ได้พูดแต่ต้นแล้วว่า เราต้องพึ่งตนเอง ไม่ใช่ไปมัวหวังพึ่งอำนาจภายนอก อย่างที่ว่า การไปรอโชคจากเลข ๙ ของปี ๔๙ ก็ไม่พอ หรือจะมัวไปหวังพึ่งอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์การดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน เมื่อต้องรอเขาทำให้ ก็ไม่ปลอดภัย ไม่แน่จริง เพราะฉะนั้น เราจะต้องก้าวไปด้วยตัวเองให้ได้
การก้าวไปด้วยตัวเอง ก็คือการพึ่งตนเอง แต่ที่ว่าพึ่งตนเองนี่จะพึ่งได้ยังไง คนที่จะพึ่งตนเอง ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้
อันนี้สำคัญมากนะ ต้องถามตัวเองว่า ฉันจะพึ่งตน แต่ เอ! แล้วนี่น่ะ ฉันมีตนที่พึ่งได้หรือเปล่า?
ถ้าคุณจะพึ่งตน แต่คุณมีตนที่พึ่งไม่ได้ เช่นว่าไปตกน้ำ แล้วว่ายน้ำไม่เป็น ก็คือมีตนที่พึ่งไม่ได้ แล้วจะพึ่งตนได้อย่างไร ก็จมน้ำตายน่ะซี
เพราะฉะนั้น ในหลักพึ่งตนนั้น ท่านจึงบอกต่อไปว่า เมื่อตกลงว่าเราจะพึ่งตน ก็ให้ถามตัวเองว่า เรามีตนที่พึ่งได้หรือยัง แล้วถ้าเรามีตนที่ยังพึ่งไม่ได้ จะทำอย่างไร อ๋อ! ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป เพื่อทำตนนั้นให้เป็นที่พึ่งได้ ตอนนี้แหละจึงจะมาถึงพระพุทธศาสนา
ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ฉะนั้นต้องทำให้ครบ ๓ ขั้นตอนคือ
ขั้นที่ ๑ มองตามหลักความจริงที่มีอยู่ว่า ในที่สุดแล้วนี่ ที่พึ่งที่แท้ก็คือตัวเรานี่แหละ ไม่ว่าใครจะช่วย จะให้เราพึ่งแค่ไหน พ่อแม่จะรักเราแค่ไหน จะทำให้เราหมดทุกอย่างแค่ไหน ในที่สุด แม้แต่เอาข้าวใส่ปากให้แล้ว ถ้าเรายังไม่ยอมเคี้ยว ไม่ยอมพึ่งตน มันก็ไปไม่รอด
เอาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดว่ายน้ำไว้ แล้วไปตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น เรียกว่าพึ่งตนไม่ได้ ก็ลำบาก ถึงใครจะไปช่วยอย่างไร ก็สู้ตัวเองว่ายน้ำเป็นไม่ได้
ในที่สุด ลึกเข้าไปถึงจิตใจของตัวเอง ที่เรามีทุกข์ มีอะไรต่างๆ ในที่สุดเราก็ต้องอยู่กับจิตใจของตัวเอง ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ต้องแก้ทุกข์ในใจให้สำเร็จ ใครก็ทำแทนให้ไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าจะช่วยได้ ก็แค่สอนให้เรามีปัญญา ที่จะเอามาแก้ปัญหาให้ตัวเราเอง
ฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาตัวเรา ทั้งด้านร่างกาย วาจา จิตใจ โดยเฉพาะปัญญาให้พร้อม ถ้าเรามีปัญญาพร้อมแล้ว เราจะพึ่งตนได้อย่างแท้จริง มีปัญหาข้างนอกก็แก้ได้ มีปัญหาในจิตใจของตัวเองก็แก้ได้ มีทุกข์เกิดขึ้นก็แก้ได้
แต่คนอื่นมาช่วย มาแนะนำอะไรต่างๆ ถ้าเราไม่เกิดปัญญา ไม่ยอมเข้าใจ ก็ไปไม่ไหว
ด้วยเหตุนี้แหละ ในที่สุดท่านจึงบอกความจริงไว้ว่า “ตนนี้แหละ เป็นที่พึ่งของตน” แต่ทีนี้
ขั้นที่ ๒ เมื่อความจริงบอกว่า ที่พึ่งที่แท้คือตัวเอง ตนนี้แหละเป็นที่พึ่งของตน เราก็จะต้องพึ่งตน
แต่อย่างที่บอกแล้วว่า “จะพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้” ถึงตอนนี้ ก็ต้องถาม ต้องสำรวจตรวจสอบและพิจารณาตัวเองว่า เรามีตนที่พึ่งได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ ถ้ามีตนที่ยังพึ่งไม่ได้ ก็จะได้เร่งทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ยังพึ่งไม่ได้ในเรื่องใด ก็เอาใจใส่มุ่งหน้าไป ก้าวไปทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ในเรื่องนั้น
ขั้นที่ ๓ ทีนี้ก็ถึงตอนสำคัญ คือ ทำอย่างไรจึงจะมีตนที่พึ่งได้ อ๋อ! เราจะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป อันนี้แหละเป็นหลักใหญ่ที่สุด
ปี ๒๕๔๙ เป็นปีที่เราจะต้องใช้หลักนี้ให้เต็มที่ เพราะหลักพระศาสนาที่สอนกันตลอดเวลา ก็ว่าให้พึ่งตน หลักอะไรๆ ที่เราพูดกันเวลานี้ อย่างการพัฒนาต่างๆ ก็มาลงตรงว่าให้พึ่งตน
ทั้งที่รู้กันอยู่ว่าจะต้องพึ่งตน แต่คนจำนวนมากก็ไม่พยายามหรือไม่ยอมพึ่งตน อย่างหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ พระราชทานไว้ ก็เป็นหลักพึ่งตนเอง แต่สังคมไทยยังมีคน ๒ จำพวกนี้มากเกินไป คือ
- คนพวกหนึ่งไม่รู้จักพอ
- คนอีกพวกหนึ่งไม่รู้จักทำให้พอ
จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ซึ่งขัดขวางเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะพึ่งตนเองได้ และคนก็ไม่รู้จักพึ่งตนที่จะให้เกิดมีเศรษฐกิจที่พอเพียง เพราะเป็นคนซึ่งมีตนที่พึ่งไม่ได้
เราย้ำกันตลอดเวลาว่าให้พึ่งตนเอง แต่ในภาคปฏิบัติไม่ใช่อยู่แค่นั้น ต้องมาถึงขั้นตอนที่ว่า จะพึ่งตนนั้น ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้ และจะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป นี่คือเข้าสู่กระบวนการที่จะทำตนนั้นให้เป็นที่พึ่งได้ และนี้ก็คือพระพุทธศาสนาทั้งหมด
ขอให้เข้าใจว่า พระพุทธศาสนาทั้งหมด คือกระบวนการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่ติดอยู่แค่ “ให้พึ่งตน”
ที่ว่านี้หมายถึงพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ ดังจะเห็นว่า มรรค ก็คือข้อปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตในทางของการพึ่งตน ไตรสิกขา ก็คือการฝึกศึกษาที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ เช่นที่ตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน เป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง
การฝึกศึกษาพัฒนาตนเพื่อให้คนมีตนที่พึ่งได้ นี่แหละ เป็นการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง เพราะว่า ถ้าสอนแค่ให้พึ่งตน แต่เขามีตนที่ยังพึ่งไม่ได้แล้ว เขาจะไปพึ่งตนได้อย่างไร
คนจำนวนมากบอกว่าพึ่งตนๆ ไปเจอคนตกน้ำ เขาว่ายน้ำไม่เป็น ก็บอกเขาว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งของตนนะ แล้วคนว่ายน้ำไม่เป็น จะทำไงล่ะ แกก็ตายเท่านั้น
เพราะฉะนั้น อย่าเอาแค่บอกให้พึ่งตน ต้องรู้ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตนนั้นเป็นหลักความจริง แล้วต้องโยงไปยังหลักที่เชื่อมต่อสู่การปฏิบัติที่ว่า ต้องมีตนที่พึ่งได้ จากนั้นก็จะบ่งชี้ไปยังสิ่งที่ต้องทำ คือ จะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป
ถ้าเข้าใจแล้วปฏิบัติตามนี้ เราก็จะมีตนที่พึ่งได้ในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับบุคคลในส่วนตัว ก็ถามว่า เราพึ่งตนเองได้ไหม เรา มีตนที่พึ่งได้หรือเปล่า
เด็กทุกคนต้องถามตัวเองว่า เรามีตนที่พึ่งได้ไหม หรือว่าเรามีตนที่พึ่งได้หรือยัง การที่คุณพ่อคุณแม่ให้เราเล่าเรียนศึกษาอะไรต่างๆ นี่ ก็เพื่อให้เรามีตนที่พึ่งได้ เพราะตอนนี้หนูยังมีตนที่พึ่งไม่ได้ ก็เลยต้องมาจัดการต่างๆ เพื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งให้ได้
ขยายจากมีตนที่พึ่งได้ในระดับบุคคล ต่อไปก็มีตนที่พึ่งได้ในระดับชุมชน แต่ละชุมชนก็ต้องมีตนที่พึ่งได้เหมือนกัน ก็ต้องให้มีการฝึกศึกษาหรือปฏิบัติการต่างๆ ที่จะพัฒนาชุมชนนั้นขึ้นไป
ต่อไป มีตนที่พึ่งได้ในระดับประเทศชาติ ซึ่งก็เช่นเดียวกัน คือต้องพัฒนาประเทศชาติ และแกนของการพัฒนาประเทศชาตินั้น ก็คือการพัฒนาคน หรือพัฒนาคุณภาพของคน ของพลเมือง หรือทรัพยากรมนุษย์ ให้มีสติปัญญา มีความสามารถ มีคุณสมบัติทุกอย่างที่พึงประสงค์ แล้วเราก็จึงจะมีตนที่พึ่งได้ คือ สามารถพึ่งตนในระดับชาติได้อย่างแท้จริง