ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๒ -
ทัศนะของพระพุทธศาสนา
ต่อ
สตรีและการบวชเป็นภิกษุณี1

ไม่ว่าหญิงหรือชาย มีความเป็นมนุษย์เสมอกัน

ถาม:

๑. เรื่องที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงมาตุคามในแง่ที่ไม่ดี

๒. เรื่องที่ว่าในยุคแรกไม่ให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยผู้ที่จะบวชต้องรับครุธรรม ๘ ประการ มีผู้สงสัยว่า บางข้ออาจมีผู้เขียนเพิ่มเติมในหนหลังสมัยลังกา ไม่ใช่เป็นการบัญญัติของพระพุทธเจ้าเอง เช่นข้อที่ว่า ภิกษุณีแม้บวชมานาน มีพรรษามากกว่าภิกษุ ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ และห้ามภิกษุณีว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ ไม่ทราบว่าแม้ทำผิดด้วยหรือไม่

ตอบ: การที่จะตอบเรื่องนี้ เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อน คือ

  1. ต้องแยกเรื่องการบรรลุธรรมหรือศักยภาพในการบรรลุธรรมออกไปต่างหาก
  2. ต้องทราบเรื่องของสังคมซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่คณะสงฆ์ตั้งอยู่
  3. ต้องเข้าใจเรื่องศาสนกิจที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ปฏิบัติ

ถ้าแยกแยะเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะทำความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ความเป็นมนุษย์ และความเป็นหญิง เป็นชายนี้ โยงไปถึงการบรรลุธรรมด้วย ถ้ามองในแง่การบรรลุธรรมก็คล้ายกับว่าหมดความเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ไม่ต้องพูดถึง เพราะทั้งหญิงและชายมีสิ่งที่เหมือนกันคือความเป็นมนุษย์

ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า แต่ละคนเกิดเป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง หมุนเวียนไป แล้วแต่กรรมของตน ในแง่นี้ทุกคนเป็นมนุษย์ จึงไม่มีอะไรต่างกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายจึงมีศักยภาพในการที่จะบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน ส่วนการที่เรามามองแยกเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายนี้ เป็นการมองในช่วงเวลาสั้นๆ ระยะหนึ่งๆ หรือเฉพาะหน้า แต่ความจริงแต่ละคนก็มีทั้งความเป็นหญิง และความเป็นชาย ที่จะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ

1คุณภาวนีย์ บุญวรรณ นศ.ปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ สัมภาษณ์พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ที่วัดญาณเวศกวัน ๑๗ กันยายน ๒๕๔๑; บทสัมภาษณ์นี้ได้พิมพ์เป็นเล่มหนังสือเฉพาะแล้ว ๗ ครั้ง ก่อนนำมาจัดเป็นภาค ๒ ในเล่มนี้ (พิมพ์ครั้งแรก – พฤษภาคม ๒๕๔๔)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.