พุทธศาสนากับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ตบะ

เมื่อความเชื่อถือในศาสนาพราหมณ์ยังอยู่ในขั้นความนับถือเทพเจ้าประจำส่วนต่างๆ ของธรรมชาติ ตลอดถึงมีเทพเจ้าสูงสุด คือพระพรหม เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง (กำหนดคร่าวๆ ในยุคสังหิตาและพราหมณะ) ในระยะนี้ ข้อปฏิบัติทางศาสนายังจัดอยู่ในขั้นของพิธีกรรม ที่เรียกว่า ยัญ อันได้แก่การเซ่นสรวงสังเวยบูชาเทพเจ้า เพื่อผลตอบแทนคือโภคสมบัติ ยศ อำนาจ ตลอดจนการไปเกิดในสวรรค์

ครั้นถึงยุคอุปนิษัท ซึ่งศาสนาพราหมณ์เริ่มวิวัฒน์มาถึงชั้นมีหลักปรัชญา มีคำสอนเรื่องพรหมันและอาตมันแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในทางข้อปฏิบัติทางศาสนาก็เริ่มปรากฏขึ้นด้วยในยุคนี้พราหมณ์ถือว่า การทำให้อาตมันกลับคืนไปรวมกับพรหมเป็นจุดหมายสูงสุดของศาสนา ข้อปฏิบัติสำคัญทางศาสนาจึงได้แก่วิธีการที่จะทำให้อาตมันกลับไปอยู่ร่วมกับพรหมัน วิธีการที่ได้พยายามคิดทำกันขึ้นเพื่อให้สำเร็จผลตามความมุ่งหมายข้อนี้ ได้แก่ข้อปฏิบัติที่เรียกว่า ตบะอย่างหนึ่ง กับโยคะอย่างหนึ่ง ในระยะจะถึงพุทธกาลนั้น ปรากฏว่า ตบะ เป็นข้อปฏิบัติที่แพร่หลายมากในชมพูทวีป และเมื่อถึงยุคของตบะ ยัญก็สูญเสียความเป็นเอก กลายเป็นสิ่งที่มีขอบเขตความสัมฤทธิ์ผลจำกัด บันดาลความสำเร็จได้แต่เพียงในทางโลก ไม่ถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนา

ความหมายของตบะ

ตบะ เกิดจากแนวความคิดทางปรัชญาที่ว่า ชีวิตมีส่วนประกอบหรือพลังที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว ๒ ฝ่าย คือ อาตมัน หรือชีวะ (Soul) อันเป็นสิ่งบริสุทธิ์ เป็นส่วนแห่งพรหม ที่มาถูกปกคลุมบดบัง กักขังอยู่ในร่างกายฝ่ายหนึ่ง กับสรีระ หรือรูปวัตถุ ที่เป็นของไม่บริสุทธิ์ไม่แท้จริงไม่ยั่งยืน อีกฝ่ายหนึ่ง หรือพลังฝ่ายสูงซึ่งอาจจะเป็นทิพยอำนาจอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า ที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์ฝ่ายหนึ่ง กับพลังฝ่ายต่ำที่ทำให้ชีวิตเศร้าหมอง ต้องทนทุกข์ เพราะอำนาจความปรารถนาต่างๆ ผ่ายหนึ่ง การที่อาตมันถูกกักขังอยู่ หรือการขัดแย้งกันของพลัง ๒ ฝ่าย ทำให้มนุษย์ผู้ตกอยู่ในความมืดบอด ต้องประสบความทุกข์และวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไม่สามารถรู้ความจริงและไม่อาจคืนเข้ารวมกับพรหมันได้

ตบะ (บาลี-ตป, สันสกฤต-ตปสฺ) แปลว่าความร้อน หรือความแผดเผา การที่นำมาใช้เป็นชื่อเรียกข้อปฏิบัตินี้ คงอาศัยแนวความคิดว่าเมื่อข่มขี่บีบคั้นทรมานร่างกายมากขึ้น จะเป็นการอัดกำลังภายใน เร่งระดมความร้อนหรือเดชของจิตให้ทวีขึ้นๆ ไป จนถึงจุดเครียดหรือขีดระเบิดอันมีพลังสูงสุด โดยนัยนี้ จึงหมายถึงการบีบคั้น ทรมานร่างกายให้เกิดความเร่าร้อน ด้วยความสมัครใจทำแก่ตนเองโดยถือว่า

- เป็นการข่มร่างกาย ทอนกำลัง ไม่ยอมให้กายเป็นนายบังคับหรือชักจูงให้ทำการต่างๆ เพื่อสนองความต้องการทั้งหลาย ทำให้กายหมดอำนาจครอบงำ อาตมันจะได้บริสุทธิ์เป็นอิสระ หลุดพ้นจากพันธนาการ เข้าร่วมกับพรหมันได้

- เป็นการข่มกิเลส กำราบความปรารถนาฝ่ายต่ำ ที่ทำให้จิตอ่อนแอ ตกอยู่ในอำนาจความเย้ายวนต่างๆ ทำให้เอาชนะตนเองได้ เป็นนายเหนือตน ทำให้จิตเข้มแข็ง มีพลังอำนาจมากขึ้น จนหลุดพ้นเป็นอิสระ หรือบังคับสิ่งต่างๆไห้เป็นไปได้ตามต้องการ

อาจให้ความหมายสั้นๆ ได้ว่าตบะ คือพิธีย่างกิเลส หรือพิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว หรือการข่มกายเพื่อเพิ่มพลังจิตหรือการข่มความต้องการตามธรรมชาติ เพื่อมีอำนาจเหนือธรรมชาติหรือการบำเพ็ญเพียรข่มบังคับทรมานร่างกาย ให้พ้นจากความเป็นทาสของความต้องการตามธรรมชาติ และกลับมีอำนาจวิเศษพ้นวิสัยธรรมดา หรือวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมายอันสูงในทางจิตด้วยการข่มความปรารถนาทางร่างกายที่เป็นธรรมดาวิสัยของโลก

ความมุ่งหมายและความสำคัญของตบะ

ก. อิทธิปาฏิหาริย์: คัมภีร์พระเวทยุคแรกๆ เช่น ในฤคเวท กล่าวถึงบุคคลหรือนักบวชประเภทหนึ่ง เรียกชื่อว่า พวกมุนี และวรตฺย (นักพรต) ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญข้อปฏิบัติประเภทตบะมีฤทธิ์มาก เช่น เหาะได้เป็นต้น แต่บุคคลเหล่านี้อยู่นอกวงศาสนาพราหมณ์ (เพราะศาสนาพราหมณ์ยุคแรกๆ มีความมุ่งหมายจำกัดเพียงขั้นความสุขความรื่นรมย์ทางโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับเทพเจ้าผู้รับเครื่องเซ่นสรวงจากยัญพิธีต่างๆ) แม้ในสมัยหลังๆ เมื่อมีคำสอนทางปรัชญาและมีการบำเพ็ญตบะแพร่หลายแล้ว การได้ฤทธิ์ก็ยังคงเป็นความมุ่งหมายอย่างหนึ่งของการบำเพ็ญตบะ เช่น เพื่อรักษาโรค ไล่ผี ทำให้อายุยืนยาว และทำปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งจัดว่าเป็นวัตถุประสงค์ในทางโลก

ข. โมกษะ: ตั้งแต่ยุคอุปนิษัทเป็นต้นมา หลักปรัชญาเกี่ยวกับ อาตมัน พรหมัน และการทำให้อาตมันเข้าร่วมกับพรหมันเป็นเหตุให้ตบะเข้ามีความสำคัญในศาสนาพราหมณ์มากขึ้นโดยลำดับ กลายเป็นวิธีการที่จะให้บรรลุจุดหมายสูงสุดของศาสนาคือ โมกษะ ให้อาตมันหลุดพ้นจากความผูกพันและวงจำกัดของรูปวัตถุอันต่ำทราม เข้ารวมกับพรหมัน ที่เป็นสิ่งสัมบูรณ์ พ้นจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง จุดหมายข้อนี้เป็นวัตถุประสงค์ที่แท้ของตบะตามหลักปรัชญาของพราหมณ์ หรือฮินดู จัดเป็นวัตถุประสงค์ทางศาสนาโดยตรง

ความสำคัญของตบะที่ทวีขึ้นในศาสนาพราหมณ์ยุคหลังหรือฮินดู จะเห็นได้จากการจัดหลักอาศรม ๔ ซึ่งมีขึ้นในระยะประมาณระหว่างพุทธกาลถึงพุทธศตวรรษที่ ๔ ในระยะนี้ การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาพราหมณ์ได้วิวัฒน์มาถึงขั้นที่ บุคคลทุกคนในวรรณะสูงทั้ง ๓ จะต้องดำรงชีวิตในชาติหนึ่งนี้ให้ครบ ๔ ขั้น หรือตอน ที่เรียกว่าอาศรม ๔ คือ

๑. พรหมจรรย์ (บุคคลเป็น พรหมจารี) ระยะถือพรหมจรรย์ คือ วัยรุ่น เป็นระยะศึกษาเล่าเรียนสาระของพระเวทยัญพิธีและวิชาการอื่นๆ อยู่กับคุรุ เป็นเวลาอย่างน้อย ๑๒ ปี

๒. คฤหัสถย์ (บุคคลเป็น คฤหัสถ์) ระยะครองเรือน เริ่มแต่แต่งงาน ทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตรธิดา ประกอบยัญพิธีและรับผิดชอบต่อชุมชน

๓. วานปรัสถย์ (บุคคลเป็น วานปรัสถ์) ระยะออกไปอยู่ป่าเมื่ออายุประมาณ ๔๐ หรือได้เห็นลูกของลูกแล้ว พำนักอยู่ในอาศรมบำเพ็ญตบะ และข้อปฏิบัติอื่นๆ ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด

๔. สันนยาสะ (บุคคลเป็น สันนยาสี) ระยะสละสมบัติทุกอย่าง เหลือแต่ผ้านุ่งกับภาชนะขอทานและหม้อน้ำออกจากอาศรม เลิกประกอบพิธีกรรมและข้อปฏิบัติทุกอย่าง ออกจาริกขอภิกษาเร่ร่อนไป ไม่ต้องเสพสังคม พิจารณาเห็นความเสื่อมโทรมปฏิกูลระคนด้วยทุกข์ของร่างกาย ให้จิตใจสงบระงับ ครั้นสรีระแตกดับสลายเป็นวัตถุธาตุ อาตมันจักได้คืนเข้าสู่พรหมัน

ตามหลักอาศรม ๔ นี้ จะเห็นได้ว่า ตบะได้กลายเป็นข้อปฏิบัติที่จำเป็น หรือเกือบจะเป็นข้อบังคับสำหรับผู้ถือศาสนาพราหมณ์ทุกคนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลักอาศรม ๔ นี้ ในทางปฏิบัติ ไม่ปรากฏว่าชาวฮินดูได้ถือตามกันอย่างเคร่งครัดจริงจังแต่อย่างใด

ความเชื่อในตบะมีมากและแรงกล้าเพียงใด จะเห็นได้จากวรรณคดีพราหมณ์หลายแห่ง เช่นที่กล่าวว่า พระพรหมทรงสร้างและธำรงโลกไว้ด้วยอำนาจตบะ พระอินทร์ได้แดนสวรรค์ก็ด้วยตบะ ฤษีได้อำนาจวิเศษดุจเทพเจ้าก็ด้วยตบะ ฤษีเป็นอันมากบำเพ็ญตบะมีฤทธานุภาพมากจนเทพเจ้าต้องประหวั่นพรั่นพรึงสะท้านด้วยความหวาดกลัว และต้องหาทางสกัดยับยั้ง อสูรบางตนบำเพ็ญตบะ ได้ฤทธิ์จนแม้แต่พระอิศวรก็ทรงเดือดร้อน บำเพ็ญตบะเข้าแล้ว แม้คนสามัญก็มีฤทธิ์ได้ ตบะเป็นเครื่องเบิกทางไปสู่พลังอำนาจทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดเกินอำนาจของตบะ ตบะเป็นเครื่องสั่งสมบุญ ทำให้เข้าถึงสวรรค์ จะบริสุทธิ์ บรรลุโมกษะ พ้นจากสังสารวัฏ ก็ด้วยตบะ

ตัวอย่างวิธีบำเพ็ญตบะ

ตบะ มีความสำคัญดังกล่าวมาแล้ว วิธีบำเพ็ญตบะแบบต่างๆ จึงได้เกิดมีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ศาสนาของชาวฮินดู ในที่นี้จะแสดงตัวอย่างวิธีบำเพ็ญตบะ เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้บำเพ็ญตบะนั้น ในภาษาบาลีเรียก ตาปส หรือ ตปสฺสี สันสกฤตว่า ตปสฺวี ตปัสสีหรือตปัสวีทั้งหลายมีชื่อเรียกต่างกันไปตามประเภทหรือวิธีแห่งตบะที่บำเพ็ญ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

- ชลาศยี พวกถือแช่ตัวในน้ำแค่เอว คราวละหลายวันหรือหลายสัปดาห์

- พหูทกะ พวกถืออาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ได้มากแห่งที่สุด โดยย้ายที่อาบไปเรื่อยๆ

- ศังกุศี พวกถือนอนบนเตียงหนามคราวละนานๆ ทุกๆ วัน

- ภูมิกา พวกถือนอนบนพื้นดิน ไม่ยอมใช้เตียงหรือเครื่องปูลาด

- กุฏิลกา พวกถืออริยาบถงอตัว ไม่ยอมยืน นั่ง นอน ในท่าตัวตรง

- นิษฉลี พวกถือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ยืนหรือนั่งนิ่งในท่าและที่เดียวเป็นเวลาแรมปีจนนกมาทำรังในผมได้หรือเถาวัลย์ขึ้นพันขา หรือจอมปลวกขึ้นที่เท้า

- ขฑาศรี พวกถือไม่นอน ยันตัวตรงอยู่ตลอดทุกเวลา

- ปัญฉตปัสวี พวกถือนั่งกลางแดด พร้อมทั้งก่อไฟอีก ๔ กองไว้ล้อมตัวทั้ง ๔ ทิศ

- นีฉศิรสิ พวกถือห้อยศีรษะ โดยเอาเท้าเหนี่ยวกิ่งไม้ไว้อย่างค้างคาว

- นขิมุษฏ พวกถือกำมือไว้จนเล็บงอกแทงเข้าไปในอุ้งมือ

- อูรธวมุขี พวกถือแหงนหน้าขึ้นฟ้าจนคอแข็งค้าง

- อูรธวพาหุ พวกถือยกแขนคาไว้จนแข็งค้าง

- ฉหินนกา พวกถือทำร้ายร่างกายตนเอง เช่น บีบรัดอวัยวะบางอย่างจนเป็นง่อย เป็นต้น

บางพวกถือรับประทานอาหารจำกัดเฉพาะเป็นอย่างๆ และมีชื่อเรียกตามประเภทอาหารนั้นๆ เช่น ถือกินแต่ผลไม้ ถือกินแต่รากไม้ ถือกินสมุนไพร ถือกินนม ถือกินวันละไม่เกิน ๘ คำ ถือกินตามจันทร์ขึ้นจันทร์แรม ถือเที่ยวหากินตามป่าช้า ถือกินอาหารผสมมูลโค ปัสสาวะ หรือแม้แต่อุจจาระมนุษย์ เป็นต้น

เพียงแค่สมัยพุทธกาล การบำเพ็ญตบะก็แพร่หลายดาษดื่นและมีมากมายพิสดาร ทั้งแบบเบาและรุนแรง แทบจะนับจำนวนไม่ถ้วนอยู่แล้ว มีเล่าไว้ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เช่น ในมหาสีหนาทสูตร (ที.สี. ๙/๒๖๖/๒๑๐; ที.ปา. ๑๑/๒๓/๔๒; ม.มู.๑๒/๑๗๘/๑๕๖) เป็นต้น จะขอสรุปมาแสดงเป็นตัวอย่าง

- การถือเปลือยกาย และไม่คำนึงถึงมรรยาท

- การถือข้อกำหนดไม่ยอมรับภิกษาในกรณีต่างๆ เช่น ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมธรณีประตูให้ หรือหญิงมีครรภ์ให้ เป็นต้น

- การถือไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุราเมรัยเครื่องดอง

- การถือจำนวนเรือนที่รับภิกษา และจำนวนคำของอาหารที่รับประทาน

- การถือกินอาหารที่เก็บค้างไว้ตามจำนวนวันที่กำหนด

- การถือกินอาหารจำกัดเป็นอย่างๆ เช่น กินแต่ข้างฟ่าง กินแต่กากข้าว กินแต่รำ กินแต่กำยาน กินแต่หญ้า กินแต่โคมัย (มูลโค) กินแต่เหง้าและผลไม้ป่า กินแต่ผลไม้หล่น เป็นต้น

- การถือผ้านุ่งห่ม เช่น ใช้ผ้าป่าน ใช้ผ้าห่อศพ ใช้ผ้าเปลือกไม้ ใช้หนังเสือ เป็นต้น

- การถือถอนผมและหนวด

- การถือเกี่ยวกับอิริยาบถ เช่น ยืนอย่างเดียว ถือเขย่งเท้า ถือนอนบนหนาม เป็นต้น

- การถือพยายามอาบน้ำให้ครบวันละ ๓ ครั้ง การถือย่างและบ่มกาย

- การถือปล่อยให้ธุลีหมักหมมกายเป็นแรมปี จนเป็นสะเก็ดดำอย่างตอตะโก

- การถือเกลียดบาป ระวังตัวแจทุกขณะเคลื่อนไหว แม้แต่ในหยดน้ำกลัวจะทำให้มีสัตว์ตาย

- การถือวัตรในความสงัด เที่ยวหลบหนีซ่อนเวลาคนผ่านไม่ให้พบเห็น

- การถือวัตรกินโคมัย และมูตรกรีสของตนเอง

- การถืออาบแดด อาบน้ำค้าง ทนหนาวหิมะ ทนความกลัวในป่า

- การถืออุเบกขาทำเฉย ใครจะถ่มน้ำลาย ปัสสาวะรด เป็นต้น ไม่ถือ

ตบะ เป็นข้อปฏิบัติทางศาสนาที่ยึดถือฝังแน่นในหมู่ชนอินเดีย นิยมกันทั้งในหมู่นักบวชสายพระเวทคือพราหมณ์ทั้งหลาย และนักบวชสายไม่นับถือพระเวท เช่น นิครนถ์ เป็นต้น และยังมีแพร่หลายหาดูได้ไม่ยากในประเทศอินเดียปัจจุบัน ความยึดถือ ฝังแน่นในการบำเพ็ญตบะนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่อธิบายถึงเหตุผลที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ในประเทศอินเดียไม่ได้และเหตุผลที่ว่า ทำไมชีวิตและสภาพสังคมอินเดียจึงเป็นอยู่อย่างที่ปรากฏทุกวันนี้

ตบะในทัศนะของพุทธศาสนา

เนื่องด้วยตบะเป็นข้อปฏิบัติที่นิยมบำเพ็ญแพร่หลายมากในสังคมอินเดียระยะที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติ และคนมีความเชื่อถือกันอย่างแรงกล้าในอำนาจของตบะ ที่จะอำนวยผลสำเร็จอย่างกว้างขวางแทบจะไม่มีขีดจำกัด จนถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาแล้ว จะทรงทดลองข้อปฏิบัติที่เชื่อถือให้เห็นความจริง จึงได้ทรงทดลองบำเพ็ญตบะเหล่านี้ด้วย และเพื่อให้ตัดสินใจได้เด็ดขาด ก็ทรงบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ชนิดที่ไม่มีใครจะทำได้เกินไปกว่านั้น เช่น ในเรื่องการอดอาหารและการกลั้นลมหายใจเป็นต้น และทรงบำเพ็ญอยู่นานถึง ๖ ปี อันเป็นระยะเวลาที่เรียกว่าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ในที่สุดแห่งการพิสูจน์ทรงเห็นว่าเป็นสิ่งไร้ผล ไม่ช่วยให้เกิดผลสำเร็จอันพึงปรารถนาที่แท้จริงได้เลย ทัศนะของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับตบะ พอสรุปได้ดังนี้

ก. ตบะ จัดเป็นอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งแปลว่า การมัวประกอบความลำบากแก่ตน หรือการนำเอาความเดือดร้อนลำบากมาใส่ตนหรือการทำตนให้ลำบากเดือดร้อนเปล่าๆ ไม่ใช่ทางให้หมดความทุกข์แต่เป็นการทำให้เกิดทุกข์ ไม่เป็นอริยะหรืออารยะ และไร้ประโยชน์เป็นความประพฤติเอียงสุดข้างหนึ่ง ตรงข้ามกับกามสุขัลลิกานุโยค (ความหมกมุ่นมัวเมาในกามสุข)

ข. พระพุทธเจ้านอกจากไม่ทรงสนับสนุนแล้ว ยังทรงประณามการบำเพ็ญตบะแบบนี้ ตรัสว่ามีแต่ผลเสีย ตนเองก็ทุกข์ทรมานผลดีอะไรก็ไม่ได้ จุดหมายที่ต้องการก็ไม่บรรลุ ทำให้จิตใจไม่สงบ และตรัสว่าลำพังการบำเพ็ญตบะอย่างเดียว ยังนับว่าห่างไกลจากความเป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์ในความหมายของพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญตบะไม่ช่วยลดกิเลสในใจ ผู้บำเพ็ญจำนวนมากยังมีความยึดมั่นในตบะของตน มัวเมาในตบะนั้น เห็นเป็นความเด่นยกตนข่มผู้อื่น บางทีก็มัวเมาในลาภสักการะบ้าง หวังให้ได้รับความเคารพนับถือจากชนชั้นต่างๆ ด้วยการบำเพ็ญตบะนั้นบ้าง บางทีมุ่งคิดแต่จะละสิ่งหนึ่งกลับไปติดหลงใหลสิ่งอื่นอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ ถึงแม้ผู้บำเพ็ญตบะจะได้บรรลุผลสำเร็จที่ดีงามบางอย่างขึ้นมา ด้วยการบำเพ็ญคุณธรรมบางประการ ก็ยังมีข้อเสีย เป็นผู้น่าตำหนิในข้อที่มาทำตนให้ทุกข์ทรมานเปล่าๆ โดยไม่สมควรและไม่จำเป็นอยู่นั่นเอง

ค. หลักความประพฤติในทางพระพุทธศาสนา สอนให้ละการกระทำที่เอียงสุดทั้งสองข้าง ถือทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ในมัชฌิมาปฏิปทานี้ สำหรับบรรพชิต ซึ่งเป็นผู้สมัครใจยอมสละความสุขอย่างชาวบ้าน เพื่อมุ่งประโยชน์สุขที่สูงที่ยิ่งขึ้นไป ความประพฤติในแนวของตบะก็ยังต้องอยู่ในขอบเขตของความพอดี สมที่จะให้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ตบะในพระพุทธศาสนาจึงมีความหมายใหม่ ซึ่งมีข้อควรสังเกตและวิธีใช้พอประมวลได้ดังนี้

- หมายถึงการเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ตัดความกังวลในการแสวงหาสิ่งปรนปรือความสุขแห่ตนเองให้เหลือน้อยที่สุด ให้เหลือเพียงเท่าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตที่มีคุณภาพและไม่ให้เป็นการสร้างความทุกข์ทรมานทับถมตน คือ บริโภคใช้สอยสิ่งทั้งหลายตามความหมายส่วนแท้หรือความหมายต้น (คุณค่าแท้) ไม่ใช่เพื่อความหมายส่วนเกินหรือความหมายรอง (คุณค่าเทียม) เช่นรับประทานอาหารเพื่อบำรุงร่างกายให้มีกำลัง ไม่ใช่เพื่อมุ่งเอร็ดอร่อยสนุกสนาน ใช้ที่อยู่อาศัยเพื่อพักพิงและคุ้มภัย มิใช่เพื่อมุ่งอวดโก้สำแดงศักดิ์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้มุ่งอุทิศเวลาและกำลังงานให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตน ซึ่งได้แก่การบำเพ็ญสมณธรรม ฝึกอบรมจิตและจาริกเทศนา พูดสั้นๆ ว่าเป็นอยู่ง่าย ให้ความคิดสูง หรือให้เกิดความพอดีระหว่างการดำรงชีวิตกับการปฏิบัติหน้าที่

- ในการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา ก็มีข้องดเว้นบางอย่าง และการควบคุมความประพฤติบางอย่าง แต่ข้อปฏิบัติเหล่านี้อยู่ในขอบเขตมิให้เป็นการทรมานร่างกายและไม่มีความมุ่งหมายที่จะบีบคั้นร่างกายเพื่อให้จิตหลุดพ้นบริสุทธิ์ เพราะหลักปรัชญาอย่างนั้น ไม่มีในพระพุทธศาสนาข้องดเว้นต่างๆ เท่าที่มีในพุทธศาสนามุ่งเพียงเพื่อการฝึกความมีระเบียบวินัย การมีวินัยในตนเอง รู้จักควบคุมบังคับใจตนเอง เป็นการขัดเกลาในทางความประพฤติเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง และความประณีตแห่งจิตใจและบุคลิกภาพ

- ในความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ นั้น พระพุทธศาสนาเน้นหนักในเรื่องความระมัดระวังเอาใจใส่บำรุงรักษาสุขภาพของร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าการปฏิบัติธรรมจะได้ผลดี ต้องอาศัยร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ จะเห็นได้จากข้อกำหนด และบทบัญญัติมากมายในวินัยปิฎก ที่เกี่ยวกับการบริหารร่างกาย การรักษาความสะอาดเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย การพักผ่อน การรับประทานอาหาร เป็นต้น ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้ พระภิกษุจะต้องฝึกหัดควบคุมตนเองให้มีระเบียบ เมื่อถือว่าการปฏิบัติควบคุมตนในเรื่องเช่นนี้เป็นตบะ ก็นับว่าเป็นตบะที่ตรงข้ามกับแบบทรมานตน

ในแง่การปฏิบัติธรรม พระพุทธศาสนาสอนให้หมั่นพิจารณาและรู้เท่าทันในธรรมชาติของร่างกายที่เกิดจากส่วนประกอบต่างๆ มีความเป็นปฏิกูล อ่อนแอ ง่ายต่อการแตกสลาย ดำเนินไปสู่ความทรุดโทรม เป็นของชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความมัวเมา และจะได้ไม่ประมาท เร่งขวนขวาย เพียรพยายามปฏิบัติหน้าที่ ใช้ประโยชน์จากชีวิตเพื่อความดีงามให้ได้มากที่สุด

- คำว่าตบะ นำมาประยุกต์ใช้ในพระพุทธศาสนาในความหมายใหม่หลายอย่าง เช่น :-

  • หมายถึงอินทรียสังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ ควบคุมความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อการรับรู้ทางอายตนะต่างๆ ให้เป็นไปแต่ในทางดีงาม ไม่ให้กิเลสเข้าครอบงำ
  • หมายถึงความเพียร คือความเพียรพยายามที่จะกำจัดความชั่ว ตรงกับความหมายว่าเพียรเผากิเลส หรือความเพียรในการปฏิบัติหน้าที่
  • หมายถึงขันติ คือความอดทน ซึ่งได้แก่ ความเข้มแข็งทนทานที่ทำให้ดำรงตนอยู่ในมรรคาอันนำไปสู่จุดหมายของตนอย่างแน่วแน่มั่นคง สามารถผ่านอุปสรรคสิ่งบีบคั้นทุกอย่างไปได้จนบรรลุถึงความสำเร็จ
  • หมายถึงอธิจิต คือการฝึกจิตอย่างสูง หรือข้อปฏิบัติทั้งหลายในฝ่ายสมาธิ

ตบะในความหมายเหล่านี้ และความหมายอื่นๆ เท่าที่ใช้ในพระพุทธศาสนา โดยใจความสำคัญก็รวมอยู่ในข้อสุดท้าย คือ อธิจิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในทางร่างกาย ตบะทางพระพุทธศาสนาต้องการให้ฝึกฝนในขั้นละ และควบคุม ไม่เลยไปถึงการเพิ่มความบีบคั้น ส่วนในทางจิต มุ่งในด้านเพิ่ม คือฝึกฝนอบรมจิตใจด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมให้เพิ่มพูนขึ้นไป เช่นสร้างเสริม สติ สมาธิ วิริยะ เมตตา กรุณา เป็นต้น

พระพุทธเจ้าเคยตรัสเปรียบว่า เมื่อคนต่อเรือข้ามแม่น้ำคือวัฏสงสาร ตบะเปรียบเหมือนการตัดไม้เอาท่อนซุงมาลิดกิ่งใบถากเกลาขัดชำระแต่ภายนอกให้เรียบร้อย แต่ไม่ขุดข้างในปล่อยลงน้ำ ก็ใช้เป็นเรือแล่นข้ามไปไม่ได้ ถ้าจะใช้เป็นเรือข้ามไปให้สำเร็จ ก็ต้องไม่หยุดอยู่เพียงแค่การถากเกลาข้างนอก ต้องฝึกอบรมความประพฤติบ่มใจ อันเปรียบได้กับการขุด และติดอุปกรณ์เช่นหางเสือ เป็นต้น ให้เรียบร้อยด้วย

ง. พระพุทธศาสนามิได้ประณามเฉพาะแต่การบำเพ็ญตบะ เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ โมกษะหรือความหลุดพ้นเท่านั้นแต่ประณามการบำเพ็ญตบะเพื่อให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย เพราะพระพุทธศาสนาไม่ให้เกียรติอันสูงแก่อิทธิปาฏิหาริย์ และสอนว่าอิทธิปาฏิหาริย์เป็นผลพลอยได้ในระหว่างการปฏิบัติธรรมเพื่อความตรัสรู้ มิใช่สิ่งสำคัญหรือจำเป็น

จ. มีข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอยู่หมวดหนึ่ง ซึ่งความเข้มงวดจนใกล้เคียงกับคำว่าตบะในความหมายเดิมของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ธุดงค์ ซึ่งมีอยู่ ๑๓ ข้อ อย่างไรก็ดี ธุดงค์เหล่านี้ไม่จัดเข้าเป็นบทบัญญัติในวินัย เป็นเรื่องสมัครใจทำตามอัธยาศัยสันนิษฐานว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้เพื่อบุคคลบางประเภท ที่มีอัธยาศัยโน้มเอียงไปในทางความประพฤติเข้มงวด หรือผู้ต้องการทดลองฝึกการบังคับตนเองให้เข้มงวดเป็นพิเศษในบางโอกาส หรือเพื่อสนองความต้องการของสาวกประเภทหนึ่ง (ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก) ที่เคยบำเพ็ญตบะมาก่อนนับถือพระพุทธศาสนาและยังมีความโน้มเอียงตามนิสัยเดิมอยู่บ้าง แต่ไม่ให้เลยขอบเขตออกไปจนเข้ารูปตบะอย่างของเดิม และให้เลือกถือได้ ไม่จัดเข้าในวินัย

การถือธุดงค์ส่วนมากจะทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะระหว่างพระภิกษุผู้ถือ กับพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์น้อยลง และระหว่างพระภิกษุที่ถือธุดงค์มักเป็นผู้มีอัธยาศัยโน้มเอียงไปในลักษณะนี้หรืออย่างน้อยก็ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้นชั่วคราว ส่วนข้อปฏิบัติประเภทควบคุมความประพฤติให้มีระเบียบวินัยและความเป็นอยู่ให้ง่ายๆ ซึ่งใช้เป็นบทบัญญัติสำหรับภิกษุทุกรูปเสมอกันนั้น เป็นไปตามคติแห่งเนกขัมมะ ไม่ใช่เรื่องของตบะ

ข้อปฏิบัติตามคติแห่งเนกขัมมะ นอกจากจะมีความมุ่งหมายเพื่อขัดเกลาความประพฤติ ฝึกตนให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ทำจิตใจและบุคลิกภาพประณีตขึ้น เกิดความพร้อมและเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ยังมีความมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมของพระภิกษุ ตามคติแห่งพุทธพจน์ว่า “จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แห่งพหูชน” ด้วย

ตามบทบัญญัติในพระวินัย ชีวิตของพระสงฆ์จะต้องอาศัยปัจจัย ๔ ที่ชาวบ้านถวาย ความเป็นอยู่จะต้องผูกพันกับชาวบ้านตลอดไป ในฐานะที่มิได้หาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง และชีวิตขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย จึงเป็นหลักการครองชีพที่สำคัญ ที่จะทำให้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่เป็นภาระแก่เขามากนัก และรักษาศรัทธาของเขาไว้ได้ ในเวลาเดียวกัน ตนเองก็ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายด้วยเรื่องการหาความสุขความปรนปรือ ปลอดโปร่งใจ ไม่มีความห่วงกังวลกับเรื่องส่วนตัว หันไปเอาใจใส่อุทิศเวลาและกำลังงานให้แก่การกระทำหน้าที่ คือ การปฏิบัติและสั่งสอนธรรมได้เต็มที่ นอกจากนี้ ก็จะได้ไม่ติดถิ่นติดที่ ไม่มีความรู้สึกจำกัดคับแคบว่าตนผูกมัดอยู่กับผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นบุคคลกลางๆ ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ของพหูชนทั่วไป

นี้คือผลที่ประสงค์ของความประพฤติเคร่งครัดของพระสงฆ์ และเพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติแน่นอนยิ่งขึ้น จึงกำหนดหลักธรรมข้อสันโดษกำกับไว้ด้วย โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน

โดยที่ตบะเป็นข้อปฏิบัตินอกวงศาสนาพราหมณ์มาแต่เดิมดังกล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น แม้ในสมัยต่อมาศาสนาฮินดูจะรับเอาตบะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาของตนแล้วก็ตาม แต่นักบวชนอกศาสนาพราหมณ์ที่บำเพ็ญตบะมาแต่โบราณ ก็ยังคงยึดถือตบะอยู่เช่นเดิม ดังจะเห็นได้ในหมู่นิครนถ์คือนักบวชในศาสนาไชนะซึ่งบำเพ็ญตบะด้วยวิธีการที่จัดว่ารุนแรงที่สุดพวกหนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.