เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน
เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน

เป็นอันว่า ถ้าเรารู้เข้าใจคำฝากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ และปฏิบัติตามนั้น ก็จะไม่เสียหลัก

ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาอย่างไร และสงฆ์เป็นใหญ่อย่างไร มีพระสูตรหนึ่งแสดงไว้ ขอยกเป็นตัวอย่าง มหาอำมาตย์ที่เป็นเสนาบดีใหญ่บริหารราชการแผ่นดินของแคว้นมคธ ไปที่วัด ไปเจอพระอานนท์ ตอนนั้นพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เสนาบดีก็ถามว่า นี่ท่าน! พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปแล้ว เมื่อตอนปรินิพพาน พระองค์ได้ตั้งใครเป็นศาสดาแทน จะได้มาบริหารการคณะสงฆ์

พระอานนท์ตอบว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้ง

เสนาบดีว่า อ้าว! แล้วท่านอยู่กันอย่างไรเล่า พระสงฆ์อยู่กันจำนวนมากมาย ไม่มีการบริหาร ไม่มีหัวหน้า จะอยู่กันอย่างไร

พระอานนท์ตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมวินัยไว้เป็นศาสดา เป็นมาตรฐานแล้ว บุคคลผู้ใดมีคุณสมบัติตามธรรมวินัยนั้น พวกเราก็พร้อมกันยกย่องขึ้นเป็นหัวหน้า

หลักธรรมวินัยเป็นศาสดา มาคู่กับการที่สงฆ์เป็นใหญ่ ดังจะเห็นว่าวิธีดำเนินกิจการของสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วในวินัย เช่น พระที่จะทำหน้าที่นี้ๆ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ๆ คุณสมบัตินี้อยู่ในธรรมวินัยแล้ว พระก็ดูกันเอาเอง องค์ไหนมีคุณสมบัติตามนั้น สงฆ์ก็พิจารณาตกลงยกย่องขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นเจ้าการ หรือเป็นผู้บริหารในเรื่องนั้นๆ ในนามของสงฆ์ จึงเรียกว่าสงฆ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ นี้เรียกว่าถือหลักการ มีธรรมวินัยเป็นหลัก มีธรรมวินัยเป็นศาสดา และมีสงฆ์เป็นใหญ่ ไม่ต้องตั้งบุคคลตายตัวไว้

ถ้าตั้งบุคคล เดี๋ยวก็มาเปลี่ยนแปลงบัญญัติของพระพุทธเจ้าหมดเท่านั้น ใช่ไหม พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว องค์ที่ได้รับตั้งเป็นศาสดาแทน ก็มาคิดว่า เอ! น่ากลัวเราจะต้องเอาใหม่ แล้วที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ เดี๋ยวก็เปลี่ยนใหม่แก้ใหม่ ก็ยุ่งกันใหญ่

เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ให้พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน แล้วพระองค์ก็ให้พระศาสนาอยู่กับสงฆ์ อยู่กับส่วนรวม ไม่ขึ้นกับบุคคล มีแนวทางและวิธีปฏิบัติมากมายที่ให้ระวังไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่ตัวบุคคล และให้กระจายอะไรต่ออะไรไปสู่สงฆ์ ดังปรากฏในหลักธรรมหลักวินัยต่างๆ มากมาย

การที่พระพุทธเจ้าทรงฝากไว้อย่างนี้ จะเห็นว่า พระองค์ต้องการให้พระศาสนาอยู่กับสงฆ์ส่วนรวม เพราะถ้าความสำคัญไปอยู่กับบุคคล บุคคลนั้นไม่แน่นอน อาจมีอันเป็นไป แล้วทำให้พระศาสนาและประโยชน์สุขของประชาชนคลอนแคลนร่วงหล่นไปด้วย

จะขอยกตัวอย่างหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงให้ถือธรรมวินัยเป็นมาตรฐาน และถือสงฆ์เป็นใหญ่ ไม่ให้ติดยึดตัวบุคคล เช่น

หลักที่หนึ่ง ก็คือศรัทธาแบบยึดติดตัวบุคคลที่พูดมาแล้วข้างต้น ซึ่งมีผลเสียคือ บุคคลนั้นกลายเป็นตัวบังหลัก หรือกั้นเราไม่ให้เข้าถึงหลัก และถ้าบุคคลนั้นมีอันเป็นไปอย่างไร ศรัทธาของเราก็พลอยสิ้นสลายไปกับบุคคลนั้นด้วย และตัวหลักก็พลอยหล่นหายไป โดยที่เราทิ้งไปเสียเอง เพราะฉะนั้น ศรัทธาต่อบุคคลจะต้องให้เป็นเครื่องนำเข้าสู่ธรรม และอิงอยู่กับธรรม เพื่อให้เราเข้าถึงธรรมและอยู่กับธรรมด้วยปัญญาต่อไป นั่นเป็นประการหนึ่ง

อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ การอวดอุตริมนุสธรรม การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นจุดหมายในพระศาสนา แต่ทำไมเมื่อบรรลุแล้ว พระพุทธเจ้ากลับทรงห้ามอวด เหตุผลก็คือ เพราะคุณสมบัติเหล่านี้เป็นของในใจ เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ นอกจากผู้ที่บรรลุแล้วด้วยกัน จึงเปิดช่องให้แก่การหลอกลวง และเมื่ออวดไปแล้ว ก็จะเกิดการยึดตัวบุคคลเป็นสำคัญ ไม่ต้องพูดถึงหลอกลวง แม้แต่ถ้าเป็นจริง บุคคลนั้นก็กลายเป็นจุดรวมของความสนใจ สงฆ์ก็จะหมดความหมาย พอพระศาสนาไปฝากอยู่กับบุคคล เมื่อบุคคลนั้นมีอันเป็นอะไรไป ประชาชนก็จะไม่เอาใจใส่พระศาสนา ไม่เอาใจใส่ส่วนรวม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่ตัวบุคคล

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.