เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร?

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๑ -
พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้มวลมนุษย์

ความหมายของวันวิสาขบูชา โดยสัมพันธ์กับวันสำคัญอื่นๆ

วันวิสาขบูชามีความหมายอย่างไร? สำหรับที่ประชุมนี้คงไม่จำเป็นจะต้องอธิบายให้ละเอียดลออ เพราะว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธา มีความรู้ความเข้าใจอยู่พอสมควรแล้ว

เราทราบกันดีว่า วันวิสาขบูชานั้น เป็นวันที่เรามาประกอบการบูชา เพื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดา ในโอกาสแห่งวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระองค์

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการประสูติก็ตาม ตรัสรู้ก็ตาม ปรินิพพานก็ตามนั้น อย่างที่กล่าวเบื้องต้นแล้วว่าคงไม่จำเป็นจะต้องมาทบทวนกันในที่นี้ แต่สาระสำคัญของวันวิสาขบูชานั้น ก็เพื่อให้เราได้ประโยชน์ คือให้ประโยชน์เกิดขึ้น ทั้งแก่ตัวเรา คือชีวิตของเรา และแก่สังคมของเรา

การที่เราบูชาพระพุทธเจ้า ความจริงเราไม่ได้ทำเพื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คงไม่ทรงต้องการประโยชน์อะไรจากพวกเรา แต่การที่เราบูชานี้ ประโยชน์ก็เกิดแก่ตัวของพวกเราเอง ถ้าเรารู้ความหมายรู้เหตุรู้ผลในการบูชา รู้ว่าประโยชน์อะไรที่เราควรจะได้ และรู้ว่าเราควรจะบูชาอย่างไร ก็จะยิ่งได้ประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น การบูชาที่จะมีผลดีก็คือการบูชาที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ

วิสาขบูชานั้น พูดสั้นๆ ว่ามีความหมายหลายอย่าง บางทีเราบอกว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า ทั้งนี้โดยเทียบกับวันอื่น กล่าวคือ ในบรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เราประกอบพิธีบูชากันในรอบปีนั้น เราถือว่า วันวิสาขบูชานี้ เป็นวันพระพุทธเจ้า เพราะเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

วันมาฆบูชา เราบอกว่าเป็นวันพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมที่เรียกกันว่า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือไม่ทำชั่ว ทำดี และทำใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเราถือว่าเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา รวมอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักนี้ในวันมาฆบูชา ก็คือแสดงหัวใจของธรรม เราก็เลยเรียกวันมาฆบูชาว่าวันพระธรรม

ส่วนวันอาสาฬหบูชานั้น เราบอกว่าเป็นวันพระสงฆ์ เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มประกาศพระศาสนา โดยทรงแสดงปฐมเทศนา และในบรรดาผู้ที่ได้ฟังในวันนั้น ก็มีท่านหนึ่งที่ได้บรรลุธรรม ได้เป็นปฐมสาวก คือเป็นสาวกองค์แรก เท่ากับเกิดมีพระสงฆ์ขึ้นมา เราจึงเรียกว่าเป็นวันพระสงฆ์ ที่ว่านี้ก็เป็นความหมายอย่างหนึ่ง

ถ้าพูดให้สั้นกว่านั้น อาจจะบอกว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า โดยมีความหมายว่าเป็นวันปลุกใจชาวพุทธ และปลุกจิตชาวโลก เพราะคำว่า “พุทธะ” หรือ พระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้ตื่น ตื่นก็โยงไปถึงรู้ แล้วก็เบิกบาน คำสำคัญก็คือตื่น ซึ่งหมายความว่าตื่นจากหลับ และตื่นจากความหลงใหล พ้นจากอวิชชา พ้นจากโมหะ

เมื่อพระพุทธเจ้าตื่น พวกเราชาวโลกหรือสรรพสัตว์ทั้งหลายยังไม่ตื่น ยังหลับใหลอยู่เป็นจำนวนมาก พระองค์จึงมาปลุกให้ตื่นเพื่อจะได้เป็นพุทธะด้วย เพราะฉะนั้นวันพระพุทธเจ้าจึงมีความหมายว่าเป็นวันที่โลกบังเกิดมีท่านผู้ที่จะมาปลุกให้คนทั้งหลายตื่นขึ้นจากความหลับใหลด้วยกิเลส มีโมหะ เป็นต้น

สภาพของมนุษย์ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประกาศอิสรภาพ

อีกอย่างหนึ่ง เราอาจจะเรียกวันวิสาขบูชาว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์ อันนี้มีความหมายพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายยืดยาว ที่จริงเหตุการณ์แห่งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น แต่ละอย่างมีความหมายทั้งสิ้น

ในการประสูตินั้นมีพุทธพจน์กำกับอยู่ ท่านกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเมื่อประสูติได้ตรัสพระวาทะ ที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อาสภิวาจา (วาจาอาจหาญ) ว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เมื่อได้ยินคำนี้บางคนอาจจะมองว่า ทำไมพระพุทธเจ้ามาอวดอ้างพระองค์ จะต้องเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ เป็นการตรัสในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของมนุษย์ แต่ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ที่พัฒนาตนดีแล้ว

เมื่อมนุษย์พัฒนาตนสมบูรณ์แล้ว ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองนี้ มนุษย์ก็จะกลายเป็นผู้ประเสริฐ มนุษย์ที่เคยหวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ที่ดลบันดาลภายนอก ก็กลายเป็นผู้มีอิสรภาพ

เรื่องนี้ตรัสโดยสัมพันธ์กับสภาพของสังคมอินเดียโบราณ ซึ่งเป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น หรือพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ลองหันไปดูสังคมอินเดียโบราณ และแม้แต่ไม่โบราณ คือปัจจุบันนี้เอง ซึ่งอาจจะโยงมาถึงประเทศไทยด้วย ผู้คนทั้งหลายนั้น อยากจะดำเนินชีวิตที่ดี อยากจะมีความสุข อยากจะพ้นทุกข์พ้นภัย อยากจะได้สิ่งที่หวังที่ต้องการ เมื่อเขามีความปรารถนาอย่างนี้ เขามองไปที่ไหน เขามักจะมองออกไปข้างนอกว่าจะมีใครมาช่วยเรา โดยเฉพาะก็เชื่อว่ามีเทพเจ้าเป็นต้น ที่มีอำนาจดลบันดาล ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่การดลบันดาลของท่าน เราต้องฝากโชคชะตาไว้กับเทพเจ้าเป็นต้นเหล่านั้น ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ

เมื่อเชื่ออย่างนี้ คนอินเดียสมัยโบราณ ก็ต้องหาวิธีที่จะให้เทพเจ้าผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลนั้นมาช่วยเหลือ จึงได้ประดิดประดอยวิธีที่จะเอาอกเอาใจเทพเจ้า ที่เรียกกันว่าการเซ่นสรวงบูชา การประดิษฐ์ตกแต่งคิดหาวิธีเอาอกเอาใจเทพเจ้านี้ ได้พัฒนามาเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าการบูชายัญ ไม่ว่าที่ไหนในสมัยโบราณ ถ้าจะเอาใจเทพเจ้าก็มาลงที่การบูชายัญ

แต่การเอาอกเอาใจเทพเจ้าที่เราไม่รู้ว่าท่านต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไรนั้น เอาใจลำบากมาก เราจึงต้องคิดเอาเอง คิดไปคิดมาก็พยายามปรุงแต่งวิธีจนกระทั่งยิ่งใหญ่มาก คิดว่าเทพเจ้าท่านมีอำนาจมาก บางองค์ก็ดุ คงชอบชีวิต ก็เลยเอาสัตว์มาฆ่าบูชายัญ ถ้าแค่เรื่องเป็ด เรื่องไก่ ก็คงง่าย แต่ต่อมาก็เอาวัว เอาแกะ เอาแพะ มาบูชายัญ แล้วก็ต้องทำเป็นการใหญ่ทีละมากๆ เช่น วัว ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ เวลาผ่านมาคิดว่าเท่านี้เทวดาคงยังไม่พอใจ เทพเจ้าบางองค์อาจจะพอใจชีวิตคน ก็เลยเอาคนมาฆ่าบูชายัญ อย่างเจ้าแม่กาลี ก็ต้องเอาหญิงสาวพรหมจารีมาฆ่าบูชายัญ

การเอาอกเอาใจเทพเจ้าและอำนาจที่เรามองไม่เห็น ที่เราไม่รู้ใจอย่างนี้ จะเป็นเรื่องที่ไม่มีที่สิ้นสุด ให้มองได้เลยว่า ไม่ว่าใครถ้าอยู่ในลัทธิความเชื่ออย่างนี้ ก็จะเดินไปจนกระทั่งถึงจุดที่ว่านั้น และในที่สุดก็ต้องหาอะไรมาเป็นกรอบกั้น อย่างอินเดียนั้น เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้เอาคนไปฆ่าบูชายัญ อย่างนี้เป็นต้น สังคมปัจจุบันนี้ก็กำหนดจำกัดขอบเขตกันด้วยกฎหมายและให้มีการลงโทษ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เกิดความกลัว เป็นการยับยั้งด้วยความกลัว ไม่ใช่เรื่องของสติปัญญา

รวมความก็คือว่า มนุษย์มองไปข้างนอก แสวงหาและหวังผลสำเร็จจากอำนาจดลบันดาล และรอคอยความช่วยเหลือ เป็นกันมาอย่างนี้ บูชายัญกันอยู่อย่างนี้

วันวิสาขบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มวลมนุษย์

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ก็มาตรัสสอนใหม่ว่า อย่ามัวไปมองข้างนอกเลย ให้ดูความจริงที่ตัวเราเองนี่แหละ และดูโดยสัมพันธ์กับความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด ว่าชีวิตของเราก็ตาม สิ่งทั้งหลายรอบตัวของเราก็ตาม มันมีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เรียกง่ายๆ ว่ากฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ กำกับทุกสิ่งทุกอย่าง ผลเกิดจากเหตุ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อเราต้องการผลเราก็ต้องทำเหตุ แต่การที่จะให้เกิดผลสำเร็จคือการที่เราจะทำให้ตรงเหตุได้ เราจะต้องมีความรู้ คือต้องมีปัญญา

สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เราจะรู้และทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้นได้ เราก็ต้องมีปัญญา ทำอย่างไรเราจะมีปัญญา เราก็ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตัวเองให้มีปัญญานั้น เมื่อเรารู้ คือมีปัญญารู้เข้าใจเหตุปัจจัย เราก็ทำเหตุได้ถูกต้อง ผลที่ต้องการก็เกิดขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อผลที่เราต้องการนี้เกิดจากการทำเหตุ เราจะทำเหตุเราก็ต้องใช้เรี่ยวแรงกำลังของเราทำมัน คือต้องเพียรพยายาม เพราะฉะนั้น ผลสำเร็จที่เราต้องการ จึงเกิดจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตัวเราเอง นี้คือหลักของเหตุผล เป็นเรื่องของธรรม คือกฎธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัย และเรื่องของกรรม คือการกระทำของมนุษย์ที่จะให้เกิดผลตามธรรม คือตามกฎแห่งเหตุปัจจัยนั้น

จากหลักการที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าจึงดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม และพระองค์ก็สอนว่าธรรมนี้แหละสูงสุด เทพเจ้าถึงมีอำนาจมากมายยิ่งใหญ่อย่างไร ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของธรรม เทพทั้งหลายไม่เหนือธรรมไปได้ คือไม่เหนือความจริง ไม่เหนือกฎธรรมชาติ ตัวเทพทั้งหลายเองก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ และต้องวัดด้วยธรรม อย่างเทพที่ว่าไม่ดี เอาแต่ใจชอบของตัวเอง ใช้อำนาจข่มเหงให้มนุษย์เกรงกลัว ต้องเซ่นสรวงสังเวยบูชายัญ เอาใจไม่ถูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หรือเทพที่ดีที่ว่ามีเหตุมีผล ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้จะตัดสินด้วยอะไร ก็ตัดสินด้วยธรรม เป็นอันว่าเทพก็ต้องเอาธรรมเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้น ธรรมจึงสูงกว่าเทพ ธรรมต้องเหนือเทพ

ถ้าเราขึ้นสูงสุดไปนับถือธรรมเลย เราก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเทพ เพราะทั้งเทพและเราก็ต้องเคารพธรรมด้วยกัน เพียงแต่ว่าเราก็อยู่กับเทพอย่างเป็นมิตร มีเมตตา เราไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นท่าน แต่เราไม่ต้องขึ้นต่อเทพ เราไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือ ไม่ต้องหวังผลดลบันดาลจากท่าน เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามธรรม การถือธรรมเป็นใหญ่ ยกธรรมเป็นสูงสุดนี้ เป็นเกณฑ์ตัดสินความเป็นชาวพุทธอย่างสำคัญ

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนคนให้ย้ายจากเทพมาสู่ธรรม อันนี้คือความหมายสำคัญแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ คือ การประกาศหลักการที่ให้ถือธรรมเป็นใหญ่สูงสุด

จุดนี้เป็นข้อที่จะต้องย้ำเน้นกัน เพราะว่าแม้แต่ปัจจุบันนี้ ผู้ที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธจำนวนมาก ก็ยังพร่าๆ มัวๆ ยังไปถือเทพสูงสุด ทั้งๆ ที่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจธรรม

ถ้าเราเอาธรรมเป็นเกณฑ์แล้วหมดปัญหา อย่างที่บอกแล้วว่า เทพนั้นเราเอาใจไม่ถูก เราก็ได้แต่คอยตามดูว่าท่านจะชอบอะไร จะเอาอย่างไร ที่เราทำไปนั้นถูกใจท่านหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ผลที่ต้องการ เราก็นึกว่าท่านยังไม่ชอบใจ เราก็ต้องยักย้ายเปลี่ยนแปลงวิธีที่จะเอาใจใหม่ จนกระทั่งไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ถ้าเราถือธรรมเป็นใหญ่ เราจะเป็นตัวของตัวเอง เพราะธรรมมีกฎมีเกณฑ์ คือความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ขึ้นต่อปัญญาของเรา ถ้าเราพัฒนาปัญญาของเราให้รู้ธรรม คือ รู้เข้าใจกฎธรรมชาติแล้ว เราก็ทำได้ถูกต้องเอง ถึงตอนนี้เราก็ไม่ต้องเคว้งคว้าง ไม่ต้องวุ่นวายห่วงกังวลอยู่ภายนอก แต่หันมาตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาตัวเอง โดยพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ธรรม ให้เข้าถึงธรรม เพื่อจะทำอะไรๆ ได้ถูกต้อง

พูดสั้นๆ ว่า ถ้านับถือเทพเป็นใหญ่ ผลที่ต้องการจะได้หรือไม่ก็อยู่ที่ใจของเทพว่าท่านจะชอบหรือไม่ ทางฝ่ายเราก็ต้องคอยอ้อนวอนเอาใจท่าน และรอให้ท่านบันดาลให้ แต่ถ้านับถือธรรมเป็นใหญ่ ผลที่ต้องการจะได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ปัญญาของเราเอง ที่จะศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของเราเอง

ถ้านับถือเทพเป็นใหญ่ เราก็ต้องหวังผลจากการดลบันดาล และเป็นนักอ้อนวอน แต่ถ้านับถือธรรมเป็นใหญ่ เราต้องหวังผลจากการกระทำ และเป็นนักสร้างสรรค์

การที่มีปัญญารู้เข้าใจธรรมแล้วปฏิบัติได้ถูกต้องนี่แหละ คือการที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเป็นผู้ประเสริฐ ผู้มีชีวิตที่ดีงาม และมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากความทุกข์ ถึงตอนนี้แม้แต่เทพทั้งหลายก็หันมากราบไหว้บูชามนุษย์นั้น เพราะมนุษย์นั้นได้กลายเป็นพุทธะแล้ว

พูดสั้นๆ ว่า ด้วยการพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงธรรมที่สูงสุด มนุษย์ก็กลายเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเหนือเทพ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของมนุษย์ที่ได้พัฒนาตนแล้วสูงสุด เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ เทพและพรหมทั้งหลายก็หันมาน้อมนมัสการ จึงมีคำปลุกใจชาวพุทธอยู่เสมอว่า

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ เมื่อได้ฝึกฝนพระองค์ดีแล้ว มีพระหฤทัยที่อบรมถึงที่แล้ว...แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ”(องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๑๔)

ข้อความนี้เป็นการให้กำลังใจแก่ชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา ชาวพุทธจะต้องนึกถึงคติข้อนี้ อย่ามัวแต่มองหาที่พึ่ง หวังความช่วยเหลือ รออำนาจดลบันดาลภายนอก แต่ต้องถือธรรม คือตัวความจริง และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นใหญ่ แล้วก็พัฒนาปัญญาให้รู้ความจริง ให้เข้าถึงธรรมชาตินั้น แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงที่เรียกว่า “ธรรม” ชีวิตของเราก็จะดีงาม

หลักการที่ว่ามานี้เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาตัวเอง เข้าถึงธรรมอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐ เป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ทำอะไรๆ ได้อย่างเป็นอิสระ เป็นพุทธะที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่า แม้แต่เทพและพรหมก็น้อมนมัสการ

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยสาระก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า และการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการที่มนุษย์ได้พัฒนาปัญญา รู้แจ้งธรรมโดยสมบูรณ์ ถึงความเป็นอิสระ เป็นบุคคลผู้เลิศประเสริฐสูงสุด เหนือกว่าเทพพรหมทั้งปวง

ดังนั้นวันวิสาขบูชานี้จึงถือว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์ จะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ได้ เพราะก่อนหน้านั้นมนุษย์ทั้งหลายมีชีวิตและสังคมที่ขึ้นต่อเทพเจ้า มัวแต่หวังพึ่ง และกลัวการดลบันดาลจากอำนาจของเทพเจ้ากันตลอดมา ศาสนาทั้งหลายก็สอนกันมาอย่างนั้น จนถึงพุทธศาสนาจึงมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างที่กล่าวข้างต้น ดังวาทะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างที่ยกมาให้ฟังนั้น

ความหมายที่ประสานสืบเนื่องกัน ของการประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน

คำตรัสทั้งหมดมีความหมายสัมพันธ์กัน ทั้งวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

วันประสูติที่ตรัสอาสภิวาจานั้น บอกว่าการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ให้รู้ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ ให้มีความดีงาม มีความสมบูรณ์ และหลุดพ้นจากทุกข์ มีอิสรภาพได้ แต่การที่จะเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐได้อย่างนั้น ก็จะต้องพัฒนาตัวให้รู้ธรรม เข้าถึงธรรมอย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้

ในวาระแห่งการตรัสรู้นั้น พุทธพจน์ที่ตรัสว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” เป็นต้น เป็นวาทะที่แสดงหลักการนี้ชัดเจนว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงหยั่งรู้ถึงธรรม คือกฎแห่งความจริงของธรรมชาติแล้ว พระองค์ก็หมดสิ้นความสงสัย มีความสว่าง บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์ เท่ากับบอกว่า การที่มนุษย์จะประเสริฐได้ ก็ต้องพัฒนาตน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะดีขึ้นมาเอง มนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกตน ไม่พัฒนาแล้วหาประเสริฐไม่ เมื่อพัฒนาตัวเองจนเข้าถึงธรรมแล้ว นำธรรมมาใช้ประโยชน์ได้ จึงจะเป็นผู้ประเสริฐจริง

แต่ทำอย่างไรมนุษย์จะได้ใช้ธรรมพัฒนาตนเองให้เข้าถึงธรรมได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสย้ำเตือนไว้ตอนปรินิพพาน เป็นปัจฉิมวาจาว่า “เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” เป็นการตรัสเตือนว่า ชีวิตของเราไม่เที่ยงแท้แน่นอน สิ่งทั้งหลายรอบตัวก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน สังขารทั้งหลายเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เราจะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ ต้องกระตือรือร้นขวนขวาย ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เราจึงจะเข้าถึงธรรมและใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์ แล้วบรรลุความเป็นผู้ประเสริฐ มีอิสรภาพได้ ปัจฉิมวาจาตอนปรินิพพานย้ำที่จุดนี้

เป็นอันว่า ในการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานนี้ มีพุทธพจน์ที่ตรัสหลักการไว้ครบวงจร คือ

๑. ประสูติ = ประกาศอิสรภาพให้มนุษย์รู้ตัวว่า เราสามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ พ้นทุกข์ มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ได้

๒. ตรัสรู้ = ทรงเตือนว่า เราจะมีชีวิตที่ประเสริฐดีงามเป็นอิสระอย่างนั้นได้ เราจะต้องเข้าถึงธรรมด้วยการพัฒนาตนจนหยั่งรู้เข้าถึงธรรม

๓. ปรินิพพาน = ตรัสเตือนว่า การที่จะพัฒนาตนเข้าถึงธรรมได้สำเร็จ เราจะต้องมีความไม่ประมาท ใช้เวลาทำกิจกรณีย์ให้เต็มที่

เท่าที่พูดเลยออกไปข้างนอกนิดหน่อยนี้ เป็นการอธิบายความหมายของวิสาขบูชา ในแง่ต่างๆ พอเป็นตัวอย่าง

คติจากพุทธประวัติ: จากพระโพธิสัตว์ สู่ความเป็นพระพุทธเจ้า

ทีนี้พูดในแง่ของพุทธประวัติเอง วันวิสาขบูชาที่ว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือเป็นวันที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้าเมื่อว่าโดยย่อ ก็มี ๒ ส่วน

ช่วงแรก เป็นประวัติแห่งการบำเพ็ญบารมี คือการพัฒนาตนด้วยการประกอบคุณงามความดีต่างๆ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นกุศล โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่น โดยเสียสละได้แม้แต่ชีวิตของตน ส่วนแรกนี้เป็นตอนบำเพ็ญบารมีเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์

ช่วงที่สอง เป็นประวัติหลังจากตรัสรู้แล้ว คือเมื่อพัฒนาพระองค์เองสมบูรณ์แล้ว บรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เสด็จออกบำเพ็ญพุทธกิจ โปรดสรรพสัตว์ โดยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เป็นช่วงที่ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองแล้ว ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเดียว

ตอนที่ยังบำเพ็ญบารมีเพื่อพัฒนาตนเองนั้นก็ช่วยเหลือผู้อื่นด้วย แต่การช่วยเหลือนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะอะไร เพราะตัวเองก็ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่รู้แจ้งถึงความจริงแท้ คือยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ฉะนั้นการช่วยเหลือ จึงอยู่ในขอบเขตของการช่วยชีวิต และช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ ความยากจนแร้นแค้นเป็นต้น แต่ยังไม่สามารถให้สิ่งที่ประเสริฐสูงสุดของชีวิต ซึ่งให้ได้ต่อเมื่อถึงตอนที่เป็นพระพุทธเจ้า

นี้คือพุทธประวัติ ซึ่งโดยย่อมีสองตอน ถ้าพูดอย่างภาษาสมัยใหม่ก็คือ

๑. ช่วงต้น เป็นช่วงพัฒนาตนเอง

๒. ช่วงหลัง เป็นช่วงที่พัฒนาตนเองสมบูรณ์แล้ว ก็ช่วยให้ผู้อื่นพัฒนาตัวของเขาต่อไป

คติจากพุทธประวัติ จุดสำคัญอยู่ที่การมองชีวิตของพระพุทธเจ้า แล้วทำให้รู้ตระหนักว่า การที่มาเป็นพระพุทธเจ้าได้นี้ ก็คือประวัติแห่งการพัฒนาตนของมนุษย์ท่านหนึ่ง การพัฒนาตนเองของพระพุทธเจ้านี้ เราเรียกว่าการบำเพ็ญบารมี คือการสร้างสรรค์คุณงามความดีอย่างยวดยิ่ง

การทำความดีนั้น มนุษย์ทั่วๆ ไปก็พอรู้ๆ กันอยู่ แต่การทำความดีที่เรียกการบำเพ็ญบารมีนั้น เป็นการทำในระดับที่คนธรรมดาทำแทบจะไม่ไหว เช่น จะให้ทาน หรือเสียสละ ก็เสียสละอย่างสูง ซึ่งทำได้ยาก เช่น สละอวัยวะ ตลอดจนสละชีวิตของตนเอง เพื่อรักษาความดีงาม หรือเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น

คนทั่วไปอาจจะให้เงินให้ทองกันบ้าง แค่ขนาดให้เงินให้ทองนั้น บางทีก็ยังให้ได้ยาก ต่างจากท่านผู้บำเพ็ญบารมีที่พัฒนาตนเต็มที่อย่างพระพุทธเจ้า ต้องให้ได้แม้กระทั่งชีวิตของตน การทำความดีอย่างอื่นก็เหมือนกัน ท่านทำได้อย่างที่เรียกว่า พิเศษสุด หรือสุดยอด จึงสามารถพัฒนาตนให้สมบูรณ์ได้

พระพุทธเจ้าต้องมีความเพียรในการสร้างสรรค์ความดีงาม ทำกิจหน้าที่ของตนเอง และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยมีความเข้มแข็งชนิดที่เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น ไม่ย่อท้อ อุปสรรคขวางหน้าไม่กลัว กล้าสู้ อดทน ฝ่าฟันไป เอาชนะตนเองได้จนกระทั่งประสบความสำเร็จ นี่แหละคือสิ่งที่เป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธทั้งหลาย

ฉะนั้น เมื่อเราศึกษาพุทธประวัติ โดยเฉพาะมานึกถึงวัน วิสาขบูชานี้ อย่างน้อยก็ต้องระลึกถึงประวัติของพระพุทธเจ้า ให้เห็นว่าที่พระพุทธเจ้าจะบรรลุธรรมสำเร็จมาได้นั้น ไม่ใช่เป็นของง่ายๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และเราก็ควรจะต้องทำ

ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างไร จึงจะได้สรณะ

การที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างนั้น ทำให้เราได้ประโยชน์หลายอย่าง ดังนั้น ชาวพุทธจึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยถือเป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่ง ในความหมายว่า เป็นเครื่องเตือนใจ หรือเป็นเครื่องเตือนระลึก โดยมีคุณค่าที่เราจะได้ดังนี้

๑. การระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นการสร้างพลังเริ่มต้นที่จะก้าวไปและยืนหยัดอยู่ในวิถีแห่งการพัฒนาชีวิต โดยมีความเชื่อด้วยความตระหนักรู้ว่า ตัวเรานี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมมีศักยภาพอยู่ในตนที่จะฝึกฝนพัฒนาได้จนเป็นผู้ประเสริฐ ดังมีพระพุทธเจ้าที่ทรงพัฒนาพระองค์สำเร็จแล้วเป็นแบบอย่าง ความตระหนักรู้อย่างนี้ทำให้เกิดศรัทธา คือ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ที่เรียกว่า เกิดตถาคตโพธิศรัทธา คือ เชื่อในปัญญาที่จะทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้

ชาวพุทธต้องมีความเชื่อที่ว่านี้เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นฐาน ถ้าไม่มีความเชื่อนี้ก็ไม่สามารถจะเดินหน้าไปได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงวางหลักการเบื้องต้นไว้ว่า ชาวพุทธมี ตถาคตโพธิศรัทธา เป็นคุณสมบัติข้อแรก และพระโสดาบันเป็นผู้มีศรัทธานี้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว

จะเห็นได้ชัดเจนว่า ในตถาคตโพธิศรัทธา หรือเรียกสั้นๆ ว่า โพธิศรัทธานี้ ศรัทธามาด้วยกันกับปัญญา ที่เรียกว่า “โพธิ” คือเชื่อในปัญญา หมายความว่า ศรัทธาเชื่อมต่อกับปัญญา โดยศรัทธาเป็นจุดเริ่มที่จะนำไปสู่ปัญญา ไม่ใช่ศรัทธาติดจมงมงาย

ปัญญานี้เราต้องพัฒนา เมื่อเราพัฒนาไปจนตลอด เราก็จะกลายเป็นพุทธะได้ แต่ถ้าเรามัวย่อท้อ ปล่อยตัว ให้วันเวลาผ่านไป โดยไม่พัฒนาตนเอง เราก็ต้องมีชีวิตที่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก ต้องคอยรอความช่วยเหลือจากอำนาจดลบันดาลอยู่อย่างนั้น

การระลึกถึงพระพุทธเจ้าทำให้เกิดศรัทธา และความมั่นใจในวิถีชีวิตแห่งการพัฒนาตน โดยยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง นี่คือข้อหนึ่งที่ว่า มีความเชื่อ มีความมั่นใจในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่สามารถพัฒนาได้จนเป็นพุทธะ

๒. เมื่อเชื่อว่าตัวเรานี้ฝึกได้พัฒนาได้ และจะประเสริฐจะดีเลิศด้วยการฝึกฝนพัฒนานั้นอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการบอกอยู่ในตัวว่าเราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้นโพธิศรัทธาก็จึงโยงมาหาความสำนึกตระหนักในหน้าที่ของตนว่า ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ เราจะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐจนกระทั่งเป็นพุทธะได้ เราจะต้องพัฒนาตนเอง คือ ต้องศึกษาหรือต้องฝึกตนเอง นี้คือความสำนึกในหน้าที่ว่า เมื่อเป็นมนุษย์แล้วก็จะต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งเป็นจิตสำนึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้เป็นชาวพุทธจะต้องมีจิตสำนึกในการฝึกตน หรือพัฒนาตนนี้ ถ้ามิฉะนั้น ก็ยังไม่เข้าสู่พุทธศาสนาอย่างแท้จริง

๓. เกิดกำลังใจในการบำเพ็ญความดี และในการพัฒนาตนเอง การฝึกตนเองนั้นยาก คนที่ทำความดีอยู่ในโลก แม้แต่แค่อยู่ในครอบครัว พอเจออุปสรรคนิดหน่อย ยังทำไม่สำเร็จ ยังไม่ได้ผล หรือบางทีคนอื่นไม่เห็นความดีของเรา ก็ชักจะท้อ บางทีเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียน ทำความดี แต่ครูไม่ยกย่อง ไม่เห็นคุณความดี ก็ท้อ แต่พอนึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงประวัติของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญบารมีมาว่า พระองค์สู้ไม่มีถอยเลย ขนาดชีวิตยังยอมสละได้ เพื่อทำความดีให้สำเร็จ พอระลึกขึ้นมาอย่างนี้ ก็เกิดกำลังใจขึ้นมาทันที ฮึดสู้ต่อ บอกตัวเองว่า เราเจอนิดเดียวทำไมถอยล่ะ พระพุทธเจ้าเจอหนักกว่าเราเยอะ พระองค์ยังเดินหน้าต่อไป

การที่ท่านเล่าชาดก และพุทธประวัติไว้ ก็เพื่อประโยชน์ข้อนี้แหละ คือเพื่อปลุกใจและให้กำลังใจชาวพุทธไว้ จะได้ไม่ท้อไม่ถอย พระโพธิสัตว์ทรงเป็นตัวอย่างของการบำเพ็ญบารมีอย่างยอดเยี่ยม ฉะนั้นเด็กๆ ทั้งหลาย อย่ากลัว อย่าถอย อย่ายอมแพ้ อย่าย่อท้อต่ออุปสรรค เอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง พระองค์พบอุปสรรคและความยากลำบากมากกว่าเรา พระองค์ก็สู้จนกระทั่งสำเร็จ เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ถอย ถึงจะแพ้บ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ก็สู้ต่อไป

บางคนพอสอบไม่ได้ ก็ท้อแท้หมดกำลังใจเสียแล้ว ไม่ต้องกลัวหรอก คนที่สอบได้ก็ดีแล้ว โมทนาด้วย แต่คนที่สอบไม่ได้ก็มีทางไปอย่างอื่น บางทีการที่สอบไม่ได้ อาจจะกลายเป็นจุดหักเลี้ยวของชีวิต ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ก็ได้

ลองดูประวัติบุคคลสำคัญของโลกสิ บางทีเขาไปสอบตกหรือพลาดเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ แล้วนั่นกลายเป็นจุดสำคัญ ทำให้หันไปมองไปจับเรื่องอื่นที่ไม่เคยนึกถึง เลยกลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยได้เขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างนั้น

มนุษย์มีโอกาสอยู่ตลอดเวลา อย่าไปท้อไปถอย เราติดด่านนี้ ไม่เป็นไร ไปทางโน้น เอาใหม่ ตั้งสติ ใช้ปัญญา มีความเพียรเดินหน้า แล้วสู้ต่อไป พระพุทธเจ้าผจญมาหนักกว่าเรา นึกไว้ตลอดเวลาอย่างนี้ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องครั่นคร้าม เป็นคนเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น เดินหน้าต่อไป นี้คือได้กำลังใจ

๔. ได้วิธีลัดจากประสบการณ์ของพระพุทธเจ้า เราทราบกันดีว่า พระพุทธเจ้ากว่าจะค้นพบธรรม ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมี ลองผิดลองถูกมานานเหลือเกิน เมื่อตรัสรู้สำเร็จแล้ว ก็ทรงนำเอาประสบการณ์ของพระองค์มาเล่าให้เราฟัง เราก็เลยได้วิธีลัด เรียกว่าแทบจะได้สูตรสำเร็จ โดยไม่ต้องเสียเวลาและเหน็ดเหนื่อยลองผิดลองถูกอย่างพระองค์ เราก็สบายไปเลย

พระพุทธเจ้า นอกจากทรงประมวลประสบการณ์มาเล่าไว้แล้ว พระองค์ยังจัดวางลำดับประสบการณ์และสิ่งที่ทรงค้นพบไว้เป็นระบบเป็นกระบวนที่ทำให้เรารู้เข้าใจและปฏิบัติได้สะดวกด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นลาภอันประเสริฐของเรา

พุทธสรณะ คือจุดเริ่มที่จะนำเราสู่อิสรภาพ

สรุปว่า การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ได้ประโยชน์ ๔ ประการ คือ

๑. ได้โพธิศรัทธา คือ ทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนได้ จนเป็นสัตว์ที่ประเสริฐสูงสุด

มนุษย์นี้ถ้าไม่ฝึก แม้แต่จะสู้แมวก็ไม่ได้ แมวยังเก่งกว่า เพราะมันสามารถอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันเกิดมาไม่เท่าไร เดี๋ยวมันก็หากินได้ แต่มนุษย์นี่ลองไม่ฝึก ไม่เรียนรู้สิ หากินก็ไม่เป็น จะอยู่ไม่รอด ต้องให้พ่อแม่เลี้ยงนานแสนนาน ฝึกกันอยู่นั่นแหละ นั่งก็ฝึก นอนก็ฝึก กินก็ฝึก ขับถ่ายก็ฝึก เดินก็ฝึก พูดก็ฝึก กว่าจะอยู่รอดได้เป็นสิบปี เพราะฉะนั้น มนุษย์ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ ไม่ศึกษา ก็สู้แมวไม่ได้ แต่พอฝึกแล้ว มนุษย์ก็จะพัฒนาอย่างไม่มีขีดจำกัด จะเป็นมหาบุรุษ ตลอดจนเป็นพุทธะก็ได้ มนุษย์สามารถพัฒนาจากสัตว์ที่อ่อนแอแย่ที่สุด ที่สู้แต่แมวก็ไม่ได้ จนกลายเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด เราจึงตั้งพระพุทธเจ้าไว้เป็นแบบ

นี่แหละข้อหนึ่ง คือระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ซึ่งพัฒนาได้ ฝึกฝนได้ จนเป็นพุทธะก็ได้

๒. ได้จิตสำนึกในหน้าที่ คือเกิดความสำนึกในหน้าที่ของมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ซึ่งต้องฝึกนั้นว่า มนุษย์ที่ดีจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ

ชาวพุทธควรสร้างจิตสำนึกนี้ให้มีอยู่เป็นประจำในจิตใจ ไม่ว่าจะไปไหนพบเห็นอะไร ก็มองให้เป็นเรื่องที่จะฝึกตัวหรือเป็นเรื่องที่จะเรียนรู้ทั้งหมด คนที่วางใจอย่างนี้ นอกจากได้ประโยชน์จากสิ่งที่พบแล้วก็ไม่มีทุกข์ด้วย

คนที่มีทุกข์ก็เพราะวางใจไม่ถูก ไปเห็นอะไรก็มองแค่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ถ้าชอบใจก็อยากได้ อยากเอา ถ้าไม่ชอบใจ ก็อยากจะหนี อยากจะหลบ จึงเกิดความทุกข์เป็นปัญหา แต่คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตนจะได้เรียนรู้เสมอ เพราะมองอะไรก็เป็นเครื่องฝึกตนหมด เจอสิ่งที่ชอบใจก็ได้ฝึกตน เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ได้ฝึกตน จึงดีหมด สบายหมด และมีความสุขหมดทุกสถานการณ์ นี่แหละยังไม่ทันตรัสรู้เลยก็เริ่มมีความสุขทุกสถานการณ์แล้ว คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่ทำหน้าที่ได้ถูกต้อง

นี้ข้อสอง คือระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วได้จิตสำนึกในหน้าที่ของมนุษย์ ที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ

๓. ได้กำลังใจ คือได้พลังความเข้มแข็งแกล้วกล้า จากตัวอย่างแห่งประวัติการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ได้เพียรพยายามมาก่อนเราแล้วอย่างหนัก เราพบอุปสรรคหรือความยากลำบากแค่นี้ จะไปถอยทำไม ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทีไร ก็ได้กำลังใจสู้ต่อไป และเข้มแข็งยิ่งขึ้น

๔. ได้วิธีลัด คือได้ประสบการณ์ของพระองค์ที่ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงมีมหากรุณาอยากจะช่วยเหลือพวกเรา แล้วทรงนำเอาประสบการณ์นั้นมาเล่า มาบอก มาจัดตั้งวางระบบไว้ และสอนให้เหมาะกับอุปนิสัยของเราแต่ละคน

การระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ประโยชน์มากมาย เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าต้องให้ได้ประโยชน์อย่างนี้ จึงจะเป็นพุทธสรณะ สรณะคือพระพุทธเจ้าที่แท้จริง

บางคนว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง นึกว่าพระองค์จะมาคอยช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ จะมาดลบันดาลสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ ถ้านึกอย่างนี้ จะไม่เป็นสรณะอันเกษม เพราะหวังพึ่งพระพุทธเจ้าเพียงแค่เหมือนเทพเจ้าภายนอก เป็นคนอ่อนแออย่างลูกแหง่ที่ต้องคอยปลอบคอยอุ้มอยู่เรื่อยไป เมื่อไรๆ ก็พึ่งตัวเองไม่ได้ ถ้าจะให้ถูกต้องได้ผลจริงต้องระลึกอย่างที่ว่าเมื่อกี้ โดยโยงมาที่ตัวเองว่า เราจะพัฒนาตนไปจนกระทั่งเป็นผู้ประเสริฐด้วยตนเอง และเป็นที่พึ่งแก่ตนได้

จากพุทธสรณะ โยงธรรมะมาถึงตัวเราด้วยสังฆรัตนะ

แต่ทั้งนี้ก็อย่างที่ว่าแล้ว การระลึกถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นประโยชน์แท้จริง ก็ต่อเมื่อช่วยโยงเราให้เข้าถึงความจริงของธรรม

พระพุทธเจ้าที่ได้เป็นพุทธะ ก็เพราะพระองค์ได้พัฒนาปัญญาจนตรัสรู้ธรรม จึงบรรลุนิพพาน มีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับกิเลส ไร้ทุกข์ สามารถนำธรรมะมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงต้องโยงต่อไปให้ระลึกถึงธรรม อย่างน้อยเริ่มตั้งแต่จะมองอะไร ก็มองตามเหตุปัจจัย ไม่มองตามชอบใจหรือไม่ชอบใจ แค่นี้ก็เป็นการเริ่มต้นเอาธรรมะมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว เป็นการได้ธรรมสรณะอย่างง่ายๆ ที่สุด แม้จะยังไม่รู้จักธรรมมากมาย เอาแค่หลักการใหญ่ว่า มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แค่นี้ก็เป็นการเริ่มพัฒนาปัญญา ได้เริ่มเรียนรู้ทันที

ส่วนคนที่มองอะไรตามชอบใจและไม่ชอบใจ จิตใจจะขุ่นมัวเศร้าหมองวุ่นวาย วนเวียนอยู่กับทุกข์และสุขจากการได้สิ่งที่ชอบใจและเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ ถึงจะมากล่าวคำบาลีว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ก็ว่าไปอย่างนั้นเอง ไม่รู้ความหมาย เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่ได้ถึงสรณะที่แท้จริง แต่ถ้าเอาธรรมเป็นที่ระลึก ถึงธรรมสรณะจริง เริ่มมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ก็เริ่มเรียนรู้ คือเริ่มศึกษา เริ่มได้ปัญญา และเริ่มหลุดพ้นจากทุกข์

ต่อไปสรณะที่ ๓ คือสังฆะ ได้แก่ชุมชนของมนุษย์ที่พัฒนาตนเองในระดับต่างๆ มีทั้งท่านที่ยังไม่ถึงจุดหมายก็มี ถึงจุดหมายแล้วก็มี ซึ่งรวมกันเป็นชุมชนอันประเสริฐ เป็นประจักษ์พยานของธรรม เป็นที่สื่อธรรม เป็นที่ดำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่โลก เป็นที่สืบต่อถ่ายทอดธรรม เป็นชุมชนแบบอย่างในการเป็นอยู่ด้วยธรรม และเป็นที่ชักนำหมู่มนุษย์ให้เข้าถึงธรรม เราถึงสังฆรัตนะโดยตั้งชุมชนอย่างนี้ไว้เป็นแบบอย่าง และช่วยกันสร้างสรรค์และสืบต่อสังคมอย่างนี้ ให้สังคมเป็นสังฆะ คือชุมชนแห่งมนุษย์ที่พัฒนาตนในระดับต่างๆ ซึ่งเราเองก็ควรจะได้เข้าไปร่วมด้วย

หลักการ ๓ ประการนี้แหละที่เรียกว่าพระรัตนตรัย ซึ่งควรจะระลึกขึ้นมาเตือนใจตนอยู่เสมอ

๑. ระลึกถึงพุทธะ คือบุคคลที่เป็นแบบอย่างให้เราได้พัฒนาตนเอง ให้เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ และมุ่งมั่นพัฒนาตน

๒. ระลึกถึงธรรมะ คือความจริงของธรรมชาติซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่เราจะต้องรู้ เพื่อจะพัฒนาตนได้สำเร็จ ให้มีชีวิตที่ดีงาม และมีชีวิตที่สมบูรณ์

๓. ระลึกถึงสังฆะ คือชุมชนอันประเสริฐที่สร้างขึ้นด้วยธรรม เป็นที่ดำรงรักษาสืบต่อถ่ายทอดธรรม ซึ่งเราจะต้องเข้าร่วมสร้างสรรค์

ชาวพุทธต้องระลึกถึงสรณะทั้ง ๓ ในความหมายอย่างนี้อยู่เสมอ เพราะเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อนึกถึงแล้วก็นำมาตรวจสอบตัวเองของพวกเราชาวพุทธ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ว่าเราได้ปฏิบัติตามหรือเปล่า อย่างน้อยในการพัฒนาตนเองที่จะต้องมีความเพียรสร้างสรรค์ ตั้งใจมุ่งมั่น ทำแต่สิ่งที่ดีงาม ทำกิจหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ พร้อมกันนั้นก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อเวรภัยแก่สังคม พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ โดยมีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น ไม่ระย่อ คุณความดีอย่างนี้เราทำหรือเปล่า

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็แสดงว่าเรายังได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาน้อยเหลือเกิน เรียกได้ว่ายังไม่ได้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ดีไม่ดีถ้าจับหลักไม่ถูก เราจะถอยร่นหล่นลงมาจากพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.