กฐินสู่ธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๑. เรื่องของชาวพุทธ

เทศกาลท้ายฝน1

ชีวิตของชาวไทยในชนบท ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนมากเป็นชาวไร่ชาวนา ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน ฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลสำคัญ เป็นฤดูกาลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน บรรยากาศที่ชุ่มฉ่ำและพืชพันธุ์ธัญญาหารที่งอกงามเขียวขจีในฤดูนี้ เป็นเครื่องชุบกายและฟื้นใจให้สดชื่นมีชีวิตชีวา แต่ในเวลาเดียวกัน ถนนหนทางและพื้นแผ่นดินที่เฉอะแฉะมีโคลนเลนเป็นหลุมเป็นบ่อ ก็เป็นอุปสรรคแก่การเดินทาง และการดำเนินชีวิตในที่แจ้ง ทำให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง ไม่คล่องแคล่วสะดวกดาย

พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ซึ่งในยามปกติย่อมเที่ยวจาริกไปในถิ่นต่างๆ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจเผยแพร่พุทธธรรม ครั้นฤดูฝนย่างเข้ามา ก็หยุดสัญจร เข้าพำนักอยู่ประจำที่ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลา ๓ เดือน เพื่อหลีกเว้นเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืชพันธุ์ที่พึ่งจะเริ่มงอกงาม และเปิดโอกาสให้ชาวชนบทประกอบการกสิกรรม โดยไม่ต้องห่วงกังวลถึงพระสงฆ์ที่จะเดินทางออกไปต่างถิ่น หรือเข้ามาจากถิ่นอื่นๆ อีกทั้งตัวพระสงฆ์นั้นเอง ก็ไม่ต้องประสบปัญหาอันเกิดจากการเดินทางที่ยากลำบากด้วย

นอกเหนือจากเหตุผลอันเกี่ยวด้วยดินฟ้าอากาศแล้ว การที่พระสงฆ์หยุดอยู่ประจำที่ในฤดูฝน ได้อำนวยโอกาสให้กิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาและปฏิบัติธรรมในแต่ละท้องถิ่นดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็งจริงจังยิ่งขึ้น พระสงฆ์ที่เป็นผู้ใหญ่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในธรรมวินัย เป็นนักเผยแผ่ ก็ได้มีโอกาสหยุดพักผ่อน ทบทวนงาน คิดการที่จะทำต่อไป และอำนวยความรู้ความชำนาญแก่พระสงฆ์อื่นที่พำนักร่วมอยู่ พระสงฆ์ที่มีความรู้ความชำนาญน้อยลงมา ก็มีโอกาสที่จะได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และปรึกษาสอบถามท่านผู้มีความรู้ความชำนาญมากกว่า แม้พุทธศาสนิกชนชาวบ้านทั้งหลาย ก็มีโอกาสได้สดับธรรมและสนทนาสอบถามเรื่องราวทางพระศาสนากับพระสงฆ์ผู้อยู่ประจำที่ได้สม่ำเสมอยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังได้เกิดประเพณีที่ให้ชายหนุ่มอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วอุปสมบท เพื่อรับการศึกษาอบรมทางพระศาสนาอย่างจริงจังในช่วงที่มีบรรยากาศเหมาะสมนี้อีกด้วย เพราะเหตุที่เทศกาลฝนหรือเทศกาลพรรษามีความหมายและคุณค่าอย่างนี้ ในสมัยต่อมา แม้ปัญหาเกี่ยวด้วยดินฟ้าอากาศจะลดความสำคัญลง แต่ความหมายของเทศกาลพรรษาก็ยังทรงคุณค่าอยู่ได้อย่างมั่นคง

ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน พระสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ ประมาณ ๘-๙ เดือน อยู่ประจำที่ในเทศกาลพรรษา ๓ เดือน เสมือนว่า ทำงานนอกสถานที่ ๓ ส่วน ในสถานที่ ๑ ส่วน ทำงานกระจายเพื่อประชาชนทั่วไป ๓ ส่วน ทำงานเจาะจงเพื่อชุมชนหนึ่งโดยเฉพาะ ๑ ส่วน ออกไปเผื่อแผ่แจกให้เขา ๓ ส่วน กลับมาตระเตรียมฟื้นตัวใหม่ ๑ ส่วน ในลักษณะหนึ่งเป็นเหมือนเครื่องประจุไฟฟ้า (แบตเตอรี่) ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าไประยะหนึ่งแล้ว กลับมาอัดกระแสเตรียมพร้อมที่จะใช้งานต่อไปใหม่

เทศกาลพรรษาเริ่มต้นด้วยงานพิธีเป็นเครื่องหมายให้รู้กัน ฉันใด ก็สิ้นสุดลงด้วยมีงานพิธีเป็นเครื่องหมายฉันนั้น เริ่มต้นพรรษาเรียกว่า เข้าพรรษา สิ้นสุดพรรษา เรียกว่า ออกพรรษา

อย่างไรก็ดี ลักษณะงานพิธีสำหรับเริ่มต้นพรรษา และสิ้นสุดพรรษานั้น หาได้เหมือนกันอย่างแท้จริงไม่

เมื่อเริ่มต้นพรรษา มีวันวันหนึ่งกำหนดไว้โดยเฉพาะสำหรับเริ่มต้นเรียกว่า เข้าพรรษา (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) และพิธีกรรมก็เป็นพิธีสำหรับเข้าพรรษา โดยพระสงฆ์กล่าวคำแสดงความตั้งใจ หรือตัดสินใจว่า “ข้าพเจ้าจะจำพรรษาตลอดเวลา ๓ เดือนในวัดนี้”

เมื่อสิ้นสุดพรรษา วันที่พรรษาสิ้นสุดลงมีจริง เรียกว่า วันออกพรรษา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) แต่พิธีกรรมที่จะให้พรรษาสิ้นสุดลงหามีไม่ เพราะเมื่อวันเวลาที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนเต็มตามที่กล่าวคำตั้งใจแล้ว การจำพรรษาย่อมสิ้นสุดลงโดยตัวของมันเอง เป็นของอัตโนมัติ แทนที่จะมีพิธีสำหรับให้พรรษาสิ้นสุดลง กลับมีพิธีกรรมและงานพิธีอื่น ซึ่งมีลักษณะเป็นการเริ่มต้นมากกว่า คือ เริ่มต้นเวลาหลังจากพรรษาสิ้นสุดแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีพิธีเริ่มต้นเวลาในพรรษาที่เรียกว่า เข้าพรรษา กับพิธีเริ่มต้นเวลานอกพรรษา ที่จะพูดถึงต่อไป

พิธีเริ่มต้นเวลานอกพรรษานั้น มีความหมายเชื่อมโยงเวลาในพรรษากับเวลานอกพรรษาให้สัมพันธ์กัน คือ อ้างอิง หรืออาศัยเวลาที่ผ่านมาในพรรษานั้นเป็นฐาน เพื่อเริ่มต้นกิจการงานในเวลานอกพรรษาที่จะมีมาต่อไปให้ได้ผลดี

วัสสานกาล หรือ พรรษากาล หรือฤดูฝนนั้น ความจริงมี ๔ เดือน พระสงฆ์จำพรรษาเพียง ๓ เดือน เดือนสุดท้ายของฤดูฝนจึงยังเหลืออยู่ ๑ เดือน ขอเรียกง่าย ๆ ว่า เดือนท้ายฝน (เริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) เป็นเดือนที่เหลือไว้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับงานหรือศาสนกิจนอกพรรษาต่อไป งานพิธีในเวลาช่วงนี้ขอเรียกว่า เทศกาลท้ายฝน

พิธีกรรมและงานพิธีในท้ายฝนนี้มีถึง ๓ อย่าง บางอย่างเป็นพิธีที่ต้องทำในวันสิ้นสุดพรรษา บางอย่างทำได้ตลอดเดือนท้ายฝน บางอย่างเป็นพิธีตามบทบัญญัติในวินัยของพระสงฆ์ บางอย่างเป็นพิธีอันมีมาตามประเพณี บางอย่างเป็นทั้งบทบัญญัติในวินัยสงฆ์ และเป็นพิธีอันมีมาตามประเพณี

พิธีกรรมและงานพิธี ๓ อย่างนี้ มีชื่อว่า พิธีมหาปวารณา (เรียกง่ายๆ ว่า พิธีปวารณา) งานตักบาตรเทโวโรหณะ (ชาวบ้านเรียกว่า ตักบาตรเทโว) และงานทอดกฐิน งานใดเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร จะได้พูดต่อไป

1พิมพ์ครั้งแรก ในวารสารธรรมปทีป ของวัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ปีที่ ๓ เล่มที่ ๑๙ ฉบับมหาปวารณา พ.ศ.๒๕๒๐
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.