พุทธศาสน์กับการแนะแนว

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมชาติของมนุษย์ และกระบวนการของการศึกษา

ทีนี้ จะให้มองเห็นเรื่องนี้ชัดเจนก็ควรพูดถึงสาระในทางความเข้าใจขั้นพื้นฐานลงไปอีก ซึ่งตั้งต้นที่ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ การที่จะมองเห็นการแนะแนวนี้ว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร จำเป็นอย่างไร มีแนวทางปฏิบัติอย่างไรนี้ ต้องเกิดจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ก่อนเป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐาน

ความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์นี้ รวมไปถึงความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาด้วย เพราะกระบวนการของการศึกษาที่แท้จริงนั้น เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเป็นกระบวนการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ก็จะเกิดความติดขัดแล้วไม่ได้ผลจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องย้อนกลับไปหาความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ทีนี้ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ก็ไปเกี่ยวกับธรรมชาติทั่วไปของโลกและชีวิตทั้งหมด ดังนั้น เมื่อพูดในแง่ของพุทธศาสน์ จึงต้องดูว่าพุทธศาสนามองเรื่องความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิตอย่างไร

พระพุทธศาสนามองความจริงว่า คือความเป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นไปตามธรรมดาของมันนั้นเป็นอย่างไร ก็คือความเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ความเป็นไปอย่างมีกฎเกณฑ์ เป็นไปโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล อันนี้เรียกว่า เป็นธรรมดาของธรรมชาติ หรือกฎแห่งธรรมชาติ

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ที่มองสัจธรรมด้วยท่าทีที่ว่า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นความจริง เป็นกฎธรรมดาอยู่ว่าดังนี้ๆ เช่นตรัสถึงเรื่องไตรลักษณ์ว่า ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นธรรมดาว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดจากเหตุปัจจัยล้วนไม่เที่ยงไม่คงที่ เรียกว่าเป็น อนิจจัง สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากเหตุปัจจัยถูกปัจจัยปรุงแต่งนั้น ล้วนคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เรียกว่าเป็น ทุกข์ และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ไม่เป็นตัวของมันเอง ตั้งอยู่โดยอาการที่สัมพันธ์กับสิ่งอื่น มีความเป็นไปของมันโดยสัมพันธ์กับสิ่งเหล่าอื่น เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่าเป็น อนัตตา ไม่เป็นตัวตนของมันเอง อันนี้เป็นความจริงที่เป็นธรรมดา ไม่เกี่ยวกับว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่

หรืออย่างกฎอีกกฎหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ กฎปฏิจฺจสมุปบาท ก็ตรัสแบบเดียวกันว่า พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นกฎธรรมดาว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจึงเกิด เมื่อสิ่งนั้นดับ สิ่งนี้จึงดับ อะไรทำนองนี้ ยกตัวอย่าง เช่น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดวิญญาณ ดังนี้เป็นต้น นี่เรียกว่าการมองความจริง หรือมองสัจธรรมตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้มนุษย์เรารู้จักความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมดาของธรรมชาติด้วยปัญญาของตน สถานะของพระศาสดาเป็นเพียงผู้ค้นพบสัจธรรมแล้ว ด้วยสติปัญญาความสามารถ ก็เอาความจริงมาเปิดเผย เอามาอธิบายชี้แจงให้เกิดความเข้าใจง่าย แต่พระศาสดาจะช่วยเราได้อย่างไร ช่วยไม่ได้ในแง่ของการที่จะดลบันดาล แต่ช่วยได้ในแง่ที่มาชี้แนะแนวทางให้เราเกิดปัญญาด้วยตนเอง

สิ่งที่เราต้องทำคืออะไร ก็คือต้องรู้ต้องเข้าใจความจริงที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น เมื่อรู้แล้วก็เอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ โดยทำเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์นั้น เมื่อต้องการสิ่งใด ก็เรียนรู้เหตุปัจจัยแล้วทำเหตุปัจจัยนั้นขึ้น กระบวนการของกฎธรรมชาติก็ดำเนินไปให้เกิดผลตามที่เราต้องการ แต่ถ้าเราไม่รู้กฎเกณฑ์ตามความเป็นจริงของธรรมชาติแล้ว ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น มันก็ไม่เกิดผลที่เราต้องการ ก็แก้ปัญหาไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญก็คือ ต้องรู้ความจริงแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุปัจจัย หรือความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล ตามกฎธรรมชาตินั้น อันนี้เป็นหลักการทั่วไป

ทีนี้ย้อนมาถึงชีวิตมนุษย์ มนุษย์เรานี้เกิดมาเบื้องต้นทีเดียวก็มาพร้อมด้วยความไม่รู้ คือเมื่อแรกเกิดมานั้นเรามีความไม่รู้ ความไร้เดียงสา ความไม่เข้าใจต่อสิ่งทั้งหลาย ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักชีวิต ความไม่รู้ ไม่เข้าใจนี้ เรียกว่า อวิชชา เมื่อไม่รู้เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เกิดความติดขัด เกิดความบีบคั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามที่ต้องการ หรือไม่เกิดผลตามที่ต้องการ เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้อง คือไม่เป็นไปตามความจริงแล้วเกิดความติดขัดบีบคั้นขึ้น เราเรียกว่าเกิดปัญหา ซึ่งทางพระท่านเรียกว่า ความทุกข์ รวมความว่าเพราะชีวิตเกิดมาพร้อมด้วยอวิชชา เมื่อปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง เพราะมีอวิชชาก็เกิดความติดขัดบีบคั้นเป็นปัญหา เกิดความทุกข์ขึ้นมา

เมื่อเรามีปัญหา เกิดการติดขัด แต่ชีวิตของเราก็จะต้องดำเนินต่อไป เราจะทำอย่างไร เมื่อมนุษย์ยังไม่รู้วิธีแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง หรือวิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งต้องมีความรู้ แต่จะดำเนินชีวิตไปให้ได้ เพราะต้องการจะอยู่รอด เมื่อไม่สามารถทำด้วยความรู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ทะยานดิ้นรนไป

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์อยู่ก็คือความอยาก และความอยากที่เป็นพื้นฐานก็คือความอยากให้ชีวิตรอด ความอยากให้ชีวิตรอดนี้โยงกันอยู่กับความอยากสนองความต้องการของประสาทสัมผัส ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า ความเสพ เมื่อมนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและสภาพแวดล้อม และไม่รู้วิธีที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องต่อชีวิตและสภาพแวดล้อมนั้น มนุษย์ก็ทะยานดิ้นรนไปตามความอยากเหล่านี้ คือทะยานดิ้นรนไปแล้วแต่ความอยากจะพาไป เพื่อให้ได้เสพสนองความต้องการและให้ชีวิตอยู่รอด

เมื่อไม่มีความรู้ และเอาความอยากเป็นตัวนำดิ้นรนไป ทะยานไปตามอยาก แล้วแต่ความอยากจะพาให้ดิ้นรนพล่านไป ก็ไม่เกิดผลดีตามที่ต้องการ เพราะว่าเมื่อดิ้นรนทำไปแล้ว ถ้าไม่ถูกต้องตามกฎความจริงของธรรมชาติ ก็ไม่ได้รับผลสำเร็จ แต่ถ้าบังเอิญถูกต้องตรงเข้า ก็ได้ผล

แต่ในกรณีส่วนใหญ่ จะไม่เกิดผลตามที่ต้องการ เพราะปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของความเป็นจริงนั้น ก็จึงแก้ปัญหาไม่สำเร็จ แต่กลับทำให้เกิดปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาอีก

เพราะฉะนั้น เมื่อดิ้นรนทะยานไปด้วยความอยาก เอาความอยากเป็นตัวนำชีวิต ปัญหาก็เกิดขึ้นมาซับซ้อนมากขึ้น ชีวิตก็มีความทุกข์มากขึ้น

ความอยากที่เป็นตัวนำนี้ท่านเรียกว่าตัณหา อยากแล้วก็ยึดมั่นว่าสิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นอย่างที่อยาก สิ่งนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ สิ่งนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้น ตามที่ตัวอยาก จะต้องทำให้ได้ให้เป็นอย่างที่ตัวอยาก ความยึดถือสำคัญมั่นหมายนั้นเรียกว่า อุปาทาน

เมื่อเอาตัณหาคือตัวอยาก และอุปาทานคือการยึดมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มาเป็นตัวนำ ปัญหาก็ยิ่งหนักมากยิ่งขึ้น เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ใช่เป็นไปตามที่ใจตัวอยาก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ใช้วิธีของความรู้ ยิ่งจะให้เป็นอย่างที่ตัวอยาก ก็ยิ่งติดขัด ไม่เป็นไปอย่างที่อยาก

โดยนัยนี้ จากอวิชชาคือความไม่รู้ ก็นำไปสู่การทะยานดิ้นรนพล่านไปตามความอยาก คือ ตัณหา พร้อมทั้งอุปาทาน ที่ยึดถือมั่นหมายว่าจะต้องเป็นไปอย่างที่ตัวอยาก แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่กลับยิ่งติดขัดคับข้องถูกบีบคั้นเป็นปัญหามากขึ้น คือ ตกอยู่ในทุกข์

ทีนี้จะทำอย่างไร ก็ต้องแก้ปัญหาให้ถูก เพราะถ้าใช้ความอยากเป็นตัวนำแล้วยิ่งทำไปก็ยิ่งทุกข์ยิ่งเพิ่มปัญหา ก็ต้องกลับไปสู่หลักการใหญ่เมื่อกี้นี้ คือจะต้องมีความรู้ และต้องปฏิบัติการด้วยความรู้

เพราะฉะนั้น วิธีที่ถูกต้องก็คือ ต้องสร้างความรู้ขึ้นมา ต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ปัญญา เมื่อเราสร้างปัญญาขึ้นมา มีความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง โดยรู้เข้าใจ

๑. ชีวิตของตัวเราเอง

๒. สิ่งทั้งหลายที่อยู่แวดล้อม ทั้งสังคมและธรรมชาติภายนอก

แล้วเราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ก็แก้ปัญหาได้ เรียกว่า แก้ปัญหาเป็น หรือดับทุกข์เป็น เพราะฉะนั้น วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องก็คือ ต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา

ทีนี้ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัญญาคือความรู้นี้มีหลายระดับ การที่คนจะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นก็จะต้องมีการพัฒนาตัวเอง ซึ่งรวมไปถึงการที่จะต้องมีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร มีจิตใจสงบมั่นคง รู้จักแสวงหาข้อมูล รู้จักคิด มีระเบียบในการคิด ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องพัฒนาให้เป็นคุณสมบัติขึ้นมา จึงจะมีปัญญาที่จะมาแก้ปัญหาได้ ก็เลยเกิดกิจกรรมใหม่ที่จำเป็นขึ้นมา คือ การพัฒนาตนเองของมนุษย์ ซึ่งเราเรียกว่า การศึกษา การศึกษาก็คือการพัฒนาตัวเอง ในกระบวนการที่จะให้เกิดปัญญา

ทีนี้ มีปัญหาขึ้นมาว่า มนุษย์นั้นจะมีปัญญาสามารถรู้เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้จริงหรือไม่ ทางพระพุทธศาสนาก็ตอบว่า ได้ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาได้ จนกระทั่งเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งสมบูรณ์ ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้า เป็นปัญญาที่เรียกว่าโพธิญาณ ซึ่งทำให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกตรงตามความจริงแท้ แก้ปัญหาได้หมดสิ้น ปลอดพ้นจากความทุกข์

คำตอบนี้บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ ซึ่งเรียกว่า มีศักยภาพ เมื่อมนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ เราก็สามารถวางหลักการในทางการศึกษา เพื่อให้คนพัฒนาตนเองได้ เราสามารถตั้งระบบ จัดเป็นกระบวนการศึกษาหรือพัฒนาคนขึ้นมา

เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาตนแล้ว มีปัญญาแล้ว รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง รู้กฎเกณฑ์ความเป็นไปของธรรมชาติดีแล้ว ก็ดำเนินชีวิตถูกต้อง ก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง เมื่อดำเนินชีวิตถูกต้อง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ก็แก้ปัญหาได้ ดับทุกข์ได้ ก็ถึงภาวะไร้ปัญหา ไร้ทุกข์

นี่คือหลักการทั่วไป เป็นเรื่องของความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ที่สัมพันธ์กับกระบวนการการศึกษาตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ซึ่งพูดแบบง่ายๆ และรวบรัด

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.