ปี ๔๙ ใช้ให้ครบสี่เท้า ต้องก้าวหน้าแน่

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แค่สี่เท้า ก็ก้าวไปถึง นี่ติดล้อด้วย เลยช่วยให้เร็วและถึงด้วยกัน

 

เมื่อเรามีอิทธิบาท ๔ ที่จะก้าวไปให้ประสบความสำเร็จด้วยดี ที่เรียกว่ามีสี่เท้าพร้อมแล้ว ก็จะต้องพิจารณาว่า เราจะก้าวไปในการทำอะไร

ขอยกตัวอย่างสักชุดหนึ่ง อันนี้เป็นเพียงตัวอย่าง เพราะเรื่องที่จะทำนั้นพูดได้หลายด้าน และเราสามารถทำการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามได้ทุกระดับ ทั้งระดับบุคคลเป็นส่วนตัว ทั้งระดับชุมชน ทั้งระดับประเทศชาติ พร้อมทั้งเกื้อกูลระดับโลกไปด้วย

ข้อที่หนึ่ง คือ “ถิ่น” หรือที่อยู่ ที่ทำกิน ถิ่นอาศัย รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม หลักพระพุทธศาสนาสอนว่าให้เราอยู่ในถิ่นที่เหมาะ

ถ้าพูดเฉพาะตัวเอง แค่บ้าน หรือครอบครัว ก็คือที่อยู่อาศัย ถ้าเป็นชุมชนก็หมายถึงท้องถิ่นทั้งหมด แล้วขยายออกไป ก็ได้แก่ประเทศชาติของเรา ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งโลก ที่ต้องให้เป็นถิ่นเป็นที่อยู่ที่เหมาะที่ดีที่น่าอยู่อาศัย

ถ้ามันยังไม่เหมาะ ยังไม่ดี ก็ต้องทำและช่วยกันทำให้เป็นท้องถิ่นดินแดนสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมน่าอยู่น่าอาศัย

ถิ่นที่เหมาะเป็นอย่างไร ก็คือเป็นถิ่นที่ดี เป็นถิ่นเป็นดินแดนที่สงบปลอดภัย สะอาดเรียบร้อย มีความมั่นคง แล้วก็มี ธรรมชาติดี มีสิ่งแวดล้อมที่รื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย โดยเราช่วยกันดูแลรักษาและช่วยกันทำให้มันเป็นอย่างนั้น

ถ้าเป็นที่ทำมาหากิน ก็ให้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ และรักษาความอุดมสมบูรณ์นั้นไว้ให้ได้ ไม่ใช่ว่าเอาแต่ขุดเอาแต่ตัด จ้องหาแต่ประโยชน์คอยเก็บผลให้ตัว ไม่ซ่อมไม่เสริมไม่อนุรักษ์ไม่บำรุง จนถิ่นจนดินน้ำกระทั่งฟ้า หมดชีวิตชีวา เหลือแต่ความแห้งแล้ง โทรมเฉา แล้วตัวเราเองนั่นแหละที่จะเดือดร้อน

อันนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็น ถ้าเราขาดที่อยู่อาศัย ท้องถิ่น สภาพแวดล้อมที่ดีที่งามแล้ว มันก็ไม่น่าอยู่ และไม่เกื้อหนุนต่อชีวิต ต่อการงาน และการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญอย่างอื่นต่อไป ทางพระเรียกว่าไม่เป็น “สัปปายะ

เพราะฉะนั้น จะต้องทำถิ่นที่อยู่อาศัยประเทศชาติ บ้านเมืองของตนให้ดี ให้งาม ให้เรียบร้อย สงบ มั่นคง ปลอดภัย น่ารื่นรมย์ใจ

ไม่ใช่มัวแต่รบราฆ่าฟันกัน มีโจรผู้ร้ายมากมาย เต็มไปด้วยการเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน ปล่อยให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ มีแต่ขยะ มีแต่ควันพิษ อย่างนั้นก็คือเสื่อม จะต้องคิดแก้ไขกัน ทำให้ดี

ถ้าถิ่นที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา เรียบร้อย น่ารื่นรมย์ น่าอยู่อาศัย จิตใจเราก็จะมีความสุข และถ้าไม่มัวเพลินประมาท เราก็จะสามารถก้าวไปในการพัฒนา

เมื่อด้านวัตถุสิ่งแวดล้อมดี ก็ต่อไป

ข้อที่สอง คือ “คน” หมายถึงผู้ที่เราคบหา คือคนที่เราเอามาหรือออกไปเกี่ยวข้อง เช่นอยู่ร่วมหรือทำการงานด้วย ก็ให้เป็นคนดี

ถ้าเป็นเด็ก ก็ให้รู้จักคบหาเพื่อนที่ดี รู้จักที่จะเรียนรู้รับเอาประโยชน์จากคุณพ่อคุณแม่ จากครูอาจารย์ จากสื่อมวลชน จากการดูการฟังทีวี การใช้อินเทอร์เน็ต (Internet) อะไรต่างๆ เรียกว่ารู้จักใช้ไอที (IT) รู้จักใช้รู้จักสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ให้ได้ประโยชน์ ให้ได้สิ่งที่มีคุณค่า ในทุกระดับ ก็ขยายขึ้นไปอย่างนี้แหละ

ถึงในระดับของผู้บริหารประเทศชาติ ก็ต้องมีข้าราชการที่ดี มีที่ปรึกษาที่ดี มีนักการเมืองที่ดี มีผู้บริหารทุกระดับชั้น ข้าราชการทุกระดับชั้น ที่ดี ซื่อตรง ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจทำงาน เพื่อประเทศชาติ ถ้าผู้นำผู้บริหารประเทศชาติ เลือกหาคนทำงานที่มีความสามารถ มีคนที่ดีแวดล้อม ก็เรียกว่า คบคนดี

ถ้าผู้นำคบคนดี ก็มีหวังที่ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองงอกงาม

เป็นอันว่า ตั้งแต่ในบ้าน แต่ละบุคคล เริ่มต้นแต่เด็ก ก็ต้องรู้จักฝึกที่จะคบหาคนดี มีเพื่อนที่ดี และเพื่อนที่ดีนี่ทางพระท่านไม่ได้จำกัดเฉพาะเพื่อนที่มีวัยเดียวกัน แม้แต่พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ท่านก็เรียกว่าเป็นเพื่อน ในชื่อว่า “กัลยาณมิตร”

เราต้องรู้จักคบหา ให้ได้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ซึ่งก็จะช่วยให้เจริญก้าวหน้าไป จึงเป็นองค์ประกอบที่จะต้องสร้างสรรค์ ในการเตรียมก้าวไปให้ได้ผลดี

ข้อที่สาม คือ “บุญ” หมายถึง คุณงามความดี หรือ ความดีงามความสามารถ หรือคุณสมบัติทั้งหลาย พร้อมทั้ง ปัจจัยอันพ่วงมา ที่เป็นต้นทุนหรือเป็นความพร้อมในตัวเอง คุณสมบัติในตัวพร้อมทั้งทุนติดพ่วงนี้ ท่านเรียกว่าบุญ

บุญนั้นมีมากมาย เช่น ความรู้ความสามารถ ความรู้จักเจรจาปราศรัย ความมีกิริยาท่าทางนุ่มนวลงดงาม ความมีคุณธรรมต่างๆ ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความมีศีล ความมีสติ สมาธิ ฯลฯ ความมีร่างกายดี มีครอบครัวดี จนไปสิ้นสุดที่ปัญญา

คุณสมบัติเหล่านี้จะต้องสร้างให้มีขึ้นในตนเอง ต้องฝึกฝนต้องพัฒนาขึ้นไป เป็นทุนดีที่ต้องเตรียมไว้ตลอดเวลา เตรียมให้พร้อมตั้งแต่ต้น

เมื่อเตรียมขึ้นมาไว้ให้มีในตัวอยู่ก่อนพร้อมแล้ว ก็เรียกว่าเป็น “ปุพเพกตปุญญตา” แปลว่า มีบุญที่ทำไว้ก่อนแล้ว คือ มีทุนดีที่ได้เตรียมให้พร้อมไว้แต่ต้นแล้ว พอมีสถานการณ์ที่จะต้องใช้ขึ้นมา เราก็พร้อมที่จะเอามาใช้ เอามารับมือ หรือปฏิบัติการได้ทันที

แต่คนที่ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้สร้างทุนดีเตรียมพร้อมไว้ ไม่มีปัญญา ไม่ได้รับการศึกษา เป็นต้น พอเจอสถานการณ์ที่ต้องทำ ต้องปฏิบัติขึ้นมา ก็ไม่พร้อมที่จะทำ ก็ติดขัด

ถ้าคนไม่มีทุน และประเทศชาติขาดทรัพยากรมนุษย์ที่ดี ก็พัฒนายาก เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีการศึกษาให้เด็กเล่าเรียนกันไว้แต่ต้น ตั้งแต่วัยเด็กวัยเล็ก นี่เพราะอะไร ก็เพราะว่า จะให้เขาเป็นผู้มีทุนดีได้เตรียมไว้

ข้อที่สี่ คือ “ตั้งตัว” หรือตั้งตัวแน่วไป หมายความว่า พอมีกำลังคน มีถิ่น มีทุนดีพร้อมแล้ว ทีนี้ก็ตั้งตัวเดินหน้าก้าวไปในทางให้แน่วเลย คือตั้งตัวก้าวหน้าแน่วสู่จุดหมาย

คนเรานี้ จุดหมายของตัวเองหรือของชีวิตเป็นอย่างไร จุดหมายของชุมชนเป็นอย่างไร จุดหมายของสังคมประเทศชาติเป็นอย่างไร มันต้องมี

เราต้องสำรวจว่า ชีวิตของเรานี่มีจุดหมายชัดเจนไหม ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ต้องตั้งไว้ทั้งจุดหมายระยะยาว และจุดหมายระยะสั้น หรือจุดหมายเฉพาะหน้า

อย่างน้อยจุดหมายสำหรับปี ๒๕๔๙ นี่ที่เด่นชัดที่สุด คืออะไร จะต้องทำอะไรให้สำเร็จให้ได้ ก็ตั้งไว้ แล้วก็ตั้งตนให้แน่วแน่มุ่งหน้าสู่จุดหมายนั้น ให้บรรลุผลให้ได้ และไม่ไขว้ ไม่เขว ไม่แฉลบ ไม่เถลไม่ไถลออกไปนอกทาง

ข้อสี่นี้สำคัญมาก เพราะว่าในยุคปัจจุบันนี้ มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมาก เด็กๆ มักจะถูกสิ่งล่อเร้าเย้ายวน จูงให้ไถลไถเถ ถ้าไม่เขวออกไปจากทาง ก็มักเฉหรือแชเชือน ฉะนั้น เราจะต้องมุ่งมั่นแน่วแน่ในการเดินทางไปสู่จุดหมาย

ข้อนี้ท่านเรียกว่า “ตั้งตนไว้ชอบ” หรือ “ตั้งตนให้ถูกวิถี” เป็นคำบาลีว่า “อัตตสัมมาปณิธิ

สี่ข้อนี้ ถ้าทำได้อย่างที่ว่ามา ก็จะพบความสำเร็จก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน ไม่เฉพาะในระดับบุคคล แม้แต่ในระดับประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน

อย่างที่กล่าวแล้วว่า ประเทศชาติ สังคม จะต้องมีจุดหมายรวมไว้ อย่างประเทศที่เขาบรรลุเป้าหมาย กลายเป็นประเทศยิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจขึ้นมาได้ เขาก็ต้องมีจุดหมายรวมของคนในชาติ เช่น ในบางประเทศก็มีชาตินิยมที่แรงกล้า

แต่สำหรับเรา ก็ต้องมาคิดกันว่าจุดหมายอะไรจะดีที่สุด ซึ่งเป็นจุดหมายที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ที่เป็นคุณทั้งแก่ประเทศของตนเอง แก่สังคมของตนเอง แล้วก็เกื้อกูลต่อโลก ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นด้วย แต่ต้องมีจุดหมาย ไม่ใช่อยู่กันไปวันๆ เรื่อยๆ เปื่อยๆ เคว้งคว้างเลื่อนลอย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.