ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา ปุจฉา-วิสัชนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๑. การผูกสีมา ตามพระวินัย

ผูกสีมา ให้เป็นพัทธสีมา

ที่เราเรียกกันว่า “งานฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา” นั้น เป็นการเรียกตามๆ กันไปเท่านั้น ที่จริง “พัทธสีมา” แปลว่า สีมาที่ผูกแล้ว (“พัทธ” แปลว่า ผูกแล้ว) เมื่อสีมายังไม่ได้ผูก เราจึงมาจัดการผูกสีมาให้เป็นพัทธสีมา เพราะฉะนั้นจึงควรพูดให้ถูกว่า “งานฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา”

ทีนี้พูดตามวินัยก่อน เรื่องวินัยก็คือ เมื่อเราสร้างวัดขึ้นมา หรือพระอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าวัด ก็จะต้องมีเขตที่จะกำหนดว่าพระอยู่ในเขตแค่ไหนจะต้องมาประชุมกันเวลามีงานส่วนรวมที่เรียกว่า สังฆกรรม

หมายความว่า เรื่องสีมาเกิดขึ้นเพราะว่าชีวิตของพระตามพุทธบัญญัตินั้นอยู่กันเป็นสังฆะ หรือสงฆ์ คือเป็นหมู่หรือชุมชน และพระที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ที่เราเรียกว่าวัดนั้น เมื่อมีเรื่องส่วนรวมที่จะต้องทำ ก็มาประชุมตกลงกัน เรียกว่าทำสังฆกรรม

ปัญหาเกิดขึ้นว่า พระรูปใดบ้างอยู่ในหมู่นั้น หรือหมู่นั้นกำหนดแค่ไหน ที่จะต้องมาร่วมประชุม นี่แหละก็เลยต้องกำหนดเขตกันขึ้น เขตนั้นภาษาบาลีเรียกว่า “สีมา”

การตกลงกันกำหนดเขตนั้นไว้นั่นแหละเรียกว่า “ผูกสีมา”

จะเป็นสีมาได้ ก็ต้องมีลูกนิมิต

ถาม: สีมาเป็นอย่างนี้ แล้วลูกนิมิตมาอย่างไร?

พระธรรมปิฎก: การกำหนดเขตคือสีมานั้นก็ต้องมีเครื่องหมาย คนอื่นเขาจะได้รู้ด้วย และผู้ที่อยู่ภายในเขตเองก็จะได้ไม่ลืม จะได้ใช้เป็นที่กำหนดว่าเราอยู่ในเขตหรือไม่ และก็รู้ว่าเขตของเราแค่ไหน

พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวัตถุ ๘ ชนิดให้ใช้เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตที่เรียกว่า สีมา สีมาก็คือเขต

วัตถุ ๘ ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องหมายเขตได้ คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำ ถ้าใช้วัตถุที่ไม่มั่นคงทนทาน พัทธสีมาที่ผูกคือกำหนดกันไว้ ก็ไม่มั่นคงยั่งยืน มาถึงปัจจุบันจึงนิยมกันลงตัว เอาศิลาขนาดที่เป็นหลักเป็นฐาน

คำว่าเครื่องหมายในภาษาบาลีเรียกว่า นิมิต เพราะฉะนั้น วัตถุ ๘ อย่างที่ใช้กำหนดจึงเรียกว่า “นิมิต” หมายความว่าเป็นเครื่องหมาย เครื่องหมายของอะไร ก็คือเครื่องหมายของสีมา หรือเขตนั่นเอง เพราะฉะนั้น บางครั้งจึงเรียกเต็มๆ ว่า “สีมานิมิต” (เครื่องหมายของสีมา หรือเครื่องหมายเขต)

ได้บอกแล้วว่า ปัจจุบันนิมิตนั้นนิยมใช้ก้อนหิน หรือศิลา และตั้งใจแต่งให้เรียบร้อยงดงามเป็นลูกกลมๆ ก็เลยเรียกว่า “ลูกนิมิต”

ถาม: เห็นข้างโบสถ์มีใบเสมาด้วย เป็นอะไรกันกับลูกนิมิตหรือเปล่า?

พระธรรมปิฎก: อันนี้เป็นของแถม วินัยไม่ได้กำหนดไว้ คือ เมื่อมีลูกนิมิตแล้ว แต่ลูกนิมิตนั้นฝังอยู่ในดิน มองไม่เห็น ต่อมาก็เลยนิยมทำแผ่นหิน แผ่นอิฐ หรือแผ่นไม้ ไว้เหนือหลุม หรือเรียงไว้บนกำแพงตรงเหนือหลุมที่ฝังลูกนิมิตไว้นั้น แล้วเรียกกันว่า “ใบเสมา” หรือ “ใบสีมา” เป็นที่สังเกตว่าลูกนิมิตอยู่ตรงนั้น

แท้จริงนั้น ถ้าใบสีมาเป็นศิลาที่ใหญ่พอ และปักติดลงไปในดิน ก็ใช้ใบสีมานั้นเป็นนิมิตได้เลย ไม่ต้องมีลูกนิมิตต่างหาก แต่ปัจจุบันนี้นิยมกันให้มีทั้งลูกนิมิตและใบสีมา

จะผูกสีมา สงฆ์ต้องมาประชุมตกลงกัน

เมื่อกะเขตไว้แล้ว และได้วัตถุที่เป็นนิมิตแล้ว สงฆ์ก็มาประชุมกัน การประชุมกันนี้ก็เป็นสังฆกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งตกลงกันว่า เอานะ นี่เขตสีมา ซึ่งมีนิมิต เช่นก้อนหินเป็นเครื่องกำหนด ก้อนนี้ๆๆ สำหรับทิศนี้ๆๆ นิยมให้มี ๘ ทิศ เขตก็จะเป็นไปตามลูกนิมิต เมื่อวางลูกนิมิตไว้แล้ว พอดึงเส้นลากโยงจากลูกหนึ่งไปลูกหนึ่งๆๆ แล้วรูปร่างเขตก็เกิดขึ้นมา ปัจจุบันนิยมว่ามี ๘ ลูก นี้เป็นความนิยมนะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นความจำเป็น

ขอแถมแทรกตรงนี้ขึ้นมานิดหนึ่งว่า ได้เกิดประเพณีปฏิบัติในเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา ให้เพิ่มนิมิตอีกลูกหนึ่งเป็นลูกที่ ๙ อยู่ตรงกลาง เลยเรียกเป็นลูกประธาน ลูกตรงกลางอันที่จริงไม่ได้เป็นเขตอะไร แต่ก็พลอยเรียกเป็นลูกนิมิตไปด้วย ก็ถือว่าเป็นลูกแถมตามประเพณีก็แล้วกัน ส่วนของจริงก็คือลูกที่อยู่ข้างๆ ที่ชักเส้นถึงกันเป็นกำหนดเขต ซึ่งนิยมมีทั้งหมด ๘ ลูก

จากนั้นสงฆ์ก็มาประชุมกันแล้วก็ตกลงกำหนดว่า นี่นะ ที่เราใช้ก้อนหินหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นนิมิตนี่ ในทิศนั้นใช้อันนี้เป็นนิมิต ทิศนั้นใช้อันนี้เป็นนิมิต ตกลงกันแล้วก็สวดประกาศว่า เอาแล้วนะ สงฆ์คือที่ประชุมได้สมมติ คือมีมติร่วมกันกำหนดสีมาคือเขตชุมนุมสงฆ์ไว้ การประชุมสงฆ์ทำการนี้ เป็นสังฆกรรมที่เรียกว่า สมมติสีมา (ภาษาบาลีเรียกว่า “สีมาสมฺมติ”)

ที่ว่าสมมติสีมา ก็คือทำให้เป็นเขตที่มีขึ้นด้วยการสมมติ หมายความว่ามีขึ้นโดยมติร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของธรรมชาติ คำว่าสมมติแปลว่ามติร่วมกัน การทำให้เป็นเขตที่เกิดจากมติร่วมกันนี้เรียกว่า การสมมติสีมา ซึ่งเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง

สังฆกรรมนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะว่าเมื่อทำสังฆกรรมนี้แล้ว ที่ในบริเวณนั้นก็เรียกว่าเป็น พัทธสีมา แปลว่า สีมาที่ผูกแล้ว คือเป็นเขตที่สงฆ์ได้กำหนดขึ้นแล้ว เมื่อยังไม่ผูกก็ยังไม่เป็นพัทธสีมา แต่สำนวนไทยเราพูดว่าผูกพัทธสีมา

ที่จริงเราผูกสีมานี้ให้เป็น “พัทธสีมา” คือ ให้เป็นเขตที่สงฆ์ได้ตกลงกันผูกคือกำหนดไว้แล้ว นี่คือสาระสำคัญ

สีมาที่ไม่ต้องผูก ก็มี

มีความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ความจริงสีมานี้ไม่จำเป็นต้องผูกก็ได้ แต่วันนี้เราพูดถึงเฉพาะสีมาที่ผูกซึ่งเรียกว่าพัทธสีมา แต่ที่จริงสงฆ์ไม่จำเป็นต้องผูกสีมาก็ได้ คือถือตามกำหนดเขตที่มีอยู่แล้ว หมายความว่า บ้านเมืองเขามีกำหนดเขตเป็นตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นต้นอยู่แล้ว สงฆ์คือพระส่วนรวมก็ถือสีมาคือเขตตามนั้น ถ้าถือตามนั้นก็เป็นอันว่าไม่ต้องมาประชุมสมมติขึ้น คือไม่ต้องสมมติสีมา

อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตามกำหนดของบ้านเมืองเป็นต้นก็อาจจะลำบาก เช่นว่าเมื่อถือตามตำบล เมื่อเขตตำบลมีแค่ไหน พระที่อยู่ในตำบลนั้นถึงคราวมีเรื่องส่วนรวมต้องมาประชุมร่วมกันหมด ขาดองค์เดียวไม่ได้ และถ้าพระองค์ไหนที่อยู่นอกเขตผ่านเข้ามาในเขตตำบลนั้น ก็ต้องมาเข้าที่ประชุม แล้วใครจะไปตามไหว ถ้าปฏิบัติไม่ได้ตามนี้ก็กลายเป็นว่าสังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ เพราะฉะนั้นการผูกสีมาจึงสะดวกกว่า

สีมาชนิดที่ว่าพระสงฆ์ไม่ได้มาประชุมตกลงกันกำหนดขึ้น แต่ถือตามเขตบ้านเมือง หรือถ้าอยู่ในป่าในทะเลที่เป็นของธรรมชาติ ก็เอาระยะหรือเนื้อที่เป็นกำหนด (เช่นในป่า ให้วัดจากศูนย์กลางออกไปโดยรอบด้านละ ๗ อัพภันดร คือด้านละประมาณ ๙๘ เมตร) อย่างนี้ ก็เป็นสีมาอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า อพัทธสีมา

เป็นอันว่ามี สีมา คือเขตที่ผู้อยู่ภายในต้องมาร่วมทำสังฆกรรม ๒ ประเภท คือ

๑. พัทธสีมา เขตที่สงฆ์ได้ตกลงกันกำหนดขึ้น

๒. อพัทธสีมา เขตที่สงฆ์ไม่ได้กำหนด แต่ถือตามบ้านเมืองเป็นต้น

สีมากำหนดตัวผู้ต้องเข้าร่วมสังฆกรรม

ขอแถมอีกหน่อยเรื่องวิวัฒนาการทางฝ่ายสงฆ์เอง เดิมนั้นหลักการหรือสาระสำคัญในเรื่องนี้ก็อย่างที่พูดแล้วว่า พระที่อยู่ในสีมาคือเขตเดียวกัน เมื่อมีเรื่องราวก็ต้องมาร่วมกันพิจารณา ต่อมาภายหลัง ท่านคงจะไม่สะดวกแล้วก็อาจจะเอาความสะดวกเข้าว่า คือที่จริงเครื่องกำหนดความสามัคคี หรือความพร้อมเพรียงพร้อมกันก็ควรจะทั้งวัด หมายความว่าจะต้องผูกเขตกำหนดกันทั้งวัด แต่ต่อมาท่านกำหนดเอาเฉพาะสถานที่ประชุมกันจริงๆ อย่างที่เราทำกัน

ปัจจุบันนี้กำหนดเอาเฉพาะตรงที่มาประชุมกัน ก็เลยกลายเป็นว่าพระในวัดที่อยู่นอกโบสถ์ก็อยู่นอกสีมาที่กำหนด คือข้างนอกลูกนิมิตที่กำหนด เวลามีประชุมก็ไม่ต้องเข้าร่วมประชุมก็ได้ กลายเป็นเอาสะดวกเข้าว่า เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้ พระในวัดที่ไม่ได้มาในโบสถ์ ถึงไม่มาก็ไม่เป็นไร

ตามหลักนั้น เมื่ออยู่ในสีมา ถ้ามาประชุมไม่ได้ เช่นป่วย ก็ต้องมอบฉันทะ1 เป็นที่มาของระเบียบการประชุมสภาเป็นต้นที่เอาคำศัพท์ของท่านมาใช้ ซึ่งมาจากเรื่องการประชุมของพระนี่แหละ หากไม่ได้ดำเนินการตามพุทธบัญญัติ สังฆกรรมก็เป็นโมฆะ

เป็นอันว่า ตามประเพณีที่เป็นวิวัฒนาการยุคหลัง นิยมผูกสีมาเฉพาะตัวสถานที่ที่จะใช้เป็นที่ประชุม คือที่ตัวอาคารอุโบสถ หรือตัวโบสถ์

ถาม: แต่พระที่อยู่ในสีมาที่จะต้องมาประชุม หมายถึงพระในวัดนั้นใช่ไหม

พระธรรมปิฎก: ตามกำหนด อย่างน้อยพระที่อยู่ในเขตต้องมาประชุม แต่พระที่อื่นจะมาร่วมประชุมในบางเรื่องก็ได้

ถาม: ในเขตนี้หมายถึงเขตไหน

พระธรรมปิฎก: ก็เขตที่เรากำหนด ซึ่งมีลูกนิมิตเป็นที่กำหนด

ถาม: ก็มีแต่พระในโบสถ์ซิ

พระธรรมปิฎก: ใช่ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าเอาสะดวก จึงได้เป็นอย่างนี้ คือกลายเป็นว่าเราจะเอาใครมาประชุมก็ไปนิมนต์ ที่จริงไม่ต้องนิมนต์เพราะเป็นเรื่องของกิจการงานในความรับผิดชอบ เป็นหน้าที่เลย โดยหลักการนั้นคือหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อมีเรื่องส่วนรวมต้องมาประชุม คือทั้งสองฝ่าย

๑. สมาชิกแต่ละบุคคลมีหน้าที่รับผิดชอบต้องมาประชุม ถ้าไม่มาก็มีความผิด

๒. ที่ประชุม ถ้าไม่รอให้ครบ การประชุมของตัวเองก็ไม่มีผล เป็นโมฆะ

ทั้งสองฝ่ายอาศัยซึ่งกันและกัน นี้คือหลักความรับผิดชอบ แล้วก็เป็นเรื่องของการปกครองหรือบริหารร่วมกัน อันนี้คือสาระสำคัญ

เป็นอันว่า ปัจจุบันนี้เอาสะดวกเข้าว่า จึงเหลือแต่เพียงว่ามีสีมาแค่สถานที่ประชุม ตามที่เรามีลูกนิมิต เช่นบวชพระ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าผู้ที่จะบวชไปเลือกนิมนต์พระมา แทนที่จะเป็นเรื่องของที่ประชุมซึ่งพระทุกองค์ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นต้องมาประชุมเอง มันกลับกันเสีย อันนี้เป็นความรู้ประกอบ

นี่เป็นข้อคิดที่ชาวพุทธจะต้องรู้ไว้ เพื่อว่าต่อไปอาจจะมีทางฟื้นฟู อย่างน้อยต้องพยายามรักษาสาระไว้ มิฉะนั้นจะเหลือแต่รูปแบบและเพี้ยนกันไปเรื่อย

เอาเป็นว่า ปัจจุบันนี้ผูกสีมาเฉพาะเขตที่กำหนดเป็นที่ประชุม เมื่อใครเข้ามาในสีมาแล้วถ้าเป็นพระภิกษุต้องเข้าที่ประชุม ถ้าไม่เข้าก็ทำให้สังฆกรรมเสีย และระหว่างที่มีสังฆกรรมอยู่จะมีภิกษุอื่นเข้ามาในเขตไม่ได้ ถ้ามีก็ต้องเข้าที่ประชุมหมด ทีนี้ระหว่างที่ทำสังฆกรรมถ้าเกิดมีพระอื่นเข้ามาในเขต ก็จะทำให้สังฆกรรมเสียได้ ในบางวัดก็เลยต้องคอยระวังเพราะมีสีมาใหญ่ ต้องมีคนคอยดูว่ามีพระอื่นมาไหม

เดี๋ยวนี้ก็ยังมีบางวัดที่ผูกสีมาทั้งวัด ในเมืองไทยนี้ดูเหมือนจะมีอยู่ ๒ วัด คือ วัดราชบพิธ กับวัดราชประดิษฐ์ ถ้าผูกสีมาไว้ทั้งวัดจะมีชื่อต่อท้ายว่า “สถิตมหาสีมาราม” คือ ผูกสีมาทั้งวัดเลย เพราะฉะนั้นอย่างวัดที่ว่านี้ เวลามีสังฆกรรม พระทั้งวัดต้องเข้าที่ประชุมทั้งหมด และต้องมีโยมไปเฝ้าประตูวัด

โบสถ์อยู่ในสีมา

ถาม: ของเรานี่คงเฉพาะที่โบสถ์

พระธรรมปิฎก: ก็ได้แค่นั้นแหละ เพราะเป็นเรื่องของวิสุงคามสีมาที่เป็นประเพณีของบ้านเมืองลงตัวไปแล้ว อยากจะแทรกนิดหนึ่งก่อน คือว่าพระพุทธเจ้ากำหนดเรื่องเขตทำสังฆกรรม เขตสามัคคีของสงฆ์ที่ผู้อยู่ในเขตต้องมาร่วมประชุม เขตนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาคารก็ได้เพราะมันเป็นเขต แต่พระองค์ก็ทรงมีพุทธานุญาตให้มีตัวอาคารสำหรับเป็นที่ประชุมได้ เรียกว่า โรงอุโบสถ

อุโบสถก็เกิดขึ้นจากจุดนี้ คือจากพุทธบัญญัติที่ว่า เมื่อมีการประชุมขึ้นในสีมานี้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สร้างตัวอาคารขึ้นมาสำหรับเป็นที่ประชุมได้เรียกว่า อุโปสถัคคะ หรือ อุโปสถาคาร

อุโบสถที่จริงไม่ใช่ชื่อสถานที่ แต่เราเรียกสั้นๆ แบบไทย ชื่อเต็มว่า อุโปสถัคคะ หรืออุโปสถาคาร ไทยเราขี้เกียจเรียกยาวอย่างนั้นก็เรียกแค่ อุโบสถ แถมอุโบสถก็ยังยาวไป เลยตัดให้เหลือ โบสถ์ อีก สั้นเข้าไปทุกที แต่เรียกง่ายขึ้น

เป็นธรรมดาว่า ถ้าจะมีโบสถ์ ก็ต้องสร้างโบสถ์ไว้ภายในสีมา หรือเท่ากับสีมา

ถาม: มีคำว่าพระอุโบสถ กับอุโบสถ ถ้าเป็นพระอุโบสถนี้เป็นอย่างไร

พระธรรมปิฎก: อ๋อ นี่เป็นเรื่องของเมืองไทย ที่มีวัดหลวง กับวัดราษฎร์ เท่านั้นเอง ของวัดหลวงก็เรียก “พระอุโบสถ”

ทำไมอาคารที่ประชุมจึงเรียกว่า โรงอุโบสถ เพราะว่า สังฆกรรม คืองานส่วนรวมที่ต้องทำประจำอยู่เสมอก็คืออุโบสถ อุโบสถ ก็คือการที่พระไปประชุมกันทุกวันกลางเดือน และวันสิ้นเดือน ที่เรียกว่า วันพระกลางเดือน และวันพระสิ้นเดือน เพื่อจะสวดปาติโมกข์ซักซ้อมวินัย อุโบสถนี้ต้องทำเป็นประจำ ส่วนสังฆกรรมอื่นก็แล้วแต่ฤดูกาลบ้าง แล้วแต่เรื่องจะเกิดขึ้นบ้าง อุโบสถที่ต้องทำเป็นประจำนี้ ก็เลยเป็นที่มาของชื่ออาคารนี้ คือเป็นอาคารสำหรับทำอุโบสถ อาคารอุโบสถก็เกิดขึ้นมาอย่างนี้

เป็นอันว่าเรื่องสีมากับเรื่องโบสถ์นั้นสัมพันธ์กัน ทีนี้ก็ตอบหมดข้อความเมื่อกี้แล้ว

ถาม: การผูกสีมา ต้องผูกด้วยอะไรหรือเปล่า

พระธรรมปิฎก: คำว่า “ผูก”นี่เป็นเพียงสำนวนภาษา “ผูก” ในที่นี้หมายความว่าที่ประชุมตกลงกำหนดเขตโดยหมายรู้ร่วมกันว่า ทิศนี้มีวัตถุนี้เป็นเครื่องหมาย ทิศนั้นมีวัตถุนั้นเป็นเครื่องหมาย การทำอย่างนี้ คือตกลงพูดกันบอกกันในที่ประชุมสงฆ์แล้วประกาศอย่างนี้ ท่านเรียกว่า “ผูกสีมา” เป็นเพียงสำนวน

ถาม: มีกฎมีเกณฑ์อะไรหรือเปล่า

พระธรรมปิฎก: อ๋อ ก็ต้องประชุมสงฆ์ก่อน

ถาม: แล้วมีเกณฑ์ที่กำหนดว่าจะต้องกว้างยาวเท่าไรหรือไม่

พระธรรมปิฎก: อ๋อ ก็ต้องมีกำหนดเขต ตามวินัยวางไว้ว่าสีมาจะต้องจุพระไม่น้อยกว่า ๒๑ รูป เพราะมีสังฆกรรมบางอย่างที่ต้องใช้พระ ๒๐ แล้วก็มีตัวบุคคลที่รับสังฆกรรมนั้นอีก ๑ รวมเป็น ๒๑ นี่อย่างต่ำ แล้วก็ใหญ่ไม่เกิน ๓ โยชน์ นี่คือกำหนดเขต

เมืองไทยหนุนพระวินัย
ด้วยประเพณี “พระราชทานวิสุงคามสีมา”

ทีนี้ก็ไปเรื่อง วิสุงคามสีมา เนื่องจากว่าตอนนี้สงฆ์จะผูกสีมาเป็นเขตของตัวเอง เขตนี้ต้องได้รับอนุญาตจากบ้านเมือง หมายความว่าบ้านเมืองอยู่ในปกครองของเขา ไม่ใช่เอาที่ไหนเป็นของตัวได้ตามชอบใจ ก็เลยมีประเพณีในเมืองไทย ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินอุปถัมภ์พระศาสนาพระราชทานให้ เรียกว่า พระราชทานวิสุงคามสีมา

วิสุงคามสีมา แปลว่า เขต (ของสงฆ์) ที่แยกจากบ้าน หมายความว่าแยกจากเขตของบ้านเมือง กล่าวคือ พระเจ้าแผ่นดินในฐานะเป็นองค์อุปถัมภ์พระศาสนา ทรงมีพระราชประสงค์จะให้สงฆ์สบายใจว่ามีเขตของท่านเอง จะได้ทำกิจกรรมของท่านเป็นอิสระ ก็พระราชทานที่ดินเขตนั้นๆ มา เรียกว่า วิสุงคามสีมา เป็นอันว่ามีประเพณีพระราชทานวิสุงคามสีมาในประเทศไทย

ถาม: ประเทศอื่นเป็นอย่างไร

พระธรรมปิฎก: ประเทศอื่นไม่ทราบว่าเขามีประเพณีนี้หรือไม่ ยังไม่ได้หารายละเอียด ถ้าถามว่าไปอยู่อเมริกาพระทำอย่างไร พระก็ถือเอาเขตที่ได้ซื้อที่ดินมาสร้างวัด และทางการออกโฉนดให้ ก็ถือว่านี่เป็นที่ที่เป็นเขตของเรา ที่เรามีสิทธิ์จะจัดการได้ ในเมืองไทยโบราณชาวบ้านมากมายอยู่กันมา มีที่โดยไม่มีโฉนด ความจำเป็นของพระเกิดก่อนชาวบ้าน เพราะต้องมีการกำหนด เขตแยกไว้ให้ชัด แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก็กำหนดแล้ว ส่วนของพระมีมาเดิมก็คือบ้านเมืองพระราชทานวิสุงคามสีมา แปลว่าได้เขตแยกจากบ้าน

พอได้เขตแยกจากบ้านก็เป็นเขตของสงฆ์ พระก็เอาที่นี้มากำหนดผูกสีมาได้เพื่อให้เป็นพัทธสีมา เพราะฉะนั้นพัทธสีมาก็จึงต้องอิงอาศัยวิสุงคามสีมา เราจึงต้องรอพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน

ตอนนี้วัดญาณเวศกวันได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเรียบร้อยแล้ว ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๒ เมื่อได้อันนี้มาแล้ว เราก็เอาที่นี้มาใช้ แต่จะผูกแค่ไหนภายในเขตนี้ ก็แล้วแต่เรา

ถาม: เวลาในหลวงท่านพระราชทานมานี่ พระราชทานตามเนื้อที่ของบริเวณวัด หรือเนื้อที่ของบริเวณโบสถ์

พระธรรมปิฎก: เดี๋ยวนี้ก็เอาแค่บริเวณที่ตั้งโบสถ์ มิฉะนั้นคงจะกินที่ของบ้านเมืองมากมาย เพราะเดี๋ยวนี้วัดเยอะเหลือเกิน จึงมีประมาณกันว่าไม่เกินเท่านั้นๆ แล้วทางบ้านเมืองก็ประกาศถวายให้เป็นวิสุงคามสีมา เมื่อได้รับแล้วก็มากำหนดพัทธสีมากันขึ้น แต่ความจริงนั้น ตอนนี้เหมือนกับว่าเรามีสีมาที่ไม่ต้องผูก ซึ่งเป็นเขตที่กำหนดได้ง่าย ไม่ต้องเอาทั้งตำบล ทั้งอำเภอ เพราะถึงแม้ถ้าเราไม่ผูก ตอนนี้เราก็มีวิสุงคามสีมา เท่ากับมีเขตที่กำหนดแยกจากบ้านเมืองแล้ว

มีเกร็ดแทรกเข้ามาว่า เรื่องนี้ในสมัยโบราณถือกันจริงจัง และให้ความสำคัญมาก ใครเข้าไปอยู่ในเขตนี้แล้วเป็นอันพ้นภัยราชการเลย แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจทั้งแผ่นดิน แต่เขตนี้ยกให้สงฆ์แล้ว พระองค์ก็ไม่เข้ามารุกล้ำ เพราะฉะนั้นสมเด็จโตเมื่อถูกในหลวงรัชกาลที่ ๔ ขับไล่ ท่านก็ไปอยู่ในโบสถ์ แล้วก็บอกว่าท่านพ้นเขตพระราชอำนาจของรัชกาลที่ ๔ แล้ว อย่างที่เอามาเล่ากันเป็นเรื่องสนุกๆ เป็นเกร็ด

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรหนัก ใกล้จะสวรรคต พระเพทราชากับขุนหลวงสรศักดิ์ยกทหารมาล้อมวัง ถ้าพระนารายณ์มหาราชสวรรคตเมื่อไร พวกขุนนางทั้งหลาย ที่พระเพทราชากับพระเจ้าเสือไม่พอใจ ก็คงจะถูกจับฆ่า ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์อยู่เขายังทำอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้ประชวรหนักจะสิ้นแล้ว เมื่อเขาเอาทหารล้อมวังก็ไม่มีทางไป แม้ว่าพระนารายณ์จะยังมีอำนาจอยู่ แต่ก็ทำอะไรไม่ไหว

พระองค์ทรงสงสารพวกขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะต้องสิ้นชีวิต ก็เลยให้คนของพระองค์ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชมา พร้อมทั้งพระสงฆ์ให้ครบทำสังฆกรรมได้ พอพระสงฆ์มาที่วัง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงประกาศยกวังถวายเป็นของสงฆ์

เมื่อเป็นสีมาของสงฆ์แล้ว พระสงฆ์ก็ทำสังฆกรรมได้ จึงใช้วังเป็นเหมือนโบสถ์ สมเด็จพระสังฆราชก็นำพระสงฆ์ประกอบสังฆกรรมบวชพวกเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ที่รู้อยู่ว่าอาจจะต้องถูกจับหรือถูกฆ่า พอบวชเสร็จแล้วก็พาไปวัด เพราะเมื่อเป็นพระแล้วพวกทหารฝ่ายที่จะกำจัดก็ทำอะไรไม่ได้ เป็นอันว่าพระสงฆ์พาพระบวชใหม่นั้นไปวัด ก็เลยช่วยพวกข้าราชการและเจ้านายเหล่านั้นไว้ได้

นี่เป็นตัวอย่างเรื่องที่แสดงความสำคัญของสีมา ซึ่งประเพณีไทยได้ถือเป็นจริงจังว่า ใครไปอยู่ในเขตสงฆ์ก็เป็นอันพ้นภัยแผ่นดิน แม้แต่องค์ราชาก็ยังไม่ทำอะไร ที่เล่ามานี้เป็นเพียงเรื่องแทรก ตอนนี้ก็คิดว่าจบเรื่องวิสุงคามสีมา

การมีสีมา ทำให้วัดมีฐานะเต็มบริบูรณ์

อ้อ ขอเพิ่มอีกนิดหนึ่ง ในแง่กฎหมายบ้านเมือง ในฐานะเป็นรัฐที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักเป็นศาสนาประจำชาติ บ้านเมืองก็เข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากมีประเพณีพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญแก่สีมา ที่เป็นเขตของสงฆ์ โดยทางราชการบ้านเมืองให้เกียรติไม่เข้าไปยุ่ง อย่างเรื่องสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พูดไปแล้ว ยังมีข้อที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ กฎหมายปัจจุบัน ได้กำหนดสถานะวัดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๑) ว่า วัดมี ๒ อย่าง คือ

(๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

(๒) สำนักสงฆ์

จึงกลายเป็นว่า เรื่องพระราชทานวิสุงคามสีมานี้ได้มีความหมายโยงไปถึงประเภทวัดด้วย คือ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว จึงจะเป็นวัดที่มีฐานะเต็มบริบูรณ์แท้จริง

ถ้ายังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อย่างวัดเราก่อนหน้านี้ ก็เป็นสำนักสงฆ์ แม้จะได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ยังเป็นสำนักสงฆ์

ส่วนสำนักสงฆ์ที่เรียกกันทั่วไปนั้น เป็นสำนักสงฆ์เถื่อน คือเรียกกันไปเอง แต่โดยทางการจะมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ได้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นวัดประเภทสอง ทีนี้ พอได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ก็กลายเป็นวัดประเภทหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องโบราณราชประเพณี ยังมีเรื่องควรทราบต่อไปอีก เช่นการแบ่งวัด เป็นวัดราษฎร์ กับวัดหลวง ซึ่งทางการเรียกว่า พระอารามหลวง กับ วัดราษฎร์

พระอารามหลวงก็แบ่งไปอีก เป็นชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ชั้นสามัญ

แต่อันนี้เป็นส่วนของความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัด ถ้าจะให้สมบูรณ์จึงต้องพูด ๒ เรื่องคู่กัน คือความรู้เรื่องวัด กับเรื่องสีมา

1ถ้าเป็นการสวดปาติโมกข์ พระที่อาพาธมอบปาริสุทธิ์ คือ แจ้งความบริสุทธิ์ของตนให้เพื่อนภิกษุไปบอกแจ้งแก่ที่ประชุมสงฆ์
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.