เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร?

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถาม-ตอบ ท้ายบรรยาย

จะกู้ธรรมได้อย่างไร?

แม่ชีศันสนีย์: สงสัยที่ว่า กู้แผ่นดินคือกู้ธรรมะนั้น มีคำถามว่า กู้ธรรมะ กู้อย่างไร?

พระธรรมปิฎก: อย่างที่ว่าไปแล้ว ธรรมะอยู่ตามปกติของมันตามธรรมชาติ แต่เราทำให้มันมีขึ้นมาในหัวใจของคน นี่คือกู้ธรรมะ คือให้ธรรมะคืนกลับเข้ามาอยู่ในตัวคน เวลานี้ตัวคนอาจจะปล่อยธรรมะหลุดมือไปแล้ว ปล่อยทางปัญญา คือ ไม่รู้ ไม่ศึกษา ปล่อยทางจิต คือ ไม่ตั้งใจ ไม่รักษาไว้ให้มีในใจ ปล่อยทางพฤติกรรม คือ ละเลย ไม่นำมาใช้ ไม่ประพฤติปฏิบัติ หรือประพฤติชั่วร้ายเสียหายในทางตรงข้ามกับธรรม นี่ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หายไปใช่ไหม ถ้าเราทำให้ธรรมะที่อยู่ในธรรมชาตินั้น มามีอยู่ในตัวคนเราด้วย ก็เรียกว่ากู้ธรรมะ พอกู้ธรรมะสำเร็จ การกู้แผ่นดินไทยก็ตามมาเอง เป็นไปเองอยู่ในตัว

แม่ชีศันสนีย์: เจ้าค่ะ หมายถึงว่า ให้มีธรรมะอยู่ในวิถีชีวิตที่เราดำเนินอยู่ใช่ไหมคะ

พระธรรมปิฎก: เจริญพร กู้ธรรมะก็คือ เอาธรรมะมาใช้ เริ่มตั้งแต่สดับตรับฟังศึกษาให้เข้าใจ เอามาใส่ในหัวใจ และปฏิบัติตาม นี่เป็นความหมายทั่วไป

ทีนี้ความหมายขั้นที่สอง ก็รวมไปถึงเรื่องในสังคมวงกว้าง ที่คนมีความเข้าใจผิด หลงผิด ประพฤตินอกลู่นอกทางของพระพุทธศาสนาออกไปต่างๆ ก็มาชำระสะสางแก้ไขกันเสียที

ในระดับสังคมวงกว้างนี่ก็สำคัญ อย่างที่ย้ำไปเมื่อกี้ว่า เวลานี้คนไทยเราได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าหรือเปล่า เราปล่อยให้ลัทธิรอโชคช่วยมาครอบงำไหม เราปล่อยให้ลัทธิอ้อนวอนนอนคอยความช่วยเหลือ ลัทธิหวังผลดลบันดาล การติดยากล่อม สุรา ยาบ้า สิ่งเสพติด การพนัน อะไรเหล่านี้ ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง ตลอดจนใช้ธรรมะแม้แต่สมาธิในทางที่ผิด ความผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนอย่างนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยหรือเปล่า ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่าเราสูญเสียธรรมไปแล้ว จึงต้องกู้ขึ้นมา คือต้องมาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง โดยนำหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนาขึ้นมาแสดง มาบอก มาแจ้งกัน และให้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องและให้จริงจัง ถ้าทำได้อย่างนี้ แน่นอนว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ วิกฤติเศรษฐกิจนั้นแก้ไม่ยากถ้าคุณภาพคนไทยดี

ขอให้มั่นใจเถิดว่า ถ้าคุณภาพคนไทยดี เราไม่กลัวเลยวิกฤติเศรษฐกิจอย่างนี้

แต่อย่างน้อย เราต้องใช้เป็น ให้วิกฤตินี้เป็นประโยชน์ ได้บอกแล้วว่า ที่พูดกันบ่อยว่า วิกฤติเป็นโอกาสนั้น โอกาสที่สำคัญคือ โอกาสในการพัฒนามนุษย์นี่แหละ โอกาสอื่นไม่สำคัญเท่าข้อนี้หรอก

เพราะฉะนั้น เวลาใครเขาช่วยเหลือเรา เช่น ประเทศอื่นให้เงินมา ให้กู้ให้ยืม เท่านั้นเท่านี้ เราต้องวางท่าทีให้ถูกต้อง ต้องวางท่าทีด้วยความไม่หลงระเริงมัวเมา อย่างน้อยต้องตั้งความรู้สึกไว้ว่า นี่จำใจนะ แล้วเตรียมใจว่าเราจะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ไม่ใช่ไปหลงระเริงดีใจว่า เขาช่วยเราแล้ว เราได้เงินมาแล้ว โอ้โฮ เราสบายแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ก็เป็นจิตใจที่โน้มไปสู่ความประมาท ความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนก็จะหายไป ถ้าอย่างนี้ จะฟื้นจิตใจคนไม่ขึ้น ฟื้นคุณภาพคนไม่ขึ้น และฟื้นเศรษฐกิจก็ไม่ขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้น ท่าทีของจิตใจโดยรวมต่อสถานการณ์นี้ ต่อวิกฤติ หรือสภาพทั้งหมดนี้ ต้องวางให้ถูกต้อง ตั้งหลักว่าให้วิกฤตินี้เป็นเวลาของการสร้างคน สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาตัว พัฒนาเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เป็นคนที่เข้มแข็ง อย่างที่ว่า มีทุกข์ไม่พรั่น เจอภัยไม่หวั่น แล้วก็มีความเพียรสร้างสรรค์ เริ่มด้วยเป็นนักผลิต ไม่จมอยู่กับความเป็นนักเสพ นักบริโภค

สังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีปัจจัย ๒ อย่างนี้เป็นตัวทำลายล้างที่ยิ่งใหญ่ คือ

๑. ความใฝ่เสพบริโภค ที่ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อ สำรวย อ่อนแอและประมาท ค่านิยมบริโภคนี้ เมืองไทยยังหนักมาก ต้องแก้ให้ได้

๒. ลัทธิรอผลดลบันดาล ซึ่งก็ทำให้อ่อนแอ และประมาทเช่นเดียวกัน เวลานี้ระบาดไปทั่วแล้ว

สองอย่างนี้ถ้าแก้ได้ เมืองไทยเดินหน้าไปแน่ๆ ย้ำอีกทีหนึ่งว่า

๑. ค่านิยมเสพบริโภค หรือ ความใฝ่เสพบริโภค จะต้องแก้ให้ได้ อย่างน้อยให้มีความเป็นนักผลิตมาเข้าดุลกัน ถ้าเป็นนักเรียนก็ต้องฝึกหัดพัฒนาความใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์ ต้องทำให้ได้ มิฉะนั้นจะเป็นนักเรียนนักศึกษาแต่เพียงชื่อ หรือโดยรูปแบบ หาสาระไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาค่านิยมเสพบริโภคให้ได้ แล้วเอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาใช้ในการศึกษาและสร้างสรรค์ โดยมีความใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก

๒. ไม่ยอมสยบแก่ลัทธิอ้อนวอนนอนคอยโชค หรือลัทธิรอผลดลบันดาล ต้องเข้มแข็ง มุ่งที่จะทำการให้สำเร็จผลด้วยเรี่ยวแรงความพากเพียรของตน ข้อนี้เป็นหลักพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติที่ท่านย้ำด้วยตัวอย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ทำไมเราไม่เอามาใช้

คติพระโพธิสัตว์นั้น เป็นแบบอย่างของการเพียรพยายาม ของการสู้ไม่ถอย ถ้าชาวพุทธหวังผลสำเร็จง่ายๆ ทางลัด อยากได้อะไรก็อ้อนวอนไปขอ พระพุทธศาสนาตัวจริงก็จะค่อยๆ เลือนลางหายไป เหลือแต่เปลือก หรือรูปแบบ

ลัทธิขอความช่วยเหลือ ลัทธิรอโชคช่วย ลัทธิหวังผลดลบันดาล เวลานี้กลาดเกลื่อนแพร่ไปทั่วสังคมไทย เป็นลัทธิตรงข้ามกับพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ลัทธิเหล่านี้ พระองค์อุตส่าห์มาประกาศอิสรภาพให้มนุษย์แล้ว มนุษย์โดยเฉพาะมนุษย์ไทยเรากลับถอยลงไป ไปอยู่ในสมัยก่อนพุทธกาลเสียนี่ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ต้องเข้มแข็งกันเสียที อย่าเป็นคนอ่อนแอ ปวกเปียก ป้อแป้ พอเจอทุกข์ก็ท้อแท้ หมดกำลัง หรือเจอทุกข์ก็ไปติดยากล่อม สองอย่างนี้กำลังครอบงำคนไทย ถ้าไม่แก้อันนี้พัฒนาไม่สำเร็จ

กู้แผ่นดินไทยก็ยังไม่พอ ต้องกู้ทั้งโลกนี้ให้ได้

ที่ว่าให้เป็นนักผลิตนั้น ยังเป็นจุดหมายขั้นต่ำ แต่ให้ได้แค่เป็นนักผลิตอย่างประเทศที่เขาเป็นนักผลิตกันน่ะ ให้ได้แค่นี้ก่อนเถอะ ต่อจากเป็นนักผลิตก็ให้ก้าวไปเป็นนักสร้างสรรค์ ซึ่งดีกว่านักผลิต เพราะนักผลิตนี้เป็นนักสร้างสรรค์ขั้นต่ำเท่านั้น ต้องไปเป็นนักสร้างสรรค์จึงจะดีแท้ๆ นักผลิตนี่ไม่แน่

การผลิต คือการสร้างหรือทำขึ้นใหม่ทางเศรษฐกิจ แต่การสร้างทางเศรษฐกิจนี้จะมาพร้อมกับการทำลายแทบทุกครั้งไป และมองแคบๆ ต่างจากนักสร้างสรรค์ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ปัญญา มุ่งแต่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ เพราะฉะนั้นนักสร้างสรรค์นั้น เมื่อจะผลิตก็จะต้องให้เป็นการผลิตที่เป็นการสร้างสรรค์ด้วย เวลานี้ที่เรากลัวนักก็คือการผลิตแบบทำลาย ซึ่งมีมากเหลือเกิน เราต้องพัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นนักสร้างสรรค์ให้ได้ เพื่อช่วยประเทศไทย และช่วยทั้งโลก

เวลานี้ทั่วทั้งโลกติดตัน ไม่ใช่ติดตันเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น อย่านึกว่าประเทศเจริญที่เรียกว่าประเทศพัฒนาแล้วนั้น เขาเจริญงอกงามดีแท้แล้ว ไม่เป็นเช่นนั้นหรอก เขาเองก็ประสบปัญหาจะตายอยู่แล้วเหมือนกัน ประเทศที่เราว่าเจริญมากน่ะ ไปดูไปศึกษาให้ดีเถอะ เขาเองก็คร่ำครวญปริเทวนาการ เขียนหนังสือมาเป็นสิบๆ เล่ม ว่าสังคมของฉันนี่จะแย่แล้ว

มีอะไรต่ออะไรมากมายที่กำลังบั่นทอนบ่อนทำลายมนุษยชาติ อารยธรรมมนุษย์ปัจจุบันนี้ถ้าประคับประคองไว้ไม่ดี จะสลายทั้งโลกเลย ปัญหาค้ำคอมนุษย์ ๒ อย่างที่แก้ไม่ตกเวลานี้คือ

๑. ปัญหาธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แก้กันมานานแล้ว มีการประชุมสุดยอดของโลกไป ๒ ครั้งแล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๗๒ และ ๑๙๙๒ แต่ยังไม่ไปไหน ๒๐ ปีผ่านไป เพียรพยายามเคลื่อนไหวจะแก้ปัญหากันมากมาย แต่สิ่งแวดล้อมก็เลวลง คนทำท่าเหมือนเดินไปข้างหน้าในการแก้ปัญหา แต่ตัวปัญหากลับแย่ลง

๒. ปัญหาความขัดแย้ง การเบียดเบียน และการทำลายกันในหมู่มนุษย์ ด้วยสงคราม และการก่อการร้าย เป็นต้น เรื่องนี้มนุษย์ที่ว่าเจริญนักหนาก็ยังแก้ไม่ได้ การแบ่งแยกทางเพศ ผิวพรรณ เผ่าพันธุ์ ยังรุนแรงหรือยิ่งรุนแรงมากขึ้น แม้แต่ศาสนาที่ว่าเป็นสิ่งดีงาม มนุษย์ก็ยังนำมาเป็นเหตุเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน

เมื่อมนุษย์ยังแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ แล้วจะบอกว่ามนุษย์พัฒนาได้อย่างไร

ปัญหาที่แก้ไม่ได้ ซึ่งหมักหมมอยู่ในปัจจุบัน เป็นหลักฐานฟ้องอยู่ตลอดเวลาว่า มนุษย์ยังไม่พัฒนา หรือยังพัฒนาไม่พอ เพราะฉะนั้นจึงต้องมาพัฒนาคนกันอย่างที่ว่าไปแล้ว

เวลานี้ทั้งโลกมีปัญหา อารยธรรมกำลังมาเกือบถึงสุดทางตัน คนไทยในฐานะที่เป็นพลโลกด้วย มีภาระไม่ใช่เฉพาะจะกู้เมืองไทยเท่านั้น จะต้องกู้โลกนี้ขึ้นมาด้วย อย่างน้อยช่วยดึงช่วยรั้งเพื่อนมนุษย์ให้มาเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่มีคุณภาพอย่างนี้ แม้แต่จะกู้เมืองไทยก็ไม่ไหว แล้วจะไปกู้โลกได้อย่างไร

ตอนนี้ เอาแค่อย่างที่บอกเมื่อกี้ก็ทำให้ได้ก่อนเถอะ คือ

๑. เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย

๒. ถึงแม้สุขสบาย ก็ยังสร้างสรรค์ต่อไป

ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นคนไม่ประมาท จัดว่าเป็นคนที่พัฒนาดีขึ้น

คนไทยเราตอนนี้กำลังประสบวิกฤติก็แก้ปัญหากันไป แต่พอแก้สำเร็จแล้ว ต่อไปเราจะต้องเผชิญกับขั้นที่สองอีก คือตอนที่สุขสบายแล้ว จะมัวนอนเสวยสุขเกิดความประมาทอีกหรือเปล่า ถ้าประมาทก็เวียนกลับมาเสื่อมอีกแน่ เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาคนให้ถึงขั้นที่ว่าแล้วให้ได้

การพัฒนาคนนี้คือทุนสำคัญที่สุด ตั้งแต่ ๓๐ ปีมานี้ก็ถึงกับใช้คำว่า ทรัพยากรมนุษย์ ทั้งๆ ที่มนุษย์นั้นไม่ใช่เป็นแค่ทรัพยากร มนุษย์สูงกว่าทรัพยากร แต่เอาละ แม้แต่ในแง่ที่เป็นทรัพยากรนี้ ก็ยอมรับกันว่า ทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุดในบรรดาทรัพยากรทั้งหลาย

บางประเทศมีทรัพยากรมนุษย์ดี ถึงแม้ทรัพยากรธรรมชาติจะไม่ค่อยมี ประเทศของเขาก็ยังพัฒนาได้ดีกว่าประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ แต่ทรัพยากรมนุษย์แย่ หลายประเทศทีเดียวที่ว่ามีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่ทรัพยากรมนุษย์ขาดคุณภาพ ก็ปรากฏว่าเอาทรัพยากรธรรมชาติไปให้ประเทศอื่นใช้หมด คนอื่นเป็นฝ่ายมาเอาไปใช้ ตัวเองก็เป็นแค่คนรับใช้

เพราะฉะนั้น เขาจึงบอกว่าความได้เปรียบเสียเปรียบนั้นอยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ประเทศที่เขาพัฒนาเดินหน้า เขาจึงเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดีแล้ว ถึงแม้ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติก็ไม่เป็นไร ก็ไปเอาจากประเทศอื่นที่ด้อยพัฒนากว่าได้ ตอนนี้ก็ใช้วิธีเอาเปรียบกันบ้าง ครอบงำกันบ้าง ใช้อำนาจทางตรงบ้าง ทางอ้อมบ้าง แต่รวมแล้วก็คือว่า โลกมนุษย์ปัจจุบัน แม้จะยังไม่พัฒนาเท่าไร ก็ยังเห็นคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ดีให้ได้

ถ้าพัฒนาคน แม้แต่ในแง่ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์นี้ไม่สำเร็จ ทรัพยากรธรรมชาติก็จะไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่จะล้างผลาญทำให้สูญสิ้นหมดไปเปล่าๆ ด้วย แล้วจะแก้วิกฤติเศรษฐกิจก็ไม่สำเร็จ หรือทำให้ดูเหมือนว่าสำเร็จ แต่เป็นภาพลวงตา ไม่ยั่งยืน ไม่มีแก่นสารอย่างที่ว่าแล้ว

เวลานี้เจอเศรษฐกิจฟองสบู่แล้ว ต่อไปถ้ายังพัฒนาคุณภาพคนไม่ได้ จะเจอเศรษฐกิจแบบอะไร ช่วยกันตั้งชื่อหน่อย อาจจะเป็นเศรษฐกิจน้ำเน่า เศรษฐกิจมอมเมา เศรษฐกิจทางลัด เศรษฐกิจรวยไว อะไรเหล่านี้ อย่าไปเอาเลย ให้เป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากความเพียรสร้างสรรค์ อย่างน้อยเกิดจากความสามารถในการผลิตให้ได้ และอันนี้ทำที่ไหน ก็ต้องทำที่ตัวคนใช่ไหม นี่แหละกู้ธรรมะละ กู้ธรรมะให้กลับมาอยู่ในตัวคน แล้วก็กู้ธรรมที่แท้ให้แก่สังคม ให้รู้จักเข้าใจกันให้ถูกต้อง

 

“ถ้าต้องเสีย(คุณค่าของ)คนไป ถึงได้เงินมา ก็อย่าเอาเลย”

แม่ชีศันสนีย์: การที่ผู้ใหญ่จะคิดหาเงินได้อย่างมักง่าย แต่เสียนิสัยของคนในชาติ เช่น บ่อนคาสิโน อย่างนี้เรียกว่ากล่อมไหมเจ้าคะ

พระธรรมปิฎก: ก็ยากล่อมนั่นแหละ ถือเป็นเศรษฐกิจยากล่อม แต่ขออภัยนะ มันเป็นเศรษฐกิจที่ลดค่าของความเป็นมนุษย์ คือเสียศักดิ์ศรีด้วย นี่ไม่ได้ว่าอะไรนะ ท่านที่เสนอแนวความคิดเรื่องนี้ก็ปรารถนาดีต่อประเทศชาติ คือทุกคนปรารถนาดีอยากจะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ แต่บางทีเราก็ต้องติติงให้สติกันบ้าง เพราะเศรษฐกิจอย่างนี้มันไม่ยั่งยืน พอได้มาง่ายๆ คนไทยก็ยิ่งลืมตัวเลย คราวนี้ก็ไม่พัฒนากันแล้ว

๑. นิสัยเดิมที่เคยเห็นแก่ง่าย เอาแต่สะดวกสบาย มองหาแต่จะเสพบริโภค จะเอาทางลัดง่ายๆ ก็จะซ้ำเติมหนักเข้าไปอีก

๒. สูญเสียศักดิ์ศรี ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ที่อาตมาพูดเมื่อกี้ ได้แต่พูดอ้อมๆ ไป ตอนนี้แม่ชีมาพูดตรงๆ อาตมาก็เลยพูดให้ชัดไปเสียเลย อย่างประเทศอเมริกา เขามีบ่อนคาสิโนก็เป็นทางได้เงิน เศรษฐีเมืองด้อยพัฒนาก็ไปเล่นกันเยอะ แต่มองดูภาพรวมของประเทศ เศรษฐกิจของเขาที่รุ่งเรืองไม่ได้มาจากเรื่องนี้ และที่เขาภูมิใจก็ไม่ใช่อันนี้ เศรษฐกิจที่เขาภูมิใจเป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากความเพียรสร้างสรรค์ที่ว่าเมื่อกี้ เขามีความสามารถในการผลิต แล้วก็พัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมา อันนี้ซิที่เขาภูมิใจ

คนอเมริกันจะพูดเสมอว่า ประเทศของเขาเจริญขึ้นมาด้วย work ethic คือ จริยธรรมแห่งการทำงาน อันนี้สิที่เขาภูมิใจอย่างยิ่ง ส่วนที่ Las Vegas นั้นเป็นเครื่องเล่นกระจอกกระจิบ ที่เมืองนั้นหรือแถบนั้นเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง ทำมาหากินอย่างอื่นแทบไม่ได้ ก็เลยหาทางเจริญ ทำของมักง่ายเอาไว้ล่อเด็ก พวกเด็กข้างนอกก็ไปเล่นสนุกๆ เอาสตางค์ไปให้เขา เป็นเรื่องประกอบ

ส่วนประเทศไทยของเรา เป็นทะเลทรายแห้งแล้งอย่างนั้นหรือเปล่า จะได้เอาเป็นเหตุผลไปอ้างแก่เขาว่าเราไม่มีทางทำมาหากินอย่างอื่น

ทีนี้ ถ้าเราเอาวิธีนี้มาใช้ ก็กลายเป็นว่าเราให้ความสำคัญถึงขั้นเอามาแก้ปัญหาของชาติไทย อย่างนี้ไม่ดีแน่ คนอื่นเมืองอื่นเขาจะดูถูกว่า คนไทยทำได้แค่นี้หรือ คนไทยไม่มีความเพียรสร้างสรรค์ที่จะทำอะไรด้วยความสามารถของตนเองหรือ จึงต้องเอาวิธีมักง่าย ถ้าใช้คำในทางธรรมท่านเรียกว่า เงินทองที่ได้มาด้วยการยอมลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่เดี๋ยวจะเป็นคำแรงไป แต่ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น เราต้องช่วยกัน คือ ต้องสู้ ใจต้องเข้มแข็ง อย่ายอมแพ้เห็นแก่สิ่งที่จะได้มาง่าย อย่าเห็นแก่การรวยทางลัด

คนไทยนี้ชอบนัก ชอบมานานแล้ว เรื่องลาภลอย และรวยทางลัด เช่น การพนัน หวย ฯลฯ ได้มาง่ายๆ เสี่ยงโชคเอาแล้วก็คอยรอ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเพียรพยายาม ไม่ต้องใช้ปัญญา เปลี่ยนเสียทีเถอะ เปลี่ยนมาเป็นว่าทำให้สำเร็จด้วยความพากเพียรและเข้มแข็ง สู้ยากบากบั่นในการผลิตและสร้างสรรค์ ต้องทำให้ได้ ถ้าไม่ได้อันนี้ก็อย่าไปภูมิใจกับมัน

เรื่องนี้ ถ้าสร้างให้เป็นทัศนคติ เป็นนิสัยจิตใจ เป็นสภาพจิตของคนไทยขึ้นมาได้ ก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงด้วย ความเป็นชาวพุทธตั้งต้นที่นี่ ถ้าเราเป็นคนชอบง่ายๆ ชอบรวยทางลัด เราจะเป็นคนผิวเผิน ฉาบฉวย ไม่เอาอะไรจริงจัง จะติดอยู่กับเรื่องตื่นเต้น มีข่าวอะไร ก็ไปฟังเขามาสนุกดี แล้วก็เอามาพูดกันสนุกปากไป ได้แต่ตื่นเต้นแล้วก็ผ่านไป จะดูหรือฟังอะไรก็เพียงเพื่อตื่นเต้น ไม่ใช่เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความจริง วิจารณ์อะไรก็เพียงเพื่อสนุกแล้วก็ทิ้งไป ไม่ใช่เพื่อจะคิดทำหรือเพื่อจะแก้ปัญหา ดูในสังคมไทยของเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า

ทางพระท่านก็บอกแล้วว่า คุณสมบัติของอุบาสกอย่างหนึ่งคือ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ต้องเป็นคนหนักแน่น ไม่หวังผลจากมงคล แต่หวังผลจากการกระทำ ด้วยการเพียรพยายามตามเหตุตามผล เราชอบเรื่องสนุกปาก เอามาเล่ากัน ตื่นเต้น ผ่านๆ ไป แล้วก็ไม่เอาจริงเอาจังอะไร จะศึกษาหาความรู้ให้จริงจังก็ไม่เอา จะทำอะไรก็ไม่ให้มั่นลงไป อย่างนี้ก็อยู่กับสิ่งที่เลื่อนลอย สิ่งที่ตื่นเต้นวูบวาบ สิ่งที่ผิวเผินฉาบฉวย

ที่ว่านี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้ เราควรเอามาพูดกัน เตือนสติกันเสียที มันเป็นมานานแล้ว จึงได้บอกว่า เราคงจะเสียคุณภาพคนไปก่อนแล้ว ก่อนที่เราจะมาเสียเศรษฐกิจ วิกฤติเศรษฐกิจตามมาทีหลัง คนมันแย่มานานแล้ว เหตุปัจจัยที่อยู่ในตัวคนมันโทรมเปลี้ยแล้ว ถึงตอนนี้แหละจึงเป็นโอกาสที่เราจะมาฟื้นกันเสียที เพราะถ้าไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ คนไทยเราก็จะหลงระเริงกันต่อไป แล้วก็เพลิดเพลินมัวเมาไม่เอาใจใส่ ตอนนี้ถูกตีให้ชะงักจึงอาจจะเริ่มฟังกันบ้าง แต่ฟังแล้วอย่าฟังเปล่าๆ นะ ต้องเอาไปทำด้วย

ต้องตั้งใจเอากันจริงๆ เสียที อย่าขอให้เพียงผ่านๆ ไปอีก เพราะคนไทยชอบอย่างนั้น เวลาฟังเรื่องก็ตื่นเต้นสนุกสนานกัน แต่พูดเสร็จแล้วก็ผ่านไป คราวนี้อย่าผ่านนะ เอาจริงๆ เสียที มาเริ่มต้นกันให้แข็งขันเลย

ถ้าจะแข่งกับเขา ก็ต้องมีกำลัง และตั้งต้นด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน

ขอแถมอีกหน่อย ได้พูดไว้ว่า จะแก้วิกฤติเศรษฐกิจให้ได้ผลจริง ต้องแก้วิกฤติคุณภาพคน และการสร้างคุณภาพคนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง ก็คือ จะต้องพัฒนาความสามารถในการผลิตขึ้นมาในตัวคนไทย

ได้พูดไว้ด้วยว่า ที่จริงความสามารถในการผลิตก็ยังไม่พอ ยังต่ำ ยังแคบ ยังน้อยไป แต่คนไทยเวลานี้แค่นี้ก็ให้ได้ก่อนเถอะ เหนือกว่านี้ ยังจะต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์ด้วย เพราะความสามารถในการผลิต ยังอยู่แค่เรื่องเศรษฐกิจ เราจะพัฒนาให้ชีวิตและสังคมมีสันติสุขจริง จะต้องสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ที่สูงเลิศประเสริฐกว่านั้น ในทางคุณภาพชีวิต ในเรื่องจิตใจ และในทางปัญญาด้วย

พูดกันให้ชัด แม้แต่ในด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ความสามารถในการผลิตก็ยังไม่พอ จะให้เศรษฐกิจเจริญมั่นคงดีจริง จะต้องเน้นที่ความสามารถเชิงสร้างสรรค์

ในโลกยุคที่อุตสาหกรรมก้าวมาไกลแล้วนี้ ประเทศที่ถือว่าเจริญทางเศรษฐกิจมากๆ ถึงกับบอกว่าตนผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว อย่างที่เรียกว่าเป็น postindustrial ในประเทศที่พัฒนามากแล้วพวกนี้ อุตสาหกรรมภาคผลิตสินค้ามีความสำคัญน้อยลง แต่ด้านที่ขึ้นมามีบทบาทเด่น คืออุตสาหกรรมภาคบริการ ที่เรียกว่า service industry

อย่างประเทศอเมริกาเวลานี้กำลังคนภาคบริการมีจำนวนเกือบ ๓ ใน ๔ ของแรงงานทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมภาคผลิตสินค้า ใช้กำลังคนเพียงประมาณ ๒๖ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะด้านการเกษตรใช้กำลังคนเพียงประมาณ ๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านอย่างนี้แล้ว ก็อย่าเพิ่งตื่นไปว่า ด้านผลิตสินค้าไม่สำคัญแล้ว เราจะต้องหันไปเน้นด้านบริการ ฟังแล้วอ่านแล้วก็ต้องพิจารณาแยกแยะวิเคราะห์ให้ดี ถ้ายังไม่ชัดทางปัญญา ก็ต้องค้นคว้าให้จะแจ้ง

เมืองอเมริกาเป็นต้น ที่ว่าใช้แรงงานภาคผลิตสินค้าน้อยนั้น ไม่ใช่ว่าการผลิตสินค้าไม่สำคัญ ต้องพูดว่าสำคัญ แต่ไม่พอ ประเทศพวกที่พัฒนาแล้วนั้น ที่เขาใช้กำลังคนในภาคผลิตสินค้าน้อย ก็เพราะเขามีความสามารถในการผลิตมามากจนเกินพอ คือคนน้อยแต่ผลิตได้มาก เช่นใช้เครื่องจักรมาทุ่นแรง หรือทำแทนไปเลยบ้าง ผลักหรือโยนอุตสาหกรรมหนักที่ใช้ความสามารถน้อยไปให้ประเทศด้อยพัฒนาทำเสีย(มาก)บ้าง แล้วเอากำลังคนที่พัฒนาดีให้มีฝีมือมีประสิทธิภาพของตนไปผลิตสินค้าพวกไฮเทค และงานด้านบริการต่างๆ

ประเทศอเมริกา ที่ว่าแรงงานด้านเกษตรเขาลดลงๆ จนเหลือแค่ ๓ เปอร์เซ็นต์นั้น เขาอวดได้ว่า ในช่วง ๕๐ ปี ผลผลิตรวมของชาติของเขาเพิ่มขึ้นๆ จนเกือบจะเป็น ๕ เท่า

ประเทศไทย ก่อนจะมองด้านบริการ ต้องจับด้านการผลิตให้ชัดเจนและมั่นคง โดยเฉพาะยุคที่แล้วมาควรจะยอมรับว่าพลาด การผลิตด้านการเกษตรที่ตัวก็ชำนาญและพื้นฐานก็ดี เช่น ธรรมชาติเอื้ออำนวย มีโอกาสที่จะทำได้ดีที่สุด กลับไปทิ้งเสีย คนที่จะเป็นกำลังการผลิตด้านเกษตรได้ดี ถูกปล่อยให้ทิ้งไร่นาไปเป็นกำลังผลิตที่ไร้ฝีมือ หรือไม่ค่อยมีฝีมือ หรือเป็นแรงงานราคาถูก ในการผลิตภาคโรงงานและการก่อสร้าง เข้าทำนองที่ว่า ดีที่ตัวมีก็ทิ้งให้หลุดมือไป ดีใหม่ที่จะเอาก็ทำไม่ได้

เวลานี้เจอวิกฤติต้องถอยกลับไปเน้นภาคเกษตร แต่ธรรมชาติก็ถูกทำให้เสื่อมโทรมไป ทุนที่ดินทำกินก็ขายหลุดมือไปเสียมาก ฝีมือความชำนิชำนาญและจิตใจของกสิกรก็ชักจะด้อยลงกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ตัวใหม่ จำไว้ให้ดี ถึงคติที่ว่า ดีเก่าที่ตัวมีต้องรักษาไว้ ดีใหม่ที่ยังไม่มีก็ต้องก้าวไปทำให้สำเร็จ

ความสามารถในการผลิตของไทยนั้น นอกจากจะต้องชัดเจนและมั่นคง ด้วยปัญญาที่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็น เรามีทุนพื้นฐานดีด้านไหนที่จะต้องรักษาและเสริมเป็นพิเศษแล้ว ก็ต้องไปโยงกับแนวคิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิด้วยว่า เราผลิตของกินของใช้เพื่อเป็นปัจจัยหนุนชีวิตและสังคมให้สามารถก้าวต่อไปในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป อย่างที่พูดข้างต้น ซึ่งจะทำให้เกิดความพอดี

นอกจากพัฒนาความสามารถในการผลิตให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ต้องพัฒนาความสามารถเชิงสร้างสรรค์ เช่น ในการที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดียิ่งขึ้น เป็นต้น ตลอดจนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรืออย่างประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องแข่งกันในการพัฒนาความคิดและกระบวนการผลิตในด้านไฮเทค

แต่คำว่า “สร้างสรรค์” เวลานี้ ก็เป็นคำที่กำกวม ความหมายไม่ชัดเจน คนฉลาด เก่ง คิดทำอะไรใหม่ๆ หรือก้าวหน้าไปได้ ก็เรียกว่าสร้างสรรค์ บางทีสิ่งที่ทำนั้น ในวงกว้างหรือในระยะยาวอาจเป็นการทำลายก็ได้ พูดง่ายๆ ไม่ต้องบรรยายกันยาว ว่าเป็นเพียงการสนองโลภะ โทสะ และโมหะ ควรจะจำกัดความหมายของการสร้างสรรค์ให้เป็นเรื่องของความดีงามและประโยชน์สุขของชีวิต ของสังคม และของโลกทั้งหมดเท่านั้น

คำว่า “อุตสาหกรรมบริการ” นั้น น่าจะต้องระวังเป็นพิเศษ เดี๋ยวจะคิดว่า อ้อ ฝรั่งเจริญอย่างนี้ ถ้าเรามีกิจการด้านบริการมากๆ แล้วแสดงว่าประเทศเจริญ ต้องแยกแยะให้ดี บางทีมีงานด้านบริการเยอะๆ ก็อาจจะกลายเป็นเสื่อมเต็มที่

อุตสาหกรรมบริการมีมากมายหลายชนิด บริการประเภทรับใช้อำนวยความสะดวก อย่างโรงแรม การนำเที่ยว ฯลฯ ก็มี ประเภทให้ความสนุกสนานบันเทิง บำรุงบำเรอก็มี ช่วยบำบัดทุกข์แก้ไขปัญหา อย่างการแพทย์ การว่าความ เป็นต้น ก็มี ประเภทนำเสนอข่าวสาร ให้ความรู้ อบรมสั่งสอน อย่างสื่อมวลชน การเป็นครูอาจารย์ งานค้นคว้าวิจัย เป็นต้น ก็มี เป็นเรื่องการเงิน การธนาคาร ก็มี ฯลฯ

ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมบริการมากมาย แต่ดูจะหนักไปทางด้านรับใช้ อำนวยความสะดวก และสนุกสนานบันเทิง บางอย่างมีชื่อเสียงเด่นไปทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการทางเพศ และแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตยาเสพติด จนหนังสือฝรั่งขั้นตำรับตำรา เอาไปตีเป็นตราหรือเป็นภาพลักษณ์ของเมืองไทย ต้องแยกแยะให้ชัดว่าอุตสาหกรรมบริการอย่างไหน จึงจะทำให้ประเทศเจริญงอกงามได้ดี

บริการทั้งหลายจะเจริญงอกงามได้ผลดี ก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แต่งานบริการสำคัญยิ่งยวด ที่ต้องการความสามารถในการคิดสร้างสรรค์อย่างสูง และเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าด้านอื่นๆ พร้อมทั้งอำนาจและอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ก็คือ อุตสาหกรรมบริการทางปัญญา

อเมริกาปัจจุบันมีสินค้าและบริการเด่นมากทางด้านการบันเทิง เป็นเจ้าอิทธิพลที่สร้างแฟชั่น กระแสค่านิยมและวัฒนธรรมไปทั่วโลก จนบังตาคนในประเทศล้าหลังให้ติดเพลินชื่นชมและมองภาพความเจริญอย่างผิวเผินและฉาบฉวยอยู่แค่นั้น แต่เบื้องหลังบริการบันเทิงเหล่านั้น สิ่งที่เป็นฐานรองรับ เป็นสื่อ และเป็นพาหะ ก็คือความเป็นเจ้าทางด้านบริการข่าวสารข้อมูล รวมทั้งวิชาการต่างๆ และแม้แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งประสานกับความก้าวหน้าในความสามารถเชิงสร้างสรรค์ด้านไฮเทค โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา

รายงานเศรษฐกิจประจำปี ๑๙๙๗ ของสารานุกรมบริแทนนิกาบอกว่า ในอเมริกาปี ๒๕๓๙ เศรษฐกิจภาคที่มีพลังก้าวหน้ามากที่สุด ก็คือ ไฮเทค โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้กิจการด้านนี้ เพิ่มค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ๒๐๐-๓๐๐ เท่า และสร้างเศรษฐีใหม่ขึ้นมาเป็นแถวๆ

ถ้าจะแก้วิกฤติเศรษฐกิจกันจริงๆ หรือจะสู้เขาให้ได้ในระบบแข่งขันของโลก (ไม่ต้องพูดถึงว่าจะก้าวขึ้นไปแก้ปัญหาของโลก) อย่ามัวอยู่กับยากล่อมทั้งหลาย จะต้องใช้ปัญญากันให้มาก จับให้ได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยตัวแท้ตัวจริง ในการที่จะแก้ปัญหา และสร้างสรรค์ความเจริญ แม้แต่ในความหมายแคบๆ ด้านเศรษฐกิจ

 

ไหวหรือไม่ไหว ก็จะได้พิสูจน์กันคราวนี้

ที่ผ่านมาและเวลานี้ ธุรกิจมีบทบาทสำคัญที่สุด เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งเป็นแบบทุนนิยม ธุรกิจเป็นตัวนำ ดำเนิน ประสาน ชักพา หันเห พลิกผัน หมุน ปั่น และปั้นแต่ง รวมทั้งเป็นตัวการสำคัญที่พาเมืองไทยมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้

ถ้าธุรกิจพ่วงไปกับอุตสาหกรรมผลิตสินค้าและบริการ ที่ประกอบด้วยความสามารถในการผลิต และในการคิดสร้างสรรค์ เศรษฐกิจก็จะเป็นแก่นสารและมีฐานที่มั่นคง แต่ในยุคที่ผ่านมา ธุรกิจของไทย เป็นแบบฉลาดอย่างขาดการสร้างสรรค์เสียมาก เป็นนักปั่น นักหมุน กันเยอะ ไม่มีเนื้อใน ได้แต่ปั่น เช่น ปั่นเงิน ปั่นหุ้น เป็นต้น เป็นฟองสบู่ ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นเหยื่อของนักปั่นแท้ ที่มีฐานแข็งกว่า ที่ปั่นซ้อนปั่น ทั้งหมุนทั้งปั่น คือฝรั่ง เลยแทบจะพาประเทศชาติไปสู่ความวิบัติ จนต้องมาคิดกู้แผ่นดินกันอยู่นี่

ถ้าจะให้ประเทศไทยก้าวไปในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี คนไทยจะต้องมองธุรกิจไทยให้ชัด ว่าเรามีความสามารถที่จะแข่งขันกับเขาได้จริงหรือไม่ และพยายามพัฒนาธุรกิจไทยให้แข็งแกร่งด้วยปัญญาเชิงสร้างสรรค์ อย่าไปชื่นชมกับธุรกิจแบบ ศรีธนญชัย จะต้องให้ธุรกิจนั้นดำเนินไปกับอุตสาหกรรม ทั้งด้านสินค้าและบริการ ที่ตั้งอยู่บนฐานของความสามารถในการผลิตและความเพียรสร้างสรรค์

พวกที่เราเรียกเขาว่าอารยประเทศนั้น เขาพูดกันถึง “ระบอบโลกใหม่” (new world order) และเขาก็จะจัดสรรระบอบโลกใหม่นั้น เราภูมิใจเพียงแค่จะได้ไปอยู่ในระบอบโลกใหม่ที่เขาจัดให้เท่านั้นหรือ

ระบอบโลกอย่างใหม่ที่เขาจัดสร้างขึ้นนั้น เขาว่าจะให้มีสันติสุขมากขึ้น แต่ก็ไม่ไปไหน ก็มีแต่ส่งเสริมและเต็มไปด้วยการแข่งขันทางเศรษฐกิจ (economic competition) ซึ่งโยงเอาการเป็นคู่แข่งทางการเมือง (political rivalry) ติดมาด้วย การแข่งแบบนี้ย่อมแฝงความเป็นปฏิปักษ์กันอยู่ในตัว แล้วโลกจะมีสันติสุขแท้ได้อย่างไร เราไม่มีความสามารถหรือคิดจะพัฒนาความสามารถที่จะมีส่วนร่วมสร้างระบอบโลกใหม่ที่ดีงามขึ้นบ้างหรือ จะภูมิใจอยู่แค่ได้ขึ้นไปเต้นบนเวทีที่เขาสร้างและกำกับการแสดงเท่านั้นหรือ

ได้ยินคนไทยเรามักจะพูดว่า “รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” ทำไมเราไม่พูดเน้นถึงการ “ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” เหมือนกับว่า ลึกลงไปในใจ เราเคยชินอยู่กับแนวคิดตามลัทธิคอยโชค หรือลัทธิรอผลดลบันดาล และการหวังความช่วยเหลือ ควรจะตื่นขึ้นมามองและมุ่งที่จะ “ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรและสติปัญญาของเรา

วิกฤติคราวนี้ ที่ไทยเป็นหนี้ ไอเอมเอฟ ๑๗,๐๐๐ ล้านดอลลาร์นั้น มากมายยิ่งนัก หลายคนท้อใจว่าคงจะไม่มีทางหลุดออกไปได้ ถ้าคิดตามอัตรา เมื่อ ๑ ดอลลาร์มีค่า ๔๒ บาท หนี้ก็เป็นเงินไทยเกินกว่า ๗ แสนล้านบาท แต่ถ้าไม่มัวละห้อยละเหี่ยอยู่ มาสร้างเศรษฐกิจใหม่กันบนฐานที่แข็งแรง คือความสามารถในการผลิตและคิดสร้างสรรค์นั้น การที่จะฟื้นตัวขึ้นมาก็ไม่เหลือวิสัยแต่อย่างใด

เพียงเงินไทยแข็งขึ้นมาหน่อย ถ้าเป็น ๓๐ บาทต่อดอลลาร์ หนี้ก็ลดหายไปทันทีถึง ๒ แสนกว่าล้านบาท ถ้าเกิดเงินไทยแข็งขึ้นมากลายเป็น ๑ บาท ต่อ ๒ ดอลลาร์ หนี้ก็เหลือเพียง ๘ พันห้าร้อยล้านบาท จริงอยู่ เรื่องเศรษฐกิจซับซ้อนกว่าที่จะพูดง่ายๆ อย่างนี้ แต่ก็พูดไว้ให้เห็นตัวอย่างถึงความเป็นไปได้ ซึ่งอยู่ที่ความเข้มแข็งและมุ่งมั่นตั้งใจจริงอย่างมีปัญญา

อย่าลืมว่าเมืองไทยเราเป็นหนี้ต่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะหนี้ IMF คราวนี้เท่านั้น เราเป็นหนี้มาก่อนนี้นานแล้ว สะสมมาเรื่อยๆ และไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลเป็นหนี้ เอกชนก็เป็นหนี้อย่างหนัก เวลานี้เมืองไทยเป็นหนี้ต่างประเทศรวมแล้วเกือบ ๙ หมื่นล้านเหรียญอเมริกัน ถ้าคิดอัตราดอลลาร์ละ ๓๖ บาท ก็ติดหนี้เป็นเงินไทยราว ๓ ล้านล้านบาท ทั้งหมดนี้ ถ้าเราเดินถูกทาง ตั้งตัวให้ดีก็ต้องแก้ได้

ข้อสำคัญ ต้องไม่เป็นเพียงนักเสพนักบริโภค แต่ต้องเป็นนักผลิต นักสร้างสรรค์ ต้องเป็นคนที่หวังผลจากการกระทำ ไม่ใช่หวังผลจากการดลบันดาล

การขอและรอผลดลบันดาลนั้น ง่ายดี และสบายด้วย เพราะไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่รอ นั่งนอนกริ่มๆ กระหยิ่มใจ คอยชื่นชมอำนาจความยิ่งใหญ่ของท่านที่จะมาทำให้ แต่นี่คือลัทธิกล่อมใจ และก็คือความประมาท ที่จะทำให้อ่อนแอลงเฉพาะหน้า และพาสู่หายนะระยะยาว

ถ้ามัวแต่เป็นนักขอผลดลบันดาลกันอยู่ ต่อไปชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ท่านจะบันดาลให้ สังคมของตนจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ใครที่มีอำนาจยิ่งใหญ่จะมาดลบันดาล ที่เจอวิกฤติเศรษฐกิจก็เพราะฝรั่งดลบันดาล แล้วก็รอต่อไปว่า ฝรั่งคงจะมาช่วยดลบันดาลให้สังคมของเราพ้นวิกฤติ นี่แหละคือชะตากรรมของนักขอและนักรอผลดลบันดาล

ควรจะพัฒนาตัวขึ้นมาให้มีความสามารถที่จะดลบันดาลกับเขาบ้าง อย่างน้อยก็ให้สามารถมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของโลก ไม่ใช่มัวแต่รอให้เขากำหนดให้

ต้องเข้มแข็ง มีความเพียรที่จะสร้างผลสำเร็จขึ้นด้วยเรี่ยวแรงการกระทำความสามารถและสติปัญญาของตน อย่าเป็นนักหวังลาภลอย หรือรวยทางลัด อย่างที่ฝรั่งเอาไปเขียนใส่สารานุกรม เป็นหนังสือบ้าง เป็น CD-ROM บ้าง เผยแพร่เหมือนประจานเมืองไทยไปทั่วโลก

ตัวอย่างเช่น Encarta Encyclopedia 1998 และ 1999 ที่บรรยายสภาพเมืองไทย(Thailand)ว่า “ผู้ชายชาวต่างประเทศมาเพื่อดูหญิงงามของประเทศไทย และหาความสุขจากอุตสาหกรรมกามารมณ์ ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู” อีกตอนหนึ่งว่า “เวลานี้ (ในเมืองไทย) ทุกคนรีบไปๆ ใจก็นึกถึงแต่เงินๆ . . . โสเภณี ยาเสพติด การทำลายป่า มลภาวะ การอยู่กันแออัดยัดเยียด-ปัญหาทุกอย่างทั้งหมดนี้ สืบสาวหาเหตุแล้ว ก็มาจากความอยากรวยลัดรวยเร็ว (quick baht) อย่างเดียวแท้ๆ”

ผลเกิดจากเหตุ เหตุปัจจัยก่อให้เกิดผล ขณะนี้ ไทยเราก็ประสบผลแล้วคือวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลร้าย แต่เหตุปัจจัยของมันคืออะไร คิดที่จะค้นหาและแก้ไขกันให้จริงจังหรือยัง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายที่ไม่คาดฝัน ก็ย่อมตกใจ เสียใจ ระทมทุกข์ ฯลฯ กันได้เป็นธรรมดา แต่ถึงขณะนี้ หมดเวลาแล้วที่จะมัวระทดระทวย ละห้อยละเหี่ย กล่อมใจปลอบใจกัน ควรจะลุกขึ้นมาใช้ความเพียรและปัญญาเดินหน้าให้จริงจังเสียที สร้างเศรษฐกิจที่มีแก่นสาร บนฐานที่มั่นคง คือความสามารถในการผลิต และการคิดสร้างสรรค์

ถ้าทำได้แค่นี้ ในแง่เศรษฐกิจ ก็แก้ปัญหาของไทยได้ แต่เรายังจะต้องก้าวต่อไปอีก เพื่อแก้ปัญหาของโลกให้ได้ด้วย โดยนำมนุษย์เข้าสู่แนวคิดที่ถูกต้อง ว่าการพัฒนามิใช่เพื่อเศรษฐกิจรุ่งเรืองเป็นจุดหมาย แต่เพื่อจะได้เอาเศรษฐกิจที่เพียงพอและมั่นคงเป็นฐาน ในการที่จะสร้างสรรค์ชีวิต สังคม และโลกที่ดีงาม มีสันติสุขสืบไป

สำหรับเฉพาะหน้าตอนนี้ ที่จะเริ่มต้นกันได้ ก็อย่างที่พูดไปแล้ว ซึ่งขอย้ำอีกที

๑. มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น

๒. มีความเพียรสร้างสรรค์ โดยใช้สติปัญญา

๓. ร่วมกันเผชิญทุกข์เผชิญปัญหา พากันเดินหน้าต่อไป

ที่ว่านี้ขยายความว่า ในแต่ละคนให้มีคุณสมบัติแห่งความเข้มแข็ง และสร้างสรรค์อยู่เป็นพื้นฐาน แล้วก็มารวมกำลังกันอีกทีหนึ่งทั้งหมดทั้งสังคม ตอนนี้จะต้องปลุกใจกันใน ๓ ประการนี้

เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น อย่าไปมัวกล่อมกันอยู่ ให้ตั้งท่าทีต่อสถานการณ์และต่อข่าวให้ถูกต้อง เช่น ข่าวความช่วยเหลือของต่างประเทศนี่แหละดีนัก ตั้งท่าทีกันให้ถูก อย่าไปตั้งท่าทีแบบเพลิน แหม ได้แล้ว ฉันดีใจ หายทุกข์แล้ว เราจะพ้นวิกฤติละ แล้วก็เฉื่อยลง อย่างนั้นใช้ไม่ได้

ต้องตั้งจิตมองด้วยท่าทีว่า นี่คือความจำใจนะ ที่เราต้องรับความช่วยเหลือ แล้วจะต้องตั้งใจว่า เราจะต้องพ้นไปจากภาวะนี้ให้ได้ เราจะไม่มามัวชื่นชมและหลงระเริงภูมิใจกับการได้สิ่งเหล่านี้มาง่ายๆ ถ้ามัวคิดว่าฉันมีคนมาช่วยเหลือแล้ว ไม่เป็นไรแล้ว ก็ชวนให้น้อมไปในความประมาทตามเคย

อะไรก็ตามที่จะทำให้ประมาท ต้องถือว่าผิดทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสย้ำแล้วย้ำอีกว่า ความไม่ประมาทเป็นธรรมเอก เปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง รอยเท้าสัตว์บกทุกชนิดลงได้ในรอยเท้าช้างฉันใด ธรรมทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนก็ลงได้ในความไม่ประมาทฉันนั้น ลงได้มีความไม่ประมาทอย่างเดียว ธรรมอย่างอื่นก็เกิดผลหมด ทำหมด รู้แค่ไหน แม้แต่รู้ธรรมข้อเดียวก็ทำข้อนั้น รู้ ๑๐ ข้อก็ทำ ๑๐ ข้อ รู้ทั้งหมดก็ทำทั้งหมด แต่ถ้าประมาทอย่างเดียว รู้เท่าไรก็ไม่ทำสักอย่าง เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงครอบคลุมธรรมะไว้หมด พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นเหลือเกิน

ขอจบลงด้วยคำเน้นที่ว่า ถ้าไม่ประมาท จะไม่ต้องพบความเสื่อม จะหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ขอให้เราพากันไม่ประมาท สร้างความเข้มแข็งขึ้นมา เพียรใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ และร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่าเดินหน้าต่อไป

 

การขอและรอผลดลบันดาลนั้น ง่ายดี และสบายด้วย เพราะไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่รอ นั่งนอนกริ่มๆ กระหยิ่มใจ คอยชื่นชมอำนาจความยิ่งใหญ่ของท่านที่จะมาทำให้ แต่นี่คือลัทธิกล่อมใจ และก็คือความประมาท ที่จะทำให้อ่อนแอลงเฉพาะหน้า และพาสู่หายนะระยะยาว”

“. . . ขอให้เราชาวพุทธลุกขึ้นมากู้ธรรมะให้แก่แผ่นดินไทย โดยเริ่มต้นที่ในหัวใจของเรา แล้วก็มาชวนกัน และปลุกใจกันให้

๑. มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น

๒. มีความเพียรสร้างสรรค์ โดยใช้สติปัญญา

๓. ร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่า เดินหน้าต่อไป

ถ้าทำได้เพียง ๓ อย่างเท่านี้ ก็กู้ธรรมะได้ และกู้แผ่นดินไทยสำเร็จ”

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.