เป็นอันว่าองค์ธรรมหรือข้อปฏิบัติต่างๆ นั้นถ้าปฏิบัติถูกต้องจะส่งผลสัมพันธ์ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ไปสู่จุดหมาย เพราะฉะนั้นมันจึงคืบเคลื่อนตลอดเวลา หน้าที่ของเราก็คือจะต้องจับให้ได้ว่า ข้อปฏิบัติหรือองค์ธรรมข้อนี้ส่งผลต่อข้ออื่นอย่างไรในกระบวนการนี้ ถ้าจับไม่ได้ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจธรรมข้อนั้น ในสังคมไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาก
ขอแทรกตรงนี้ว่า คนไทยเราเท่าที่สังเกต มักนำเอาธรรมมาใช้เพียงเพื่อสนองความต้องการขั้นต้น คือ พอให้สุขสบายพ้นปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ แล้วก็หยุด ธรรมแทบทุกข้อจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ขาดตอนด้วนๆ แบบนี้ จึงไม่เป็นไปตามแนวทางของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการคืบเคลื่อนไปข้างหน้าสู่จุดหมายสูงสุดอันเดียว เช่น เราใช้สันโดษ ก็ใช้เพื่อหยุด ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นตัวส่งต่อ
สันโดษที่ถูกต้องเป็นเพียงธรรมเบื้องต้นในกระบวนการของไตรสิกขา มันจึงต้องส่งผลให้เราก้าวไปในไตรสิกขา แต่ลองดูว่า สันโดษของคนไทยเป็นอย่างไร พอสันโดษเราก็พอใจในสิ่งที่มีเป็นของตน รู้จักอิ่ม รู้จักพอแล้ว ก็มีความสุข ไปจบที่เพื่อสุข ถ้าจบที่เพื่อสุข ก็ตัน ก็หยุดเท่านั้น แล้วก็อาจจะกลายเป็นเกียจคร้าน และตกอยู่ในความประมาท แสดงว่าผิดแล้ว สันโดษส่งผลอย่างไรในกระบวนการที่คืบเคลื่อนของไตรสิกขา อันนี้คือจุดที่จะต้องวิเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษา
สันโดษ เป็นคุณธรรมที่สำคัญมากในทางวิชาการ โดยเฉพาะสำหรับผู้บริหาร และครูอาจารย์ สันโดษจะมาหนุนฉันทะอย่างเต็มที่ จะต้องเน้นด้วยว่าสันโดษเป็นธรรมที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ตอนนี้จึงขอพูดเรื่องสันโดษให้เป็นตัวอย่างของการที่คนไทยยังใช้ธรรมในพุทธศาสนาเพื่อสนองจุดหมายเพียงเพื่อหยุด เพียงเพื่อมีความสุขที่ตัน โดยลงท้ายที่ความประมาท
มีคนสุดโต่ง ๒ พวก
พวกหนึ่ง มองว่า คนไทยนี่สันโดษ พอใจในสิ่งที่มีเป็นของของตน ก็เลยไม่อยากได้ไม่อยากมี ไม่ขวนขวาย จึงไม่สร้างสรรค์ ไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นจะต้องกระตุ้นเร้าให้คนไทยอยากได้ อยากมีของใช้ฟุ่มเฟือย มีทีวี มีรถเครื่อง มีรถปิคอัพ มีสิ่งเสพบริโภคให้มาก แล้วเขาจะได้ขยันทำการทำงานหาเงิน ประเทศชาติจะได้พัฒนาเป็นการใหญ่ นี่พวกหนึ่ง เป็นสุดโต่ง ซึ่งผิดพลาดอย่างมาก ที่ไปสนองความใฝ่เสพ สนองตัณหา
อีกพวกหนึ่ง ก็คือ ชาวพุทธเองจำนวนมาก ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ตนเองให้รู้ตัวว่าพลาดไปสุดโต่งอีกเหมือนกัน คือเข้าใจว่าสันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ลองไปถามคนไทยทั่วๆ ไปสิว่า สันโดษเพื่ออะไร ส่วนมากจะตอบว่าเพื่อความสุข พอสันโดษแล้วก็มีความสุข แล้วก็สบาย ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ซึ่งก็จริง เพราะสันโดษเป็นความพอใจ ความสุขอยู่ที่ความพอใจ เมื่อพอใจก็สุข พอมีวัตถุ มีสิ่งของใช้แค่นี้ ก็พอใจ สันโดษ ก็เลยสบาย แล้วก็ไม่ต้องขวนขวาย ไม่ดิ้นรน ก็ขี้เกียจ เฉื่อยชา ขอใช้คำว่าเลยนอนแอ้งแม้ง ก็สมที่เขาว่าว่าทำให้ขัดขวางการพัฒนา
ที่จริงผิดทั้งสองฝ่าย เพราะไม่รู้จักสันโดษตัวจริง ที่เป็นทางสายกลาง
บอกแล้วว่า สันโดษนี้เป็นเพียงข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งในกระบวนการของไตรสิกขา ไตรสิกขานั้นต้องเดินหน้า สันโดษที่ปฏิบัติถูกต้องจะส่งผลในกระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขาให้เดินหน้าต่อไป ถ้าจับจุดนี้ได้ก็หมดปัญหา โดยเฉพาะสันโดษจะต้องมาหนุนฉันทะ เรื่องความใฝ่เสพและใฝ่รู้เป็นต้นที่พูดมาแล้ว ก็สัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องสันโดษ
สันโดษในภาษาไทยเวลานี้ชักจะมีความหมายเคลื่อนคลาดไปไกล เคยถามคนหนุ่มๆ ว่าสันโดษคืออะไร หลายคนตอบว่าสันโดษคือการแยกตัวออกไปอยู่ต่างหาก ไม่สนใจ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร อันนี้ไม่ใช่สันโดษ การปลีกตัวไปอยู่ต่างหาก ค่อนข้างโดดเดี่ยวหาความสงบนั้น เรียกว่าวิเวก สันโดษเป็นเรื่องของท่าทีต่อวัตถุ สิ่งเสพ สิ่งบริโภค สันโดษก็คือความพอใจในวัตถุเสพ เช่น ปัจจัย ๔ ตามที่มีที่ได้ หรือตามที่เป็นของตน คนไทยเราก็มองคนสันโดษในแง่นี้ด้วยคือ เป็นคนที่พอใจในวัตถุสิ่งของตามที่มีที่ได้ ไม่ทะเยอทะยาน ไม่อยากได้ไม่อยากมี แต่อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้ามองแค่นี้ ก็จะเป็นสันโดษเพื่อสุข แล้วก็ตัน
เราไปดูคนที่ไม่สันโดษก่อน คนไม่สันโดษก็ตรงข้ามกับคนสันโดษ คนสันโดษมีความสุขได้ด้วยวัตถุเสพตามที่ตนมี มีเท่าไรก็พอใจเท่านั้น จึงมีความสุขได้ง่าย พูดสั้นๆ ว่า คนสันโดษคือคนที่สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย วัตถุที่เขามีอยู่ก็ทำให้เขามีความสุข ให้สังเกตว่าเขามีความสุขแล้ว แต่คนไม่สันโดษไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอด้วยวัตถุเสพบริโภคที่มีอยู่ ความสุขของเขาไปอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มี ฉะนั้น คนที่ไม่สันโดษจึงยังไม่มีความสุข เพราะความสุขของเขาอยู่กับสิ่งที่เขายังไม่มีหรือยังไม่ได้ คือเขาไม่พอใจกับสิ่งที่เขามีเป็นของตน ความพอใจของเขาอยู่ที่สิ่งที่เขายังไม่ได้ ความพอใจของเขายังไม่มี เพราะฉะนั้นเขาจึงยังไม่สุข ในแง่วัตถุคนไม่สันโดษยังไม่สุข เขาขาดความสุขในทางวัตถุ
สำหรับคนไม่สันโดษปัญหาอะไรจะตามมา เมื่อความสุขอยู่กับวัตถุที่ยังไม่ได้ ความสุขทางวัตถุก็ยังไม่มี เขาจึงต้องพยายามหาสิ่งเสพหรือวัตถุเสพมาบำรุงบำเรอ มาบริโภค ในกระบวนการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ ก็จะต้องใช้
๑. เวลา เขาจะใช้เวลาให้หมดไปกับการพยายามหาสิ่งเสพบริโภค
๒. แรงงาน เขาจะต้องทุ่มเทแรงงานของเขาในการแสวงหาสิ่งเสพ
๓. ความคิด เขาจะต้องครุ่นคิดว่าจะไปเสพอะไรที่ไหน จะไปหาอะไรเสพ พรุ่งนี้จะไปกินอะไรที่ไหนอร่อย วันนี้ไปกินที่เหลานี้ ราคาเท่านี้ ยังไม่อร่อยพอ พรุ่งนี้ไปเหลาโน้นจะอร่อยกว่า ครุ่นคิดแต่เรื่องนี้
ฉะนั้น เวลา แรงงาน และความคิดของเขาก็หมดไปกับเรื่องการที่จะหาสิ่งเสพและการที่จะหาความสุขบำรุงบำเรอตัวเอง ทีนี้เวลา แรงงาน และความคิดที่จะใช้นั้น บางทีมันไม่พอ เมื่อเวลาไม่พอก็ต้องเบียดบังเวลาทำการทำงานทำหน้าที่ไป งานการที่จะทำก็ไม่ได้ทำ งานก็เสียหรือทำไม่เต็มที่ สิ่งเสพนั้นจะต้องใช้เงินซื้อ เมื่อเงินทองไม่พอก็ต้องหาทางเบียดบังทรัพย์ บางทีทุจริต หรือกู้หนี้ยืมสิน เพื่อจะเอาทรัพย์ไปซื้อสิ่งเสพที่ยังไม่ได้ และเมื่อมัวคิดแต่เรื่องที่จะเสพจะบริโภค ใจก็ไม่อยู่กับงาน ไม่เอาใจใส่หน้าที่ และไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะฉะนั้น ความไม่สันโดษจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไม่ตั้งใจทำการทำงาน เสียงาน เบียดบังเวลาทำงาน และทำให้ทุจริต
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาไม่มีความสุขจากการทำงาน เพราะความสุขไปอยู่ที่สิ่งเสพ เขาจึงทำงานด้วยความทรมานใจ มองแต่ว่าเมื่อไรจะเลิกงานเสียที จะได้ไปหาสิ่งเสพ ฉะนั้นเขาจึงทำงานด้วยความทุกข์ จิตใจไม่สบาย เมื่อทำงานด้วยความทุกข์ ก็เป็นผลเสียแก่ชีวิตของตนเอง พร้อมกันนั้นก็เกิดผลเสียต่อส่วนรวมคืองานการไม่ได้ผล เสียทั้งแก่ชีวิตและสังคม ผลเสียจึงกว้างขวางทั่วไป พัฒนาได้ยาก นี่เป็นด้านของคนไม่สันโดษ
ทีนี้ลองมาดูคนสันโดษบ้าง ถ้าสันโดษแบบตันก็อย่างที่ว่า คือ เมื่อเราพอใจในวัตถุเสพ พอแล้ว อิ่มแล้ว ก็สบาย มีความสุขได้แล้วก็ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย บรรลุจุดหมายแค่นี้ ก็หยุด กลายเป็นขี้เกียจ เพราะมันไม่ส่งผลให้ก้าวต่อไปในไตรสิกขา ขอให้ดูว่าสันโดษที่แท้ส่งผลต่ออย่างไร ตอนนี้ยังไม่ต้องดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร มาวิเคราะห์กันตามกระบวนการของธรรมชาติ
เมื่อเราสันโดษในวัตถุเสพ วัตถุมีพอให้ชีวิตอยู่ได้ตามสมควร เราก็มีความสุขแล้ว เมื่อไม่ต้องวุ่นวายพล่านหาสิ่งเสพ สิ่งที่เราได้ในตอนนี้คืออะไร เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้มาก เมื่อเวลามี แรงงานมี สมองว่างอยู่ยังไม่ได้ใช้ จะเอาไปใช้อะไร ตอนนี้จุดแยกก็อยู่ที่ว่าจะหยุดหรือจะใช้มัน ถ้าหยุดก็แปลว่า ขี้เกียจ ก็จบ แต่ถ้าไม่หยุดก็จะมีผลตามมาว่า ตอนนี้เรามีความพร้อม ทั้งเวลา แรงงานและความคิดเรามีเหลือเฟือ ตอนนี้ เราได้พัฒนาฉันทะไว้แล้ว เรามีความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ อยู่แล้ว ก็เอาแรงงาน เวลา และความคิดที่สงวนไว้ได้นั้นไปสนองฉันทะ ก็เดินหน้าแน่วไปเลย
ตรงนี้มีข้อสังเกตทางธรรมว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสสันโดษไว้คู่กับไม่สันโดษ แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าสันโดษลอยๆ ไม่ได้ ถ้าสันโดษลอยๆ จะผิดทันที สันโดษจะต้องตามด้วยวัตถุเสพ แล้วก็จะมีธรรมเป็นคู่กันว่าไม่สันโดษ
พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ตรัสรู้เพราะไม่สันโดษ พระองค์ตรัสไว้เองว่า
“ภิกษุทั้งหลาย (ที่บรรลุโพธิญาณนี้) เราได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการ คือ
๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรม
๒. การเพียรพยายามไม่ระย่อ”
(องฺ.ทุก.๒๐/๒๕๑)
ไม่สันโดษก็เช่นเดียวกัน จะปล่อยลอยๆ ไม่ได้ ต้องต่อท้ายว่าไม่สันโดษในกุศลธรรม คือสำหรับสิ่งที่ดีงาม ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ ที่เข้ากับฉันทะแล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีสันโดษเลย ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษ ก็ไม่ได้ตรัสรู้ เพราะพอใจแล้ว พระองค์เสด็จไปหาอาจารย์โยคะ ได้สมาธิ ได้ฌาน ได้สมาบัติ ถ้าพระพุทธเจ้าพอใจสันโดษก็หยุดแค่นั้นไม่ไปต่อ แต่พระพุทธเจ้าทรงถือว่า ถ้ายังไม่บรรลุจุดหมายจะหยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่สันโดษ แต่หมายถึงไม่สันโดษในกุศลธรรม
เมื่อสันโดษในวัตถุเสพ ก็มาหนุนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ ถ้าเราไม่สันโดษในวัตถุเสพ เราก็ไม่สามารถไม่สันโดษในกุศลธรรม คนที่สันโดษในกุศลธรรมก็ไม่สันโดษในสิ่งเสพ เพราะพอใจแล้วในกุศลธรรม เอาแค่นี้ ไม่อยากได้ไม่อยากดีกับความรู้ความดีงามและการสร้างสรรค์ แค่นี้พอแล้ว ไปหาความสนุกสนานเพลิดเพลินดีกว่า นี้คือคนจำพวกที่ไม่สันโดษในวัตถุเสพ แต่สันโดษในกุศลธรรม
พระพุทธเจ้า ทั้งพระองค์เองก็ทรงปฏิบัติ และทรงสอนพวกเราว่า ให้สันโดษในวัตถุเสพ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรมก็ก้าวต่อไปในไตรสิกขาได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม
เป็นอันว่าสันโดษกับไม่สันโดษนั้นรับกัน ขอทวนอีกทีหนึ่งว่า ถ้าคนไม่สันโดษในวัตถุเสพ เขาก็สันโดษในกุศลธรรม แล้วเขาก็จะวุ่นวายกับการแสวงหาวัตถุเสพบำรุงบำเรอ ทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการพัฒนา ทั้งในสังคมก็มีการแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน และตัวเองก็ไม่มีความสุข แต่ละคนจะเอาให้มากกว่าคนอื่น เกิดการทุจริตมาก เกิดปัญหาติดขัดในการบริหารประเทศชาติ สังคมวุ่นวาย พัฒนาผิดทาง ฝรั่งบางคนเรียกการพัฒนาของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ว่าเป็น misdirected development คือพัฒนาเหมือนกันแต่พัฒนาไม่ถูกทาง เพราะฉะนั้น เมื่อเราสันโดษในสิ่งเสพ ก็ต้องมาต่อด้วยไม่สันโดษในกุศลธรรม อย่าไปหยุดแค่สันโดษในวัตถุเสพ
เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็จะมีความเพียรเข้ามารับช่วงต่อไป เพราะฉะนั้น ในหมวดธรรมใดพระพุทธเจ้าตรัสสันโดษไว้ ในหมวดธรรมนั้นก็จะตรัสความเพียรไว้ด้วย ขอให้สังเกตดูเถิด และมันรับกันได้ดีด้วย เพราะความสันโดษสร้างความพร้อมที่จะให้เพียรพยายามได้ ถ้าไม่สันโดษ ความเพียรก็มาทำงานไม่ได้ แต่จะถูกขัดขวางเพราะคนจะมัวห่วงใยสิ่งเสพและการที่จะบำรุงบำเรอตัวเองอยู่นั่นแหละ ไม่ไปสักที สันโดษเป็นตัวสร้างความพร้อมที่จะให้เพียรพยายาม จึงเป็นธรรมที่หนุนการก้าวไปในไตรสิกขา นี่คือความสอดคล้องกันของธรรม
ถ้าใครสันโดษในกุศลธรรมเมื่อไร พระพุทธเจ้าจะตรัสติเตียนทันที เรียกว่าเป็นคนประมาท แม้แต่เป็นพระอริยบุคคล ขนาดโสดาบัน หรือสกทาคามี ซึ่งนับว่าปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปมากแล้ว ก็ถูกตำหนิ มีตัวอย่างในพระไตรปิฎกว่า ท่านที่เป็นอริยบุคคล บรรลุผลสำเร็จในการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปแล้ว ไปเกิดความพอใจขึ้น ท่านใช้คำว่า “สันโดษ” ในคุณสมบัติของตน พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนว่าเป็น “ปมาทวิหารี” แปลว่าผู้อยู่ด้วยความประมาท (สํ.ม.๑๙/๑๖๐๑) พระพุทธเจ้ามีแต่ตรัสสอนให้เดินหน้าตลอด ฉะนั้นจึงมีคำตรัสที่ขอยกมาย้ำอีกแห่งหนึ่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่การตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียวแต่การก้าวต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย”
(องฺ.ทสก.๒๔/๕๓)
นี่ก็เช่นเดียวกับพุทธพจน์ในธรรมบทที่ว่า ภิกษุถึงจะมีศีลวัตร ถึงจะเป็นพหูสูตมีความรู้มาก ถึงจะได้สมาธิ ถึงจะมีความสุขในระดับอนาคามี ถึงจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดที่ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ อย่าได้นอนใจ (ขุ.ธ. ๒๕/๒๙)
ความสันโดษ และไม่สันโดษ ทั้งที่ถูกต้อง และผิดพลาด ควรจะสรุปไว้เพื่อให้เห็นภาพรวมดังนี้
๑. ความสันโดษ และไม่สันโดษ ที่ผิด
ก. สันโดษที่ผิด (สันโดษเทียม หรือสันโดษตัน) คือ
๑) สันโดษในวัตถุเสพ ซึ่งจบลงที่ความสุข นำไปสู่ความเกียจคร้านและความประมาท
๒) สันโดษในสิ่งดีงามสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้หยุดหรือเฉื่อยลง นำไปสู่ความประมาทเช่นเดียวกัน
ข. ไม่สันโดษที่ผิด คือ
๑) ไม่สันโดษในวัตถุเสพ ทำให้ละทิ้งหรือไม่ใส่ใจกิจหน้าที่และการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม
๒. ความสันโดษ และความไม่สันโดษ ที่ถูกต้อง
ก. สันโดษที่ถูก (สันโดษแท้ หรือสันโดษเดินหน้า) คือ
๑) สันโดษในวัตถุเสพ เพื่อออมเวลา แรงงาน และความคิดไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ทำสิ่งดีงามสร้างสรรค์
ข. ไม่สันโดษที่ถูก คือ
๑) ไม่สันโดษในกุศลธรรม คือ ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้พอในการทำกิจหน้าที่ทำสิ่งดีงามสร้างสรรค์
ลักษณะทั่วไปของการปฏิบัติในพุทธศาสนา คือต้องก้าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุจุดหมายสูงสุด เราจะเห็นปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ ว่าเป็นปฏิปทาของการที่ว่า เมื่อตั้งใจบำเพ็ญความดีอะไรแล้ว จะไม่ยอมระย่อท้อถอย จะทำเต็มที่ เรามีคติโพธิสัตว์ไว้เตือนใจให้เกิดกำลังใจที่จะทำความดีอย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย แต่ตอนหลัง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปได้พันกว่าปี ก็เกิดคติโพธิสัตว์แบบใหม่ซึ่งทำให้พลิกคติโพธิสัตว์กลับตรงข้ามไปเลย
คติโพธิสัตว์แบบเดิมถือว่า พระพุทธเจ้าจะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบารมี คือบำเพ็ญความดีอย่างเยี่ยมยอด ยวดยิ่ง ไม่ยอมย่อท้อในการฝึกตนให้ก้าวไปในความดีด้วยความเข้มแข็งและเสียสละ ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต คติโพธิสัตว์แบบแท้ของเดิมนี้ก็คือการให้กำลังใจแก่ชาวพุทธในแง่ที่เป็นแบบอย่าง ว่าเราต้องทำการสร้างสรรค์ความดีอย่างเข้มแข็ง ถ้าบังเอิญเราท้อใจในการทำความดี ก็จะได้ดูจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ แล้วเราก็จะได้กำลังใจขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าเจอหนักกว่าเราเยอะ ท่านยังสู้ เราเจอแค่นี้จะไปท้อทำไม แล้วเราก็จะฮึดสู้ต่อไป
แต่ตอนหลัง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปราวพันปี ได้เกิดมีแนวคิดที่จะไปสนองความต้องการแบบรอเทพบันดาล ทำนองเดียวกับเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ที่มาบันดาลผลประโยชน์ให้แก่มนุษย์
จุดเริ่มอยู่ที่ว่า ในสมัยต่อมาเมื่อพุทธศาสนาต้องแข่งกับศาสนาพราหมณ์ ในศาสนาพราหมณ์เขามีเทพเจ้าไว้ให้คนอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ชาวพุทธบางกลุ่มก็มานึกถึงลักษณะของพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าว่าทรงมีความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ และพยายามช่วยเหลือ พระโพธิสัตว์นั้นจะช่วยเหลือใครแม้แต่สละชีวิตของตนก็ยอมได้ ทีนี้ก็เอาคตินี้มาเทียบกับลัทธิอ้อนวอนเทพเจ้าของพราหมณ์ว่า อ้อ พวกฮินดูเขามีเทพเจ้าไว้ คุณมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปหาเทพเจ้า ไปอ้อนวอนท่าน ท่านจะมาช่วย ทีนี้ชาวพุทธเรามีพระโพธิสัตว์ ที่มีเมตตากรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นเต็มที่ เมื่อเรามีพระโพธิสัตว์ไว้คอยช่วยแล้วเราก็ไปหาพระโพธิสัตว์อ้อนวอนให้ท่านช่วย นี่คือคติพระโพธิสัตว์แบบใหม่ ซึ่งได้วิวัฒนาการมาเป็นคติอ้อนวอน เช่นอย่างเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์แบบใหม่ กวนอิมเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ราวหกร้อยกว่าปี มีชื่อเดิมว่าพระอวโลกิเตศวร
ถ้าคนไทยไปถือคติโพธิสัตว์แบบหลังนี้ก็น่ากลัว จะอ่อนแอลง คติโพธิสัตว์แบบเดิมแท้ต้องการให้คนได้ตัวอย่างของการบำเพ็ญความดีอย่างเข้มแข็ง ไม่ระย่อท้อถอย และได้กำลังใจจากพระโพธิสัตว์ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เราเห็นว่าพระโพธิสัตว์เป็นนักช่วยเหลือคน มีมหากรุณา เราก็เข้าไปขอให้ท่านช่วย ฉะนั้นจะต้องระวัง ถ้าจะใช้คติพระโพธิสัตว์แบบพระอวโลกิเตศวรกวนอิม ก็ต้องใช้ในแง่ว่าท่านเป็นโพธิสัตว์บำเพ็ญความดีอย่างไร เราจะต้องทำความดีอย่างเข้มแข็งเสียสละตามแบบท่าน ถ้าอย่างนี้จึงจะไม่เสีย
กลับมาเรื่องเก่า เมื่อกี้เราพูดเรื่องสันโดษ สรุปว่า สันโดษที่แท้จะเป็นตัวหนุนในกระบวนการของไตรสิกขา เมื่อสันโดษต่อวัตถุเสพแล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
๑. เมื่อคนมีวัตถุเสพพอสมควร สมแก่อัตภาพของตัวเอง ซึ่งได้มาเป็นของตนโดยสุจริตแล้ว เขาก็มีความสุข เป็นอันว่าสุขจากวัตถุก็ได้แล้ว ตรงข้ามกับคนไม่สันโดษที่สุขจากวัตถุก็ยังไม่ได้ เพราะความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้
๒. เขาสงวน หรือออมเวลา แรงงาน และความคิดเอาไว้ได้ แล้วก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปทุ่มเทให้กับการเพียรพยายามในกุศลธรรม ด้วยการบำเพ็ญความดี แสวงหาความรู้ หรือทำการสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อสนองฉันทะที่ว่าเมื่อกี้ ซึ่งสอดคล้องกับการไม่สันโดษในกุศลธรรม
๓. เมื่อไปทำงาน ทำหน้าที่ สร้างสรรค์ ทำกุศลธรรม ก็ถูกใจ เต็มใจ และตั้งใจทำ เพราะทำด้วยความรัก ที่อยากจะทำอยู่แล้ว ก็มีความสุขจากการทำงาน ผลดีแก่ชีวิตก็เกิดขึ้น คือตัวเองก็มีความสุข และผลดีแก่ส่วนรวมก็เกิดขึ้น คืองานการก็สำเร็จผลด้วยดี ประโยชน์ที่ต้องการในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สังคมก็สำเร็จด้วยดี
ย้ำว่า ขออย่างเดียวอย่าสันโดษตัน ชนิดที่พอใจสบายแล้ว ทุกข์ไม่บีบก็ไม่ดิ้น เอาแต่นอนเสวยสุข ไม่ใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ในการที่จะก้าวต่อไป
เป็นอันว่า เมื่อปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักการที่แท้แล้ว ผลดีก็สอดคล้องกันหมด ไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย สันโดษนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
ในวัฒนธรรมของเราถือว่า ผู้ที่เป็นครูอาจารย์จะต้องมีชีวิตแบบสันโดษ แต่สันโดษในความหมายที่ว่า เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์
เมื่อกี้บอกแล้วว่า ในเมืองไทย เรามักใช้ธรรมในเชิงเพื่อจะได้สบายแล้วก็หยุด เช่น สันโดษแล้วจะได้มีความสุข ทำสมาธิเพื่อจะได้มีความสุขสงบ จบแค่นั้น เราเป็นอย่างนี้กันมาก จึงได้ประโยชน์จากธรรมเพียงส่วนหนึ่ง แต่โทษที่ตามมาอาจจะมาก และอาจจะไม่คุ้ม
ถึงเวลาที่จะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ให้ถูกต้อง จะต้องย้ำกันว่า ธรรมหรือข้อปฏิบัติแต่ละอย่างมิใช่เพื่อให้สุขสบายแล้วก็หยุดหรือจบเท่านั้น แต่เพื่อช่วยส่งให้ก้าวต่อไปได้ในกระบวนการคืบเคลื่อนไปข้างหน้าของชีวิต ในด้านพฤติกรรมบ้าง ด้านจิตใจบ้าง ด้านปัญญาบ้าง ที่เรียกว่าไตรสิกขา และความสุขสบายที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัตินั้น ก็จะต้องมองความหมายและใช้ให้ถูกต้อง
ทุกข์ หรือปัญหา มีโทษที่ว่ามันบีบคั้น ทำให้ติดขัด คับข้อง ทำอะไรๆ ไม่สะดวก แต่เพราะความบีบคั้นนั่นแหละจึงทำให้คนดิ้นรนเพื่อหาทางออก หรือให้พ้นออกไป ทุกข์จึงทำให้เกิดแรงหรือพลังดิ้น ซึ่งเอาไปใช้ประโยชน์ได้
ส่วนความสุข เป็นภาวะที่พ้นไปจากทุกข์ ทุกข์ระงับไป ไม่มีอะไรบีบคั้น สงบลงได้ จึงทำให้หยุดดิ้นรน แม้จะดี แม้จะสบาย แต่ก็ทำให้โน้มเอียงไปในทางที่จะหยุด เอื่อย เนือย หรือเฉื่อยชาลง และสยบพลัง ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะเกิดโทษ จึงต้องมองให้ถูกต้องตามความหมายทางธรรม
“สุข” แปลว่า สะดวก คล่อง ง่าย หมายความว่า ในภาวะที่สุขนั้น ไม่มีอะไรบีบคั้น ติดขัด คับข้อง จะทำอะไรก็ทำได้สะดวก ทำได้ง่าย ทำได้คล่อง ความสุขจึงเป็นสภาพคล่อง หรือสภาพเอื้อสำหรับการที่จะทำหรือก้าวต่อไป สุขจึงไม่ใช่เพื่อหยุด แต่เพื่อทำได้สะดวก ความสุขจึงมาช่วยหนุนการก้าวหน้าต่อไปในการพัฒนาชีวิตตามหลักไตรสิกขานั้น
หันกลับมาดูพวกเราในสังคมไทย แม้แต่ปลงอนิจจังเราก็คิดแค่ว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า ความจริงของกฎธรรมชาติมีอยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเกิดแล้วก็ต้องดับ เจริญแล้วก็ต้องเสื่อม เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปคิดอะไรมาก เมื่อเกิดการพลัดพราก เกิดการสูญเสีย ก็ปลงใจได้ เรียกว่าปลงอนิจจัง ก็ได้ผล คือจิตใจเป็นสุข แต่ทำให้หยุด
ขอให้พิจารณาตรวจดูให้ชัดว่า อนิจจังนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้เพื่ออะไรแน่ ถ้าไปดูในคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนอนิจจังไว้กับความไม่ประมาท แม้แต่ตอนที่จะปรินิพพาน พระองค์ตรัสปัจฉิมวาจาว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”
ในพุทธพจน์นี้ ท่อนแรกทรงปรารภความจริงว่า “วยธมฺมา สงฺขารา” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา นี่คือ อนิจจัง ต่อจากนั้นในท่อนหลัง ทรงแนะนำการปฏิบัติให้สอดคล้องหรือได้ประโยชน์จากความจริงนั้นว่า “อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” (เพราะฉะนั้น) จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างความไม่ประมาทกับความเป็นอนิจจัง ที่ไหนพระพุทธเจ้าตรัสถึงความจริงของธรรมชาติที่ไม่เที่ยงไว้ ก็จะตรัสข้อปฏิบัติของมนุษย์คือความไม่ประมาท เพราะอะไร เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง โลกและชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ชีวิตของเราก็เปลี่ยนแปลง สิ่งทั้งหลายรอบตัวเราก็เปลี่ยนแปลง มันไม่รอเรา ตัวเราก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้นเราจะมัวนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ จะทำอะไรก็รีบทำ มีสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ความดีอะไร ประโยชน์อะไรที่ชีวิตพึงเข้าถึง พึงบรรลุ มนุษย์จะต้องรีบขวนขวาย อนิจจังจึงสัมพันธ์โดยตรงกับความไม่ประมาท แต่คนไทยเอาอนิจจังมาใช้แค่ปลง วางใจได้แล้วก็อยู่สบายดี แสดงว่า เราปฏิบัติธรรมบกพร่องหรือครึ่งๆ กลางๆ
ที่ว่านี้หมายความว่า ที่จริงท่านสอนตามลำดับขั้นว่า อนิจจังเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติ ส่วนความไม่ประมาทเป็นข้อปฏิบัติของมนุษย์ สองขั้นนี้สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน คือ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ เราจะปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตอย่างไร นี่คือจริยธรรมสัมพันธ์กับสัจธรรม
ก่อนที่จะดำเนินชีวิต คือปฏิบัติจริยธรรมได้ถูกต้อง ก็ต้องรู้ว่าความจริงคือสัจธรรมเป็นอย่างไร ฉะนั้นจริยธรรมในทางพุทธศาสนา จะต้องอิงอยู่บนสัจธรรมโดยตลอด คือโยงต่อกันว่าเพราะความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องทำอย่างนี้ (จึงจะเกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา หรือว่าเราจึงจะได้ประโยชน์จากความจริงนั้น) เมื่อมีสัจธรรมว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เราก็มีการปฏิบัติเชิงจริยธรรม ๒ ขั้น คือ
๑. ขั้นปรับความรู้สึก หรือขั้นทำใจ เราต้องรู้ทันความจริงของสิ่งเหล่านั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้องด้วยความรู้ความจริงนั้น จะได้ไม่เป็นอยู่หรือทำอะไรเพียงด้วยความอยาก เรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันไม่ได้เป็นไปตามความอยากของเรา เราจะเอาความอยากของเราไปบังคับมันย่อมไม่สำเร็จ เพราะมันไม่เป็นไปตามความอยากของเรา แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องใช้ปัญญาศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วไปทำไปแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้นๆ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ (=มีความเข้าใจถูกต้อง คือมีสัมมาทิฏฐิ)แล้ว จะได้อะไร
ในขั้นแรก เมื่อรู้ความจริงแล้วก็จะได้ไม่เอาแต่ความอยากของตัวเองเข้าว่า และจะวางใจได้หายทุกข์หายบีบคั้นกดดันภายใน เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันความจริงของกฎธรรมชาติ คือ อนิจจังนั้น ขั้นที่ ๑ ก็ทำให้เราสบายใจ ปลงใจได้ ไม่ทุกข์ หรือว่าทุกข์น้อยลง หรือระงับทุกข์ได้ ขั้นที่ ๑ นี้ เป็นขั้นของการใช้ปัญญารู้เท่าทันเพื่อทำจิตใจให้เป็นอิสระ หรือเพื่อรักษาอิสรภาพของจิตใจ แต่ไม่ใช่หยุดแค่นั้น
๒. ขั้นปฏิบัติ หรือขั้นทำการ เรารู้ด้วยว่า การที่สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป มีความเกิดดับ เจริญและเสื่อมนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือเป็นไปโดยเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย นี่เป็นหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราอยากให้เจริญเราก็ต้องศึกษาเหตุปัจจัยแห่งความเจริญ เมื่อรู้เหตุปัจจัยของความเจริญแล้วก็ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ ถ้าเราไม่ต้องการความเสื่อม เราก็ต้องศึกษาเหตุปัจจัยของความเสื่อม เมื่อมีปัญญารู้แล้วก็ป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยของความเสื่อม แล้วเราก็จะสามารถเจริญได้โดยไม่เสื่อม ขั้นที่ ๒ นี้ เป็นขั้นของการใช้ปัญญาทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย
ตามหลักที่ว่ามานี้จึงพูดได้ว่า เมื่อเราไม่ประมาท เราก็สามารถเจริญได้โดยไม่เสื่อม ขอให้ดูตัวอย่างหลักอปริหานิยธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าปฏิบัติตามนั้น จะหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม
บางคนอาจจะสงสัยว่า พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไร ด้านหนึ่งว่าอนิจจัง สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป เมื่อเจริญแล้วก็ต้องเสื่อมสิ ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าเธอปฏิบัติอย่างนี้ มีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสขัดกันไหม ตอบว่าไม่ขัด แต่หนุนกันด้วย เพราะคำว่า “เจริญ” หรือ “เสื่อม” นี้
๑. เป็นคำที่แสดงถึงภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว โดยไม่ต้องมีคำอื่นมาต่อ ไม่ใช่เป็นคำที่แสดงภาวะหยุดนิ่ง
๒. เป็นคำของมนุษย์ที่พูดเอาในความหมายที่วัดด้วยความต้องการของตน คือถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลดีแก่ตน ก็เรียกว่า เจริญ ถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลเสียแก่ตน ก็เรียกว่า เสื่อม
ที่จริงนั้น เจริญก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมก็เปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเจริญต่อไปก็เปลี่ยนแปลง เจริญแค่นี้แล้วเจริญยิ่งขึ้นไปก็เปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเสื่อมก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไปก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมลงไปอีกก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเปลี่ยนเป็นเจริญก็เปลี่ยนแปลงทั้งนั้น จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไหน ก็อยู่ที่ว่าจะมีเหตุปัจจัยให้มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งเมื่อเรารู้แล้ว เราก็ทำเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปอย่างนั้น
ปัญญาที่รู้ความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ทำให้เราได้ประโยชน์ ๒ ขั้น
๑. เราอยู่ด้วยความรู้หรือด้วยปัญญารู้เท่าทัน ทำให้ใจเป็นอิสระ ไม่มีความทุกข์ นี่คือ ปลงอนิจจังได้
๒. เราสามารถปฏิบัติการด้วยความไม่ประมาท แล้วสร้างความเจริญป้องกันความเสื่อมได้
ปัญหาอยู่ที่ว่าชาวพุทธไทยเราใช้อนิจจังขั้นเดียว ขั้นว่าปลงได้แล้วสบาย ก็เลยจบกัน
รวมความว่า เรื่องอนิจจัง เรื่องสันโดษ เรื่องสมาธิ เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติครึ่งๆ กลางๆ ที่นำเอาธรรมมาใช้กันผิดพลาด
โดยเฉพาะสมาธิเดี๋ยวนี้ต้องระวังมาก คือมักใช้กันแบบที่ทำให้หยุด เฉื่อยชา เป็นยากล่อม เช่นมีปัญหาจิตใจมาก นอนไม่หลับ มีความทุกข์ พอได้สมาธิมาช่วยให้สบาย หายทุกข์ หายกลุ้ม หายกังวล นอนหลับได้ ก็เอาแค่นั้น แล้วยิ่งกว่านั้น พอใจสบายแล้ว ก็ปล่อยปัญหาข้างนอกไว้ ไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ไขดำเนินการเลยจบ สมาธิก็เลยไม่เป็นปัจจัยส่งต่อในกระบวนการพัฒนามนุษย์คือ ไตรสิกขา ไม่ส่งผลแก่ปัญญา แล้วยังแถมทำให้เกิดความประมาทอีกด้วย
จะต้องระลึกไว้ว่า ประโยชน์ของสมาธิอยู่ที่ทำให้จิตเป็นกัมมนีย์ แปลว่าทำให้จิตเหมาะแก่การใช้งาน เมื่อจิตเหมาะแก่การใช้งานก็เอาจิตไปใช้ เช่นในการคิด ในการพิจารณาทางปัญญา เพื่อส่งผลให้เดินหน้าในไตรสิกขาต่อไป
เป็นอันว่า เมืองไทยที่ผ่านมานี้ ในเรื่องความอยากก็ผิด ฉันทะหายไป เมื่อเหลือแต่ตัณหาก็ต้องให้กำจัดมัน หรือมิฉะนั้นก็ต้องปลุกเร้า เลยมาเถียงกันอยู่แค่นี้ มองได้แค่ว่าความอยากคือ ตัณหา แล้วพวกหนึ่งก็ว่าถ้าไม่มีตัณหา เดี๋ยวประเทศไม่พัฒนา การพัฒนาก็เลยกลายเป็นการหมักหมมปัญหาจนแทบจะล่มจม อีกพวกหนึ่งก็ว่าอย่าไปมีตัณหา แต่แล้วก็นอนสบายตกอยู่ในความประมาท ทั้งสองฝ่ายผิดทั้งนั้น ผิดแบบสุดโต่งสองข้าง เนื่องจากขาดความเข้าใจ
เมื่อไม่รู้จักฉันทะก็ไปปลุกเร้าผิด คือไปปลุกเร้าตัณหา สมัยก่อนพลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้ก็กำลังผิดอีก สุดโต่งทั้งสองสมัย ในยุคก่อน ก็ปลุกเร้าคนให้ทำความดีด้วยมานะ ดังที่มีคำพูดเหลือร่องรอยให้เราเห็นอยู่ คือชอบปลุกใจเด็กว่า ตั้งหน้าตั้งตามานะพากเพียรเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน นี่คือใช้ความอยากใหญ่ใฝ่อำนาจมายุคน ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องติติงกันเอง อย่ามัวปกป้องตัวเอง จะได้แก้ไขได้
มานะ นี้เป็นกิเลส แต่คนไทยนำมาใช้เป็นดีไปได้ และกลายความหมายเป็นเพียรพยายาม มานะกลายเป็นความเพียร เป็นไปได้อย่างไร แปลบาลีเป็นบาลี มานะแปลว่า เกตุกัมยตา คล้ายๆ กับเมื่อกี้นี้ ฉันทะ = “กัตตุกัมยตา” แปลว่า อยากจะทำ แต่ มานะ = “เกตุกัมยตา” แปลว่า อยากจะเป็นดุจธง ก็คืออยากเด่นอยากใหญ่
แต่ก่อนนี้คนไทยกระตุ้นเร้าปลุกใจกันว่า ให้อยากใหญ่ อยากโต อยากเป็นเจ้าคนนายคน แล้วจะได้เพียรพยายามเล่าเรียนทำการทำงาน ตัวที่อยากใหญ่อยากโตก็คือมานะ มานะเป็นตัวกระตุ้น คือ ให้อยากใหญ่อยากโต แล้วจะได้เพียรพยายาม เราใช้มานะเป็นเหตุของความเพียร แต่ไปๆ มาๆ ตัวมานะกลายความหมายเป็นความเพียรไปเอง คนไทยจะพูดควบคู่กันไปว่ามานะพากเพียรเรียนไปเถิด ฉะนั้น มานะก็เปลี่ยนความหมายเป็นเพียรพยายาม
แม้แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ให้ความหมายไว้นัยหนึ่งว่า มานะ แปลว่า ความเพียร แต่ตามความหมายที่แท้จริงนั้นแปลอย่างนี้ผิดเต็มที่ มานะที่คนไทยเอามาใช้ปลุกเร้าคนให้เพียรพยายาม ก็คืออยากใหญ่โต อยากเป็นเจ้าคนนายคน
ต่อมาถึงยุคนี้ ความนิยมอยากใหญ่อยากโต เช่นเป็นข้าราชการ เป็นขุนนางอะไรนี่ชักน้อยลงไป ก็มาเน้นการได้ผลประโยชน์ พอเน้นผลประโยชน์ก็คือมาเน้นตัณหา เช่น อยากให้มีรายได้ดี อยากจะมีของฟุ่มเฟือยใช้ เด็กนักเรียนพอเข้าเรียนเป็นนิสิตนักศึกษาปี ๑ ก็คุยกันว่า เราเรียนจบแล้ว จะไปมีบ้านใหญ่ๆ กี่ล้านบาท จะมีรถยนต์ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ที่หรูหราโก้ที่สุด เดี๋ยวนี้เขาคุยกันแบบนี้ แสดงว่าตัณหามาเร้า เท่ากับว่าเราไม่มีหลักเพราะเราหาตัวเร้าที่ถูกต้องไม่ได้ คือหลงลืมมองข้ามฉันทะ ก็เลยต้องมาใช้มานะและตัณหา รวมแล้วก็อยู่ในเรื่องกิเลส ถ้าอย่างนี้สังคมจะไปรอดได้อย่างไร เพราะมีแต่จะเอาเพื่อตัวเองทั้งนั้น ตัณหาใฝ่เสพ ก็มุ่งทรัพย์ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มานะก็มุ่งอำนาจ เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวเอง
ถึงเวลาจะต้องกลับไปสู่ฐานที่แท้คือฉันทะ ไม่ใช่เฉพาะครูอาจารย์ ตั้งแต่นักเรียนตัวเล็กๆ การศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่ในครอบครัว จะต้องสร้างฉันทะนี้ให้ได้ ถ้าสร้างฉันทะความอยากที่เป็นกุศลขึ้นมาได้ ก็จะเจริญพัฒนาได้ถูกต้อง
เป็นอันว่า สังคมไทยขณะนี้ จุดที่ต้องแก้ทั้งหมด คือ
๑. การที่ไม่รู้จักฉันทะ ฉันทะหายไป เอาตัณหามานะมาแทน จึงพลาดหมด
๒. สันโดษก็ตัน ไปจบที่สุขแล้วก็นอนสบายอย่างที่ว่า
๓. กรุณาที่พูดถึงก่อนนี้ก็ใช้พลาด ไม่ครบชุดของมัน
การปฏิบัติธรรมที่ผิดพลาดนี้ เกิดจากความเคลื่อนคลาดบกพร่อง ๓ แบบ คือ
๑. แบบขาดไปเลย ดังเช่น ฉันทะ
๒. แบบตัน คือ ไม่เชื่อมโยง ไม่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่ส่งต่อไปข้างหน้า เช่น สันโดษ
๓. แบบไม่ครบถ้วน คือ ไม่ครบองค์รวม หรือไม่บูรณาการ เช่น เมตตากรุณา
ถ้าแก้ข้อบกพร่อง ๓ อย่างนี้ได้ ชีวิตและสังคมก็จะได้ประโยชน์จากธรรมอย่างแท้จริงตามที่มันควรจะได้ และสังคมไทยก็จะเจริญมั่นคงอย่างแน่นอน