กฐินสู่ธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วัดมีฐานะและภาวะแตกต่างกันอย่างไร?

ตามกฎหมายคณะสงฆ์ในประเทศไทย (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๑) แบ่งวัดเป็น ๒ ประเภท คือ

  1. วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
  2. สำนักสงฆ์

วิสุงคาม คือ ที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองประเทศแบ่งออกจากเขตบ้านเมืองตามปกติ พระราชทานให้หรือมอบให้เป็นสิทธิแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง

วิสุงคามสีมา คือ เขตแดนของสงฆ์ ซึ่งแยกต่างหากจากบ้านเมือง หรือดินแดนของพุทธจักร แยกต่างหากจากอาณาจักร โดยมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานไว้ หรือรัฐบาลประกาศอนุญาตไว้

เดิมที วิสุงคามสีมา เป็นที่ยกเว้นจากการเก็บค่าภาษีอากร มีอภิสิทธิ์หลายประการ ดังเช่น สถานทูตเป็นตัวอย่าง แต่มาในบัดนี้ คงเทียบได้เพียงการพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่ป่าไม้หรือเหมืองแร่เป็นเขตสัมปทาน หรือการอนุญาตให้มีกรรมสิทธิ์ถือครองในที่ดินนั้นๆ โดยถูกต้องตามฐานะที่เป็นองค์การศาสนา

การพระราชทานที่ให้เป็นวิสุงคามสีมานี้ ตกมาเป็นธรรมเนียมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวัด วิสุงคามสีมา มีความสำคัญทั้งในด้านวินัยและกฎหมาย ปราชญ์ฝ่ายศาสนาในวงราชการไทยเคยชี้แจงว่า การรับพระราชทานวิสุงคามสีมา หมายถึงการเลื่อนฐานะของวัดเพื่อประโยชน์ในทางพระวินัย เพื่อจะได้มีการผูกพัทธสีมา ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม เปรียบเหมือนการเลื่อนฐานะของบุคคลธรรมดาจากฐานะผู้เยาว์ขึ้นเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ

หากยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ก็ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์ คือเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์เท่านั้น

เมื่อได้รับพระราชทานที่เป็นวิสุงคามสีมาแล้ว พระสงฆ์ก็จะผูกสีมาลงภายในให้เป็นพัทธสีมาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพัทธสีมา (เขตแดนที่สงฆ์ได้มาประชุมกันลงมติกำหนดขอบเขตไว้แล้ว) หรือเป็นอพัทธสีมา (เขตแดนที่ต้องถือตามบ้านเมือง หรือตามธรรมชาติ เพราะสงฆ์ยังไม่ได้มาประชุมตกลงไว้) ก็ตาม ก็ใช้ประกอบพิธีบวชนาค กรานกฐิน และทำสังฆกรรมอื่นๆ ได้เหมือนกัน

แต่อพัทธสีมา มีข้อเสียเปรียบตรงที่ว่า พระสงฆ์ไม่เป็นตัวของตัวเองโดยสมบูรณ์ และยากที่จะดูแลควบคุมการประชุม เพราะจะต้องให้พระภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือเมืองนั้นมีเท่าไร ต้องให้เข้าประชุมทั้งหมด ถ้าขัดข้องมาไม่ได้ เช่นเจ็บไข้ ก็ต้องมอบฉันทะมา

ถ้าหากปรากฏว่า เมื่อสงฆ์ประชุมกันอยู่ มีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในเขตนั้นไม่ได้เข้าที่ประชุม จะเป็นเพราะหลงเหลืออยู่ ไม่รู้ หรือเป็นพระอาคันตุกะเดินทางผ่านเข้ามาก็ตาม การบวช การทอดกฐิน หรือสังฆกรรมใดๆ ที่ทำอยู่นั้น ก็จะกลายเป็นโมฆะ เรียกว่าเป็นกรรมวิบัติ ถึงแม้บวชแล้ว ก็ไม่เป็นอันบวช กรานกฐินแล้ว ก็ไม่เป็นอันกราน ดังนี้เป็นต้น

เพื่อให้เป็นหลักฐานมั่นคง และควบคุมการประชุมได้โดยสมบูรณ์ จึงนิยมสีมาประเภทพัทธสีมา เมื่อสร้างวัดเป็นหลักเป็นฐานแล้ว จึงถือว่าควรมีการฝังลูกนิมิต ผูกสีมาให้เป็นที่เรียบร้อย

นอกจากวิธีแบ่งวัดอย่างที่กล่าวมาแล้ว วัดในประเทศไทยยังอาจแยกประเภทได้อีกแบบหนึ่ง คือ แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

  1. วัดหลวง หรือพระอารามหลวง
  2. วัดราษฎร์

วัดหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง (เช่น วัดสุทัศน์ฯ วัดเทพธิดาราม ฯลฯ) หรือทรงปฏิสังขรณ์ (เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดเบญจมบพิตร ฯลฯ) หรือวัดที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า เศรษฐี คฤหบดี สร้างขึ้นใหม่ หรือช่วยกันปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จากวัดเก่า มั่นคง สวยงาม เมื่อสร้างสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ได้นำความกราบบังคมทูลเกล้าถวายแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อทรงรับไว้ในพระราชอุปการะ (เช่น วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดชนะสงคราม ฯลฯ)

วัดหลวงจัดชั้นแยกออกไปอีกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นเอก (มี ๓ ชั้นย่อย คือ เอกชนิดราชวรมหาวิหาร เอกชนิดราชวรวิหาร และเอกชนิดวรมหาวิหาร) ชั้นโท (มี ๔ ชั้นย่อย คือ ชนิดวรมหาวิหาร ชนิดราชวรวิหาร ชนิด วรมหาวิหาร และชนิดวรวิหาร) และชั้นตรี (มี ๓ ชั้นย่อย คือ ชนิดราชวรวิหาร ชนิดวรวิหาร และชั้นตรีสามัญ)

วัดราษฎร์ คือ วัดที่ราษฎร จะเป็นบุคคล หรือกลุ่มชนก็ตาม ผู้มีจิตศรัทธา สร้างขึ้นไว้ในพระบวรพุทธศาสนา

ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ ก่อนที่จะเขียนบทความนี้ วัดในประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๒๔,๒๘๔ วัด แบ่งเป็นพระอารามหลวง ๑๖๖ วัด วัดราษฎร์ ๒๔,๑๑๘ วัด

ตามสถิติล่าสุดใน พ.ศ. ๒๕๓๕ วัดในประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๒๙,๓๒๒ วัด แบ่งเป็นพระอารามหลวง ๒๓๑ วัด วัดราษฎร์ ๒๙,๐๙๑ วัด

ความรู้เรื่องวัด ขอจบลงด้วยคาถาอนุโมทนา แสดงอานิสงส์ วิหารทาน คือ การสร้างวัด ดังนี้

สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ ตโต วาฬมิคานิ จ
สิรึสเป จ มกเส สิสิเร จาปิ วุฏฺฐิโย
ตโต วาตาตโป โฆโร สญฺชาโต ปฏิหญฺญติ
เลนตฺถญฺจ สุขตฺถญฺจ ฌายิตุํ จ วิปสฺสิตุํ
วิหารทานํ สงฺฆสฺส อคฺคํ พุทฺเธหิ วณฺณิตํ
ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส สมฺปสฺสํ อตฺถมตฺตโน
วิหาเร การเย รมฺเม วาสเยตฺถ พหุสฺสุเต
เตสํ อนฺนญฺจ ปานญฺจ วตฺถเสนาสนานิ จ
ทเทยฺย อุชุภูเตสุ วิปฺปสนฺเนน เจตสา
เต ตสฺส ธมฺมํ เทเสนฺติ สพฺพทุกฺขาปนูทนํ
ยํ โส ธมฺมมิธญฺญาย ปรินิพฺพาตฺยนาสโวติ.

แปลได้เนื้อความว่า

“อันวิหาร คือที่อยู่อาศัย ย่อมป้องกัน หนาว ร้อน และสัตว์ร้าย นอกจากนั้นยังป้องกัน งู เหลือบยุง และฝนในคราวเยือกเย็น อนึ่ง ลมแรงและแดดกล้า เกิดมีมา ก็กันได้

การสร้างที่อยู่อาศัยถวายแก่สงฆ์ เพื่อเป็นที่พำนัก เพื่อความสุข เพื่อบำเพ็ญฌาน และเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนา พระพุทธะทั้งหลายทรงสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุฉะนั้น บัณฑิตชน เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ที่แท้แก่ตน จึงควรสร้างวัดอันรื่นรมย์ และให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหูสูต เข้าอยู่อาศัย

อนึ่ง พึงจัดถวาย ซึ่ง ข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะ ด้วยจิตอันเลื่อมใสในพระภิกษุทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย

พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบรรเทาสรรพทุกข์ ซึ่งเมื่อเขาเข้าใจชัดแล้ว จะกำจัดกิเลสที่หมักหมมในใจได้ ดับทุกข์ดับร้อน สงบเย็นจิตใจ ตั้งแต่ในโลกนี้”1

1วินย.๗/๒๗๑/๑๒๑
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.