ธรรมะเพื่อผู้สูงอายุ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๒ -
อายุงานเกษียณแล้ว อายุเรายืนยาวต่อไป

ต่ออายุให้ยืน พร้อมด้วยใจกายที่แข็งแรง

ตอนนี้อาตมาอยากพูดถึงหลักธรรมหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งเหมาะจริงๆ ที่จะเรียกว่าเป็นธรรมะสำหรับผู้สูงอายุ คือ มาพูดกันว่า ผู้สูงอายุทำอย่างไรจะให้มีอายุยืน

ถ้าท่านศึกษาพุทธประวัติ จะทราบว่าตอนท้ายๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าพระองค์ต้องการมีอายุตลอดกัปตลอดกัลป์ พระองค์ก็อยู่ได้ แต่ว่ากัปในที่นี้หมายถึงอายุกัป ไม่ใช่หมายถึงกัปที่ยาวถึงสิ้นโลกครั้งหนึ่งๆ

อายุกัป หมายถึงกำหนดอายุ คือ เวลาที่เป็นช่วงชีวิตของคนในยุคนั้นๆ เช่นในสมัยพระพุทธเจ้าก็ถือว่ากำหนดอายุคนยาว ๑๐๐ ปี นี่เรียกว่าเป็นอายุกัป แต่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุเพียง ๘๐ พรรษา ก็ปรินิพพาน

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าพระองค์จะอยู่ให้ตลอดกัป ก็อยู่ได้ ก็หมายความว่า ถ้าพระองค์จะอยู่ให้ตลอด ๑๐๐ ปี ก็ได้ แต่พระองค์ทรงเห็นว่า พระพุทธศาสนามีรากฐานที่หยั่งลงมั่นคงพอแล้ว พุทธบริษัทพอจะทำหน้าที่สืบต่อสิ่งที่พระองค์วางไว้ได้แล้ว พระองค์ก็เลยปลงพระชนมายุสังขาร ตรัสว่าต่อจากนี้ไปอีก ๓ เดือน จะปรินิพพาน

ทีนี้ ที่พระองค์ตรัสว่า จะอยู่ได้ตลอดกัปนั้น จะอยู่ได้อย่างไร พระองค์ก็ทรงเฉลยไว้ด้วยว่า ต้องบำเพ็ญอิทธิบาท ๔ อันนี้เป็นหลักสำคัญในการที่จะทำให้อายุยืน ท่านผู้ปรารถนาจะมีอายุยืน ต้องบำเพ็ญอิทธิบาท ๔

อิทธิบาท ๔ นี้ เราเคยได้ยินกันในแง่ว่าเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความสำเร็จ อิทธิบาท แปลว่า ทางแห่งความสำเร็จ หรือธรรมที่จะให้ถึงความสำเร็จ มี ๔ ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

ถ้าใช้กับคนที่ทำงาน ก็บอกว่า

  1. รักงาน คือ ฉันทะ
  2. สู้งาน คือ วิริยะ
  3. ใจอยู่กับงาน คือ จิตตะ
  4. ทำงานด้วยปัญญา คือ วิมังสา

อันนี้เป็นหลักในการทำงาน แต่ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสว่า ใช้กับการที่จะทำให้อายุยืนได้ นี่แหละเป็นเรื่องสำคัญ

คนที่จะมีอายุยืน ต้องมี ฉันทะ คือ มีความพอใจ มีใจรัก มีความใฝ่ปรารถนาในอะไรสักอย่างหนึ่งที่ดีงาม ใจนึกถึงสิ่งที่คิดว่าจะทำ ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นคุณค่าที่ทำให้ชีวิตของเราดีงาม จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นก็ตาม เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราเองก็ตาม เช่นอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า เมื่อเกษียณแล้ว ก็มีโอกาสที่เราจะได้พัฒนาชีวิตให้เข้าถึงความดีงามบางอย่าง ที่เรายังไม่เคยเข้าถึง อย่างน้อยก็จะได้พัฒนาปัญญาให้เจริญงอกงาม จนรู้ความจริงของโลกและชีวิต หรืออย่างบางท่านก็สนใจอยากศึกษาธรรมะให้จริงจัง นี่คือเป็นโอกาสที่มาถึงแล้ว

ตอนนี้ต้องมีตัวนี้ก่อน คือ ฉันทะ แปลว่า ความใฝ่ปรารถนา มีความรักในสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่า ที่อยากจะทำ พอนึกถึงว่า เอ้อ อันนี้เราอยากจะทำ ใจเราชอบ ใจของเราจะไม่ห่อเหี่ยว ไม่ว้าเหว่ เพราะมีสิ่งที่ต้องการจะทำ มันจะคอยกระตุ้นไว้ให้เรามีแรง รวมความง่ายๆ ว่า ต้องมีอะไรดีที่ต้องการจะทำสักอย่างหนึ่ง

ถ้าพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ยังมีงานพระศาสนาที่ต้องทำอยู่ ก็ยังใฝ่พระทัยที่จะทำสิ่งนั้น พระองค์ก็จะมีจุดที่ใฝ่พระทัยอยู่ คือมีฉันทะ ก็จะทรงทำให้เป็นพลังชีวิตที่จะบำเพ็ญพุทธกิจต่อไป

แต่พระพุทธเจ้าไม่มีกิเลสที่จะเหงาหรือว้าเหว่ ส่วนคนทั่วไปนี่ซิ ถ้าไม่มีอะไรที่ใจปรารถนาจะทำสักอย่างหนึ่ง เดี๋ยวใจก็ว้าเหว่ เหงา แล้วก็หันไปครุ่นคิดขุ่นมัว และคาดหวังจากคนโน้นคนนี้ ว่าทำไมเขาไม่มาใส่ใจเรา แล้วก็จะห่อเหี่ยว ใจเสีย หมดแรงใจ หมดพลังชีวิต

เพราะฉะนั้น สิ่งแรกก็คือ มองหาและพิจารณาว่า เราต้องการทำอะไร ต้องมีสิ่งหนึ่งที่ต้องการจะทำ สำหรับบางท่านอาจจะเป็นงานอดิเรก บางท่านเกษียณอายุราชการแล้ว เขาอาจยังต้องใช้อยู่ หรืออาจจะขอให้ไปช่วยทำงานทำการบางอย่าง แต่บางท่านไม่ต้องทำงานให้ใคร ก็มาทำงานให้ตัวเอง

ตอนนี้ต้องมานึกดูว่า มีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ใฝ่ใจจะทำ ที่เห็นว่ามีคุณค่าเป็นประโยชน์ เตรียมไว้เลย พอมีอันนี้ ก็เอามาเป็นหลักประกันให้ใจมีจุดที่มุ่งไปข้างหน้า พอคิดว่าเราจะต้องทำอันนี้ ก็ไม่มีเวลาให้ใจเหงา ไม่มีเวลาให้เราคิดฟุ้งซ่าน

คนเรานี้ เมื่อไม่มีอะไรจะทำ ใจก็จะคิดฟุ้งซ่าน แต่ก่อนนี้วุ่นอยู่กับเรื่องงานการที่ทำในราชการ ต้องคอยกังวลใจ ใจก็ยุ่งแต่เรื่องงานตลอดเวลา พอทิ้งไปทันที พอหมดงานเท่านั้นแหละ ใจก็ฟุ้ง ใจก็ลอย เหงา ว้าเหว่ไป นี่แหละจิตฟุ้งซ่าน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ความเฉา ความเหงา ความว้าเหว่ใจ วิ่งเข้ามา อย่าไปปล่อยใจให้เหงาให้ว้าเหว่อย่างนั้น ต้องนึกถึงสิ่งที่จะทำ

ตอนที่ทำราชการนั้น อาจจะทำสิ่งที่ใจตัวไม่ต้องการจะทำ แต่จำเป็นต้องทำ แต่ตอนนี้เป็นโอกาส เราสามารถเลือกได้ กลายเป็นอิสระมากขึ้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าต้องการทำอะไร

เพราะฉะนั้น ตอนนี้ต้องวางแผน ถ้ามีฉันทะ มีสิ่งที่ใจใฝ่จะทำ มีสิ่งที่ต้องการจะทำ ก็ได้ตัวที่หนึ่งแล้ว ฉันทะเกิดแล้ว หายเหงาแล้ว ใจสบายแล้ว เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราจะทำนี้ มีคุณค่าอย่างแท้จริง ตรงกับที่ใจเราต้องการ เพียงแต่วางแผนคิดเตรียมไว้ให้ดี

ถ้าได้ฉันทะนี้แล้ว ก็เป็นตัวประกันที่ทำให้พร้อมจะมีอายุยืน บางคนมีฉันทะนี้แรงมาก บอกว่า ถ้าทำงานนี้ไม่เสร็จ ฉันยังตายไม่ได้ ชีวิตยังสิ้นสุดไม่ได้ ฉันไม่ยอมตาย ความใฝ่ใจประเภทนี้ไม่ได้อยู่แค่ใจที่รู้ตัวหรอก แม้แต่จิตใจที่ไม่รู้ตัว ลึกลงไปถึงจิตใต้สำนึก มันก็เตรียมของมันอย่างนั้นว่า งานนี้หรือสิ่งที่ต้องการจะทำอันนี้ ถ้ายังไม่เสร็จ เราจะตายไม่ได้ ต้องอยู่ไปก่อน

นี่แหละ บางคนเขาอยู่ได้เพราะอันนี้ คือเขามีสิ่งที่ต้องการจะทำ กลายเป็นว่า อาจจะดีกว่าตอนที่ทำราชการ เพราะตอนทำราชการนั้น อาจทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ซึ่งอาจจะไม่ชอบ แต่ตอนนี้จะทำในสิ่งที่ใจต้องการจะทำ ที่ใจชอบจริงๆ จึงได้มีฉันทะ

เมื่อมีสิ่งที่ต้องการทำด้วยฉันทะอย่างนี้ ชีวิตของผู้สูงอายุก็มีหลักแล้ว สบายไปครึ่งค่อนทีเดียว

ต่อจากฉันทะ ไปข้อที่ ๒ ก็คือ วิริยะ ได้แก่ความเพียรพยายาม ความแกล้วกล้าเข้มแข็ง มีกำลังใจที่จะสู้หรือเดินหน้า กำลังใจเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้คนเข้มแข็ง คนที่อายุมากอาจจะคิดว่า ตัวเรานี้ร่างกายอ่อนแอลงแล้ว ทำอะไรก็ไม่ค่อยไหว แต่ความอ่อนแอทางร่างกายนี้ ต้องประสานกับทางจิตใจ ถ้าจิตใจไม่อ่อนแอ ร่างกายก็แข็งแรงได้ ถึงแม้ร่างกายไม่แข็งแรงจริง แต่ใจที่มีกำลังนี่แหละ ทำให้เกิดความรู้สึกแข็งแรงได้

กำลังใจทำให้คนแข็งแรงได้อย่างไร เรามาดูในทางตรงข้าม คนที่ไม่มีกำลังใจ จิตใจอ่อนแอ ถึงแม้ร่างกายจะแข็งแรง ก็ไม่ค่อยมีความหมาย เคยได้ยินว่า นักกีฬาคนหนึ่ง อาจจะเป็นนักวิ่งที่แข็งแรง ร่างกายกำยำ เก่งมาก เขาไปสอบเข้าเรียนแห่งหนึ่งไว้ ต่อมาเดินไปดูประกาศผลการสอบ ไม่มีชื่อของตัว พอรู้ว่าไม่มีชื่อเท่านั้นแหละ แกเข่าอ่อนเลย แม้แต่ยืนก็ไม่อยู่ นี่แหละ คนที่หมดกำลังใจ ทั้งๆ ที่ร่างกายกำยำแข็งแรง เป็นนักกีฬากำลังมากนั่นแหละ พอหมดกำลังใจ ก็ไม่มีแรงเลย ร่างกายนั้นหมดความหมาย

ในทางตรงข้าม คนที่มีกำลังใจ แม้ว่าร่างกายจะอ่อนแอ กะปลกกะเปลี้ย ก็สามารถดิ้นรนขวนขวายทำโน่นทำนี่ไปได้ ร่างกายมีกำลังเท่าไร ก็ใช้กำลังนั้นได้เต็มที่เท่าที่จะใช้ได้ แม้แต่เมื่อกายหมดแรงนอนนิ่งแล้ว พอมีเหตุการณ์กระตุ้นเร้าใจฮึดขึ้นมา ก็ดึงพากายไปได้อีก เพราะฉะนั้นกำลังใจจึงสำคัญกว่ากำลังกาย

นอกจากนี้ กำลังใจที่ดียังส่งเสริมกำลังกายได้อีกหลายทาง เช่น เมื่อเรามีกำลังใจดี การเป็นอยู่เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารก็พลอยดีตามไปทุกอย่าง เหมือนอย่างคนเจ็บไข้ ถ้ากำลังใจไม่มี ก็ทรุดอย่างรวดเร็ว แต่พอมีกำลังใจ บางทีหมอทำนายไว้ว่าอยู่ได้ ๓ เดือน แกอยู่ไปได้ตั้งหลายปี

เพราะฉะนั้น จะต้องมีกำลังใจ ยิ่งเมื่อกำลังกายเสื่อมถอยลงไป ก็ยิ่งต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งมาชูไว้ จึงต้องชูกำลังฉันทะไว้ให้ดี

กำลังใจสัมพันธ์กับสิ่งที่อยากจะทำ เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ใจอยากทำนั้นดีงาม ถูกต้อง มีคุณค่า เกิดฉันทะขึ้นมาแล้ว ใจก็คิดถึงอยากทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ ก็เกิดกำลังใจ ทำให้ใจสู้ เข้มแข็ง อยากเอาชนะ จะทำให้สำเร็จให้ได้ กำลังใจนี้เป็นตัวยุ ทำให้เห็นสิ่งที่อยากจะทำนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทำให้เดินหน้า ยิ่งพยายามทำให้สำเร็จ ดังนั้น เมื่อความเพียรพยายามมา กำลังใจมา ก็ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ชีวิตก็มีเรี่ยวมีแรงก้าวต่อไปได้อีก นี้คือ อิทธิบาทตัวที่ ๒ วิริยะมาแล้ว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.