พุทธศาสน์กับการแนะแนว

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การแนะแนวคือการช่วยให้เขาพึ่งตนเองได้

ในแง่ของพุทธศาสนานั้น เรามีหลักการที่ทุกคนคงจะได้ยินได้ฟังมาแล้วจากพุทธภาษิตที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แปลว่าตนแลเป็นที่พึ่งของตน ในสังคมไทยได้ยินกันทั้งนั้น พุทธภาษิตข้อนี้แสดงว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งการพึ่งตนเอง

เมื่อพึ่งตนเองแล้ว เวลามีปัญหา คนอื่นจะมาช่วยอะไรอีกล่ะ ในเมื่อตนต้องเป็นที่พึ่งของตน แต่ทีนี้มีปัญหาว่าบางทีคนพึ่งตนเองไม่ได้ ตามหลักการก็ควรจะเป็นอย่างที่ท่านว่าคือ ตนต้องเป็นที่พึ่งของตน แต่ในเมื่อมีคนที่พึ่งตนเองไม่ได้เราจะทำอย่างไร ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราจะต้องยอมรับหลักการเบื้องต้นเสียก่อนว่า ชีวิตที่ดีนั้นต้องเป็นชีวิตที่พึ่งตนเองได้ ถ้าเป็นชีวิตที่พึ่งตนเองไม่ได้ ก็จะมีปัญหา

อย่างเราเดินทางร่วมกันหลายๆ คน ถ้าเกิดมีใครคนหนึ่งเดินไม่ได้เพราะหมดแรงก็ดี เพราะเกิดบาดเจ็บ หรือเพราะสาเหตุอะไรอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ก็จะเป็นภาระขึ้นมาทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ตนเองเดือดร้อนก่อน ต่อมาถ้าคนอื่นมีมนุษยธรรม มีความห่วงใย มีความรักใคร่ ก็ต้องหาทางช่วยเหลือกัน เมื่อช่วยเหลือก็ต้องทำให้คนอื่นพลอยลำบากลำบนไปด้วย ทำให้การเดินทางขลุกขลักไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าทุกคนพึ่งตนได้ ต่างคนต่างเดินทางได้ดี มีกำลังแข็งแรง การเดินทางนั้นก็เป็นไปด้วยดีโดยสะดวก

ตัวอย่างที่จะเห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ทุกคนควรจะหาเลี้ยงชีวิตด้วยตนเอง จะต้องแสวงหาอาหารหาปัจจัยสี่มา แต่ถ้าบุคคลบางคนในหมู่ ในคณะหรือในชุมชนนั้นไม่มีความสามารถที่จะหาเลี้ยงชีวิตได้ ก็จะเกิดเป็นภาระแก่หมู่คณะนั้น

แต่คนที่ว่าเลี้ยงชีวิตตนเองได้ พึ่งตนเองได้นั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแสวงหาปัจจัยสี่ หรือทำอาหารนั้นด้วยตนเอง การที่เขาทำหน้าที่ของตนเองอย่างใดอย่างหนึ่ง ทดแทน ชดเชย หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความสะดวก แล้วคนอื่นนั้นไปแสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงดูเขา ก็ชื่อว่าเขาพึ่งตนเองเหมือนกัน แต่ถ้าให้คนอื่นมาเลี้ยงดูเขาอย่างเดียวก็แสดงว่าพึ่งตนเองไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่าเขาจะเป็นภาระแก่สังคม และเกิดความทุกข์เกิดปัญหาแก่ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้แต่คนที่หากินเองไม่ได้ คนอื่นต้องเลี้ยงนั้น เขาก็ยังต้องพึ่งตนเอง เมื่อถึงเวลารับประทาน เขาก็ยังต้องตักอาหารรับประทานใส่ปากตัวเอง แต่ต่อมาถ้าหากเขาเกิดพิการ แม้แต่ตักอาหารใส่ปากตัวเองก็ไม่ได้ การพึ่งตัวเองก็ลดลงไปอีก คนอื่นก็ต้องมาช่วย โดยตักอาหารใส่ปากเขาคือป้อน เช่น ป้อนข้าวให้เขา การพึ่งตนเองก็ลดลงไปอีก แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังพึ่งตนเอง คือเคี้ยวเอง

ต่อมาถ้าเขาพึ่งตัวเองด้วยการเคี้ยวไม่ได้อีก ก็ต้องใส่อาหารทางสายยาง ใส่อาหารลงไปในกระเพาะให้เขาอีก ถึงขั้นนี้แล้ว เขาก็ยังต้องพึ่งตัวเอง คือเขาต้องย่อยเอง ถ้าหากว่าเขาไม่ย่อย ก็ต้องฉีดโปรตีนและกลูโคส เป็นต้น เข้าทางเส้นเลือด แต่เขาก็ยังต้องพึ่งตนเองอีก คือหัวใจต้องสูบฉีดโลหิตให้พาอาหารไปบำรุงอวัยวะต่างๆ ถ้าหัวใจไม่ทำงานอีก ตอนนี้เขาพึ่งตนเองไม่ได้เลย ก็แตกดับ คือ ตาย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็แล้วแต่ คนต้องพึ่งตัวเอง ในระดับใดระดับหนึ่ง ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้ ทีนี้ถ้าชีวิตพึ่งตัวเองได้มากเต็มที่ของมัน ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ นอกจากพึ่งตนเองได้แล้วก็ยังขยายออกไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย

ในทางพระพุทธศาสนานั้น ถือหลักการพึ่งตนเองนี้เป็นสำคัญ คุณค่าของพระพุทธศาสนา ก็อยู่ที่การช่วยให้มนุษย์พึ่งตัวเองได้ อย่างพระรัตนตรัยนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่าเป็นหลักของการพึ่งตนเอง

ท่านอาจจะแย้งว่า เอ๊ะ เวลาเราสมาทานศีล ตอนเริ่มต้น เขาเรียกว่าไตรสรณคมน์ คือ ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ต่อไปก็มี ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ และ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ คำว่าสรณะ เราแปลกันว่าเป็นที่พึ่ง เอ ก็ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ก็เป็นที่พึ่งซิ จะพึ่งตัวเองอย่างไร อันนี้ก็อยู่ที่ความเข้าใจให้ถูกต้อง

ความจริง ที่ว่าเป็นที่พึ่งนั้น ก็หมายความว่า ท่านมาช่วยแนะแนวนั้นเอง คือช่วยแนะนำบอกกล่าวให้เรารู้จักพึ่งตนเอง เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษ คำว่าสรณะนี้ยังแย้งกันอยู่ บางพวกก็แปลว่า refuge แปลว่า ที่พึ่ง อีกพวกหนึ่งแปลว่า guide แปลว่า ผู้นำทาง หรือผู้ทำการแนะแนวนั้นเอง คือผู้ชี้แนะแนวทาง หมายถึง แนวทางชีวิตหรือดำเนินชีวิต

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้น เป็นผู้แนะแนวที่สำคัญ หลักการของพระพุทธศาสนาสนับสนุนทัศนะที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นการแนะแนว เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบทาง ท่านบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อพบแล้วก็นำเอามาเปิดเผย มาชี้แนะแนว บอกทางให้แก่ผู้อื่น ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก คือชี้ทางให้ ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ ส่วนตัวการกระทำนั้น เป็นเรื่องที่ท่านต้องเพียรพยายามเอาเอง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง เป็นผู้ค้นพบธรรมแล้วเอามาเปิดเผยให้แก่เรา

เมื่อท่านชี้แนวทางให้แล้ว การที่จะปฏิบัติให้สำเร็จผล ก็ต้องทำด้วยตนเอง คือนำเอาธรรมนั้นมาปฏิบัติ ธรรมนั้นเป็นเรื่องของการที่ต้องเข้าใจด้วยปัญญา เมื่อรู้เข้าใจแล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้น ธรรมเป็นตัวชี้แนวทาง เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ก็มีธรรมไว้เป็นหลัก แต่ถ้าไม่มีใครช่วยอธิบายชี้แจง ไม่มีผู้ที่จะมาถ่ายทอด ธรรมก็จะเงียบหายไป ไม่มาถึงเรา จึงต้องมีพระสงฆ์ทำหน้าที่ถ่ายทอดชี้แนะแนวทางต่อมา

ตกลงว่า พระรัตนตรัยนั้นมีหน้าที่หลักคือ การชี้แนะแนวทาง จึงเป็นเรื่องที่เข้ากับวิชาการแนะแนว ซึ่งโดยหลักการก็คือ ช่วยให้คนพึ่งตนเองได้ ดังนั้น หลักการที่สำคัญ ก็คือ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนต้องเป็นที่พึ่งของตน

โดยทั่วไป คนทั้งหลายยังช่วยตัวเองไม่ได้เต็มที่ หรือมีระดับแห่งการพึ่งตนเองที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องการผู้มาช่วยแนะแนวเพื่อให้ช่วยตัวเองได้ในระดับสูงยิ่งขึ้นไป แต่ในระดับพื้นฐานทีเดียว คนจำนวนมากก็ยังพึ่งตนเองไม่ได้ เมื่อพึ่งตนเองไม่ได้ก็ต้องมีผู้ช่วยให้พึ่งตนเองได้ โดยใช้ภาษา และกิจกรรมเป็นต้นเข้ามาช่วย การช่วยคนให้พึ่งตัวเองได้ ก็คือ หน้าที่ของการแนะแนว การแนะแนวก็เข้ามาที่ตรงนี้เอง

เมื่อพูดถึงการที่จะพึ่งตนเองนั้น ก็ย่อมรวมไปถึงอะไรอื่นอีกหลายอย่าง ซึ่งอาจจะเรียกว่าองค์ประกอบ หรือคุณสมบัติที่จะทำให้พึ่งตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น การรู้จักตัวเองตามที่เป็นจริง

รู้จักตัวเองก็ยังไม่พอ ต้องรู้จักสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวตามเป็นจริง สิ่งที่อยู่รอบตัวนี้ก็มีทั้งสังคม และธรรมชาติแวดล้อม ตลอดจนสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ขึ้นเป็นเทคโนโลยี เป็นต้น

นอกจากรู้จักเข้าใจตามที่เป็นจริงแล้ว ก็ต้องรู้จักคิดเองได้ ถ้าคิดด้วยตนเองไม่ได้ก็ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ คิดด้วยตัวเองนี้กินความรวมไปถึงการที่รู้จักเลือกรู้จักตัดสินใจด้วยตัวเอง คิดเองเป็นแล้วก็ตัดสินใจด้วยตนเองเป็น

เมื่อตัดสินใจเองได้ดีก็เป็นหลักสำคัญ ที่จะนำทางชีวิตของตนเองไปได้ ส่วนสำคัญของการคิดตัดสินใจ และการดำเนินชีวิตของตนเองได้นั้น แสดงออกที่การรู้จักแก้ปัญหาชีวิตของตัวเอง จึงต้องรู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเองเป็น

ในการที่จะแก้ปัญหานั้น ปัญหามีหลายขั้นหลายระดับ ยากมาก ยากน้อย เราจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการแก้ปัญหามากขึ้น จึงกินความรวมถึงการที่ต้องรู้จักปรับปรุงตัวเอง พัฒนาตัวเองได้ วันนี้จึงจะต้องพูดถึงเรื่องต่างๆ ที่เป็นคุณสมบัติเกี่ยวกับการพึ่งตัวเอง ซึ่งมีมากมายหลายอย่าง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.