ธรรมะเพื่อผู้สูงอายุ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

รู้เท่ารู้ทัน ใช้โลกธรรมให้เป็นประโยชน์ได้

เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า ถ้าเราปฏิบัติตามอิทธิบาท ๔ เราจะตัดอารมณ์ที่รบกวนต่างๆ ออกไปได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม บางทีเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ก็อาจจะมีเข้ามา ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดกั้นออกไปเฉยๆ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเผชิญให้ถูกต้อง ฉะนั้น เราจึงต้องมีวิธีการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นต่างหากออกไปอีก

ได้พูดไปแล้วว่า ชีวิตของคนเรานี้ แม้แต่ตอนที่ยังอยู่ในราชการ ก็ต้องประสบอารมณ์ต่างๆ ที่เราเรียกว่าน่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง ที่น่าปรารถนาเรียกว่า อิฏฐารมณ์ ที่ไม่น่าปรารถนา เรียกว่า อนิฏฐารมณ์

อิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ ที่เรียกว่าโลกธรรมนั้น มีอยู่ ๘ อย่าง เป็นฝ่ายดี น่าชอบใจ ๔ และฝ่ายไม่ดี ไม่น่าชอบใจ ๔ คือ
๑. ลาภ ๒. เสื่อมลาภ
๓. ยศ ๔. เสื่อมยศ
๕. นินทา ๖. สรรเสริญ
๗. สุข ๘. ทุกข์

ถ้าจัดแยกเป็น ๒ ฝ่าย จะได้ดังนี้

ก. ฝ่ายดี น่าชอบใจ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

ข. ฝ่ายร้าย ไม่น่าชอบใจ คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์

มนุษย์อยู่ในโลก ต้องสำนึกตระหนักในความจริงอันนี้ว่า เมื่อเราอยู่ในโลก เราก็ต้องเจอสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นโลกธรรม

โลกธรรม ก็คือ ธรรมประจำโลก หรือสิ่งที่มีประจำโลก เพราะว่าโลกนี้เป็นอนิจจัง มีความเปลี่ยนแปลง ผันผวน ปรวนแปร เมื่อชีวิตของเราเจอสิ่งเหล่านี้ เราก็ต้องรู้เท่าทันว่า อ้อ อันนี้เป็นความจริงของโลกและชีวิต เมื่ออยู่ในโลก ก็ต้องเจอกับมัน และเวลานี้เราก็เจอเข้าแล้วกับความจริงนั้น เหมือนอย่างเราทำราชการมานี้ เมื่อมีตำแหน่ง ฐานะสูง เวลาเกษียณ ก็รู้สึกเหมือนกับว่าเสื่อมไปจากยศนั้น แต่อันนี้มันก็เป็นเพียงโลกธรรม เมื่อมาเจอกับมันแล้ว เราก็ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง คือ

๑. รู้ทันความจริง ว่าความจริงของโลกและชีวิตเป็นอย่างนี้ และมันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เราได้เจอความจริงนั้นแล้ว เมื่อเจอแล้ว ก็ต้องวางใจให้ถูกต้อง คือยอมรับความจริงนั้น ด้วยความรู้เท่าทัน พอรู้เท่าทัน ใจก็สบายไปครึ่งหนึ่งแล้ว

๒. ใช้สถานการณ์นั้นให้เป็นประโยชน์ หรือมองหาประโยชน์จากสถานการณ์นั้นให้ได้

ในเรื่องนี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้มีโยนิโสมนสิการ หมายความว่า อะไรก็ตามที่เราประสบในโลกนี้ ต้องมองให้เป็น ต้องคิดให้เป็น โดยใช้โยนิโสมนสิการ ซึ่งมีมากมายหลายวิธี แต่สรุปลงไปก็มี ๒ อย่าง คือ

๑. มองให้เห็นความจริง ไม่ว่าอะไรจะลึกลับซับซ้อนอย่างไร คนมีปัญญา รู้จักคิด รู้จักมอง ก็เห็นความจริงได้หมด และ

๒. มองให้เป็นประโยชน์ หรือมองหาประโยชน์ให้ได้ ไม่ว่าอะไรจะดีหรือร้ายในความหมายของคนทั่วไป แต่คนที่มีปัญญารู้จักคิด จะมองหาให้เห็นประโยชน์ได้หมด

ถ้าใครใช้แนวความคิดมองโลกอย่างนี้ ก็มีแต่จะประสบความสำเร็จ ชีวิตจะดีงาม และมีความสุข

เวลาประสบโลกธรรมที่เป็นอิฏฐารมณ์ น่าชอบใจ เช่น ได้ลาภ ได้ยศ เราก็เกิดความชอบใจ ดีใจ เป็นธรรมดา แต่ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูก ลาภยศที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่าปรารถนานี่แหละ กลับนำความเสื่อมมาให้ หรือทำลายคุณค่าของชีวิตลงไป กลายเป็นโทษแก่ชีวิตของเรา เช่น เราอาจจะหลงระเริงมัวเมา แล้วดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น ใช้ลาภยศนั้นในทางที่เสียหาย หรือใช้ทรัพย์และอำนาจไปในการคุกคามข่มเหงรังแกเพื่อนมนุษย์ สร้างความเดือดร้อนเบียดเบียน ทำความเสียหายแก่โลกและชีวิตได้

แต่ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ลาภยศเกิดขึ้น ก็กลายเป็นโอกาส

คนที่มีความคิดดีๆ อยากสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงาม แต่ไม่มีเงินทอง ไม่มียศ ไม่มีบริวาร ไม่มีใครเชื่อฟัง ไม่มีทุน ก็ทำประโยชน์ได้น้อย แต่พอมีลาภ มีเงินทอง มียศ มีตำแหน่ง ฐานะ มีบริวาร เมื่อมีความคิดที่ดีงามสร้างสรรค์ ก็ทำได้เต็มที่

เพราะฉะนั้น ลาภยศเกิดขึ้นแก่คนที่ดีมีปัญญา รู้จักคิด รู้จักพิจารณา ก็กลายเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ เป็นโอกาสที่จะสร้างสรรค์ได้มากขึ้น แม้ว่าลาภยศจะผ่านพ้นไป หรือเราจะตกต่ำไปจากสถานะนั้น ก็ได้ทำความดีฝากไว้แล้ว เป็นคุณค่าแห่งชีวิตของคน และยังมีคนที่นับถือ เคารพระลึกถึงด้วยใจจริง

ในทางตรงข้าม ถ้าประสบโลกธรรมที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ การนินทา หรือความทุกข์ก็ตาม ถ้าเราวางใจไม่เป็น

๑. เราไม่รู้เท่าทันความจริง ใจเราก็เป็นทุกข์ไปขั้นหนึ่งแล้ว

๒. เรามองหาประโยชน์จากมันไม่ได้ ก็ได้แต่เศร้าโศกเสียใจ มีความระทมทุกข์ คับแค้น ตรอมตรมใจไป ทำได้แค่นั้นเอง

แต่ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์และวางใจเป็น ก็กลับกลายเป็นดี ไปได้ ดังได้กล่าวแล้วว่า มนุษย์เรานี้ ชีวิตต้องพัฒนา ต้องฝึกฝนตนอยู่เสมอ แต่การที่จะฝึกฝนตนนั้น เราต้องมีบททดสอบและแบบฝึกหัด บางคนอยู่แต่กับความสุขสบาย ไม่มีบททดสอบ ไม่มีแบบฝึกหัด เลยไม่รู้ว่าตัวเองเข้มแข็งจริงหรือไม่

อย่างคนที่ปฏิบัติธรรม ถ้าไม่เจอบททดสอบ ก็ยากที่จะรู้ว่าตัวเองปฏิบัติธรรมนั้นๆ ได้จริงหรือไม่ เรามีความเข้มแข็งจริงไหม

ชีวิตของเรานี้มีความมั่นคงในใจของตัวเองแค่ไหน ถ้ายังไม่เจอบททดสอบ เราก็ไม่รู้ แต่พอเจอบททดสอบเข้า เจอทุกข์โทมนัส เจอความเสื่อม การสิ้นลาภ สิ้นยศ ก็รู้เลยว่าเราเข้มแข็งจริงไหม

บททดสอบมาแล้ว เอ้า ยินดีเผชิญเลย เอาละ ฉันจะดูตัวเอง ว่าตั้งหลักอยู่ไหม แล้วเราก็สบายใจ จะไปมัวเศร้าโศกเสียใจอยู่ทำไม เมื่อได้บททดสอบมาดูตัวเองแล้ว ถ้าเรายังไม่เข้มแข็งพอ ก็จะได้มีโอกาสพัฒนาตัวต่อไป กลายเป็นว่า เราใช้ปัญหา หรือสิ่งที่เราประสบหรือเผชิญนี่แหละมาเป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาตัวเอง

คนเราที่พัฒนาความสามารถพัฒนาสติปัญญาขึ้นมานี้ โดยมากก็พัฒนาจากการที่ได้เผชิญปัญหา เผชิญอุปสรรค เผชิญสิ่งยาก แล้วพยายามคิดแก้ไข ไม่ย่อท้อ คนที่ไม่เจอสิ่งยาก ไม่เจอปัญหา พัฒนายาก ประสบความสำเร็จได้ยาก

ฉะนั้น เมื่อเจออะไรที่ไม่น่าปรารถนา จึงมองว่านี่คือเครื่องมือฝึกฝนพัฒนาตัวเรามาแล้ว เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ มันก็จะกลับกลายเป็นดีไป คนที่ชอบฝึกตน เมื่อเจออย่างนี้ ก็ได้ทั้งบททดสอบ ได้ทั้งเครื่องมือฝึกฝนพัฒนาตนเอง

เมื่อเราเข้มแข็ง เราเก่งกล้าสามารถในการเผชิญโลกและชีวิตอย่างนี้แล้ว ต่อไปข้างหน้า ถ้าเจออุปสรรคหรือปัญหาอย่างนี้อีก ที่มันเบากว่า ก็ง่าย เราไม่กลัว คนใดเอาชนะ ผ่านอุปสรรค ผ่านเหตุการณ์ ผ่านมรสุมชีวิตไปได้ด้วยดี คนนั้นจะเป็นผู้ที่แกร่งกล้า มีชีวิตที่ได้พัฒนา

ฉะนั้น โลกธรรมทั้งหลายนี้ เมื่อมองให้ดี มีแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น

อย่างคำนินทากับสรรเสริญ คนเราชอบคำสรรเสริญ แต่ว่ากันจริงๆ คนเราได้ประโยชน์จากคำนินทา หรือจากคำสรรเสริญ อันไหนมากกว่ากัน ขอให้คิดดู

จริงๆ นะ คำสรรเสริญนี่ว่าถึงประโยชน์ ก็ได้บ้าง เช่น ทำให้ดีใจ ภูมิใจ สุขใจ แต่ได้ประโยชน์น้อย เพราะอะไร เพราะเราทำได้อยู่แล้ว เราก็เป็นเพียงภูมิใจว่า อ้อ อันนี้เป็นที่ยอมรับนะ เราทำนี่ถูกต้อง อาจจะใช้เป็นเครื่องวัดได้ส่วนหนึ่ง แต่มันได้ประโยชน์จำกัด

ส่วนคำนินทาติเตียนนั้น เราได้ประโยชน์มาก ถ้าเราไม่ไปมัวย่อท้อ เราไม่ไปมัวเสียใจ คนที่จะติเตียนเรานั้น เขาต้องใช้เวลาคิดว่าเรามีจุดอ่อน มีข้อด้อยอะไรที่ไหน เขาจะติเตียนอย่างไรดี เขาอาจจะพิจารณาหาช่อง ห้าวัน เจ็ดวัน กว่าจะคิดออกมาได้

ตัวเรานี้ก็อยากจะพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว และขั้นตอนของการพัฒนาตัวเองอย่างหนึ่ง ก็คือการสำรวจตัวเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราควรสำรวจตัวเองอยู่ตลอดเวลา “ปฏิมํเส ตมตฺตนา” จะได้รู้ว่า เรามีจุดอ่อน จุดด้อย ข้อบกพร่องอะไร จะได้พัฒนาตัวได้ถูกต้อง แต่บางทีเราไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบตัวเองมากนัก หรือบางที บางช่อง บางแง่ เรามองไม่เห็นตัวเอง ถ้ามีคนอื่นมาช่วยมองให้ เราก็จะได้เห็นในสิ่งที่ตัวเราเองยังมองไม่เห็น

ยิ่งกว่านั้น คนที่จะติเตียนเรานี้ เขาไปคิดมาหลายวัน เมื่อเขาพูดออกมา อาจจะถูกบ้างผิดบ้าง ส่วนที่ไม่ถูก เราก็ไม่เอา แต่บางอย่างอาจส่องสะท้อนไปให้เราเห็นตัวเองในบางแง่ เราก็เลยได้โอกาส ไม่ต้องไปเสียเวลาคิดตั้งห้าวันเจ็ดวัน เขาคิดให้เราเสร็จ เราก็เลยเอาคำติเตียนของเขามาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนาตัวเอง

นี่ก็กลายเป็นว่า เราเลือกจับเอาประโยชน์ได้จากทุกสิ่ง แม้แต่ที่เลวร้ายที่สุด เมื่อทำได้อย่างนี้ ชีวิตก็จะดีงามประเสริฐ เป็นคนที่พัฒนาก้าวหน้าเรื่อยไป เพราะฉะนั้น อะไรที่ไม่ดี เอามาใช้ประโยชน์ให้หมด

มีพระบางองค์สำเร็จอรหัตตผลจากการได้ยินคำของคนบ้า คือ วันหนึ่งท่านเดินสวนทางกับคนบ้า คนบ้าพูดอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง ท่านสะกิดใจได้แง่คิด เลยสำเร็จเป็นพระอรหันต์

เป็นอันว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ จะดีหรือร้ายก็ตาม ถ้ารู้จักใช้ ก็เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงควรทำใจไว้อย่างนี้ คือ มองให้เห็นความจริง กับมองให้เห็นประโยชน์ อย่าไปมองในแง่ดี หรือแง่ร้าย มองในแง่ดี ก็หลอกตัวเอง มองในแง่ร้าย ก็หลอกตัวเอง มองให้ถูก ก็คือมองตามความเป็นจริง อย่างหนึ่ง และมองให้เห็นประโยชน์ อีกอย่างหนึ่ง

คำว่า “มองให้เห็นประโยชน์” กับ “มองในแง่ดี” ไม่เหมือนกันนะ คนละอย่างกัน การมองให้เห็นประโยชน์นั้น เล็งไปในเชิงปฏิบัติ คือจะเอามาทำให้เป็นประโยชน์ให้ได้ แก่โลก แก่ชีวิต แก่จิตใจ และกิจการงาน

ที่ว่ามานี้ก็คือโยนิโสมนสิการ ที่ใช้ในการปฏิบัติต่อโลกธรรม ที่ช่วยให้เราเผชิญกับโลกธรรม โดยมีวิธีมอง วิธีคิดที่ถูกต้อง และได้ผล

ชีวิตได้ประสบโลกธรรมเหล่านี้ ก็คือการได้พบกับอนิจจัง อันได้แก่ความเปลี่ยนแปลง และเราก็มีความรู้เท่าทัน และหาประโยชน์จากมันได้ ทำให้เรามีชีวิตที่สงบมั่นคง มีความสุขที่เป็นอิสระ อยู่ด้วยปัญญา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.