พุทธศาสนากับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เกณฑ์วินิจฉัย
ความหมายและคุณค่า
ของพุทธธรรม

ขอเจริญพร ท่านอาจารย์คณบดี ท่านประธานกรรมการมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ท่านรองประธานโครงการตำราฯ และท่านสาธุชนทั้งหลาย

อาตมภาพรู้สึกเป็นสิริมงคล ที่ได้มีโอกาสมากล่าวธรรมกถาในที่ประชุมนี้ ซึ่งประกอบด้วยท่านผู้ใฝ่ธรรมและวิทยาการทั้งหลาย ในการกล่าวธรรมกถานี้ ถือว่าได้มีส่วนร่วมอุทิศกุศลแด่ท่านนาคะประทีปหรือท่านพระสารประเสริฐ ซึ่งได้มีการจัดงานนิทรรศการ เพื่อเจาะจงต่อท่านในโอกาสนี้ด้วย สำหรับคุณงามความดีที่ท่านพระสารประเสริฐหรือนาคะประทีปได้บำเพ็ญไว้ อันเป็นคุณประโยชน์แก่วิชาการ ทำให้เกิดความก้าวหน้าเป็นอย่างไรนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายอยู่แล้ว ทั้งในส่วนตนเองและที่ได้ยินได้ฟังจากคำสดุดีในที่ประชุมนี้

สำหรับเรื่องที่ท่านได้นิมนต์อาตมภาพมาแสดงในวันนี้คือ เรื่องพุทธธรรมนั้น เป็นเรื่องที่มีความกว้างขวางพิสดาร มีรายละเอียดมาก จะนำมากล่าวในที่นี้ให้หมดคงเป็นไปได้ หรือจะพูดแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดก็จะกลายเป็นการจำกัดลงแคบเกินไป ไม่เพียงพอแก่ชื่อเรื่องที่ตั้งเอาไว้ว่าพุทธธรรม ซึ่งเป็นคำกลางๆ มีความหมายมาก อีกประการหนึ่งถ้าจะนำมากล่าวโดยสรุป คือนำมาแสดงเป็นหัวข้อว่า หลักพุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาสั่งสอนมีอะไรๆ บ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องซ้ำซาก เพราะท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินได้ฟังมาในโอกาสต่างๆ เป็นอันมาก อาตมภาพจึงมานึกดู เห็นว่า ในสมัยปัจจุบันนี้ พอจะกล่าวได้ว่า มีความเข้าใจและสนใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นพอสมควรในหมู่ท่านที่เป็นนักวิชาการทั้งหลายในวงวิทยาการสาขาต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องทางสังคมวิทยาบ้าง ทางการศึกษาบ้าง ทางการปกครองบ้าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่า นักวิชาการในสาขาต่างๆเหล่านั้น เมื่อมาศึกษาพระพุทธศาสนา ย่อมตีความหลักธรรมไปตามพื้นฐานทางวิชาการในสาขาที่ตนได้ฝึกฝนอบรมมา และในแง่ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในสาขาวิชานั้นๆ

เมื่อความสนใจในทางพระพุทธศาสนาสมัยปัจจุบัน เป็นไปในรูปเช่นนี้ อาตมภาพจึงคิดเห็นว่า เราควรมีแนววิธีอะไรบางประการที่จะช่วยในการศึกษาพุทธธรรม เพื่อให้การวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยความแน่ใจ ให้เกิดความชัดเจนและความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าการตีความหรือวินิจฉัยความหมายต่างๆ นั้น หากว่าทำไปไม่ถูกต้อง อาจจะเป็นอันตรายได้มาก ดังจะเห็นได้ในปัจจุบันนี้ เท่าที่นักวิชาการลางท่านตีความหมายไปต่างๆ นั้น อาตมภาพเห็นว่า บางคราวก็เป็นโทษไม่น้อย

ทีนี้เราจะมีแนววิธีศึกษาอย่างไร ที่จะเป็นเครื่องช่วยในการตีความหมาย และวินิจฉัยคุณค่าของพุทธธรรมนั้น ให้เป็นไปโดยถูกต้อง ในข้อนี้อาตมภาพคิดว่า เราควรพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานบางประการของหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ความเข้าใจในลักษณะพื้นฐานบางประการของหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น จะเป็นเครื่องประกอบช่วยให้การวินิจฉัยความหมายของหลักธรรมต่างๆ ชัดเจนและได้ความหมายที่ถูกต้องยิ่งขึ้น หลักแนวและวิธีต่างๆ ที่อาตมภาพจะนำมาเสนอในที่นี้ อาจเรียกว่าเป็น “เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม” ก็ได้ อาจจะไม่ใช่ชื่อที่ถูกต้องทีเดียว แต่ว่าพอใช้ได้ไปก่อน ในการศึกษาพุทธธรรม เมื่อเรามีหลักเกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าเช่นนี้แล้ว อาตมภาพก็มีความเชื่อมากขึ้นว่า เราจะได้ความหมายของหลักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องชัดเจนสมบูรณ์ขึ้น

ในปัจจุบัน เท่าที่เราได้ยินได้ฟังบุคคลทางท่านแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ นั้น บางคราวท่านนำมากล่าวในทางที่อาจให้เกิดโทษ เช่น เมื่อพูดถึงหลักธรรม ในแง่ของสังคมวิทยา ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ ในแง่ของการปกครองหรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น ความหมายที่นำมาพูดบางทีก็เป็นเพียงภาพที่เกิดจากความเข้าใจไขว้เขว โดยประมวลเอาประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่ หรือการดำรงชีวิตของบุคคลบางกลุ่มบางพวก มาสร้างความหมายขึ้นในทางที่ทำให้เห็นว่าพุทธธรรมนั้น บางครั้งก็ก่อให้เกิดโทษภัย แต่ในความเข้าใจเช่นนั้น ไม่ได้เกิดจากการศึกษาค้นคว้าโดยถูกวิธี

เพื่อให้เห็นชัดเจนในความหมายเช่นนี้ จะขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หลักธรรมข้อสันโดษ มีการกลายความหมายไปถึงกับว่า เป็นการปลีกตัวอออกไปอยู่โดเดี่ยวไม่เกี่ยวข้องกับใครๆ ก็มี หลักธรรมเรื่องการทำบุญมองในแง่ของสังคมวิทยา บางท่านเห็นไปว่า เห็นการขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศก็มี ดังนี้เป็นต้น ความหมายที่ยกขึ้นอ้างนั้นคลาดเคลื่อน เกิดจากการมองผาดเผิน โดยถือเอาประสบการณ์ของตนเองจากคนบางกลุ่มบางพวกเป็นประมาณ มิได้เกิดจากความเข้าใจด้วยการศึกษาอย่างถ่องแท้ เมื่อนำทัศนะเช่นนั้นมาแสดงก็เกิดโทษได้ ๒ ชั้น ประการที่๑ ความเข้าใจผิดพลาดนั้น มีโทษมีพิษร้ายอยู่ในตัวแล้ว ประการที่ ๒ การนำมาแสดงโดยการพูดการเขียนเป็นต้น จะเพิ่มโทษพิษภัยมากขึ้นอีกเป็นซ้ำสอง เพราะจะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ความเข้าใจนั้นในทางที่เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ทำให้ผู้อื่นพลอยเข้าใจผิด และเห็นผิดไปด้วย

สำหรับความเข้าใจเช่นนี้ อาตมภาพเห็นว่า เราพอจะเปรียบเทียบได้กับความเข้าใจเรื่องบางเรื่องของคนบางพวกในปัจจุบันนี้เอง แม้แต่เรื่องที่เรากำลังพูดกันแพร่หลาย อย่างเช่น เรื่องประชาธิปไตย ในความเข้าใจของชาวบ้าน บางคนอาจจะนึกว่า ประชาธิปไตยหมายถึงการทำอะไรๆ ได้ตามความชอบใจ บางคนอาจจะคิดว่าได้แก่การเดินขบวน การสไตร๊ค์ เป็นต้น หรือ บางคนอาจจะเข้าใจว่าหมายถึงรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นเล่มสมุดวางอยู่บนพานที่อนุสาวรีย์ นี่คือความเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยของคนบางคน ซึ่งท่านทั้งหลายที่มีการศึกษาได้รอบรู้ในทางวิชาการย่อมปฏิเสธทันทีว่า นี้เป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง อันนี้ฉันใด แม้ความเข้าใจของบางท่านที่นำเอาหลักธรรมต่างๆ มาแสดงทางวิชาการในข้อเขียนต่างๆ นั้น บางทีก็เป็นเพียงความเข้าใจเช่นว่านี้ คือความเข้าใจที่เกิดจากการเห็นภาพเพียงบางส่วนและพฤติการณ์ของคนบางกลุ่มบางประเภท แล้วนำมาสรุปเอาว่า เป็นความหมายของหลักธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น จะต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเรามีความหวังดีต่อประเทศชาติ เราจะต้องสำนึกว่า หลักธรรมในทางพุทธศาสนาที่อยู่ในความเชื่อถือของประชาชน เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเราเป็นนักสังคมวิทยา เรารู้เห็นอยู่ว่าคนในสังคมของเรา มีความเชื่อถือในหลักธรรมต่างๆ เช่น สันโดษ เป็นต้น ถ้าเรามีความประสงค์ดีคิดจะช่วยสังคมให้เดินไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เราไม่มีทางเลี่ยงที่จะไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อถือเหล่านั้น เมื่อเราจะเกี่ยวข้อง ก็จำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเราไม่พยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้องถ่องแท้ เราจะหาจุดเริ่มต้นแห่งการแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่มีจุดเชื่อมต่อระหว่างปัญหากับทางที่จะดำเนินไปสู่การแก้ปัญหา พูดง่ายๆ ว่าเราไม่เข้าใจปัญหา และไม่เข้าใจสังคมที่เราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นอาตมภาพจึงนำเรื่องนี้มาแสดงในที่นี้

ทีนี้ แนวที่เรียกว่าเป็นหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรมมีอย่างไร อาตมภาพจะเสนอไว้สัก ๒-๓ หรือ ๔-๕ หัวข้อ ตามแต่เวลาจะอำนวย

๑. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ

ข้อที่หนึ่งในการศึกษาพุทธธรรม จะต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีความหมายเหมือนกับอุปกรณ์หรือยานพาหนะ สำหรับนำไปสู่จุดมุ่งหมาย นี้เป็นการพูดตามพุทธวจนะที่มีอยู่ว่า “ธรรมทั้งหลายเปรียบเสมือนแพ แพนั้นมีไว้สำหรับใช้ข้ามฟาก ไม่ใช่สำหรับยึดถือเกาะติดเอาไว้” พุทธพจน์นี้ควรจะตระหนักกันให้มากในการที่จะศึกษาหลักธรรมต่างๆ จากพุทธพจน์นี้ เราตีความหมายได้ ๒ แง่ด้วยกัน ประการที่๑ ในแง่ของคุณค่าและความหมาย จะต้องเข้าใจว่าคุณค่าของหลักธรรมต่างๆ นั้นอยู่ที่ความเป็นอุปกรณ์ คือ เป็นเครื่องมือหรือสิ่งสำหรับใช้ประโยชน์ ประการที่ ๒ ความเป็นอุปกรณ์นั้น จะต้องสัมพันธ์กับจุดหมายในการที่จะนำธรรมต่างๆ มาใช้ จากนี้จะเกิดความเข้าใจชัดและกว้างออกไปในแง่การปฏิบัติว่า การปฏิบัติต่อธรรมะทั้งหลายนั้น ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็คือการที่จะต้องใช้ประโยชน์ ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ผิดก็คือการยึดเกาะติดในธรรมะนั้น โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เริ่มตั้งแต่การนำมาถกเถียงกันเปล่าๆ การปฏิบัติอย่างเลื่อนลอย ไร้จุดหมาย ไร้ความสัมพันธ์ จนถึงการยึดถือในข้อปฏิบัตินั้นๆ ด้วยโมหะอย่างเหนียวแน่น

ที่ว่าธรรมะเป็นอุปกรณ์นำไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นสำคัญอย่างไร ธรรมะทั้งปวงมีความสัมพันธ์เนื่องถึงกัน ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความหมายของพุทธธรรม ธรรมแต่ละหัวข้อย่อมมีคุณค่าในตัวของมันเอง ตามตำแหน่งที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้น คือ มีคุณค่าตามตำแหน่งที่มันสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นๆ ในกระบวนการปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมเป็นการปฏิบัติต่อเนื่อง ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนกับการไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งหนึ่งด้วยรถเจ็ดผลัดเป็นต้น อันนี้มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก หมายความว่าการปฏิบัติธรรมแต่ละข้อๆ นั้น มีจุดหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ ต่อไป และจุดหมายในที่นี้ต้องแน่นอนชัดเจน ชี้เฉพาะได้ ไม่ใช่จุดหมายที่พร่าๆ ใครๆ อาจจะบอกเมื่อปฏิบัติธรรมสักข้อหนึ่ง ว่าปฏิบัติธรรมะข้อนั้นเพื่อพระนิพพาน อย่างนี้ใครๆ ก็พูดได้เพราะเป็นกำปั้นทุบดิน แต่เป็นการตั้งเป้าหมายที่พร่าเกินไป ความจริงหลักธรรมแต่ละข้อย่อมมีจุดหมายของมันโดยเฉพาะแต่ละข้อแต่ละตอนไปว่า ธรรมะข้อนี้เป็นไปเพื่ออะไร เช่น ถ้าจะปฏิบัติศีล ก็มีข้อมุ่งหมายว่าศีลนั้นเพื่ออะไร

ถ้าหากเราไม่ปฏิบัติธรรมโดยมีความมุ่งหมายแล้ว การปฏิบัติธรรมะก็เป็นไปโดยเลื่อนลอย ขาดความสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นๆ จะเห็นได้ง่ายๆ อีกอย่างหนึ่ง ยกธรรมะที่เกี่ยวข้องกับชาวโลกมากหน่อย หรือพูดถึงกันบ่อยๆ คือ ข้อสันโดษนั่นเอง สันโดษเป็นธรรมะที่ปฏิบัติเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร สำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่ตระหนักถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติสันโดษ ก็จะเห็นชัดเจนว่าเป็นการปฏิบัติลอยๆ ไม่สัมพันธ์กับหลักธรรมข้ออื่นๆ เขา อาจจะสร้างภาพที่ผิดพลาดขึ้นมา บอกตัวเองหรือทำให้คนอื่นเข้าใจเป็นภาพที่เลือนราง คล้ายกับจะให้เห็นว่าเป็นการปฏิบัติอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะมักจะให้เห็นว่าการปฏิบัติธรรมะข้อสันโดษนั้น ก็เพื่อให้มีความสุข จากนั้นอาจจะสร้างภาพต่อไปว่า คนที่มีสันโดษถ้าเป็นพระก็เป็นพระที่เรียบร้อย เฉยๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร อะไรทำนองนี้ ผลที่สุด ในแง่หนึ่ง ก็ทำให้ธรรมะขาดชีวิตชีวา แต่ข้อสำคัญก็คือ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการหรือที่สมควรจะได้

ทีนี้ สันโดษมีความมุ่งหมายอย่างไร ท่านแสดงไว้ในที่ทุกแห่ง แต่อาจจะไม่เฉลียวใจ เช่น สำหรับพระภิกษุ คำแสดงความหมายสันโดษของพระพุทธเจ้าบอกว่า “พระภิกษุสันโดษในปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จะไปไหนก็ไปได้ง่ายๆ เอง เหมือนกับนกที่มีแต่ปีกบินไป” อันนี้มีหมายความส่ออยู่ในตัว ถึงการปฏิบัติสันโดษอย่างมีมุ่งหมาย มีความมุ่งหมายอย่างไร ก็หมายความว่า ในกรณีนี้ พระภิกษุนั้นเมื่อมีความสันโดษแล้ว ก็ไม่มีความห่วงกังวลในทางวัตถุ จะไปไหนต่อไหนก็ไปได้โดยสะดวก เหมือนนกที่มีแต่ปีกบินไป แล้วจะเข้ากับจุดหมายอย่างไร เข้าในแง่อุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระสาวกไว้แต่เริ่มแรกทีเดียวว่า ให้ภิกษุทั้งหลายจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มนุษย์ทั้งหลาย พอมีหลักธรรมเรื่องสันโดษเข้ามา มันก็เข้ากับจุดมุ่งหมายตามอุดมคตินี้ว่า เมื่อพระภิกษุมีความสันโดษ ไม่มีความห่วงกังวลในทางวัตถุแล้ว ท่านจะไปทำหน้าที่ประกาศพระศาสนา ท่านจะไปไหนมาไหน ก็สะดวกสบาย ทำหน้าที่ได้เต็มที่ ได้ใจความว่าไม่มีห่วงกังวลในทางวัตถุ ทุ่มเทเวลาและกำลังงานให้แก่การบำเพ็ญสมณธรรมและปฏิบัติศาสนกิจได้เต็มที่

นี้ก็เป็นตัวอย่างอีกอันหนึ่งของการปฏิบัติธรรมอย่างมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่การปฏิบัติอย่างเลื่อนลอย ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็จะได้เพียงการสร้างภาพว่า คนสันโดษเป็นแต่เพียงผู้ที่อยู่เงียบๆ ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ผลที่สุดธรรมะต่างๆ ก็จะขาดลอยจากกันไม่มีชีวิตชีวา ขาดการเชื่อม ขาดการประสาน ที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป นี้เป็นแง่ที่หนึ่ง

นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจความหมายของสันโดษว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างใดแล้ว เรายังจะรู้อีกว่า ทำไมหลักธรรมข้อสันโดษจึงไม่ขัดกับหลักธรรมข้อไม่สันโดษ เพราะความไม่สันโดษเป็นหลักสำคัญอันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเน้นไว้ว่าที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น เพราะพระองค์ไม่ทรงสันโดษ อาจจะทำให้เกิดความสงสัย ว่าเอ๊ะ ทำไมจึงสอนความไม่สันโดษด้วย ดูเป็นขัดกันไป ความจริงถ้าเรารู้ว่าหลักธรรมแต่ละข้อมีจุดมุ่งหมายอย่างไรแล้ว เราจะเห็นความไม่ขัดกันในทันที สำหรับพระภิกษุนั้น เพราะว่ามีความสันโดษในปัจจัย ๔ ท่านก็หมดความกังวลที่จะหาความเพลิดเพลิน ความปรนเปรอทางวัตถุ พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนธรรมข้อไม่สันโดษไว้ บอกว่าไมให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย พระองค์ตรัสไว้ทีเดียวว่าที่ได้ตรัสรู้นั้น ทรงมองเห็นคุณค่าของธรรมะ ๒ ประการคือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และการทำความเพียรอย่างไม่รู้จักย่อท้อ

จากพุทธพจน์นี้จะเห็นว่า ความไม่สันโดษมีขอบเขตของมัน คือ ใช้ในกุศลธรรมอันได้แก่คุณธรรมและการปฏิบัติกิจที่ดีงาม พระพุทธเจ้าไม่ได้เคยทรงหยุดยั้ง ไม่เคยพอพระทัยเลยในผลสำเร็จของพระองค์ พระองค์เสด็จไปเรียน ไปปฏิบัติธรรมอยู่ในสำนักดาบส ฤาษี หรือพวกโยคีต่างๆ เรียนจบและแสดงความสามารถจนกระทั่งอาจารย์พอใจ เชิญให้อยู่ร่วมสำนักเพื่อให้ทำการสอนต่อไป พระองค์ก็หาได้ทรงพอพระทัยไม่ ยังไม่สำเร็จผลที่มุ่งหมาย พระองค์จึงได้ออกจากสำนักดาบสเหล่านั้นไป แล้วแสวงหาธรรมด้วยพระองค์เอง จนสำเร็จ

หลักธรรมทั้ง ๒ ประการคือ สันโดษก็ดี ไม่สันโดษก็ดี ย่อมมีความประสานกัน มิได้ขัดกันเลย มีแต่ส่งเสริมกันด้วยซ้ำ เพราะเมื่อสันโดษแล้วพระภิกษุนั้นก็ตัดห่วงตัดกังวลในทางที่จะปรนเปรอตนเองในทางวัตถุได้ สามารถบำเพ็ญความไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ คือมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม พยายามให้ถึงผลสำเร็จที่มุ่งหมาย เพราะฉะนั้น อาศัยหลักธรรมข้อสันโดษเราก็ตัดความโลภ ความห่วงกังวล ที่จะเหนี่ยวรั้งขัดขวางเราไม่ให้ทำกิจหน้าที่ของตนได้เต็มที่ เป็นการทำตัวให้พร้อมและคล่องตัว เมื่อมีความพร้อมคล่องตัวดีแล้วก็ปฏิบัติธรรมข้อไม่สันโดษ หลักธรรมข้อไม่สันโดษนั้น ก็นำมาใช้ในการสร้างนิสัยใฝ่สัมฤทธิ์และการแสวงหาความดีเลิศต่อไป อันนี้จึงเป็นหลักธรรมที่ประสานกลมกลืนกัน นี้เป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่ง จะขอผ่านไปก่อนสู่หลักเกณฑ์ประการที่ ๒

๒. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรมข้อที่สองนี้ มีส่วนพัวพันถึงธรรมะในแง่ที่เป็นอุปกรณ์ด้วย เกณฑ์ข้อที่สองนี้ก็คือลักษณะที่นิยมเรียกในภาษาสมัยปัจจุบันว่าแง่ลบและแง่บวก หรือจะใช้ภาษาทางพระพุทธศาสนาว่า หลักธรรมต่างๆ มีทั้งแง่ปหาน และแง่ภาวนา เพื่อความสะดวกจะใช้ภาษาของคนสมัยใหม่คือแง่ลบและแง่บวก

หลักธรรมต่างๆ มีความหมายทั้งแง่ลบและแง่บวก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันสัมพันธ์กับการเป็นอุปกรณ์ที่จะนำไปสู่จุดหมาย ความเป็นอุปกรณ์ที่จะนำไปสู่จุดหมาย ทำให้มันมีลักษณะเป็น ๒ ด้าน คือในแง่ลบมีความหมายเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับกำจัดสิ่งที่ไม่ดีไม่งามหรือไม่ต้องการ และในแง่บวกก็คือว่า มันจะช่วยให้เราเข้าไปสู่จุดหมายหรือใกล้เข้าไปสู่จุดหมายได้มากขึ้นโดยนัยนี้ ธรรมะแต่ละข้อ ก็จะมีทั้งแง่ลบและแง่บวก อยู่ในตัวของมันเอง

ทีนี้การสอนในปัจจุบันอาจเป็นไปได้ว่า เราเน้นในแง่ลบมากเกินไปจนเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น อย่างพวกฝรั่งบางคนได้เขียนหนังสือไว้แสดงให้เห็นว่า หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามีความหมายในทางลบอย่างเดียว เช่นให้ปฏิบัติศีลงดเว้นจากการเบียดเบียน แล้วก็ไม่แนะนำว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปเป็นต้น อันนี้อาจจะเป็นความบกพร่องของเราด้วยผสมกัน คือเราเองศึกษาและสั่งสอนพุทธธรรมไม่ครบทุกแง่ทุกมุม เช่น เวลาสอนเรื่อง ฆราวาสธรรม มีธรรมะข้อหนึ่งเรียกว่าทมะ เราก็สอนว่า ทมะนั้นได้แก่การข่มใจ เมื่อได้ยินได้ฟังคำที่จะทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด เราก็ข่มใจหักห้ามใจได้ไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกลียด เมื่อสอนเรื่องอุเบกขา เราก็สอนว่าเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย แม้แต่เรื่องสันโดษก็เช่นเดียวกัน อาตมภาพพูดเรื่องสันโดษมาแล้ว ก็จะลองเอาเรื่องสันโดษมาพูดอีก ในแง่ที่ว่าจะมีความหมายทั้งในแง่ลบแง่บวกอย่างไร

ความหมายในแง่ลบของสันโดษก็คือ การช่วยกำจัดความโลภทำให้ไม่เกิดความรุ่มร้อนกระวนกระวายใจในการที่ว่าได้ไม่รู้จักพอนั้นด้วย ทีนี้ในแง่บวก สันโดษก็คือช่วยให้เรามีเวลามีโอกาสและพลังงานสำหรับทำกิจทำหน้าที่มากขึ้น และมีความสุข ความพอใจ ซึ่งสืบเนื่องมาจากความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง สำหรับพระภิกษุความหมายอาจจะเน้นจำกัดลงไปอีก คือในแง่ลบ หมายถึงการตัดความกระวนกระวายใจหรือความกังวล ในการที่จะแสวงหาวัตถุมาปรนเปรอตนเอง ในแง่บวก หมายถึงว่า เมื่อจะบำเพ็ญสมณธรรมก็ดี หรือเมื่อจะทำตามอุดมคติในการประกาศพระพุทธศาสนา จาริกไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญประโยชน์สั่งสอนประชาชนก็ดี ก็สำเร็จโดยง่าย ทำได้ปลอดโปร่ง พูดอย่างในภาษาสมัยใหม่ก็คือทำให้เกิดความคล่องตัว

ถึงหลักธรรมอื่นๆ ก็มีความหมายทั้ง ๒ แง่เหมือนกัน อย่างเช่นศีล ศีลนั้นตามแบบเดิมท่านวางไว้เป็น ๒ ตอน ศีลเต็มรูปอย่างที่มาในกรรมบทมี ๒ ตอน ตอนต้นบอกว่า ละปาณาติบาต ละการฆ่าเบียดเบียนสัตว์ แล้วตอนท้ายจะมีข้อความตามบาลีว่า สพฺพปาณภูตหิตานุกมฺปี ซึ่งแปลว่า อนุเคราะห์ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง อันนี้เป็นแง่บวก แต่เวลาที่ท่านเขียนเป็นข้อสั้นๆ ท่านยกมาแต่หัวข้อตอนต้นซึ่งเป็นแง่ลบมาตั้ง ผู้ที่ศึกษาไม่ได้ศึกษาโดยตลอดก็เข้าใจว่า ศีลนั้นมีแง่ลบอย่างเดียว จนกระทั่งสมัยหลังนี้เกิดมีวิวัฒนาการขึ้นในสายของไทยเราโดยเฉพาะมีการแยกออกเป็น ๒ อย่าง เป็นศีลอย่างหนึ่ง ธรรมอย่างหนึ่ง จนถึงกับวางเป็นหลักสูตรแบบเรียน เรียกว่าวิชาศีลธรรม ความจริงศีลก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมนั่นเอง

ตัวอย่างอีกอันหนึ่งคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็มีความหมายทั้งในแง่ลบและแง่บวก เช่น หลักอนิจจัง หลักอนิจจังความไม่เที่ยงนั้น เป็นเพียงการแสดงสภาวะของสิ่งทั้งหลาย เวลาจะนำมาประยุกต์ใช้ชีวิตประจำวันของเรา เรามักสอนกันในแง่ที่ว่าจะช่วยปลอบใจให้หายความทุกข์โศก เช่น เมื่อเกิดการพลัดพรากสูญเสียขึ้น เราจะปลอบใจกันว่า อันนี้อนิจจังไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงแตกสลายไปเป็นธรรมดา จะเศร้าโศกไปก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด นี่ก็เป็นลักษณะที่ดี คือช่วยหยุดยั้งความซูบโทรมทางจิตและการกระทำที่จะทำให้สูญเสียพลังงานไปเปล่า แต่เรามักจะหยุดกันแค่นี้ ไม่ได้นึกถึงขั้นต่อไปว่าในแง่บวกจะทำอย่างไร บางคราวก็เลยทำให้เกิดผลเสีย คือปล่อยสิ่งต่างๆ ไป ตามเรื่องตามราว ไม่คิดแก้ไขปรับปรุง จึงต้องคำนึงถึงแง่บวกด้วย

ในแง่บวกอนิจจังก็สอนให้ปรารภต่อไปว่า การที่สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปนั้น มันจะเปลี่ยนแปลงตามเหตุ ตามปัจจัย หาได้เปลี่ยนแปลงไปลอยๆ ไม่ ในเมื่อเราต้องการผลที่ดี เราก็ต้องทำเหตุทำปัจจัย เพื่อให้ได้ผลที่ดีนั้น เมื่อเราไม่ต้องการผลที่ไม่ดี เราก็ต้องรู้ ตามความเป็นจริงว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยนำไปสู่ผลที่ไม่ดี แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงแก้ไขเหตุปัจจัยไม่ดีนั้นเสีย พระพุทธศาสนาถือหลักว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้ก็เข้ากับหลักอนิจจังนั่นเอง และฝึกได้จนถึงขั้นที่ยอดเยี่ยมประเสริฐเลิศกว่าเทวดาและพรหมทั้งหลาย แม้เทวดาและพรหมก็ต้องบูชา อันนี้ก็เป็นไปตามหลักอนิจจังเหมือนกัน

ขอยกตัวอย่างอีกสักข้อหนึ่งคือ ทมะ ที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ ทมะที่ชอบแปลกันว่า ความข่มใจนั้น ในแง่ลบก็เหมือนอย่างที่พูดกันบ่อยๆ ตามตัวอย่างว่า ได้ยินคำที่จะทำให้เกิดความโกรธก็หักใจเสียได้ไม่โกรธเป็นต้น เราชอบมองความหมายของทมะในแง่ลบก็เพราะไปแปลว่าความข่มใจ ถ้าว่าตามศัพท์แล้ว ควรแปลว่าการฝึกหัดหรือการดัดจึงจะถูก ถ้าแปลตรงความหมายของศัพท์แล้ว ควรแปลว่า การฝึกหัดหรือการดัดจึงจะถูก ถ้าแปลตรงความหมายของศัพท์แล้วจะมองเห็นความหมายในแง่บวกง่ายขึ้น

ทีนี้แง่บวกจะมีความหมายอย่างไร ในแง่บวกก็คือสามารถบังคับควบคุมจิตใจของตนเองให้ทำได้ ในสิ่งที่ปัญญาบอกให้รู้ว่าควรทำ เมื่อปัญญาบอกให้รู้ว่าอันนี้ถูกต้องเป็นไปโดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว เราสามารถควบคุมบังคับตนเองให้ทำในสิ่งนั้นได้ อันนี้ชื่อว่าเป็นทมะเหมือนกัน และเป็นธรรมะที่สำคัญมากในการฝึกหัด ดัดนิสัยปรับตัวและปรับปรุงตัว

ขอยกตัวอย่างในทางปฏิบัติว่า ทมะนั้นมีคุณค่าในทางบวกทางลบอย่างไร เช่นว่าเด็กไปยืนอยู่ที่ถนนรับประทานขนม หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อยู่ในกระดาษห่อหรือถุงพลาสติก เมื่อแกรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็เป็นธรรมดาที่จะต้องทิ้งถุงพลาสติกหรือกระดาษที่ห่อของนั้น เมื่อจะทิ้งนั้นวิธีง่ายที่สุดก็คือทิ้งตรงที่ยืนนั้น ยืนที่ใดก็ทิ้งที่นั้น อันนี้เป็นความสะดวกและเป็นความปรารถนาที่ใกล้ตัวที่สุด แต่ว่าเมื่อเด็กจะทิ้งนั้น ถ้าเขามีความรับผิดชอบอยู่บ้าง เขาจะนึกขึ้นมาได้ว่า การทิ้ง ณ ที่นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ที่จะให้ถูกต้องนั้นก็คือว่าทิ้งที่ถังขยะซึ่งอาจจะอยู่ห่างจากตัวเขาถึง ๑๐ เมตร ก็ได้ เมื่อเขารู้อย่างนี้แล้ว ก็ถึงตอนสำคัญที่ว่าเขาจะพ่ายแพ้แก่อำนาจกิเลสหรือชนะกิเลส ถ้าหากว่าปัญญาที่พิจารณาเหตุผลได้บอกเขาแล้วว่า ที่ถูก ต้องไปทิ้งในที่ทิ้งขยะที่จัดไว้ให้แล้ว ถ้าเขามีทมะ เขาจะสามารถบังคับตัวเองให้เดินไปทิ้งที่ขยะได้ นี้คือ ทมะที่ใช้ในแง่บวก คือการบังคับควบคุมตนเองได้ ให้ทำในสิ่งที่ปัญญาบอกแล้วว่า เป็นการถูกต้องด้วยเหตุผล ถ้าเราไม่มีทมะเราก็ไม่สามารถควบคุมตนให้อยู่ในเหตุผล1 เราก็พ่ายแพ้ต่อกิเลส คือความเกียจคร้าน ปรารถนาความสะดวกเฉพาะหน้าได้แก่ความเห็นแก่ตัวนั่นเอง อันนี้เป็นตัวอย่างในการมองธรรมะให้ครบทั้งแง่ลบแง่บวก

๓. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ

อาตมภาพจะขอผ่านต่อไปถึงอีกหลักหนึ่งในการวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของธรรมะ อันนี้คือเรื่องสาระและรูปแบบ สาระหมายถึงเนื้อหาหรือตัวแท้จริงของหลักธรรม ส่วนรูปแบบนั้นก็คือ โครงร่างสำหรับยึด หรือให้เนื้อหาสาระไปเกาะตัวอยู่ ตลอดถึงเปลือกสำหรับหุ้มให้หลักหรือเนื้อแท้นั้นคงอยู่ได้ ช่วยให้เนื้อหาสาระคงตัวอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งสองสิ่งนี้สำคัญทั้งคู่ โดยปรกตินั้นคนจะคิดเนื้อหาขึ้นก่อน พอคิดเนื้อหาสาระขึ้นแล้วก็ต้องสร้างรูปแบบขึ้นมา เพื่อช่วยยึดเอาสาระไว้ให้อยู่ในรูปในแบบที่ต้องการ แต่เนื้อหาสาระนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะเจริญขึ้นไประยะหนึ่ง เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ความคิดในเรื่องเนื้อหาสาระจะถึงจุดอิ่มตัวแล้วจะหยุด เมื่อเนื้อหาสาระหยุดแล้ว รูปแบบนั้นจะเกาะกุมตัวกันเข้าจนเป็นรูปร่างที่แน่นอน พอได้รูปร่างแน่นอนแล้ว รูปแบบมักจะกลายเป็นสิ่งที่แข็งทื่อ แล้วก็ไม่สะดวกแก่การปรับตัว เมื่อถึงตอนนั้นรูปแบบก็มักจะมีทั้งคุณและโทษ นอกจากจะบรรจุเอาเนื้อหาไว้แล้ว จะมีโทษโดยเป็นกรอบกั้นไม่ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป สิ่งทั้งหลายมักจะเป็นไปอย่างนี้แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันระบอบระบบพิธีกรรมหรือแม้แต่ในรูปของความคิดก็ตาม หลักธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยกเว้นในข้อนี้

ขอยกตัวอย่างในเรื่องพิธีกรรม เพื่อจะให้เห็นความหมายง่ายๆ พิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนามีมากมาย พิธีกรรมส่วนหนึ่งเรียกว่า สังฆกรรม คือกิจที่ทำโดยที่ประชุมสงฆ์ จะนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อชี้แจ้งในเรื่องนี้เฉพาะเรื่องการอุปสมบท พิธีอุปสมบทนั้น เป็นพิธีที่รู้จักและเข้าใจกันทั่วไป เห็นง่าย เพราะฉะนั้นอาตมาก็จะใช้เป็นเครื่องมืออธิบายว่าเนื้อหากับรูปแบบต่างกันอย่างไรแล้วจะเกิดการขัดกันหรือมีโทษมีภัยแก่กันหรือไม่ พิธีอุปสมบทมีเนื้อหาอย่างไร เนื้อหาของมัน หรือสาระสำคัญก็คือ เป็นวิธีการที่จะรับบุคคลเข้าสู่ชุมชนสงฆ์อย่างมีระเบียบแบบแผนรัดกุมที่สุด ตามหลักการที่ถือสงฆ์เป็นใหญ่โดยให้อำนาจเป็นของส่วนรวม เมื่อมีสาระเช่นนี้ก็ต้องสร้างรูปแบบขึ้นมา อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า พิธีอุปสมบท

รูปแบบที่มีมากับเนื้อหาเดิมก็คือว่า เพื่อจะให้การรับบุคคลเข้ามาสู่คณะสงฆ์เป็นไปอย่างรัดกุมที่สุด ก็ดำเนินการเป็นขั้นๆ ขั้นเริ่มแรกก็คือมีอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ก็คือ ผู้รับบุคคลเข้ามาเสนอต่อสงฆ์ และรับรองแก่สงฆ์ว่าจะช่วยปกครองดูแลความประพฤติ ฝึกอบรมและให้การศึกษาชั่วระยะหนึ่งอย่างน้อย ๕ ปี จนกว่าบุคคลนั้นจะปกครองตนได้ เมื่ออุปัชฌาย์รับบุคคลเข้ามาและรับรองจะทำหน้าที่อย่างนี้ นำบุคคลนั้นเข้าเสนอต่อสงฆ์ ก็มีการประชุมสงฆ์ พระภิกษุที่มีสิทธิในบริเวณนั้นก็เข้ามาประชุมกัน บุคคลผู้นั้นก็ขออนุญาตต่อพระสงฆ์ คือที่ประชุมนั้นว่าจะอุปสมบท โดยมีท่านผู้นั้นเป็นอุปัชฌาย์ คล้ายๆ เป็นผู้ประกันและรับรองที่จะดูแลความประพฤติต่อไป สงฆ์ก็จะพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลนั้นว่าสมควรที่จะรับเข้าสู่หมู่คณะหรือไม่ เพื่อการนี้ในที่ประชุมนั้นก็จะมีท่านผู้หนึ่งที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจในทางพระวินัย ขออนุญาตต่อสงฆ์ทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามขึ้น ซึ่งเรียกว่าคู่สวดในปัจจุบัน เมื่อสอบถามแล้วก็แจ้งต่อสงฆ์ว่าเท่าที่ได้สอบถามมาเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลผู้นี้ แล้วได้ความอย่างนั้นๆ สงฆ์คือที่ประชุมนั้นจะเห็นเป็นอย่างไร สงฆ์ก็พิจารณาเมื่อเห็นว่าถูกต้อง มีคุณสมบัติครบถ้วนสมควรจะรับได้ก็ให้มีมติเป็นเอกฉันท์ การอุปสมบทก็เกิดขึ้น อันนี้คือรูปแบบที่คุมสาระเอาไว้

ทีนี้รูปแบบเช่นนี้ก็มีมาตามลำดับกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาก็มีว่ารูปแบบยังคงอยู่จริง แต่สาระที่อยู่ในรูปแบบนั้น ยังคงอยู่หรือไม่ ถ้ายังคงอยู่จริง ยังอยู่เต็มตามรูปแบบหรือไม่ ตลอดถึงว่ามีความเข้าใจหรือตระหนักในสาระนั้นๆ กันหรือไม่ สำหรับบางท่านหรือแม้ในหมู่พระภิกษุเอง ก็อาจมีผู้ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของพิธีอุปสมบทนี้ เมื่อเห็นรูปแบบที่ปรากฏอยู่อาจจะเข้าใจไปว่า เป็นการนำบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นคฤหัสถ์ เข้ามาสู่พิธีแล้วพระก็สวด คงจะเป็นการเสกกัน เสกไปเสกมา บุคคลนั้นก็กลายจากคฤหัสถ์เป็นพระไปอะไรทำนองนั้น อันนี้ก็คือ รูปแบบที่มีมานั้นอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจไขว้เขวขึ้นได้ นี้เป็นตัวอย่างในเรื่องพิธีกรรม

แม้เรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สถาบันต่างๆ ระบบระบอบอะไรต่างๆ นี้จะมีมาใน ๒ ลักษณะ คือรูปแบบกับเนื้อหาสาระ ถ้าหากไม่มีความเข้าใจในเนื้อหาสาระอย่างแท้จริงแล้ว คนก็อาจจะติดในรูปแบบ เข้าใจว่าเมื่อระบอบอย่างนั้นแล้ว สิ่งที่ต้องการจะสำเร็จสมประสงค์ทันที ความเข้าใจอย่างนี้ ก็คงจะไม่ต่างจากความเข้าใจของคนโบราณซึ่งเราเคยกล่าวหาเขาว่าเป็นผู้งมงาย อย่างเช่นในสมัยที่พระพุทธเจ้าอุบัติ พระองค์ได้ทรงเลิกพิธีกรรมของพราหมณ์เป็นอันมาก ทรงติเตียนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยสาระ ไม่มีเหตุผล เช่นพิธีบูชายัญ ทำให้งมงายจนยึดถือว่า เมื่อทำตามแบบแผนครบถ้วนตามข้อกำหนดอย่างนั้นๆ แล้ว ผลสำเร็จที่ต้องการก็จะมีขึ้นเอง โดยเราไม่ต้องทำอะไรเลย นี้ก็คือเรื่องของพิธีกรรมหรือการติดในรูปแบบ แม้แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราติดอยู่ในรูปแบบต่างๆ จะเป็นสถาบันหรืออะไรก็ตาม ความเข้าใจยึดถือแบบนี้ ก็คงจะไม่ต่างกับความเข้าใจของคนสมัยโบราณ ที่เราประณามว่าเป็นคนงมงายนั้นแต่ประการใดเลย

เรื่องของรูปแบบในแง่ของสถาบัน ระบบ ระบอบอะไรนี้ อาตมภาพจะขอผ่านไปก่อน จะผ่านมาถึงในแง่ของความคิด ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรม ก็มีรูปแบบเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นคำว่าบุญนี้ ก็มีทั้งเนื้อหาและรูปแบบ เมื่อพูดถึงเรื่องบุญ คนจำนวนมากทีเดียว อาจจะนึกถึงว่าเป็นสภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง มีอำนาจพิเศษเสมือนหนึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้เกิดผลดีได้ บางคนอาจจะถึงเอาความหมายนี้ไปสัมพันธ์กับการไปเกิดบนสวรรค์ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถือเป็นรูปแบบไปแล้ว จากรูปแบบความคิดก็จะขยายต่อไปสู่รูปแบบของการกระทำ เมื่อพูดว่าทำบุญ คนจำนวนไม่น้อยก็จะคิดถึงรูปแบบที่ว่า เอาอาหารไปถวายพระที่วัดในพิธีที่เรียกว่าทำบุญ หรืออาจคิดเลยไปอีกจนกระทั่งว่า ถ้าหากจะทำบุญให้ได้ผลมากก็ต้องสร้างวัดวาอาราม สร้างโบสถ์วิหารเป็นต้น เมื่อสร้างโบสถ์สร้างวิหารแล้วก็ถือว่าได้กุศลแรง อันนี้เป็นวิวัฒนาการในการสร้างรูปแบบเสียแล้ว ฝ่ายหนึ่งก็จะเกิดความยึดติดในรูปแบบเช่นนี้ เพราะถือว่าถ้าจะทำบุญให้ได้ผลมาก ก็จะไปสัมพันธ์กับความหมายที่ว่าจะได้ไปเกิดใหม่มีทรัพย์สินเงินทองมาก หรือไปเกิดในสวรรค์ ก็ต้องสร้างโบสถ์สร้างวิหาร สร้างศาลาการเปรียญในวัด อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร ในแง่ของสังคมหรือในแง่ของชีวิตที่จะต้องเป็นอยู่จริงในปัจจุบัน ก็เลยเกิดความขัดแย้งกันขึ้น นี่ก็เพราะไม่เข้าใจในเรื่องสาระและรูปแบบนั่นเอง ถ้าเข้าใจเรื่องนี้แล้ว ก็จะหนทางนำไปสู่การประสานกันและการแก้ไขได้

ทีนี้รูปแบบอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงถือว่าการสร้างโบสถ์สร้างวิหารขึ้นในวัดวาอารามได้บุญมาก การที่เราเกิดความเข้าใจขึ้นมาเช่นนี้เป็นเพราะอะไร ขอให้นึกย้อนดูถึงสภาพสมัยเก่า ในสมัยก่อนนี้วัดวาอารามเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตจิตใจของสังคม การศึกษาเล่าเรียนและกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนก็มีขึ้นที่วัดวาอาราม สิ่งก่อสร้างในวัดวาอารามนั้นก็เป็นสมบัติของส่วนรวม ไม่เป็นของผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น สร้างขึ้นมาแล้วก็เป็นของกลาง เช่น กฏิหลังหนึ่ง สร้างขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้เป็นของใครทั้งนั้น ทุกคนในชุมชนนั้นสามารถจะไปบวชและไปใช้กุฏิหลังนั้นอยู่ เมื่อตัวเองสึกแล้วก็มีคนอื่นหมุนเวียนกันใช้ต่อไป หรือว่าถ้าตัวเองไม่ได้ใช้ ลูกหลานของตนก็ใช้ได้ไม่เป็นสมบัติของใครโดยเฉพาะ หรืออย่างศาลาการเปรียญ ภิกษุสงฆ์ก็ได้ใช้เป็นสถานที่เล่าเรียน จะเป็นลูกใครหลานใครหรือตัวบุคคลผู้นั้นเองก็ไม่จำเป็นต้องระบุลงไป ส่วนชาวบ้านก็จะใช้เป็นที่ชุมนุมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การฟังธรรมตลอดถึงการบำเพ็ญกุศลและการชุมนุมอื่นๆ วัดและสิ่งก่อสร้างในวัดจึงเป็นศูนย์กลางและเป็นสมบัติของชุมชน เพราะฉะนั้นเมื่อคิดว่าจะสร้างอะไรในชุมนุมชนนั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม จะมีอะไรดีไปกว่าการสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นในวัดอาราม การสร้างกุฏิหลังหนึ่ง ก็คือการสร้างสาธารณประโยชน์ให้คนที่อยู่ในชุมชนนั้น ได้เข้ามาใช้ประโยชน์โดยเป็นตัวเองบ้างลูกหลานตัวเองบ้าง เป็นสมบัติของคนในสังคมนั้น สร้างศาลาขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของสังคมนั้นทั้งหมด

ฉะนั้น ความหมายที่ว่า เมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดแล้วจะประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องระบุ เป็นความหมายที่เข้าใจกันอยู่ในตัวโดยไม่ต้องยกขึ้นมาพูดถึงอีก ไม่ต้องยกขึ้นมาตั้งเป็นคำถามด้วยซ้ำไป ความเข้าใจในเรื่องบุญจึงถ่ายทอดมาในรูปแบบที่ว่า ทำบุญคือสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดวาอารามถือว่าได้บุญมาก อาจจะถือเป็นอุดมคติว่าช่วยให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ หรืออะไรก็ตามแต่ ความหมายนั้นมันพ่วงไปในตัวเสร็จในแง่ที่ว่าเป็นสาธารณประโยชน์

แต่ในสมัยต่อมาเมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนไป สังคมของวัดวาอารามและสังคมภายนอกแยกออกจากกัน บทบาทที่วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมในแง่ต่างๆ ก็ลดน้อยลงไปตามลำดับ เมื่อบทบาทลดน้อยลงไปเช่นนี้แล้วก็เกิดความวิปริตขึ้นมา ความคิดความเข้าใจก็แบ่งแยกออกเป็น ๒ ด้าน ฝ่ายหนึ่งก็เกิดความยึดมั่นโดยนำเอาความหมายในแง่ที่ว่า ทำบุญคือการสร้างสิ่งก่อสร้างภายในวัดแล้วจะได้บุญมาก ไปสัมพันธ์ผูกไว้กับความหมายที่ไกลตัว ไกลชีวิตออกไปทุกที เพราะความหมายและคุณค่าที่เกี่ยวกับสังคมและชีวิตปัจจุบันนั้นมันชักจะหลุดลอยออกไป เหลือแต่ความหมายที่ผูกพันกับชาติหน้าหรือสวรรค์ จากนั้นการพูดหรือการโฆษณาในแง่นั้นก็ยิ่งทวีและเน้นมากขึ้นตามลำดับ ส่วนคนอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถจะเข้าใจความหมายในแง่นี้ได้ จึงแยกตัวออกไปตั้งข้อกล่าวหาว่า การทำบุญเช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ส่วนรวม เป็นการถ่วงสังคมเป็นต้น ถ้าหากไม่สามารถนำความเข้าใจนั้นมาสู่จุดเริ่มต้น หาจุดที่จะเชื่อมต่อได้แล้ว การแก้ปัญหาจะเป็นไปได้ยาก

ขอยกตัวอย่างอีกสักข้อหนึ่ง คือเรื่องสมาธิ สมาธิก็มีทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบ พอพูดถึงคำว่าสมาธิ โดยมากคนก็นึกถึงรูปแบบของการที่จะไปนั่งเงียบๆ หลับตาอะไรทำนองนั้น แต่ความหมายของสมาธิตัวจริงของมันในแง่ของเนื้อหาสาระ ก็คือ ความตั้งมั่นแห่งจิตใจหรือมีจิตใจแน่วแน่มั่นคง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปของการนั่งเช่นนั้น จริงอยู่ รูปแบบที่นั่งสมาธิเช่นนั้น เป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องนำไปพูดเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากทีเดียว แต่รูปแบบที่สร้างขึ้นมานั้น ก็กลับเป็นเครื่องจำกัดสาระและทำให้เกิดความไขว้เขวผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน

ความจริงสมาธินั้นมีได้แม้แต่ในเรื่องของชีวิตประจำวัน เช่นตัวอย่างที่ยกมาแล้ว ในเรื่องของเด็กที่ทิ้งถุงพลาสติกนั่นเอง ในการปฏิบัติธรรมข้อทมะก็ต้องมีการฝึกสมาธิอยู่ในตัว หรือจะพูดให้กว้างว่านั้นก็ได้ว่า เด็กที่จะเอาห่อของไปทิ้งในที่ทิ้งขยะนั้น เขาจะปฏิบัติพร้อมกัน ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเด็กคิดว่าเขารับประทานของเสร็จแล้ว จะทิ้งถุงพลาสติกหรือห่อของนั้น เขามีสติระลึกขึ้นได้ว่าการทิ้งตรงที่ยืนนั้นเป็นการกระทำที่ผิด ในกรณีนี้สติก็เป็นข้อหนึ่งในหมวดสมาธิ การที่เขารู้ว่าการทิ้งเรื่อยเปื่อยโดยไม่ระมัดระวังเป็นความผิด อันนี้คือเขารู้ศีลเมื่อเขารู้คือมีปัญญาพิจารณาเห็นคุณค่าและโทษของมันว่า การกระทำที่ปล่อยไปตามความเห็นแก่ตน เห็นแก่ความสะดวกสบายนี้ไม่ดีไม่งาม เขาก็จะพยายามงดเว้นไม่ทำ เมื่อเขาพยายามงดเว้นจากการกระทำผิดคือเขาไม่ทิ้งในที่นั้นก็คือ เขาปฏิบัติไปตามศีลและเมื่อเขาระดมพลังจิตใจในการที่จะพยายามเอาชนะความเกียจคร้านของตนเอง เดินไปสู่ที่ที่จัดไว้นั้น ก็เป็นการใช้พลังสมาธิ และความเพียรพยายามเดินไปก็เป็นเรื่องของความเพียร ซึ่งอยู่ในหมวดสมาธิเช่นเดียวกัน อันนี้เป็นเรื่องที่ใช้อยู่เป็นประจำ เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระที่มีความหมายกว้าง แต่เมื่อเราคิดเนื้อหาขึ้นมาในระยะหนึ่งแล้วรูปแบบก็จะก่อตัวขึ้นมาได้ตามลำดับ จนถึงจุดที่ว่ารูปแบบนั้นแข็งทื่อ ยากแก่การปรับ และทำให้เนื้อหาสาระคลาดเคลื่อนหรือคับแคบจนเกินไปด้วย อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

ส่วนหลักธรรมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จะเป็นเรื่องสันโดษ โลกียะ โลกุตระ เรื่องวิปัสสนาเป็นต้น ก็จะมีความหมายในแง่เนื้อหาสาระและรูปแบบเช่นเดียวกัน และความเข้าใจในแง่รูปแบบนั้นก็จะทำให้เกิดความไขว้เขวในการเข้าใจเนื้อหาไปได้เป็นอย่างมาก เหมือนอย่างที่อาตมภาพได้พูดไปแล้ว ในวันนี้อาตมภาพคิดว่าคงจะไม่มีเวลาแสดงหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของหลักพุทธธรรมให้ยาวอีกต่อไปเท่าไร เพราะในขณะนี้เวลาก็ใกล้จะหมด

๔. ธรรมในแง่การเข้าถึงการวางท่าที

ข้อที่ควรจะพูดถึงต่อจากเรื่องที่แล้วคือ การเข้าถึงกับการวางท่าที อันนี้จะพูดให้สั้นที่สุด ความสับสนในการเข้าถึงกับการวางท่าทีนี้ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สับสนมากในเรื่องของศาสนาและก็มีความสับสนในการดำรงชีวิตด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น นรก สวรรค์ คำถามเกี่ยวกับเทพเจ้า เรื่องเดียวกับโลกนี้ว่ามีที่สิ้นสุดไม่มีที่สิ้นสุด ที่เราเรียกว่าปัญญาทางอภิปรัชญา ปาฏิหาริย์ต่างๆ เหล่านี้พวกหนึ่ง กับเรื่องข้อปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้อีกพวกหนึ่ง เราจะต้องมีหลักการวางตัวต่อมัน คือพวกหนึ่งเป็นสิ่งที่เราพึงเผชิญด้วยความพยายามเข้าถึง อีกพวกหนึ่งพึงเผชิญด้วยความตระหนักในการวางท่าที ถ้าเราไม่สามารถแยก ๒ อย่างนี้ออกจากกันแล้ว จะเกิดโทษและเกิดความสับสนในการปฏิบัติและความเข้าใจเป็นอย่างมาก

สำหรับพระพุทธศาสนานั้น วางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน จะขอลัดให้สั้นว่า สำหรับธรรมะทั่วๆ ไปนั้น ก็ยังชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องนำปฏิบัติ ธรรมะทั้งหลายอุปมาเหมือนแพ มีไว้สำหรับใช้ข้ามฝาก ทีนี้ในเรื่องบางอย่าง เอาง่ายๆ เช่นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เราควรจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร พระพุทธศาสนานั้นวางหลักไว้ชัดเจนแล้วว่า สำหรับสิ่งเหล่านี้ให้ใช้วิธีวางท่าที การวางท่าทีเป็นอย่างไร เรื่องบางอย่าง เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ อะไรเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะพิสูจน์ออกมาได้ให้เห็นชัดเจน ทั้งในแง่ยอมรับและปฏิเสธโดยสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้มีโอกาสให้คลุมเครืออยู่ตลอดไปหรือเป็นสิ่งลับๆ ล่อๆ ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้โดยสิ้นเชิงและฝ่ายที่ยืนยันก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับได้ แน่นอนเช่นเดียวกัน คือทั้งสองฝ่ายจะเอาชนะกันเด็ดขาดไม่ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ พระพุทธศาสนาให้ใช้วิธีวางท่าที

การวางท่าทีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องลอยๆ เป็นการทำอย่างมีเหตุผลชัดเจนที่สุด วางท่าทีอย่างไร เรามองเห็นด้วยเหตุผลทันทีว่า การเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ นั้น ขัดต่อหลักการพึ่งตนเอง ทำให้เรามัวแต่หวังพึ่งพาอาศัย คอยหวังพึ่งอำนาจจากภายนอก ทำให้หวังผลสนองในทางลัด เช่น เราหวังผลสำเร็จในกิจบางอย่าง ถ้าเราไปหวังในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์แล้ว เราก็อาจจะต้องนั่งนอนรอเพื่อให้สิ่งนั้นบันดาลผลขึ้นมา ทำให้เราขาดความเพียรพยายามในการที่จะลงมือปฏิบัติโดยทางเหตุผลที่มองเห็นประจักษ์แก่ตนเอง ในทางหลักธรรมนั้น ให้พึ่งตนเอง ประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นเหตุเป็นผลในสิ่งที่มองเห็น พยายามให้เป็นผลสำเร็จขึ้นมาด้วยการกระทำของตนตามสามัญวิสัยหรือความเพียรของมนุษย์ การมัวเชื่อคอยหวังในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ย่อมทำให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ และก็ทำให้เรามีจิตใจหวังพึ่งผู้อื่นอยู่เรื่อยไป เป็นผลเสียในการปฏิบัติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงควรคิดตัดสินใจอย่างเด็ดขาดลงไปว่า เมื่อจะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา ก็ต้องถือหลักของการปฏิบัติด้วยการลงมือกระทำโดยความพากเพียรพยายาม ไม่ใช่มัวแต่ไปหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นจริง แม้เป็นจริงก็ไม่อยากพึ่ง ต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือท่าทีของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า แม้จะมีคำสอนบันทึกไว้ว่า ทรงเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นอย่างยิ่ง ทำได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่พระองค์ก็ทรงติเตียนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และทรงปรับอาบัติแก่พระภิกษุที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย เพราะเป็นการชักนำให้ประชาชนเกิดความไขว้เขว ไม่ทำให้เขาเพียรพยายามทำในสิ่งที่ควรทำ ให้สำเร็จด้วยเรี่ยวแรงของตนเอง จุดหมายที่สูงสุดนั้นจะบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรของตนเอง หาสำเร็จด้วยการพึ่งสิ่งที่อยู่ภายนอกไม่ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้แม้สมมติหรือเป็นจริงก็เฉออกไปนอกทางของความเพียรพยายาม จึงให้วางท่าทีลงไปว่าไม่ควรจะหวังพึ่ง พระพุทธเจ้าทรงติเตียนอิทธิปาฏิหาริย์ไว้ ไม่ทรงสรรเสริญ ทรงสอนว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์คือ การสั่งสอนให้เห็นจริงเห็นจังด้วยปัญญาจนนำไปปฏิบัติได้เอง เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่า ดังนี้เป็นต้น

๕. ธรรมที่คงตัวและธรรมที่ปรับได้

ตอนนี้มีอีก ๒ ข้อที่เป็นข้อสั้นๆ คือ ธรรมมะที่คงตัวกับธรรมะที่ปรับได้ ธรรมะที่คงตัวหมายถึงหลักธรรมประเภทที่แสดงหลักความจริงที่ปรับได้ ธรรมะที่คงตัวหมายถึงหลักธรรมประเภทที่แสดงหลักความจริงอันแน่นอนตายตัว หรือใช้ได้ตลอดทุกกาลทุกสมัย ธรรมที่ปรับได้หมายถึงหลักธรรมที่พึงปรับหรือนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อม สองอย่างนี้ถ้าไม่รู้จักแยกก็เกิดความไขว้เขวได้มาก เช่น มีผู้พูดว่า พระพุทธศาสนาตั้งนานมาสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ตอนนี้ควรจะปรับปรุงแก้ไขหรืออะไรทำนองนี้ อันนี้ก็เป็นเพราะไม่เข้าใจระหว่างธรรมะที่คงตัวกับธรรมะที่ปรับได้

ธรรมะที่คงตัวนั้น มีทั้งในแง่สัจธรรมและในแง่จริยธรรม ในแง่ของสัจธรรมก็คือ หลักที่แสดงภาวะของสิ่งทั้งหลาย อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม สิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้นๆ เช่นหลักไตรลักษณ์ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่ มีความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้และไม่มีตัวตนของมันเอง และหลักปฏิจจสมุปทาทที่แสดงความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น พวกนี้เรียกว่าธรรมะที่คงตัวในแง่จริยธรรม ก็ได้แก่หลักจริยธรรมที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์โดยตรง ตราบใดที่คนยังเป็นคน หลักจริยธรรมสำหรับความเป็นคนก็ยังคงตัว คนนั้นไม่เหมือนกัน คือเป็นคนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ในกรณีที่เป็นคนไม่เหมือนกัน หรือเป็นคนแต่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน ก็มีธรรมมะที่ปรับได้สำหรับแต่ละคน และธรรมะสำหรับให้คนไปเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นธรรมะที่ถูกปรับ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมสถานการณ์นั้นๆ

๖. ธรรมที่เป็นกุศลกับอกุศลเป็นปัจจัยกันได้

อีกข้อหนึ่งคือ ความเป็นปัจจัยระหว่างกุศลกับอกุศล หมายความว่า ความดีเป็นปัจจัยของความชั่วได้และความชั่วก็เป็นปัจจัยของความดีได้ อันนี้ไม่ได้ขัดกันกับหลักธรรมที่ว่าทำกรรมดีได้ผลดี และทำกรรมชั่วได้ผลชั่วแต่กลับเป็นหลักสนับสนุน แต่เราไม่ค่อยได้คิดกัน กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ความดีย่อมปัจจัยแก่ความชั่วได้ ความชั่วย่อมเป็นปัจจัยแก่ความดีได้ และไม่มีความชั่วใดที่ไม่เป็นปัจจัยให้แก่ความดี

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ อันนี้เป็นไปตามหลัก เป็นเรื่องของสัจธรรมทีเดียว หลักธรรมที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น เป็นเรื่องของหลักธรรมประเภทเหตุ เช่นอย่างเรื่องพืช ปลูกพืชเม็ดมะม่วงก็ออกมาเป็นมะม่วง แต่เรื่องของปัจจัย ความดีเป็นปัจจัยให้แก่ความชั่วได้ เป็นปัจจัยหมายถึงเป็นตัวสนับสนุน คือความชั่วนั้นมันมีอยู่ แต่ว่ามันคอยโอกาส เมื่อมันได้โอกาสมันจึงแสดงผลออกมา จะยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าความดีเป็นปัจจัยแก่ความชั่วได้อย่างไร เช่นผู้ที่ทำความดีได้รับคำยกย่องสรรเสริญ ก็เกิดความพึงพอใจในคุณความดีของตนเอง เกิดมานะแล้ว อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกดูถูกผู้อื่นขึ้นได้ อันนี้เรียกว่า ความดีเป็นปัจจัยให้เกิดความชั่ว หรือความชั่วเป็นปัจจัยให้เกิดความดี เช่นพระเจ้าอโศกมหาราชยกทัพไปรบราฆ่าฟัน ฆ่าคนมากมาย เสร็จแล้วความชั่วนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดความสำนึกสลดพระทัย หันมาทำความดีทางศาสนาได้ แม้แต่ความสลดใจที่ทำให้นึกถึงความดี ก็เป็นไปตามหลักที่ว่าความชั่วเป็นปัจจัยแก่ความดี

หลักข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเช่นเดียวกัน เพราะเราจะต้องรู้จักแยก เช่น เมื่อเราได้ประสบผลสำเร็จอันหนึ่ง มันอาจจะเป็นการได้ผลสำเร็จที่ดีโดยวิธีการที่ชั่วก็ได้ ดังนี้เป็นต้น และถ้าหากเราไม่มีสติระมัดระวังแล้ว ไม่รีบแก้ไขด้วยความตระหนักว่า ผลสำเร็จที่ดีนี้เราได้มาด้วยวิธีการที่ชั่ว หรือวิธีการที่ดี แต่มีส่วนชั่วแฝงเร้นอยู่หรือเราได้อาศัยความชั่วนั้นเป็นโอกาส ถ้าเราไม่ตระหนักแล้วเราอาจจะไม่คิดแก้ไข ความชั่วนั้นก็อาจจะขยายตัวขึ้นมาเป็นโทษแก่เราก็ได้ นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน อาตมภาพไม่มีเวลาที่จะพูดขยายในเรื่องนี้ต่อไป แต่ว่าอันนี้ก็คือเรื่องของการที่จะต้องใช้สติสัมปชัญญะให้มาก

๗. กิจกรรมสนองตัณหากับกิจกรรมทางปัญญา

จะขอผ่านไปถึงข้อสุดท้าย คือเรื่องกิจกรรมทางตัณหาและกิจกรรมทางปัญญา อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักแยกเช่นเดียวกัน เมื่อเรากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา มันจะเป็นไปในรูปของกิจกรรมที่สนองตัณหาหรือกิจกรรมในทางปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง หลักข้อนี้ใช้สำหรับวินิจฉัยการกระทำต่างๆ ทุกอย่างแม้กระทั่งปัญหาในปัจจุบันที่ว่า เราควรจะรับสิ่งที่เป็นผลผลิตของเทคโนโลยีหรือประยุกตวิทยาแค่ไหนเพียงไร เมื่อวินิจฉัยตามหลักพุทธธรรมข้อนี้ก็หมายความว่า เทคโนโลยีใดเป็นไปเพื่อกิจกรรมสนองตัณหา คือเป็นการมุ่งที่จะปรนเปรอทางวัตถุ มีวัตถุประสงค์ปรนเปรอกามสุข เป็นเครื่องมือของความเห็นแก่ตัวแล้ว ก็ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นไปเพื่อกิจกรรมทางปัญญา เป็นไปในทางช่วยให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เกิดความสะดวกสบายโดยช่วยในทางกิจหน้าที่ เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ร่วมกัน ช่วยมนุษย์ในการแสวงหาชีวิตที่ดีงาม ก็พิจารณารับได้

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สรุปเข้าสู่หลักพุทธศาสนา ที่เรียกว่าวิภัชชวาทอย่างเดียว พระพุทธศาสนานั้นเป็นคำสอนที่มีชื่อจำกัดอย่างหนึ่งว่า วิภัชชวาท พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระองค์เองว่า วิภัชชวาที คือผู้ที่สอนจำแนกแยกแยะหรือวิเคราะห์แจกแจงออกไป ในแต่ละส่วนแต่ละอย่าง แม้แต่ในสิ่งที่รวมกัน ปนกันอยู่ มีสิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดดี จริงหรือไม่จริง ต้องแยกออกไปได้ชัดเจน ไม่ใช่ว่าคลุมๆ

อาตมภาพได้พูดเรื่องนี้มาพอสมควร บางข้ออาจจะพิสดารไปบ้าง บางข้ออาจจะรวบรัดไปบ้าง แต่รวมแล้วทำให้เวลาเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ อาตมภาพได้แสดงธรรมกถาในเรื่องที่พอจะกล่าวได้ว่า เป็นหลักเกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรมมาเป็นเวลาพอสมควร หากการแสดงปาฐกถามีประโยชน์อยู่บ้างพอจะถือได้ว่าเป็นความดี ก็ขอร่วมอุทิศกุศลจากความดีและประโยชน์นี้ แก่ท่านพระสารประเสริฐหรือนาคะประทีป ซึ่งได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้แก่วงวิชาการในทางภาษา ทั้งภาษาบาลีและภาษาที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงวรรณกรรมในประเทศไทยเรานี้เป็นอย่างมาก

ขออนุโมทนาและขออำนวยพรแด่ท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดงานนี้ ที่ได้มีกุศลเจตนามองเห็นคุณงามความดีของท่านพระสารประเสริฐ (นาคะประทีป) กับทั้งท่านเสฐียรโกเศศ ผู้ร่วมงานกับท่านนาคะประทีป ซึ่งคณะกรรมการนี้ได้เคยจัดงานอุทิศแด่ท่านเป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว การที่ท่านทั้งหลายมีกุศลเจตนาจัดงานเช่นนี้ขึ้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งธรรมะคือ กตัญญูกตเวทิตาส่วนหนึ่ง แสดงว่าท่านทั้งหลายมีจิตใจอันละเอียดอ่อน และประกอบด้วยสติปัญญา สามารถมองเห็นคุณค่าแห่งการกระทำของผู้อื่น ที่ดีงามและเป็นประโยชน์ แล้วช่วยขวนขวายเกื้อหนุนให้ผลงานที่เกิดจากการกระทำนั้น ดำรงอยู่ยั่งยืน อำนวยประโยชน์แก่หมู่ชนกว้างขวางยิ่งขึ้นไป ขออำนาจคุณพระรัตนตรัยและกุศลเจตนานั้น จงเป็นพลวปัจจัยให้ท่านทั้งหลายประสบจตุรพิธพร และบรรลุผลสำเร็จอันชอบธรรมสมปรารถนาทุกประการ

1อรรถกถาก็ยังกำกับความหมายไว้ว่า ทมะเป็นเรื่องของปัญญา (ดู สํ.อ. ๑/๓๙๑: สุตต.อ. ๑/๓๒๓)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.