สันโดษเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่จะให้เราก้าวหน้าในการปฏิบัติ โดยที่มันไปสนับสนุนความเพียร หมายความว่า สันโดษเป็นตัวเอื้อให้เราเพียร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสความไม่สันโดษ ไว้คู่กันด้วย

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส “สันโดษ” ไว้ลอยๆ แต่ต้องมีอะไรตามมาด้วย สำหรับพระภิกษุก็ตามด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ถ้าไม่มีตัวตาม เป็นสันโดษลอยๆ ใช้ไม่ได้ หรือถ้าตัวตามผิดไป เช่น ภิกษุไปสันโดษในกุศลธรรม ก็กลายเป็น ปมาทวิหารี (ผู้อยู่ด้วยความประมาท) ไปเลย

ในพระสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุแม้จะเป็นอริยบุคคล เช่น เป็นโสดาบัน ปฏิบัติธรรมได้บรรลุคุณธรรมวิเศษ แล้วมาพอใจว่าเรานี้ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงถึงขนาดนี้แล้วเกิดสันโดษขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุรูปนั้นเป็น ปมาทวิหารี แปลว่า ผู้อยู่ด้วยความประมาท เป็นผู้ที่จะเสื่อม ฉะนั้น สันโดษในกุศลธรรมจึงผิด พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส มีแต่ตรัสว่า ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

รวมความว่า สันโดษนั้น หนึ่ง ต้องมีตัวตามว่า สันโดษในอะไร ไม่ใช่ทิ้งไว้ด้วนๆ ลอยๆ สอง ต้องมีตัวควบว่าต้องมากับอะไรหรือต่อด้วยอะไร สาม ต้องมีจุดหมายว่าเพื่ออะไร

สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย เพื่อออมแรง-เวลาไปทำงาน

ความไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถึงขนาดว่า ที่เราได้บรรลุโพธิญาณนี้ ได้เห็นคุณของธรรมสองประการ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และการบำเพ็ญเพียรไม่ระย่อ พระพุทธเจ้าจึงเป็นตัวอย่างของการไม่สันโดษในกุศลธรรม

พุทธพจน์นี้มาในอังคุตตรนิกาย ตรัสแสดงไว้ให้เราจำตระหนักว่า พระองค์ได้ตรัสรู้ คือบรรลุโพธิญาณ เพราะไม่สันโดษ ตามด้วยคำว่า ในกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอันว่า ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ หนึ่ง อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สอง อปฺปฏิวาณิตา จ ปธานสฺมึ ความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร และพระองค์ได้บรรยายต่อไปว่า เรานั้น นั่งลงที่ควงโพธิ์ แล้วได้อธิษฐานจิตว่า ถ้ายังไม่ถึงธรรมที่จะพึงบรรลุได้ด้วยความเพียรของบุรุษตราบใด แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดเหลือแต่เส้นเอ็น ก็จะไม่ลุกขึ้น นี่เป็นตัวอย่าง

พระพุทธเจ้าไม่เคยสันโดษเลยในเรื่องกุศลธรรม พระองค์เสด็จออกไปหาความรู้ แสวงหาผลสำเร็จในทางจิตใจ ไปบำเพ็ญสมาธิ ไปเข้าสำนักโยคะ ไปเข้าสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้บรรลุถึง อากิญจัญญายตนสมาบัติ ไม่สันโดษ ไม่พอแค่นั้น เสด็จต่อไปยังสำนักอุททกดาบส รามบุตร ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่สันโดษอีก เขาเชิญให้ทรงเป็นอาจารย์ร่วมสำนักด้วย ก็ไม่เอา พระองค์ยังไม่ถึงจุดหมาย ก็ไม่หยุด คิดค้นเพียงพยายามต่อไปจนกระทั่งตรัสรู้ จึงได้ตรัสยืนยันไว้ว่า ที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เพราะไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

ธรรม ๒ ข้อนี้มิใช่ตรัสไว้ในพระสูตรเท่านั้น แม้ในพระอภิธรรมปิฎกท่านก็แสดงไว้เป็นมาติกาหนึ่งในหมวดทุกมาติกาด้วย ฉะนั้น ความไม่สันโดษนี้ว่าไปแล้ว สำคัญยิ่งกว่าความสันโดษอีก แต่เราแทบจะไม่พูดกันเลย เราพูดถึงแต่สันโดษและเป็นสันโดษด้วนๆ

เป็นอันว่า ประสานสอดคล้องกันเลย คือสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ กับไม่สันโดษในกุศลธรรม ฉะนั้น เราจะหยุดแค่ความสันโดษไม่ได้ ต้องต่อไปที่ความไม่สันโดษด้วย แล้วทีนี้ความสันโดษมาเอื้อต่อความไม่สันโดษและความเพียรอย่างไร

เมื่อเราสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ เราก็ไม่เสียเวลาไปกับการขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้ คนที่ไม่สันโดษ อยากจะหาวัตถุบำรุงบำเรอตัว หาอาหารดีๆ กินเอร็ดอร่อย คิดจะหาความสุขจากการเสพการบริโภค แกก็เสียเวลาไปในการวุ่นวายหาสิ่งเหล่านี้ แล้วแกก็เสียแรงงานด้วย แรงงานของแกก็หมดไปกับการหาสิ่งเหล่านี้ ความคิดอีกล่ะก็มัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดว่า เอ...พรุ่งนี้เราจะไปกินที่ไหนให้อร่อยให้โก้ จะไปกินอะไรให้เลิศรส คิดแต่เรื่องเหล่านี้ เวลา แรงงาน และความคิดหมดไปกับเรื่องเหล่านี้ ไม่เป็นอันทำการทำงานหรือสร้างสรรค์อะไร ถ้าหมกมุ่นวุ่นวายเรื่องนี้มากนัก ก็เสียงานไปเลย หรือถ้าหนักนักก็ต้องทุจริต

ในทางตรงข้าม พอเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิด ไว้ได้ทั้งหมด แล้วเราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาทุ่มให้กับความเพียรพยายามในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงานและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็ทำหน้าที่และสิ่งดีงามได้เต็มที่ สอดคล้องกันหมด

เรื่องนี้สำคัญมาก ขอย้ำอีกทีว่า ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เมื่อเราสันโดษในปัจจัย ๔ ตลอดจนในวัตถุบำรุงบำเรอทั้งหลายแล้ว เราก็ไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ มันก็รับกันพอดี ความสันโดษกับความไม่สันโดษนี้ ประสานสอดคล้องกันอย่างยิ่ง เมื่อเราสันโดษในปัจจัย ๔ และในวัตถุบำรุงความสุขแล้ว เราก็มีเวลา แรงงาน และความคิด เหลือเฟือ เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปใช้ในการไม่สันโดษในกุศลธรรม ทำให้บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ และเจริญก้าวหน้าในกุศลธรรมได้เต็มที่

ขอสรุปจุดเน้นว่า สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ และสันโดษแล้วต่อด้วยความเพียร หมายความว่า สันโดษ ทำให้สุขง่ายด้วยปัจจัยน้อย จะได้ไม่กระวนกระวาย จิตใจจะได้พร้อม แล้วสงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ เพื่อเอาไปทุ่มเทอุทิศให้กับการเพียรพยายามพัฒนากุศลธรรม ทำกิจหน้าที่ สร้างสรรค์สิ่งดีงามและประโยชน์สุขให้ยิ่งขึ้นไป

แสงสว่างใช้ส่องทางไปข้างหน้า
แต่แสงสีใช้ล่อพาให้หลงวน

พอพูดถึงเรื่องเฉพาะตัวในทางจิตใจ เราก็สอนกันว่า คุณต้องมีจิตใจดีด้วยนะ คุณยังไม่มีสมาธิ เอ้า ! ฉันสอนสมาธิให้ แต่ไม่ใช่หยุดแค่นี้ สมาธิถ้าสอนไม่ดีก็เป็นตัวกล่อมอีก

ถ้าพระพุทธเจ้าต้องการแค่สมาธิ พระองค์ก็ไม่ต้องออกมาจากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร ถ้าเอาแค่สมาธิแล้วแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า เพราะโยคี ฤษี ดาบสก่อนพุทธกาลเขาได้ฌานสมาบัติกันเยอะแยะ เรื่องสมาธินี่เขามีกันมาก่อนพุทธกาลแล้ว เราบอกว่าธรรมไม่ได้จบแค่ปัญหาจิตใจนะ คุณจะมาเอาแค่ทำจิตใจสบายเท่านั้นไม่ได้ ดีไม่ดีจะหลอกตัวเอง เพราะพวกที่สบายใจแล้วนี่อาจจะได้แค่วิธีหนีปัญหาอย่างหนึ่ง พอหลบเข้ามาอยู่ข้างในทำใจได้ก็เพลินเฉื่อยชา ไม่จัดการแก้ไข ทั้งๆ ที่ปัญหามีในโลกวุ่นวายมากมายไม่ได้หายไปไหน

ปัญหานั้นมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือมันบีบคนให้ดิ้น และถ้าเราปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง ก็เป็นเวทีพัฒนาคนพัฒนาปัญญา แต่พอเราทำใจได้ สบายเสียแล้ว ทีนี้ก็เฉื่อย เท่ากับหลบปัญหา ปัญหาข้างนอกเลยปล่อยทิ้ง ไม่แก้ นี่คือประมาทแล้ว

สมาธินั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้เป็นหลักการส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของพระพุทธศาสนา อย่างในวิสุทธิมรรคก็บอกไว้แล้วว่า สมาธิเข้าพวกกันได้กับโกสัชชะ คือความเกียจคร้าน หมายความว่าสมาธิอาจจะหนุนหรือทำให้เกิดความขี้เกียจ

พอได้สมาธิแล้ว สุข สงบ ใจสบายแล้ว หรือทำใจได้แล้ว ฉันสบายแล้ว ปัญหาอย่างไรข้างนอก ช่างมัน ไม่แก้ ฉะนั้น สมาธิก็เป็นตัวกล่อมได้ จึงบอกว่าระวังนะ ฝรั่งจะหลง เอียงสุดไปอีก และเราก็อย่าไปทำให้ฝรั่งหลง แต่ต้องไปปลุกให้ความรู้ที่ถูกต้อง

สมาธินั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบการฝึกฝนพัฒนาคน ที่เรียกว่าไตรสิกขา ต้องใช้เพื่อทำคนให้ก้าวต่อไป เป็นเครื่องเสริมกำลังคนที่จะก้าวไปข้างหน้า ถ้าใช้เพียงเป็นเครื่องกล่อมใจ ทำให้สุขใจหลบปัญหาไปได้คราวหนึ่งๆ ก็กลายเป็นทำให้ประมาท ดึงรั้งไว้ไม่ให้ก้าวต่อไปในกุศลธรรม ผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

แม้ในด้านปัญญาก็เช่นกัน วิปัสสนาต้องทำให้คนปฏิบัติต่อโลกและชีวิตอย่างถูกต้อง เข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ จนกระทั่งมีจิตหลุดพ้นจริง วิปัสสนาเป็นหลักการใหญ่ของเรา แต่ต้องให้เป็นวิปัสสนาที่ถูก ซึ่งทำให้มนุษย์อยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่ไปอยู่กับสภาพที่กล่อมตัวเอง ถ้าสุขด้วยวิปัสสนา หรือแม้แต่ปลงอนิจจังแล้วสบายใจ หายทุกข์ แต่หยุดแก้ปัญหาแก้ทุกข์ต่อไป ก็กลายเป็นประมาทอีก

ตัวกล่อมหรือเครื่องกล่อมนั้น มิใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ และใช้ไม่ได้เสียเลย แต่ต้องรู้จักใช้ และมีขอบเขตที่ถูกต้อง เหมือนอย่างคนเป็นโรคนอนไม่หลับหรือมีอาการไม่ปกติทางประสาท เราก็อาจจะต้องใช้ยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทช่วย แต่เป็นการใช้เพื่อแก้ไขภาวะผิดปกติ เฉพาะกรณีๆ และชั่วคราว เมื่อผ่านภาวะผิดปกตินั้นไปแล้วก็ไม่ควรใช้ ถ้าขืนใช้ในภาวะปกติทั่วไป ก็กลายเป็นโทษ อย่างน้อย การที่ต้องพึ่งพาขึ้นต่อมัน จึงจะอยู่ดีได้ ก็ไม่ถูกต้องแล้ว

เครื่องกล่อมทางด้านจิตใจและปัญญาก็เช่นเดียวกัน จะต้องรู้จักใช้ภายในขอบเขตของการแก้ปัญหาเฉพาะชั่วคราว พอให้ได้พักหรือช่วยให้พ้นออกมาจากสิ่งร้ายอย่างอื่น เมื่อตั้งตัวได้แล้วจะได้เดินหน้าต่อไป ข้อตัดสินสำคัญคือ อย่าให้เป็นเหตุนำไปสู่ความประมาท เช่น นอนใจ เพลิน ผัดเพี้ยน เป็นต้น

เครื่องกล่อมและระบบกล่อมมนุษย์มีอยู่เยอะ มนุษย์มากมาย นับถือลัทธิผีสางเทวดา เอาการดลบันดาลของเทพเจ้ามาเป็นเครื่องกล่อมใจ คิดว่าหรือบอกตัวเองว่ามีเทพเจ้าคอยช่วยแล้วก็สบาย ไม่ต้องเดือดร้อนหายทุกข์ไปที ก็อุ่นใจ แล้วก็นอนใจ พอพ้นจากลัทธิดลบันดาล มาได้สมาธิ ก็กล่อมใจตัวเองอีก สบายไปที ไม่ต้องทำอะไร มนุษย์นี่ติดการกล่อมได้เยอะ แม้แต่ความดีและผลสำเร็จก็กลายเป็นเครื่องกล่อมอีก พอสบายใจแล้วก็นอนใจ ตกลงก็หนีความประมาทไม่พ้น ไปติดที่ความประมาทนั่นแหละ

จะทำอย่างไรให้ไม่ประมาท ก็เอาหลักใหญ่นี่แหละ ไปประยุกต์ได้หมด คืออยู่ด้วยสติไม่ประมาท หมั่นใช้สติปัญญาพิจารณาชีวิตสังคมว่า อะไรเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร เป็นไปอย่างไร มีผลอย่างไร เกิดปัญหาอะไร เอาสติไปจับมาตรวจดู แล้วใช้ปัญญาสืบสาว ก็ได้เรื่องได้ราว ข้อย่อยเราไม่ต้องพูดกันนะ เอาแต่หลักการใหญ่ไป ไม่ว่าจะปฏิบัติอะไร ถ้าทำให้ประมาทก็ไปไม่รอด

เวลานี้สังคมไทยประมาทหรือเปล่า มีบางท่านออกเสียงดังมาชัดเลยว่า “ประมาท” ผมก็เห็นด้วยว่า สังคมไทยประมาท และยังไปติดในสิ่งกล่อมเยอะหมด ยิ่งกล่อมก็ยิ่งประมาท ก็เลยติดพันอยู่นั่นแหละ ไม่คิดแก้ปัญหา และไม่คิดศึกษาด้วย สบายใจแล้ว ฉันอยู่ได้ เอาสิ่งเสพสิ่งบำรุงบำเรอมากล่อมบ้าง เอาสุราและการพนันมากล่อมบ้าง เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาปลอบใจบ้าง เอาสมาธิมากล่อมใจบ้าง

อะไรก็ตาม ทำให้เกิดความประมาท ต้องรีบตื่นทันทีว่า ผิดแล้ว อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความประมาท ต้องถือว่าผิดหลักพระพุทธศาสนา แม้มันจะดี

เมื่อกี้พูดถึงเรื่องสันโดษ พอพูดไป ก็เลยออกไปเรื่องอื่น เอาเรื่องความสันโดษก็พอแล้ว เป็นอันว่า ธรรมแต่ละข้อต้องสัมพันธ์กับองค์ธรรมอื่นด้วย

ฝรั่งก็ผิด ไทยก็พลาด
ต้องแก้ไขทั้งนั้น

ในการสร้างสรรค์ความเจริญ ฝรั่งเริ่มต้นทุนนิยมและยุคอุตสาหกรรมด้วยปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งคือ “สันโดษ” แต่สันโดษของฝรั่งเป็นสันโดษเทียม คือ ไม่ใช่เป็นการอิ่มพอในการเสพวัตถุด้วยความพอใจเองอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมุ่งให้สามารถสงวนเวลาแรงงานและความคิดไว้เพื่อนำไปอุทิศให้แก่การสร้างสรรค์สิ่งดีงาม แต่เป็นการยอมอดยอมงดการเสพวัตถุในบัดนี้ ด้วยอาศัยแรงศรัทธาทางศาสนามากดข่มหรือชดเชยไว้ (ตามแนวคิดแบบ Protestant ethic) ซึ่งไปๆ มาๆ ก็แปรไปเป็นการข่มใจทนรอด้วยความหวังที่จะไปเสพให้มากที่สุดในกาลข้างหน้า โดยสงวนเวลาแรงงานและความคิดนั้นไปทุ่มให้กับการแสวงหาและผลิตวัตถุมาไว้เสพต่อไปในอนาคต

ผลเสียของสันโดษเทียมแบบฝรั่ง คือ ในด้านชีวิตจิตใจก็กลายเป็นการจำใจ ฝืนใจ เพราะใจจริงคือต้องการจะเสพให้มากที่สุด แต่อาศัยศรัทธามาช่วยข่มหรือชดเชยไว้ หรือเพราะหวังผลที่อยู่ข้างหน้าจึงต้องรอไปก่อน และในแง่ธรรมชาติแวดล้อม ในเมื่อเป้าหมายในความหวังคือการจะได้เสพบริโภคอย่างเต็มที่ ผลสำเร็จก็คือการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง ส่วนในด้านสังคมก็ไม่ช่วยให้ลดปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิงกันในระยะยาว

ส่วนสันโดษของคนไทย (พิจารณาจากความเข้าใจในปัจจุบัน ซึ่งจะเกิดจากการถือผิดสืบกันมา หรือคลาดเคลื่อนภายหลัง เนื่องจากขาดการศึกษาก็ตาม) ก็เป็นสันโดษเทียมอีกแบบหนึ่ง คือเป็นสันโดษแบบด้วนๆ ลอยๆ ไม่มีจุดหมายต่อเนื่องไปว่าจะเอาเวลา แรงงานและความคิดที่สงวนไว้ได้ ไปใช้ทำอะไรต่อไป ไม่เชื่อมต่อสู่ความเพียรพยายาม กลายเป็นเพียงความสันโดษที่ทำให้นอนเสวยความสุขอย่างเฉยๆ เสี่ยงต่อการที่จะทำให้เกียจคร้านเฉื่อยชาตกอยู่ในความประมาท

เมื่อปรับแก้ให้ถูกต้องเป็นสันโดษที่แท้ ก็จะเกิดดุลยภาพ และการประสานประโยชน์ ทั้งของชีวิตกายใจของบุคคล ความสงบสุขของสังคม และการอนุรักษ์ธรรมชาติแวดล้อม เพราะความอิ่มพอต่อวัตถุ เป็นความพึงพอใจที่ทำให้ตนเองมีความสุข พร้อมกันนั้นก็มีจุดหมายที่จะนำเอาเวลา แรงงาน และความคิดที่สงวนไว้ได้ไปใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขที่เกื้อกูลต่อสังคม กับทั้งในเวลาเดียวกันก็ไม่ต้องมีการเบียดเบียนเอาจากธรรมชาติเพื่อมาสนองความหวังเสพสุขในกาลข้างหน้า มนุษย์จะมีความสุขโดยไม่ต้องผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และพร้อมกันนั้นก็มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการเพียรพยายามสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม

ความไม่ประมาทของตะวันตกก็เช่นเดียวกัน เป็นความไม่ประมาทเทียม ซึ่งเกิดจากแรงบีบคั้นของระบบการแข่งขัน ที่เรียกว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ ไม่ใช่เกิดจากสติปัญญาแท้จริง แรงบีบคั้นนั้นยิ่งก่อปฏิกิริยา ให้ความเห็นแก่ตัวหรือความต้องการสนองความต้องการของตนรุนแรงยิ่งขึ้น การหาทางอยู่รอดและแสวงผลประโยชน์ของตนเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยที่ชีวิตจิตใจยิ่งเครียด การเบียดเบียนกันในสังคมยิ่งรุนแรง และธรรมชาติแวดล้อมยิ่งถูกทำลายรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้นตามอัตราการแข่งขันหาผลประโยชน์กันในสังคม

ส่วนสังคมไทยก็ดังที่กล่าวแล้วว่า ไปในทางตรงข้าม คือตกอยู่ในความประมาท

เมื่อพัฒนาคนด้วยการศึกษาอย่างถูกต้อง ก็จะมีการปรับแก้ให้เป็นความไม่ประมาทแท้ ที่เกิดจากสติปัญญา ซึ่งจะเป็นความไม่ประมาทที่เป็นไปเพื่อผลในทางสร้างสรรค์อย่างแท้จริง โดยที่สติปัญญาจะนำกิจกรรมของมนุษย์ให้ดำเนินไปเพื่อผลดีที่ต้องการภายในขอบเขตที่ไม่ส่งผลกระทบในทางร้ายต่อชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อธรรมได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องประสานกันครบองค์เป็นระบบอย่างมีดุลยภาพดังตัวอย่างนี้ ผลดีก็เกิดขึ้นแก่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง คือทั้งชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม อย่างกลมกลืนและเกื้อกูลกัน โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาคน ไม่เกิดภาวะที่ต้องขัดขืนจำยอมหรือต้องประนีประนอม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.