เพื่อชุมชนแห่งการศึกษา และบรรยากาศแห่งวิชาการ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๓ -
ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ

เมตตากรุณาแม้จะดีมาก
แต่ไม่พอที่จะทำชีวิตและสังคมให้ดีจริง

คนไทยใช้คำว่าเมตตากรุณามาก จนกลายเป็นถ้อยคำสามัญในภาษาไทย แต่เมตตากรุณาเป็นเพียงธรรมส่วนร่วมในระบบองค์รวมที่เป็นชุดซึ่งมี ๔ ข้อด้วยกัน อีก ๒ ข้อคือ มุทิตา และอุเบกขา ทั้งชุดสี่อย่างนี้เรียกว่า พรหมวิหาร ๔

ให้สังเกตว่า ตามปกติ ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จะตรัสเป็นชุด นี่คือระบบองค์รวม หรือบูรณาการ ซึ่งถ้าปฏิบัติไม่เต็มชุดอาจจะเกิดปัญหา เพราะความดีนั้นไม่ใช่ทำให้เกิดผลดีเสมอไป กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ อกุศลก็เป็นปัจจัยแก่กุศลได้ อันนี้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าปฏิบัติไม่ครบ จะมีปัญหาทั้งในเชิงกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล และในแง่ที่ว่า ไม่มีตัวคุม และเสียดุล ความดีต่างๆ ต้องมีขอบเขต และมีตัวมาดุล ถ้าขาดตัวดุลเสียแล้ว ความดีที่ดีเกินไป อาจจะกลายเป็นเสียไปเลย

เมตตากรุณาในสังคมไทยนี้เป็นปัญหา เนื่องจากใช้กันไม่ถูก เช่น ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น เพราะเราเน้นแต่เมตตากรุณา พูดกันแค่เมตตากรุณา ไม่ก้าวไปสู่มุทิตา ยิ่งอุเบกขาด้วยแล้ว ไม่รู้เรื่องเลย

การปฏิบัติธรรมต้องให้ครบชุดของมัน เมตตากรุณาเป็นคุณธรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาและการบริหารโดยตรง ผู้บริหารจะต้องมีคุณธรรมชุดนี้ ครูอาจารย์ปฏิบัติหน้าที่ต่อลูกศิษย์ก็ต้องมีธรรมชุดนี้ พ่อแม่เลี้ยงดูลูกก็ต้องมีธรรมชุดนี้ แต่สังคมไทยเราเน้นแค่เมตตากรุณา จนกระทั่งกลายเป็นคำไทยสามัญที่คุ้นกันที่สุด แม้แต่เมตตากับกรุณาเองก็สับสน แยกไม่ออกว่าต่างกันอย่างไร จึงขอเน้นอีกครั้งหนึ่งในที่นี้ เรามาดูว่ามันเป็นองค์รวมครบชุดอย่างไร

คุณธรรมชุดนี้เป็นท่าทีของจิตใจต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งแสดงออกต่อผู้อื่น ความหมายของมันจะชัดเมื่อเรามองดูสถานการณ์ที่ผู้อื่นประสบ เมื่อเขาประสบสถานการณ์อะไร เราจะต้องแสดงออกต่อเขาด้วยข้อไหน ถ้าตอบตรงนี้ได้ความหมายจะชัดมาก

สถานการณ์ที่ ๑ คือ สถานการณ์พื้นฐาน เมื่อคนอื่น เช่น นักเรียน หรือลูก หรือเพื่อนมนุษย์ เขาอยู่ดีเป็นปกติ เราก็มี เมตตา

เมตตานี่มาจากศัพท์ว่า มิตตะ แปลงอิเป็นเอ อะเป็นอา ก็เป็นเมตตา แปลว่า คุณสมบัติของมิตร คือ น้ำใจมิตร หรือความเป็นมิตรนั่นเอง ถ้าเป็นสันสกฤตก็เป็นไมตรี เรานำเมตตากับไมตรีมาใช้คนละความหมายในภาษาไทย แต่ที่จริงในภาษาเดิมเหมือนกัน เมตตานี้ใช้ในสถานการณ์ปกติ คือเมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา มีความเป็นมิตร ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข

สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อเขาเปลี่ยนจากปกติลงไปในทางตกต่ำ คือตกทุกข์ได้ยากเดือนร้อน เราก็ย้ายจากเมตตาไปเป็นข้อที่สองคือ กรุณา ซึ่งแปลว่า พลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา ต้องการจะปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากความทุกข์ ช่วยเขาให้เป็นอิสระ

สถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ได้ดีมีสุข ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งถูกต้องดีงาม เราก็ย้ายไปข้อที่สามคือ มุทิตา ได้แก่พลอยยินดีด้วยในความสุข ความสำเร็จ หรือความดีของเขา พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ข้อนี้คนไทยไม่ค่อยเน้น เรื่องส่งเสริมคนดี เราไม่ค่อยพูดถึง แสดงว่าค่อนข้างบกพร่องในข้อมุทิตา

สถานการณ์ที่ ๔ ข้อนี้ยาก เพราะสามสถานการณ์ก่อนนี้ก็ดูเหมือนครบแล้ว หนึ่ง เป็นปกติ สอง ตกต่ำ สาม ขึ้นสูง แล้วจะมีอะไรอีก คนเราจะเป็นอย่างไร นอกจากปกติ นอกจากตกต่ำ นอกจากขึ้นสูง ทีนี้ สี่ เขาเป็นอย่างไร เอาที่เขาเป็นอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงว่าเราจะทำอย่างไร คือมองดูที่เขาเป็นอย่างไรก่อนแล้วเราจึงจะทำอย่างไร ข้อนี้ยาก

ข้อสี่นี่เป็นหัวใจ เป็นตัวคุมให้ทุกอย่างพอดี เป็นตัวสร้างดุลยภาพ และเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับธรรม สามข้อแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือคนกับคน แต่มนุษย์ไม่ได้อยู่กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว ชีวิตของเรานี้มีสองด้าน

ด้านหนึ่ง เราอยู่กับคนด้วยกัน คือเพื่อนมนุษย์ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคม เรามีความสัมพันธ์ที่ดี เรามีเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือกันดี ก็อยู่กันด้วยดี มีความร่มเย็นเป็นสุข

อีกด้านหนึ่ง ชีวิตของเราอยู่กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ อยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต แม้แต่ร่างกายของเรานี้ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งไม่ฟังใครทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องรู้เข้าใจมัน และปฏิบัติตัวให้ถูกต้องสอดคล้องกับมัน ด้านนี้แหละที่สำคัญ ซึ่งเราจะมองข้ามหรือละเลยไม่ได้

ถ้าขาดอุเบกขา แม้แต่พ่อแม่ที่รักลูกมาก
ก็อาจจะใช้ความรักนั้นทำลายลูกโดยไม่รู้ตัว

เมตตา กรุณา มุทิตา นั้น มาช่วยในด้านที่หนึ่งที่ชีวิตของเราไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ แต่ด้านที่สอง ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ในด้านนี้คนจะต้องมีปัญญา รู้จักรับผิดชอบตัวเอง ที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้องด้วยตนเอง จะรอให้คนอื่นมาช่วยไม่ได้

ในข้อ ๑-๒-๓ นั้น คนช่วยกันด้วยความรู้สึกที่ดีงาม แต่ข้อสี่ในความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ไม่เข้าใครออกใครนั้น เราจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญา ทุกคนจึงต้องรู้จักรับผิดชอบตนเอง ไม่ใช่รอการช่วยเหลือพึ่งพา

ยกตัวอย่างพ่อแม่เลี้ยงลูก ถ้าเอาแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ทำให้ลูกหมดทุกอย่าง แต่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรืออยู่กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว อีกด้านหนึ่งชีวิตของลูกต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต เขาจะต้องไปมีชีวิตของเขาเองในโลก ในสังคม ซึ่งเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ปัญหาก็คือเขารับผิดชอบชีวิตของเขาเองได้หรือไม่ ถ้าเราเอาแต่ช่วยเขาด้วยเมตตากรุณามุทิตา เขาอาจจะไม่รู้จักทำอะไรให้เป็นด้วยตัวเอง และรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ คือไม่สามารถพึ่งตนเอง ในระยะยาวพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไป เขาจะต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ที่มันไม่เข้าใครออกใคร เขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองให้ได้ ตอนนี้แหละที่ท่านให้ใช้ข้อสี่ คือ สามข้อแรกนี่พ่อแม่จะทำให้ลูก แต่ข้อสี่ พ่อแม่จะดูให้ลูกทำ ข้อสี่นี่แหละคืออุเบกขา

อุเบกขา แปลว่า คอยดู หรือดูอยู่ใกล้ๆ มาจาก อุป แปลว่า คอย หรือ ใกล้ๆ และอิกข แปลว่ามองดู อุเบกขาจึงแปลว่ามองดูอยู่ใกล้ๆ หรือคอยมองดู แต่ไม่ใช่ดูเปล่าๆ ดูให้เขาทำ คือตัวเองต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ต่อไปลูกเราจะโต จะต้องหัดดำเนินชีวิตเองให้ได้ จะต้องรับผิดชอบตัวเองได้ จะต้องทำอะไรเป็นบ้าง เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นแล้ว ก็มาฝึกให้ลูกทำ ให้เขาฝึกตัวเอง แล้วเราดูอยู่ใกล้ๆ ถ้าเขาทำไม่ถูก ทำไม่ได้ผล ทำผิด จะได้ช่วยแก้ไข แนะนำ จนเขาทำเป็นหรือทำได้ด้วยตนเอง

ถ้าเราไม่รีบใช้อุเบกขาเสียแต่บัดนี้ ต่อไปเราไม่ได้อยู่กับเขา พอเขาโตขึ้น เขารับผิดชอบตัวเองไม่เป็น ทำไม่เป็น เขาทำผิดเราก็ไม่มีโอกาสไปแก้ไข ไม่มีโอกาสจะช่วยแนะนำ เพราะฉะนั้น จึงต้องฝึกเขาตั้งแต่บัดนี้ ตรงนี้แหละ อุเบกขาจึงมา เพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เอาแต่รักแล้วทำให้เขาหมดทุกอย่าง จนกลายเป็นว่าพ่อแม่ปิดกั้นการพัฒนาของลูก หรือถึงกับทำลายลูกด้วยความรักไม่เป็น อุเบกขานี่มากับปัญญา ต้องมีปัญญาจึงจะมี อุเบกขาได้ นี่แหละข้อสี่

“รัก” ต้องมี “รู้” มาเข้าคู่ให้สมดุล

ตามที่พูดมานี้จะเห็นว่า สถานการณ์ที่ ๔ ก็คือ สถานการณ์ที่มนุษย์สัมพันธ์กับมนุษย์ในกรณีที่ไปเกี่ยวข้องกับตัวธรรม

ธรรมคือความเป็นจริงของธรรมชาติ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่าหลักการ หรือกติกาของธรรมชาติ คือ กฎธรรมชาติ ได้แก่ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความถูกต้องตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผล ความสมเหตุสมผล หรือความสมควรตามเหตุและผล รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรม หรือความชอบธรรม

จากหลักการหรือกฎของธรรมชาตินี้ มนุษย์เราก็มาบัญญัติระบบในสังคมของตน เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ในความดีงาม ก็เกิดเป็นหลักการหรือกฎในสังคมมนุษย์ กลายเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา

เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปส่งผลกระทบเสียหายต่อธรรม คือ ทำให้เสียหลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้องดีงาม ความสมตามเหตุผล ความชอบธรรม ความเป็นธรรม เช่นผิดกฎหมาย หรือกติกาสังคม เราต้องหยุดช่วยเหลือ เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อธรรม นี่คือ อุเบกขา เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุมหมด ทำให้สามข้อแรกมีขอบเขต

เมตตา กรุณา มุทิตาจะเลยขอบเขตไม่ได้ เมื่อช่วยกันไปถ้าจะละเมิดหลักการ ละเมิดกติกา ละเมิดความเป็นธรรม ต้องหยุด เราเลยแปล “อุเบกขา” เป็นไทยว่า เฉย หมายความว่าเฉยต่อคนนั้น ในภาษาบาลีท่านอธิบายว่าไม่ขวนขวาย(ที่จะช่วย) เหมือนกับบอกว่าฉันไม่เอากะคุณละนะ

เราช่วยเหลือกันตลอดเวลา โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ถ้าจะทำให้เสียหลักการ เสียความเป็นธรรม ฉันต้องหยุด ฉันไม่เอากับคุณแล้วนะ กฎต้องเป็นกฎ ตรงนี้เรียกว่าอุเบกขา

อุเบกขา คือเฉยต่อคนนั้น เพื่ออะไร เพื่อไม่ละเมิด เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรม ธรรมจะออกผลอย่างไรต้องว่าไปตามนั้น ในขณะที่ เมตตา กรุณา มุทิตา รักษาคน แต่อุเบกขา รักษาธรรม

ที่จริง อุเบกขาก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั่นแหละ แต่ในกรณีนี้ความสัมพันธ์นั้นไม่อยู่แค่มนุษย์แล้ว แต่มันไปเกี่ยวข้องกับตัวธรรมด้วย คือไปเกี่ยวข้องกับหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ทั้งในธรรมชาติ และที่มาบัญญัติกันในสังคมมนุษย์

ฉะนั้น อะไรที่เป็นเรื่องที่เขาสมควรจะช่วยตัวเอง ควรรับผิดชอบตามความเป็นจริงของความเป็นเหตุเป็นผล เราไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ใช่ช่วยเรื่อยเปื่อย ต้องช่วยในขอบเขตของความสมเหตุสมผล และช่วยเฉพาะในขอบเขตที่ไม่ละเมิดธรรม ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุม และรักษาดุล ให้การช่วยเหลือกันไม่เลยขอบเขตจนเสียธรรม

ถึงตอนนี้ คงจะประมวลคำอธิบายพรหมวิหารข้อสุดท้ายมาสรุปลงเป็นความหมายของอุเบกขาได้ว่า

สถานการณ์ที่ ๔ เมื่อเขาสมควรจะต้องรับผิดชอบการกระทำของตน (รวมทั้งฝึกหัดความรับผิดชอบนั้น) คือในกรณีที่ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือด้วยเมตตาก็ตาม กรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม จะเป็นการละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรม ต่อความจริงความถูกต้องดีงาม ความสมควรตามเหตุผล หรือทำลายหลักการ กฎ กติกาที่ชอบธรรม เราจะต้องตั้งตัวหรือวางตนอยู่ในอุเบกขา คือ หยุดการขวนขวายช่วยเหลือ เพื่อให้มีการปฏิบัติไปตามธรรม ตามหลักการ หรือตามกติกา โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง

ในสังคมไทยเมื่อคนไม่รู้จักอุเบกขา ก็เฉย แต่กลายเป็นเฉยไม่รู้เรื่องรู้ราว เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว และเฉยไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนี้ทางพระท่านมีศัพท์ให้ด้วย เรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่า เฉยโง่ ซึ่งเป็นอกุศล เป็นบาป คนไทยเรานี้ถ้าไม่ระวังให้ดีจะเฉยโง่กันมาก เฉยที่แท้ต้องเป็นเฉยด้วยปัญญา เพราะว่าอุเบกขานี้จะมีได้ต้องอาศัยปัญญา

สามข้อต้นนั้นหนักด้านความรู้สึก ในการพัฒนามนุษย์ด้านความรู้สึก ที่เรียกเพี้ยนกันไปว่าด้านอารมณ์นี้ เรามุ่งให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งเป็นฝ่าย emotion ที่ดี แต่ emotion นี้จะต้องถูกคุมด้วยปัญญา มิฉะนั้น emotion คือด้านอารมณ์ หรือด้านความรู้สึก อาจจะเลยขอบเขตไม่ถูกต้อง และถ้าเราไม่มีปัญญาคุม เมื่อเราช่วยเขาไม่ได้ จิตใจเราจะร้อนรน กระวนกระวาย เป็นทุกข์ แต่พอปัญญาคือด้านความรู้มา ก็จะสร้างดุลยภาพ ทำให้จิตใจสงบ จึงต้องเอาความรู้มาคุมความรู้สึก ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงไปจบที่ปัญญา

เหมือนอย่างที่พูดข้างต้นว่า ในการพัฒนาปัญญา เราเริ่มด้วยศรัทธาซึ่งเป็นฝ่ายความรู้สึก หรือ emotion แต่ต้องมีปัญญาเป็นจุดหมายและดำเนินไปโดยมีปัญญามาคุมศรัทธา ด้านรู้ต้องคุมด้านรู้สึก แล้วเมื่อปัญญาด้านรู้พัฒนาไป ก็จะพัฒนาด้านความรู้สึกให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะด้านความรู้สึกนั้นมีฝ่ายอกุศล เช่น โกรธ เกลียด ชัง ริษยา ระแวง เห็นแก่ตัว เป็นต้น พอปัญญามาก็พัฒนาความรู้สึกคือ พวก emotion ให้มาเป็น emotion ที่ดี เป็นฝ่ายเมตตา กรุณา หรือความรัก เป็นต้น แต่แม้จะเป็นความรู้สึกที่ดีแล้วก็ต้องอยู่ในความควบคุมของปัญญา

เป็นอันว่า สามข้อต้นหนักในด้านความรู้สึก คือ ความรัก ส่วนข้อสี่หนักในด้านปัญญา คือ ความรู้ ต้องให้ปัญญานำเอาอุเบกขามาคุมความรู้สึกไว้

สามข้อแรกคือ เมตตา กรุณา มุทิตา ไม่ต้องใช้ปัญญา เพียงแต่มีความรู้สึกที่ดีก็พอ คือ เขาอยู่เป็นปกติเราก็รู้สึกรัก เขาทุกข์ร้อนเราก็รู้สึกสงสาร เขาได้ดีมีสุขเราก็รู้สึกยินดีด้วย แต่ในข้อสี่นี่ถ้าไม่มีปัญญาก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะต้องรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความถูกต้อง อะไรเป็นหลักการ จึงจะปฏิบัติได้ ข้อสี่จึงต้องเน้นปัญญา และเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะสร้างดุลยภาพ หรือความพอดีให้เกิดขึ้น

เมื่อมีความรักโดยไม่ขาดความรู้ คือ ใช้เมตตากรุณาโดยมีปัญญามาโยงเข้ากับอุเบกขา ก็จะเกิดความสมดุลและความถูกต้องพอดี


สังคมทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว
มักพัฒนาอย่างเสียดุล เพราะขาดบูรณาการ

ในสังคมที่ปฏิบัติธรรมไม่ครบ จะเกิดความเสียดุล สังคมที่มีเมตตากรุณามาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะเป็นสังคมที่มีน้ำใจมาก คนจะมีน้ำใจช่วยเหลือกันอย่างดี ซึ่งก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ทำให้จิตใจคนมีความอบอุ่น ชุ่มฉ่ำ ร่มเย็น มีความสุข สบาย แต่ผลเสียคืออะไร ถ้าไม่มีอุเบกขามาคุม ก็เสียดุล

๑. คนจะชอบหวังพึ่งผู้อื่น คือ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ที่มีกิเลสของปุถุชน เมื่อหวังพึ่งผู้อื่นได้ว่าจะมีคนมาช่วย ก็จะไม่ดิ้นรนขวนขวาย เขาชอบคิดว่า ถ้าเราลำบาก ขาดแคลน ขัดสน ก็ไปหาผู้ใหญ่คนโน้น ไปหาญาติผู้นี้ หาเพื่อนคนนั้น เขาก็ต้องช่วยเรา ความที่คอยหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่เรื่อย ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็อ่อนแอ เพราะฉะนั้นสังคมที่มีน้ำใจ มักเสียดุลไปทางอ่อนแอ คนมักหวังพึ่งผู้อื่น ทำให้เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย และอาจจะตกอยู่ในความประมาท

๒. ไม่สามารถรักษาหลักการได้ เพราะคนจะช่วยกันจนกระทั่งละเมิดกฎหมายก็เอา ลองจะช่วยเสียอย่าง กฎหมายก็ไม่มอง ความเป็นธรรมก็ไม่เอาทั้งนั้น ช่วยกันอย่างเดียวจนเสียความเป็นธรรม และเสียหลักการ

ส่วนสังคมที่ขาดสาม หรือเพียงสองข้อต้น คือไม่มีเมตตากรุณา จะเป็นสังคมที่ไม่มีน้ำใจ คนไม่ค่อยช่วยเหลือกัน อุเบกขาจะขึ้นมาเด่น แต่อาจจะเป็นอุเบกขาแบบไม่มีปัญญาก็ได้ คือ เฉยไม่เอาเรื่อง ตัวใครตัวมัน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง พอมีปัญญาขึ้นมาหน่อยก็วางกติกาสังคมไว้ว่า แกจะทำอะไรก็เรื่องของแกนะ แกทำไปได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดกติกาหรือกฎหมาย ถ้าแกละเมิดกฎเมื่อไร ฉันจัดการทันที แต่ถ้าไม่ละเมิดก็ปล่อยแกทำไป แต่ฉันไม่ช่วยนะ

ทีนี้คนที่ไม่มีใครช่วยนี่ เมื่อหวังพึ่งใครไม่ได้ ตัวใครตัวมัน ก็ต้องดิ้นสุดขีดสุดกำลัง เพราะถ้าไม่ดิ้นก็ไม่รอด จึงทำให้เข้มแข็งและก้าวหน้า และเพราะเอากติกา เอากฎหมาย หรือหลักการเป็นใหญ่ ก็รักษาหลักการและกฎกติกาได้ แต่เมื่อไปสุดโต่ง ก็กลายเป็นสังคมที่เอาแต่กฎเข้าว่า ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีน้ำใจ

สังคมไทย นี่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อเมตตากรุณามาก ก็เสียดุล ทำให้อ่อนแอ แล้วก็ไม่สามารถรักษาหลักการและความเป็นธรรม ส่วนสังคมแบบอเมริกันก็ค่อนข้างขาดในด้านเมตตากรุณา คือขาดน้ำใจ และหนักในอุเบกขา ทำให้คนดิ้นรนแบบตัวใครตัวมัน จึงทำให้เข้มแข็ง และทำให้รักษาหลักการกติกาได้ แต่เป็นสังคมที่แห้งแล้ง เครียด จิตใจมีความทุกข์ ขาดความอบอุ่น ได้อย่างเสียอย่าง เพราะฉะนั้นเพื่อให้พอดีจึงต้องมีครบทั้งสี่ข้อ แต่ในระดับสังคมนี่แสนยากเหลือเกินที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีครบทั้งสี่ข้อ มันก็เลยได้เว้าๆ แหว่งๆ ได้หนึ่งบ้าง ได้สองบ้าง ได้สามบ้าง ที่จะครบ ๔ อย่างพอดีได้ดุลนั้นหาได้ยาก

พ่อแม่ก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา มาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักโต เพราะฉะนั้นจึงต้องไปโดนอุเบกขาจากที่อื่นมาช่วย ถึงจะเข้มแข็ง เช่นอยู่เมืองไทยนี้พ่อแม่ทำให้หมด ให้คนใช้ทำให้หมด ก็เลยทำอะไรไม่เป็น แต่พอส่งไปอยู่เมืองฝรั่ง โดนอุเบกขาของฝรั่งเข้า ตอนนี้เข้มแข็ง ทำเป็นทุกอย่าง ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องได้ดุล โดยเฉพาะพ่อแม่นี่สำคัญที่สุด

พ่อแม่คนไทยนี่จะต้องเน้นด้านอุเบกขาให้มากขึ้น ว่าทำอย่างไรจะใช้ปัญญาให้มากขึ้น ลดด้านความรู้สึกลง และเติมด้านความรู้เข้าไป แต่ปัญญานี้ยาก มันไม่เหมือนความรู้สึก มันต้องคิดและพิจารณาว่า เออ อะไรที่ลูกของเราควรจะทำให้เป็น ควรจะฝึกรับผิดชอบ คิดแล้วมองเห็นแล้วก็มาดูให้เขาทำ ซึ่งจะเป็นการรักลูกระยะยาว ถ้ารักลูกมากด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาเกินไป จะกลายเป็นว่ารักลูกระยะสั้น มองการณ์ใกล้ สายตาสั้น แล้วจะปิดกั้นการพัฒนาของเด็ก

เมตตากรุณาสามารถปิดกั้นการพัฒนาของเด็กได้ เพราะเมื่อไม่มีอุเบกขาก็ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนา ฉะนั้นบางทีเด็กที่ถูกปล่อยถูกทิ้ง นี่แหละ ถูกอุเบกขาเข้าเต็มที่ ถ้าไม่เสียก็เก่งไปเลย เขาจะเข้มแข็ง จะช่วยตัวเองได้ดี แกร่งกล้า สามารถเจริญเติบโตงอกงามในสังคม

ควรจะยอมรับกันว่าดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ประการนี้เสียไปแล้วในสังคมไทย เพราะฉะนั้นตอนนี้จะต้องเน้นการปฏิบัติคุณธรรมชุดนี้ให้ครบชุดที่ว่า ต้องมีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยเฉพาะอุเบกขา เป็นตัวโยงปัญญามารักษาดุลยภาพไว้ให้เกิดความสมบูรณ์ในชีวิตและในสังคม ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป ยิ่งมาเป็นผู้บริหารก็ต้องมีครบ มิฉะนั้นก็จะเกิดความเอนเอียงเป็นอคติได้ ถ้าเมตตา กรุณา มุทิตา โดยมีอุเบกขากำกับอยู่ ก็จะดำรงรักษาความเป็นธรรมไว้ได้

 

เมื่อคนศึกษาและช่วยกันให้ศึกษาอย่างมีชีวิตชีวา
ชุมชนจึงจะมีบรรยากาศแห่งวิชาการ

เป็นอันว่าสังคมของเราจะต้องพยายามทำให้ได้ในหลักการสำคัญเหล่านี้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปพูดถึงคุณธรรมปลีกย่อยมาก จับที่ตัวหลักขั้นรากฐานเหล่านี้ เช่นมีฉันทะตัวเดียวก็แทบจะแก้ปัญหาได้หมด แล้วคุณธรรมอื่นจะตามมาเป็นกระบวน ส่วนในเชิงปฏิบัติการก็อาจจะยกคุณสมบัติและวิธีปฏิบัติปลีกย่อยมาแนะนำเสริมเข้าไปให้ได้ผลยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องพูดในที่นี้ เพราะตอนนี้เรามุ่งวางฐานกันให้ดีเสียก่อน โดยให้ตัวคนทำงานทางการศึกษาและทางวิชาการอย่างมีชีวิตชีวา และชุมชนก็มีบรรยากาศทางวิชาการ

จะเห็นว่าสองอย่างนี้สัมพันธ์กันอยู่ เพราะเมื่อเรามีคุณสมบัติอย่างนี้ เช่น มีฉันทะ ก็ทำให้มีการแสวงปัญญาอย่างแท้จริง ทำให้วิชาการมีชีวิตชีวา และเมื่อคนที่มีฉันทะมาอยู่ร่วมกัน ก็จะเป็นชุมชนทางวิชาการที่มีบรรยากาศทางวิชาการ เริ่มตั้งแต่มีจุดหมายร่วมกัน คือ ใฝ่รู้ ใฝ่แสวงความจริง แล้วใฝ่ทำให้มันดีขึ้น เมื่อชุมชนมีจุดหมายร่วมกัน คนก็จะเอื้อต่อกัน ซึ่งจะสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตรขึ้นมา แค่นี้บรรยากาศแห่งการศึกษาและวิชาการก็เกิดขึ้น

ความมีกัลยาณมิตรและเป็นกัลยาณมิตรนี้เป็นคุณสมบัติที่เราต้องการข้อแรกทีเดียว เราต้องตั้งเป้าหมายว่าทำอย่างไรจะให้ชุมชนหรือสังคมของเราเป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร คือคนที่อยู่ในชุมชนทางวิชาการ เช่นมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน คือ เป็นปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อกันในการศึกษา หรือในการพัฒนาทุกด้าน ครูก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของลูกศิษย์ ครูอาจารย์เองด้วยกัน และลูกศิษย์ต่อลูกศิษย์ด้วยกันก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ผู้บริหารก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการเจริญงอกงามของครูอาจารย์และของทุกคนในชุมชน

ความเป็นกัลยาณมิตรของครูอาจารย์และผู้บริหาร
คือสาระของการสร้างชุมชนแห่งการศึกษา

ผู้บริหารและครูอาจารย์นั้น อยู่ในฐานะเป็นผู้นำ ที่เอื้อการศึกษาแก่ศิษย์และคนอื่นๆ ในชุมชน จึงเป็นแกนกลางของการสร้างชุมชนแห่งการศึกษา หรือชุมชนวิชาการ ซึ่งเป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ดังนั้น ผู้บริหารและครูอาจารย์ จึงควรมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ที่ทางพระเรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ

เมื่อผู้บริหารและครูอาจารย์มีเมตตา กรุณา และมุทิตา ที่พูดไปแล้ว โดยแสดงออกมาอย่างถูกต้องในความสัมพันธ์ภายในชุมชน ก็จะมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตรข้อแรก คือ

๑. ปิโย แปลว่า “ผู้เป็นที่รัก” หรือ “น่ารัก” หมายความว่า เป็นผู้รู้จักเอาใจใส่ในตัวบุคคลและสุขทุกข์ของเขา เข้าถึงจิตใจ ให้ความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม

อย่างไรก็ตาม ปิโย เท่านั้นไม่พอ ปิโยนั้นได้มาจากเมตตา กรุณา มุทิตา จึงต้องมีอุเบกขามาคุมให้อยู่ในขอบเขตที่สมดุล คือพอดี ไม่ให้เกินขอบเขตไปจนกลายเป็นเสียธรรม คือ การปฏิบัติต่อคน หรือช่วยเหลือคน จะต้องไม่ให้เสียความเป็นธรรม ไม่ให้เป็นการทำลายหลักการ ไม่ให้เป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์กติกาที่ชอบธรรม ไม่ให้เสียความรับผิดชอบ ไม่ละเลยหรือมองข้ามความถูกต้องสมควรตามเหตุผล นี้ก็คือการที่ผู้นำนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ทั้งกับคนและกับงาน ทั้งกับคนและกับธรรม หรือทั้งกับคนและกับหลักการ คือต้องเอาทั้งคนและทั้งงาน หรือเอาทั้งคนและหลักการ

ถ้าเอาคนอย่างเดียวก็จะเอียงสุดไปข้างหนึ่ง และจะเกิดปัญหาหรือเกิดความเสียหาย เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา จนไม่มีขอบเขต แม้จะปิโย คือเป็นที่รัก แต่ก็เสียหลักการ และทำให้เสียความเป็นธรรม นอกจากนั้น เมื่อพยายามทำตัวให้เป็นที่รักโดยเป็นกันเองเกินไปอย่างไม่มีขอบเขต ก็อาจจะเลยเถิดไปกลายเป็นเพื่อนเล่น หรือกลายเป็นที่ล้อเล่น จนกระทั่งคำพูดไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก พูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง อย่างนี้ก็หมดความหมาย พร้อมกันนั้นก็อาจจะกลายเป็นว่า แทนที่ตัวเองจะไปนำเขา ก็กลับถูกเขาชักพาออกนอกลู่นอกทางไป เลยหมดความเป็นผู้นำ

เพราะฉะนั้น ปิโย “เป็นที่รัก” ซึ่งเกิดจากคุณสมบัติในข้อ เมตตา กรุณา มุทิตา ที่เอาคน จึงต้องมีขอบเขตโดยมีความสมดุลกับข้ออุเบกขา ที่เอาธรรม เอาหลักการ เอาเหตุผล และเอาตัวงาน

ทีนี้ถ้าเอาตัวงาน เอาหลักการ หรือเอาธรรม ก็จะได้ลักษณะซึ่งเป็นคุณสมบัติของกัลยาณมิตรข้อต่อไป คือ

๒. ครุ แปลว่า “น่าเคารพ” คือ เป็นคนมีหลัก หนักแน่น ถือหลักการเป็นสำคัญ และมีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เป็นที่พึ่งได้

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเอาหลักการอย่างเดียว แม้จะน่าเคารพก็แห้งแล้ง บางทีไม่มีใครกล้าเข้าหน้าเลย อย่างนี้ก็ห่างเหิน เสียผลเหมือนกัน ครุ ก็จะเอียงข้างไป เพราะฉะนั้นจึงต้องพอดี ถ้าได้พรหมวิหารทั้งข้อ ๑-๒-๓ แล้วมาสมดุลกับข้อ ๔ ก็จะได้ทั้ง ปิโย เป็นที่รัก หรือน่ารักด้วย และ ครุ เป็นที่เคารพด้วย หมายความว่าได้ทั้งคนได้ทั้งงาน ได้ทั้งคนได้ทั้งหลักการ และได้ทั้งคนได้ทั้งธรรม อันนี้เป็นหลักการสำคัญแห่งดุลยภาพ

เป็นอันว่า คนที่น่าเคารพ เป็น ครุ นั้นจะยึดถือหลักการเป็นใหญ่ เอางานเป็นสำคัญ เอาธรรมนำหน้า เมื่อเอาใจใส่ดูแลคนให้ดี ก็เป็น ปิโย ด้วย ก็ได้ดุลยภาพอย่างที่ว่ามานี้

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของผู้ที่เป็น “ครุ” ซึ่งถือธรรมหรือหลักการเป็นใหญ่ ก็คือเป็นผู้เที่ยงตรง ไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง ซึ่งเป็นแกนกลางของการรักษาดุลยภาพ และความสามัคคี พร้อมทั้งความมั่นคงของหมู่ชนที่ไปด้วยกัน เพราะถ้าเสียความเป็นธรรมแล้ว แม้แต่จะมีความรักใคร่กันอยู่ หรือแม้แต่จะเอาอกเอาใจกัน ก็จะเกิดความกินแหนงแคลงใจกัน สูญเสียเอกภาพ แต่เมื่อรักษาธรรมไว้ได้ ก็ไม่มีอคติ และไม่เสียสามัคคี

อคติ คือ ความลำเอียง หรือการเขวออกไปนอกทางที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ มี ๔ ประการด้วยกัน คือ
ลำเอียงเพราะชอบ เรียกว่า ฉันทาคติ
ลำเอียงเพราะชัง เรียกว่า โทสาคติ
ลำเอียงเพราะขลาด เรียกว่า ภยาคติ
ลำเอียงเพราะเขลา เรียกว่า โมหาคติ

ต่อจาก ๒ ข้อนี้แล้วยังมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตรเหลืออยู่อีก ๕ ประการ คือ

๓. ภาวนีโย แปลว่า “น่าเจริญใจ” คือ น่ายกย่อง เป็นแบบอย่างได้ ทำให้ผู้ที่ร่วมอยู่ร่วมไป คือ คนทั้งหลายในชุมชนนั้น มีความภาคภูมิใจ พอนึกถึงก็มีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวผู้บริหารและครูอาจารย์ ว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาจริง ได้พัฒนาตนแล้ว เป็นผู้มีสติปัญญา มีความสามารถ รู้จริง เก่งจริง และมีคุณธรรมความดีงามอย่างแท้จริง น่าเอาอย่าง

คุณสมบัติข้อนี้ อาจแยกได้อย่างน้อย ๒ ด้าน ซึ่งจะต้องนำไปอธิบายขยายความต่อไป คือ
ก) ด้านความรู้ความสามารถทางวิชาการ
ข) ด้านปฏิปทา หรือด้านการดำเนินชีวิต เช่น ความประพฤติทั่วไป ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการดำรงตนในสังคม เป็นต้น

๔. วัตตา “รู้จักพูด” หมายความว่า รู้จักพูดให้ได้ผล รู้ว่าในสถานการณ์ไหน และกับใคร ควรพูดอะไร อย่างไร เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่า พูดเป็น สอนเป็น เป็นนักสื่อสารที่ดี และเอาใจใส่สื่อสารกับผู้ร่วมไปด้วยอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เข้าใจกัน และรู้เข้าใจในสิ่งที่ทำ เป็นต้น

ที่จริง รู้จักพูดนั้น บางทียิ่งกว่าสื่อสารเก่งอีก คนที่รู้จักพูดนั้น จะพูดให้เขาเข้าใจก็ได้ พูดให้เขาเห็นใจก็ได้ พูดให้เขาเชื่อก็ได้ พูดให้เขาเห็นด้วยหรือคล้อยตามก็ได้ พูดให้เขาร่วมมือด้วยก็ได้ พูดให้เขารวมกำลังกันก็ได้ แต่ที่ท่านมุ่งหมาย ก็คือ พูดให้เขาเข้าใจ พูดให้เขาได้ประโยชน์ และพูดให้เขาช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ต่างจากจิตวิทยาทุนนิยม ที่เน้นในแง่การพูดให้ตนเองได้ผลประโยชน์ หรือพูดหาผลประโยชน์ให้แก่ตน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของนักสื่อสารหรือนักสั่งสอนที่ดีไว้ ๔ อย่าง คือ

๑) พูดแจ่มแจ้ง คือ ชี้แจงอธิบายให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเหตุผลแจ่มแจ้ง หมดสงสัย เหมือนจูงมือไปเห็นกับตา (สันทัสสนา)

๒) พูดจูงใจ คือ พูดให้เห็นคุณค่าและความสำคัญ จนเกิดความซาบซึ้ง ยอมรับ อยากลงมือทำหรือนำไปปฏิบัติ (สมาทปนา)

๓) พูดเร้าใจ คือ ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความแข็งขันมั่นใจและมีกำลังใจหาญกล้า กระตือรือร้นที่จะทำให้สำเร็จ โดยไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบาก (สมุตเตชนา)

๔) พูดให้ร่าเริง คือ ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งเมตตา ไมตรี ความหวังดี และความรู้สึกที่สดชื่นร่าเริง เบิกบานผ่องใส แช่มชื่นใจด้วยความหวังในผลดีและทางที่จะสำเร็จ (สัมปหังสนา)

ในเรื่องการพูดเป็น สอนเป็นนี้ สิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ การรู้จักใช้ วิธีสอน ที่เหมาะและได้ผล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องแยกออกไปอธิบายต่างหาก

๕. วจนักขโม คือรู้จักฟัง ท่านใช้คำว่า วจนักขโม แปลว่า “ทนหรือควรต่อถ้อยคำ”(ของคนอื่น) ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เขาอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ต้องยอมรับฟัง เพราะการรู้จักรับฟังเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะสื่อสารให้ได้ผล แม้ว่าเขาพูดมาจะไม่ถูกใจอะไรก็ทนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้งานการและประโยชน์ที่จะทำนั้นสำเร็จ เช่น ครูอาจารย์ถูกลูกศิษย์ซักไซ้ไต่ถาม ถามจุกจิก ถามเรื่องที่ครูคิดว่าน่าจะรู้แล้ว ถ้าครูอาจารย์ไม่มีความอดทนในการรับฟัง เดี๋ยวก็จะเบื่อ หรือรำคาญ ท่านว่าต้องมีคุณธรรมข้อนี้จึงจะแก้ไขได้ ต้องทำใจให้สบาย อดทนรับฟังเขาเพื่อให้เข้าใจเขาและช่วยเขาได้ดี

๖. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แปลว่า “รู้จักแถลงเรื่องราวต่างๆ ที่ลึกซึ้ง” ปัญหาอะไรที่หนักและยาก ก็เอามาชี้แจงอธิบาย ช่วยทำให้ศิษย์เป็นต้นมีความกระจ่างแจ้ง เรื่องที่ลึกที่ยากก็ทำให้ตื้นให้ง่ายได้ และพาเขาเข้าถึงเรื่องที่ยากและลึกลงไปๆ อย่างได้ผล

๗. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย แปลว่า “ไม่ชักนำในอฐานะ” คือ ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง ที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สาระ ออกนอกเรื่องนอกราว เหลวไหล ไม่เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย

ธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการนี้ เป็นคุณสมบัติที่มาประกอบเสริมกัน และมาประสานเข้ากับพรหมวิหาร ๔ ประการ ที่พูดไปก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารและครูอาจารย์ทำหน้าที่สำเร็จผลดีอย่างแท้จริง

 

การปกครองที่แท้ คือเครื่องมือของการศึกษา

โดยเฉพาะการบริหารที่ถูกต้อง จะเป็นการโยงและประสานและเกื้อหนุนให้สิ่งแวดล้อมและภาวะเอื้อต่อกันที่เราต้องการนั้นเกิดขึ้น การบริหารแบบนี้จะเป็นการบริหารเชิงบวก ไม่ใช่บริหารเชิงลบที่ตั้งใจไปควบคุม และการปกครองที่เป็นส่วนสำคัญของการบริหารก็จะดำเนินไปในทางที่ถูก

การปกครองในยุคปัจจุบันนี้น่าจะกำลังพลาด แม้แต่การปกครองของพระสงฆ์ก็เขวออกไป การปกครองได้กลายเป็นการปกครองเพื่อการปกครอง คือการปกครองเพื่อมุ่งความเรียบร้อยให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาที่วางไว้ เป็นต้น ถ้าคนอยู่กันเรียบร้อย สังคมสงบเรียบร้อยก็คิดว่าบรรลุจุดหมายของการปกครอง ซึ่งที่จริงยังไม่ใช่ และเมื่อเน้นการปกครองเพื่อการปกครอง ก็จะต้องมีการบังคับควบคุมให้อยู่ในกฎเกณฑ์กติกา และใครละเมิดก็ต้องลงโทษ การปกครองก็จะเน้นอำนาจ

การปกครองที่แท้จริงนั้น มีขึ้นเพราะอะไรและเพื่ออะไร เรามีชุมชนขึ้นมา แล้วต้องการให้คนในชุมชนนั้นมีชีวิตที่ดีงามมีความสุข แต่ชีวิตที่ดีงามนั้นคืออะไรและเพื่ออะไร พูดสั้นๆ ว่า ชีวิตที่ดีงามเป็นชีวิตแห่งการฝึกฝนพัฒนา เพราะมนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามขึ้นมาได้เฉยๆ ลอยๆ มนุษย์แม้แต่จะนั่ง แม้แต่จะนอน แม้แต่จะขับถ่าย กิน เดิน พูด ก็ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน หรือฝึกหัดพัฒนาขึ้นมาทั้งนั้น หมายความว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ ไม่เกิดขึ้นเพียงจากสัญชาตญาณ แต่ได้มาด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา เราต้องการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม เราจึงสร้างชุมชนและสังคมขึ้น และสร้างสรรค์ให้สังคมนั้นเป็นสภาพเอื้อต่อการที่ชีวิตของแต่ละคน จะได้มีโอกาสพัฒนาขึ้นไปเป็นชีวิตที่ดีงาม

ในเมื่อชีวิตที่ดีงามต้องอาศัยการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา เราจึงต้องสร้างสังคมหรือชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมและระบบความเป็นอยู่ เป็นต้น ที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน ด้วยเหตุนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งสังฆะเป็นชุมชนขึ้นมา เพื่อให้พระภิกษุทุกรูปที่เข้ามาในชุมชนนี้ ได้พัฒนาชีวิตของตนเข้าสู่จุดหมายที่จะเป็นชีวิตที่ดีงาม

แกนกลางของความเป็นอยู่ในชุมชนนั้น ก็คือการศึกษา ทุกคนมีหน้าที่พัฒนาชีวิตของตนเองให้เข้าถึงความดีงาม และเราก็สร้างชุมชนหรือสังคมขึ้นมาเพื่อจะได้เป็นสภาพเอื้อต่อการศึกษาของแต่ละชีวิตนั้น ถ้าคนไม่มีชุมชนนี้ หรือไม่มีสังคมอย่างนี้ เขาก็จะไม่ได้โอกาส สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้อ เช่นมีการเบียดเบียนกัน มัวแต่เดือดร้อนวุ่นวาย แต่เมื่อมาอยู่ในชุมชนนี้แล้ว สภาพแวดล้อมทุกอย่าง และระบบความเป็นอยู่ ได้จัดตั้งวางไว้เพื่อเอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาชีวิตของตนเข้าสู่ความดีงาม เพราะฉะนั้นสังคมจึงเป็นสภาพเอื้อในแง่นี้

ตามหลักการที่ว่านี้ การปกครอง มีขึ้นเพื่ออะไร การปกครองนั้นเป็นสื่อประสานความร่วมมือร่วมทุนร่วมแรงร่วมใจร่วมสามัคคีเป็นต้น เพื่อจัดสรรโอกาส จัดสรรบรรยากาศ จัดสรรระบบความสัมพันธ์ของคน จัดสรรกิจการ จัดสรรสภาพแวดล้อมทุกอย่าง ให้เอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ดำเนินชีวิต กิจกรรม และกิจการต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคมของตน ให้แต่ละคนเข้าถึงความมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นชุมชนที่ดีจึงเป็นชุมชนแห่งการศึกษา และมีการปกครองเพื่อเอื้อต่อการศึกษานั้น

พูดสั้นๆ ว่า การปกครองมีไว้เพื่อจัดสรรโอกาส คือเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของคนเข้าสู่ความดีงามสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นสาระที่แท้จริงของชีวิตและของสังคม ขอย้ำด้วยการถามใหม่ตอบใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า การปกครองมีเพื่ออะไร เพื่อการศึกษา นี่เป็นคำตอบรวบยอด ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าจัดการปกครองขึ้นมา กิจกรรมทุกอย่างในการปกครองนั้น ในขั้นสุดท้าย จะโดยตรงก็ตาม โดยอ้อมก็ตาม ก็เพื่อเกื้อหนุนการศึกษาทั้งสิ้น

การปกครอง เพื่อการศึกษา คือเพื่อจัดสรรโอกาสให้กิจกรรมและกิจการทุกอย่างดำเนินไปในทางที่ช่วยพัฒนาชีวิตของคน หรือช่วยให้คนได้พัฒนาชีวิตของตน และการที่คนจะพัฒนาชีวิตก็ต้องมีฉันทะ

เมื่อมองย้อนกลับ คนจะต้องมีฉันทะ การปกครองจึงจะเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อคนมีฉันทะคือต้องการไปสู่จุดหมายของชีวิต ของกิจการ และของสังคม ที่การปกครองจัดสรรโอกาสให้ เขาก็ย่อมเดินหน้ามุ่งไปในทางสู่จุดหมายนั้น ทุกอย่างก็เรียบร้อยเป็นไปด้วยดี แต่ถ้าคนไม่มีฉันทะ เขาไม่ต้องการไปสู่จุดหมายของชีวิตของกิจการและของสังคม แต่เขาต้องการสิ่งอื่นที่อยู่นอกทางนั้น เขาก็ย่อมแตกแยกเขวออกไปนอกทาง ความวุ่นวายก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าขาดฉันทะ การปกครองที่ดีก็ไม่มีทางสำเร็จ

มองดูอย่างง่ายๆ ในชุมชนทางวิชาการ ถ้าทุกคนในชุมชนนั้นมีฉันทะใฝ่ปรารถนาตรงต่อจุดหมายของวิชาการ ซึ่งเป็นจุดหมายที่ตรงกันและร่วมกันของชุมชน การปกครองก็ทำหน้าที่ของมันไปอย่างราบรื่น แต่ถ้าคนในชุมชนนั้นไม่มีฉันทะคือไม่ใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายของวิชาการ กลับไปใฝ่ปรารถนาสิ่งอื่น การปกครองก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยดี

จะตั้งชุมชนแห่งการศึกษา
ต้องสถาปนาระบบกัลยาณมิตรให้ได้

เราพูดได้ว่า เมื่อตั้งสังฆะคือชุมชนขึ้นมาก็ต้องมีการปกครอง แต่สังฆะนั้นโดยพื้นฐานก็คือชุมชนที่เอื้อ ซึ่งคนผู้ต้องการพัฒนาตนเอง ต้องการชีวิตที่ดีงาม จะได้เข้ามาอยู่ร่วมกัน และแต่ละคนก็เป็นตัวเอื้อต่อกัน เช่น ท่านที่พัฒนาแล้วหรือผู้ที่พัฒนามากกว่า เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้า ก็ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ มาช่วยแนะนำสั่งสอนคนที่ใหม่กว่า ส่วนคนที่อยู่ในระดับเดียวกันซึ่งมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ก็มาเอื้อต่อกันด้วยลักษณะการเป็นอยู่และกิจกรรม เช่นการปรึกษาหารือสนทนาเป็นต้น พร้อมทั้งเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งการศึกษาแก่คนภายนอกที่ต้องการ แม้แต่ที่เข้ามาชั่วคราว รวมทั้งเป็นแหล่งของผู้พัฒนาตัวเองแล้ว ที่จะออกไปช่วยแนะนำให้การศึกษาแก่ผู้คนข้างนอกกว้างขวางออกไป

ว่าโดยสรุป ชุมชนแห่งการศึกษา มีบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อกัน ดังนี้

ก. ครูอาจารย์หรือผู้ที่ศึกษามากกว่า ช่วยเอื้อการศึกษาแก่ผู้ที่ศึกษาน้อยกว่า

ข. ผู้ศึกษาทั้งหลายในระดับต่างๆ มีความเป็นอยู่และกิจกรรมที่เอื้อการศึกษาแก่กันและกัน

ค. ชุมชนเป็นแหล่งเอื้อการศึกษาแก่คนภายนอก ที่จะเข้ามาแสวงการศึกษา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ง. ชุมชนเป็นแหล่งชุมนุมผู้มีการศึกษา ที่จะออกไปเอื้อการศึกษาแก่คนทั่วไปในสังคม

จ. ชุมชนการศึกษาต่างแห่ง เอื้อการศึกษาแก่กันและกัน

ชุมชนมหาวิทยาลัยและชุมชนทางวิชาการทั้งหลายก็ควรเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ มหาวิทยาลัยควรเป็นชุมชนที่ทำหน้าที่ไม่เฉพาะแต่วิชาการ คือไม่ใช่ศึกษาในความหมายจำกัดทางวิชาการล้วนๆ แต่ทุกคนเข้ามาแล้วจะได้พัฒนาชีวิตของตนไปสู่ความดีงาม รวมทั้งอาจารย์ก็พัฒนาชีวิตของตนเองไปสู่ความดีงาม และมีความสุขในการแสวงหาความรู้ ในการทำงานสร้างสรรค์ ในการสอน ในการให้วิชาความรู้แก่ลูกศิษย์ ช่วยเอื้อแก่ชีวิตของลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็พัฒนาตนขึ้นไปและเอื้อต่อเพื่อนศิษย์ในการแสวงปัญญาและพัฒนาชีวิต ผู้บริหารก็ปกครองด้วยการสร้างสภาพเอื้อ เพื่อช่วยให้อาจารย์และช่วยให้ลูกศิษย์พัฒนาตัวของเขาและช่วยกันพัฒนาตนขึ้นมา ถ้าอย่างนี้ก็เป็นชุมชนกัลยาณมิตร ที่มีบรรยากาศทางวิชาการ หรือพูดให้ตรงยิ่งกว่านั้นว่ามีบรรยากาศแห่งการศึกษา ซึ่งสมาชิกของชุมชนเอื้อต่อกัน เริ่มตั้งแต่มีไมตรี มีเมตตา กรุณา มีแต่การปฏิบัติในเชิงสร้างสรรค์หรือทางบวก

ในทางตรงข้าม ถ้าไม่มีหลักการนี้ที่ประสานโยงกันหมดทั้งความมุ่งหมายของชีวิตบุคคลและวัตถุประสงค์ของการมีชุมชน ดีไม่ดีการปกครองก็จะเลื่อนลอยและไปเน้นด้านลบ เช่น จะใช้อำนาจ การปกครองจะมุ่งในแง่นั้น เพราะขาดระบบความสัมพันธ์แห่งจุดหมายของแต่ละขั้นตอน

ในระบบความสัมพันธ์ที่โยงส่งต่อกันสู่จุดหมายที่ชัดเจนนี้ คุณสมบัติและข้อปฏิบัติต่างๆ จะประสานกลมกลืนกัน เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา เมื่อมาเข้าระบบนี้ ก็สอดคล้องกันหมด โดยจะมีอุเบกขาคอยคุมว่าต้องให้อยู่ในขอบเขต ครูอาจารย์ปรารถนาดี มีความรัก เอาใจใส่ และมีน้ำใจช่วยเหลือส่งเสริมศิษย์ทั่วไปเสมอกันทุกคน แต่จะไม่ช่วยเขาเกินเหตุผล

นี่เธอจะมาหาความรู้เรื่องนี้หรือ เธอต้องรับผิดชอบตัวเองด้วย เธอจึงจะได้ความรู้ คือเธอจะต้องทำตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ฉันมีเมตตากรุณาคือ ช่วยแนะนำเธอให้ไปอ่านหนังสือเล่มนั้น ไปอ่าน ไปค้นเอา ไม่ใช่ฉันเขียนให้ ถ้าฉันเขียนให้ก็เมตตากรุณาเลยขอบเขต เสียดุล ถ้าฉันไม่มีอุเบกขา เธอก็ไม่พัฒนา

เพราะฉะนั้น เมตตาก็แสดงน้ำใจว่า เอ้อ ฉันจะช่วยแนะนำให้ แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่เธอพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นฉันชี้แนะให้เธอไปทำนี่ ทำนั่น ทำโน่น อุเบกขาก็มาต่อคอยดูให้เธอทำงานให้ถูกต้อง แล้วเธอก็ประสบความสำเร็จ
ในการบริหารหรือการอะไรก็ตาม องค์ประกอบในการปฏิบัติจะเข้ามาประสานกันหมด การบริหารเป็นต้นนั้นจึงจะมาช่วยเอื้อ รวมความว่าต้องครบทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ในการสร้างบรรยากาศแห่งการศึกษา ในชุมชนทางวิชาการ ถือได้ว่าระบบความสัมพันธ์ของคนที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาที่ครบสี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน และมีกัลยาณมิตรธรรม ๗ เป็นคุณสมบัติเฉพาะเชิงปฏิบัติการ ดังกล่าวมานี้ เป็นองค์ประกอบข้อที่ ๑ พูดสั้นๆ ว่า ระบบกัลยาณมิตร

 

วินัยคือการจัดสรรโอกาส
การจัดสรรโอกาสสัมฤทธิ์ผล เมื่อคนมีศีล

อะไรจะเป็นหลักประกันหรือเครื่องเกื้อหนุนในทางรูปธรรม ที่จะให้เกิดความมั่นคงแก่ชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ที่ทุกคนเอื้อต่อการศึกษาของกันและกัน ที่ระบบทั้งหมดเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน และเอื้อต่อกิจกรรมในการศึกษา สิ่งนั้นก็คือ วินัย

วินัย คือการจัดสรรสภาพแวดล้อม ระบบการเป็นอยู่ และระบบความสัมพันธ์ที่จะมาเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตนี่แหละ พูดสั้นๆ ว่า วินัยคือการจัดสรรโอกาส วินัยมีความหมายเชิงบวก ไม่ควรมองวินัยเป็นเครื่องบังคับ

คนที่ไม่มีการศึกษาจะมองวินัยเป็นเครื่องบังคับ คนที่เริ่มศึกษาจะมองวินัยเป็นเครื่องฝึก ถ้ามองเป็นเครื่องฝึก ก็รู้สึกว่า “ได้” ทันที แต่ถ้ามองเป็นเครื่องบังคับก็ “เสีย” ทันที การกระทำด้วยความจำใจจะเกิดขึ้น แต่พอมองเป็นเครื่องฝึกว่า อ้อ วินัย คือการจัดสรรโอกาส จัดสรรสภาพแวดล้อมและระบบความสัมพันธ์ทางสังคมทุกอย่าง ให้เอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาสู่การบรรลุจุดหมายของชีวิต ความพร้อมและความเต็มใจสุขใจในการปฏิบัติตามจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง เราจัดวินัยในบ้านทำไม เราวางของเป็นที่ทำไม เก้าอี้เราวางไว้ตรงนั้นให้เป็นระเบียบ ให้มีวินัยทำไม เพราะว่าถ้าเราไม่มีวินัย ขืนวางของไว้เกะกะ เอาเก้าอี้มาวางกระจัดกระจายเต็มไปทั้งบ้าน เราจะเดินจากนี่ไปแค่ประตู กว่าจะเดินไปถึงก็หลายนาที แล้วก็เดินเตะโน่น เตะนี่ ดีไม่ดีก็จะล้มเจ็บ อย่างน้อยก็เสียเวลา แต่พอเรามีวินัย ของเหล่านั้นอยู่ในที่ที่ควรอยู่ เราเดินปรู๊ดเดียวถึงประตูเลย ฉะนั้นวินัยจึงเป็นการจัดสรรโอกาส

เมื่อสังคมมีวินัยอย่างมีความมุ่งหมาย วินัยก็จัดสรรโอกาส ด้วยการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จัดระเบียบความเป็นอยู่ของคน และจัดสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน ที่จะเข้าถึงความดีงาม เมื่อวินัยจัดสรรโดยมีจุดหมายอย่างนี้ ถ้ามันยังไม่ถูกใจเราหรือขัดใจเราก็เพราะว่าปัญญาของเรายังไม่มีพอที่จะเข้าใจ และจิตใจของเรามีความปรารถนาไม่ถูกต้อง เช่นมองวินัยในแง่ลบว่าเป็นเครื่องบีบบังคับ โดยไม่รู้เข้าใจความมุ่งหมาย และเรามีความเห็นแก่ตัว อยากทำอะไรตามชอบใจ

เราต้องมองวินัยในแง่บวกว่ามันมาช่วยสร้างโอกาสให้เรา แล้วเราก็จะมองวินัยว่าเป็นเครื่องฝึก  พอมองวินัยเป็นเครื่องฝึก เราก็รู้สึกว่าเราได้ทันที พอรู้สึกว่าได้เราก็มีความสุขที่จะปฏิบัติตาม เพราะคนที่รู้สึกอยากฝึกตนก็จะมีความสุขในการฝึกตัวเอง เขาจึงประพฤติวินัยด้วยความสุข

เมื่อมีวินัย หรือตั้งอยู่ในวินัย ก็เรียกว่า “มีศีล” ไม่ใช่ “มีวินัย” ที่จริงเราพูดผิด ความมีวินัยไม่มีศัพท์ วินัยมีความหมายว่า

หนึ่ง การจัดตั้งวางระเบียบระบบ

สอง ข้อกำหนดที่วางไว้เป็นแม่บทสำหรับจัด และ

สาม การฝึกให้คนปฏิบัติตามข้อกำหนดที่วางไว้

นี่คือความหมายของวินัย โดยเฉพาะความหมายที่สามนั้นคือการปกครอง พูดอีกครั้งว่า

๑. วินัย คือ การจัดระเบียบความเป็นอยู่ ระบบสังคม และสภาพแวดล้อม เป็นต้น ให้เกิดโอกาส

๒. วินัย คือ ตัวข้อความ หรือข้อกำหนดที่วางไว้ เพื่อให้รู้ว่าจะจัดอย่างไรเพื่อให้การจัดนั้นเกิดผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ เช่นที่เรียกว่า กฎหมาย

๓. วินัย คือ การจัดการให้คนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา หรือระบบระเบียบที่วางไว้นั้น ข้อนี้ก็คือ การปกครอง การปกครองก็เป็นความหมายอย่างหนึ่งของวินัย

วินัยทั้งสามความหมายอยู่นอกตัวคนทั้งนั้น ทีนี้เมื่อคนปฏิบัติตามวินัย ซึ่งอาจจะเรียกว่า ตั้งอยู่ในวินัยนั้น ก็เกิดเป็นคุณสมบัติของคนที่เราเรียกว่า ศีล ศีลก็คือ การที่คนนั้นตั้งอยู่ในวินัย ปฏิบัติตามวินัย

ในภาษาไทยเวลานี้สับสน คือ เราแยกวินัยกับศีลไม่ออก วินัยนั้นอยู่ข้างนอก ศีลอยู่ในตัวคน ทันทีที่คนปฏิบัติตามวินัย ก็เกิดเป็นศีลทันที คือคนตั้งอยู่ในวินัยลงตัวจนกลายเป็นพฤติกรรมปกติของเขา ศีลเป็นพฤติกรรม วินัยไม่ใช่เป็นตัวพฤติกรรม วินัยเป็นตัวที่ฝึกพฤติกรรม หรือตัวนำพฤติกรรม เราจะให้พฤติกรรมเป็นอย่างไร วินัยก็ว่าอย่างนั้น ส่วนพฤติกรรมของคนนั้นเป็นศีล เป็นการปฏิบัติ นี่ข้อสองแล้วนะ ชุมชนต้องมีวินัย คือคนต้องมีศีลนั่นเอง

เมื่อการปฏิบัติตามวินัยกลายเป็นคุณสมบัติในตัวคน คือคนมีศีล ก็เหมือนกับว่าวินัยของชุมชนเข้าไปอยู่ในตัวคนแล้ว ระเบียบระบบที่จัดตั้งวางไว้เพื่อจัดสรรโอกาส ก็บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ และระบบความสัมพันธ์ของชุมชนกัลยาณมิตรก็เกิดมีขึ้น

คุณสมบัติสำคัญของผู้ร่วมสร้างชุมชนแห่งการศึกษา
และพัฒนาบรรยากาศแห่งวิชาการ

คุณสมบัติ ๒ อย่างที่พูดมา คือ ความมีกัลยาณมิตร และความตั้งอยู่ในวินัยที่เรียกว่าศีลนั้น เป็นสองข้อแรกในคุณสมบัติ ๗ ประการ ที่เรียกว่า “รุ่งอรุณของการศึกษา” เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จะทำให้บุคคลก้าวไปในการศึกษาหรือในการพัฒนาชีวิตได้อย่างมั่นใจ ทำให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา เพราะเป็นการศึกษาตัวแท้ตัวจริง คนที่มีคุณสมบัติเหล่านั้น จึงเป็นส่วนร่วมที่จะสร้างชุมชนแห่งการศึกษา และพัฒนาบรรยากาศแห่งวิชาการให้สำเร็จได้

รุ่งอรุณของการศึกษาอีก ๕ ข้อที่เหลือ จะพูดถึงไว้เพียงให้ทราบหัวข้อหรือพอให้เห็นความหมาย

ข้อสาม คือมีแรงจูงใจ ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ ได้แก่ ฉันทะ ที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นพลังภายในที่จะต้องสร้างให้ได้

จากนั้นก็สี่ ต้องเป็นคนมีจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการศึกษาอยู่เสมอ หมายความว่ามีความต้องการที่จะฝึกตน โดยรู้ตระหนักว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนให้ถึงความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์แห่งศักยภาพของมนุษย์ จิตสำนึกนี้จะทำให้เราพลิกความยากเป็นความสุขได้

คนที่ต้องการฝึกตน เมื่อเจออะไรก็อยากใช้เป็นเครื่องฝึกตน เมื่อรู้ว่าชีวิตดีงามจะได้มาด้วยการฝึก เราก็อยากฝึกตนอยู่เสมอ อะไรจะทำให้เราฝึกตนได้เราก็ชอบ อยากจะเจอ อยากจะทำ เช่น ปัญหา พอไปเจอปัญหาเราก็ได้ฝึกตัวเอง ฉะนั้นคนพวกนี้จะพัฒนาไปถึงจุดที่จะมีคติว่า ยิ่งเจอสิ่งยากก็ยิ่งได้ฝึกตนมาก หรือยิ่งยากยิ่งได้มาก

ตรงข้ามกับคนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน พอไปเจออะไรต้องทำหน่อยก็ถอย ถ้าจำเป็นก็ต้องจำใจทำด้วยความทุกข์ หนึ่ง ตัวเองก็ทุกข์เพราะ ฝืนใจ สอง งานก็ไม่ได้ผล เพราะไม่เต็มใจทำ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน พอเจอสิ่งที่ต้องทำก็ชอบ เพราะจะได้ฝึกตน แล้วยังมีคติว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก อะไรที่ง่าย ก็ได้นิดเดียว เมื่อได้ฝึกตนเองมากก็ยิ่งมีความสุขมากจากสิ่งที่ยาก ทั้งที่เจอสิ่งที่ยาก แต่สุขภาพจิตก็ดี แล้วตั้งใจทำจึงได้ผลสมบูรณ์ นี่แหละการศึกษาช่วยคนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น คนยิ่งพัฒนาในการศึกษา ก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มมากขึ้นทุกที

ต่อไปก็ ข้อห้า มีแนวคิดที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษาสืบค้น แนวความคิดบางอย่างไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น มีแนวความคิดความเชื่อถือว่า อะไรจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น ก็แล้วแต่โชค คนที่คิดและเชื่ออย่างนี้จะไม่คิดสืบแสวงหาความรู้ แต่ถ้ามีแนวความคิดว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอเกิดอะไรหรือเจออะไร แนวคิดความเชื่อนั้นก็จูงเราไปสู่การสืบค้นเหตุปัจจัย คือหาความรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีแนวความคิดที่จะมาส่งเสริมการเรียนรู้ หรือการศึกษา ก็คือ เริ่มด้วยแนวความคิดความเชื่อ ในหลักการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ

ต่อไปข้อหก ความไม่ประมาท ซึ่งพ่วงมากับการเห็นคุณค่าของกาลเวลา และการมีจิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลง ความไม่ประมาทนี้ทำให้เรากระตือรือร้นอยู่เสมอ

จะต้องระลึกไว้ว่า การประพฤติปฏิบัติทำสิ่งที่ดีงามต่างๆ จะไม่ใช่เพียงเพื่อเสพเสวยผลของมันเป็นจุดหมายแล้วก็จบเท่านั้น เช่นว่า ได้ความสุขแล้วก็หยุด หรือบรรลุความสำเร็จแล้วก็หยุด หรือทำได้ดีแล้วก็หยุด

ความดี ความสุข ความสำเร็จ เป็นหลุมดักที่มักทำให้คนประมาท เราจะต้องไม่ยอมให้ความดี ความสุข ความสำเร็จ มาหยุดยั้ง ทำให้เราเพลิดเพลินมัวเมา หลงละเลิง ลืมตัว เมื่อดี สุข สำเร็จแล้ว จะต้องไม่ยอมหยุด ต้องก้าวต่อไป ต้องไม่ตกหลุมล่อของความดีงาม ความสุข ความสำเร็จนั้น ถ้าใครเพลิดเพลิน ยินดี ภูมิใจ แล้วหยุด เรียกว่าประมาท ต้องไม่ประมาทคือก้าวต่อไปจนตลอด

สุดท้ายข้อ ๗ ก็มี โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา มีวิธีคิด เช่นคิดตามหลักการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอเจออะไรก็ถามว่า คืออะไร ประกอบด้วยอะไร เป็นอย่างไร ทำไมเป็นอย่างนี้ จะเอาไปใช้อะไรได้ มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร มีส่วนเสียกี่อย่าง ส่วนดีกี่อย่าง ฯลฯ ยิ่งตั้งคำถามมากๆ โยนิโสมนสิการก็ยิ่งเกิด จนมีนิสัยในการสืบค้น อย่างน้อยเมื่อเจออะไรก็ไม่ติดอยู่กับความชอบใจหรือไม่ชอบใจ แต่คิดตามแนวทางของเหตุปัจจัย

คนเรานี้มีท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายหรือต่อประสบการณ์ที่ได้พบ แยกได้ เป็น ๒ พวก คือ พวกหนึ่ง อยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ พวกนี้ ตัน วนเวียน เป็นนักเสพ สุขทุกข์จบอยู่กับความชอบใจและไม่ชอบใจเท่านั้น ไม่ไปไหน ส่วนอีกพวกหนึ่งมองตามเหตุปัจจัย พอเจออะไร ก็มีเรื่องต้องค้นทันที เพราะเหตุปัจจัยอะไรถึงเป็นอย่างนี้ มันเกิดเพราะอย่างนี้ มีแต่ความรู้ มีแต่เรื่องของสิ่งที่ทำ ทุกข์ก็ไม่มี ปัญญาก็เกิด พอได้เรียนรู้ ได้ทำ ได้เกิดปัญญา ก็ยิ่งมีความสุข จึงพัฒนาเรื่อยไป

โยนิโสมนสิการนี่มีวิธีมาก เช่น มองตามเหตุปัจจัย มองในแง่วิเคราะห์ มองแบบจำแนกแยกแยะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยวิธีแห่งโยนิโสมนสิการนี้ พระองค์ไม่ใช่นั่งเฉยๆ เช่นพระองค์เล่าว่า เราเกิดความคิดอันนี้ขึ้นมา เราถามตัวเองว่า ความคิดความรู้สึกนี้เกิดเพราะอะไร อะไรมีจึงเกิดอันนี้ขึ้นมา ศึกษาสืบค้นไปจนพบความจริงว่า อ้อ เพราะอันนั้นมี อันนี้จึงมี แล้วอันนี้ล่ะ ฯลฯ ก็ถาม และสืบค้นต่อๆ ไป ปัญญาก็ยิ่งพัฒนา จนในที่สุดก็ถึงจุดที่เป็นโพธิ

การศึกษาเป็นการพัฒนาคน เป็นการเรียนรู้ ฝึกฝน ให้เกิดคุณสมบัติต่างๆ มากมาย และจุดยอดของคุณสมบัติเหล่านั้นก็คือปัญญา เมื่อพูดถึงปัญญาในฐานะเป็นคุณสมบัติที่เยี่ยมยอดของมนุษย์ ก็จึงโยงไปหาคุณสมบัติอื่นๆ ที่มากมายเหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดกันถึงมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นแหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ และโยงไปหาปัญญา เรื่องการแสวงปัญญา ก็จึงโยงไปหาคุณสมบัติต่างๆ ของมนุษย์อีกเป็นอันมาก

คุณสมบัติทั้งหลายที่ว่ามีมากมายนั้น โดยเฉพาะสำหรับผู้อยู่ในวงการแห่งการศึกษา หรือวงวิชาการ ทั้งผู้บริหารและครูอาจารย์ ตลอดจนนิสิตนักศึกษาและนักเรียน ในที่นี้ได้พูดไว้ไม่กี่อย่าง เฉพาะที่ถือว่าเป็นคุณธรรมหรือคุณสมบัติหลัก ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานและจำเป็น

การที่ได้พูดเฉพาะคุณธรรมพื้นฐานก็เพราะว่า คุณธรรมทั้งหลายเป็นส่วนย่อยอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เมื่อเราจับจุดถูก คือพัฒนาคุณสมบัติที่เป็นแกนหรือเป็นมูลฐานขึ้นมาได้แล้ว คุณธรรมปลีกย่อยต่างๆ ก็เกิดตามมาเอง หรือเกิดพ่วงมาได้ง่าย เช่น เมื่อพัฒนาคนให้มีฉันทะ ซึ่งเป็นคุณธรรมมูลฐานแล้ว ก็มั่นใจได้แทบจะโดยสมบูรณ์ว่า ความขยัน ความอดทน ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ฯลฯ จะเกิดตามมาชนิดวางใจได้

ที่พูดนี้ มิใช่หมายความว่าจะไม่มีปัญหาจริยธรรมอีกเลย แต่ปัญหาจะเหลือน้อยอย่างยิ่ง ในทางตรงข้าม ถ้าไม่พัฒนาคุณธรรมมูลฐานนี้ขึ้นมา เช่น คนสอน คนทำงาน คนเรียน ไม่มีฉันทะ ถึงจะพยายามอบรมสั่งสอนคุณธรรมต่างๆ มากมาย ก็ยากที่จะสำเร็จ วันเวลาจะหมดไป ตัวงานที่เป็นสาระไม่เดินหน้า มัวแต่สาระวนกับการแก้ปัญหาจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร

บางทีเราพูดกันถึงจริยธรรมทางวิชาการ เช่น จริยธรรมในการทำงานวิจัย แต่มักมองจริยธรรมนั้นในความหมายแคบๆ ตื้นๆ เช่น ความซื่อตรงที่จะเขียนงานที่เป็นของตนเอง และอ้างหลักฐานที่มาที่ไปให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่โกงผลงานของผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณธรรมและพฤติกรรมในระดับผลข้างปลาย ไม่ลงไปถึงรากฐานหรือแก่นแท้ของการศึกษา ที่เป็นเหตุปัจจัยของจริยธรรมเหล่านั้น ถ้าอยู่กันด้วยจริยธรรมแค่ระดับนี้ ก็จะต้องยุ่งอยู่กับการสร้างมาตรการควบคุมและลงโทษเป็นต้น และแม้จะควบคุมได้ ก็จะไม่สามารถสร้างงานวิชาการที่มีคุณภาพเป็นเลิศซึ่งบรรลุจุดหมายแห่งการศึกษาและการสร้างสรรค์ที่แท้จริง

ถึงจะร่ำร้องและเรียกร้องอย่างไรๆ ให้คนมีจริยธรรม ถ้าไม่สร้างฉันทะที่เป็นรากเหง้าต้นตอของมันขึ้นมา ก็อย่าพึงหมายว่าจะสำเร็จ

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อมองโดยภาพรวมทั้งหมด การพัฒนาคุณสมบัติทั้งหมดที่ได้พูดมาก็ตาม ไม่ได้พูดก็ตาม ก็อยู่ที่การพัฒนาชีวิต ๓ ด้านของมนุษย์ คือ การพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา

ถ้าเราโยงการพัฒนา ๓ ด้านนี้ให้มาประสานกัน และให้เป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ก็จะเกิดผลที่ต้องการถึงจุดสูงสุดคือ ปัญญา และในระหว่างที่พัฒนาปัญญาไปนั้น ถ้าเราพัฒนาถูกต้อง คุณสมบัติอื่นก็จะเกิดพ่วงมาด้วย แต่สิ่งที่จะต้องมองให้ชัดก็คือ ความเป็นปัจจัยต่อกันระหว่าง ๓ ด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ซึ่งสัมพันธ์กันเป็นระบบในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ดังได้พูดแล้วข้างต้น

ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ และนิสิต ที่มาเยี่ยมวัด ขอความสุข สวัสดีและจตุรพิธพรชัยจงมีแก่ทุกท่าน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.