๑. คำศัพท์ภาษาบาลี ศัพท์วิชาการพระพุทธศาสนา และชื่อเฉพาะต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกมีจำนวนมากมายอย่างยิ่ง ไม่เคยมีผู้ใดได้เก็บรวบรวมไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ หนังสืออภิธานศัพท์ พจนานุกรม และสารานุกรม เท่าที่เคยมีผู้จัดทำกันมา ก็ยังไม่มีฉบับใดครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าจะใช้แรงคนเก็บรวบรวมคำศัพท์เหล่านี้ แม้จะใช้เวลาแรมปี ก็ยากที่จะทำได้สำเร็จ และคาดหมายได้ว่า จะต้องมีความผิดพลาดตกหล่นมิใช่น้อย แต่พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์สามารถประมวลคำศัพท์เหล่านั้นทั้งหมด ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ให้ตกหล่นเลย พร้อมที่จะนำไปใช้เป็นบทตั้ง และคำประกอบในการจัดทำพจนานุกรม และสารานุกรม เป็นต้น ได้ตามต้องการในทันที
๒. การจัดทำหนังสือประเภทพจนานุกรม และสารานุกรม จะต้องเรียงลำดับคำศัพท์ทั้งหมดตามลำดับอักษร ซึ่งเป็นงานใหญ่และหนักมาก ยิ่งเมื่อมาจัดทำกับพระไตรปิฎกที่เป็นคัมภีร์ใหญ่โตอย่างยิ่ง ก็ยากที่จะทำได้ครบถ้วน และโอกาสที่จะผิดพลาดตกหล่น เช่น เรียงลำดับสับกัน ก็มีได้บ่อย ๆ แต่พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ได้ประมวลคำศัพท์ทั้งหมดในพระไตรปิฎก มาเรียงลำดับเป็นดัชนีไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีคำศัพท์ครบถ้วนไม่ตกหล่น และจัดลำดับอักษรไว้อย่างถูกต้องแม่นยำไม่มีการผิดพลาด จึงทำให้ผู้ที่จะจัดทำพจนานุกรมหรือสารานุกรม ตัดภาระและความยุ่งยากวุ่นวายของงานในขั้นตอนสำคัญนี้ไปได้ทั้งหมด สามารถทำงานขั้นเนื้อหาสาระต่อไปได้ทันที
๓. งานจัดทำหนังสือประเภทพจนานุกรมในขั้นต่อไป มีทั้งการสืบค้นและการตรวจสอบ ซึ่งสามารถใช้ BUDSIR ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์นี้ ทำงานให้อย่างสะดวกและได้ผลดีดังกล่าวไว้แล้วใน ข้อ ก. และ ข.
กล่าวโดยสรุป นอกจากความสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ โดยทั่วไปแล้ว การใช้ BUDSIR ช่วยงานจัดทำพจนานุกรม มีประโยชน์ที่เป็นข้อพิเศษซึ่งควรเน้นไว้ดังนี้
การใช้งานในข้อ ค. นี้ เกื้อกูลอย่างมากต่อการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทย หรือปรับปรุงพจนานุกรมไทยที่มีอยู่แล้ว