ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มัวรออำนาจดลบันดาลทำให้
พลเมืองก็ไม่พัฒนา ประชาธิปไตยก็ยิ่งถอยห่างไปไกล

เริ่มกันที่เรื่องแรก อำนาจเร้นลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสาง เทวดา เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์ทั้งหลายนั้น ในทางพระพุทธศาสนาท่านไม่มายุ่งกับปัญหาว่ามีจริงเป็นจริงหรือไม่ เทวดามีจริงไหม ไสยศาสตร์มีผลจริงหรือไม่ พุทธศาสนาไม่เถียงเลย เสียเวลา เพราะถึงจะเถียงกันไป 5,000 ปีก็ไม่จบ ไม่มีใครชนะ ปัญหาในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีหรือไม่มี และจริงหรือไม่จริง

สาระสำคัญของลัทธิความเชื่อถือเทพเจ้า ผีสาง เทวดา ปาฏิหาริย์ หรือไสยศาสตร์ ก็คือ หวังอำนาจดลบันดาลจากภายนอกมาทำให้ หรือรอคอยความช่วยเหลือ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการหวังพึ่งหรือรอความช่วยเหลือนั้นดีหรือมีโทษ ตรงนี้ต่างหาก ไม่ว่าอำนาจหรือฤทธิ์เดชนั้นจะมีจริงหรือไม่จริงก็ตาม ถ้าหวังพึ่งหรือรอความช่วยเหลือแล้วมีโทษ เกิดผลเสีย ถึงมีจริงก็ไม่ควรไปหวังพึ่ง

การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลนี้พระพุทธศาสนาเห็นว่ามีโทษมาก ท่านจึงให้พึ่งตนเอง พระพุทธศาสนาไม่ปฏิเสธเทวดา ท่านสอนให้แผ่เมตตาและทำบุญอุทิศให้เทวดา พระสวดมนต์ก็ชุมนุมเทวดาคือเชิญเทวดาทุกหมู่เหล่ามาฟังธรรมด้วย แต่อย่าไปอ้อนวอนรอคอยความช่วยเหลือหรือหวังพึ่งเทวดา

พระพุทธเจ้าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์ ทรงปราบฤาษี โยคี ชฎิลที่อวดฤทธิ์ได้หมด แต่ขอให้ตรวจดูเถิด ตามประวัติการบำเพ็ญพุทธกิจตลอด 45 พรรษา พระพุทธเจ้าไม่เคยใช้ฤทธิ์บันดาลผลสำเร็จให้ใครเลยแม้แต่คนเดียว เพราะหลักพระพุทธศาสนาไม่ต้องการให้คนงอมืองอเท้าคอยรอหวังพึ่งผู้อื่น แต่ท่านสอนให้ทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน ฉะนั้นจึงบอกได้เลยว่าการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลนั้นไม่ถูกต้อง ท่านไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีหรือไม่จริง แต่เมื่อรู้ว่าเป็นโทษ มีผลร้ายแล้ว ถึงมีจริงก็ไม่ควรหวังพึ่ง

พระพุทธศาสนาถือว่า การปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก จึงมีหลักอยู่ในองค์ของอุบาสกอุบาสิกาว่าไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว ให้หวังผลสำเร็จจากการกระทำ และมั่นใจในการกระทำ มิฉะนั้นจะเป็นคนโอนเอนไม่มั่นใจในตัวเอง

การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอกมี 2 อย่าง คือ อำนาจดลบันดาลจากสิ่งเร้นลับ กับอำนาจดลบันดาลจากคนด้วยกันที่มีทรัพย์มีอำนาจมากกว่า การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากเบื้องบนภายนอกขัดกับหลักพระพุทธศาสนาในข้อที่สำคัญ 4 ประการ คือ

1. ขัดหลักการทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน คือ หลักกรรมวาท วิริยวาท

2. ขัดหลักการฝึกฝนพัฒนาตน คือ หลักไตรสิกขา

3. ขัดหลักเร่งทำการด้วยความไม่ประมาท โดยใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “ขโณ โว มา อุปจฺจคา” เวลาแม้ขณะหนึ่ง อย่าให้ล่วงเลยท่านไปเสียเปล่า นี้คือ หลักอัปปมาทะ

4. ขัดหลักพึ่งตนเองและความเป็นอิสระ ซึ่งสอนย้ำนักว่าพึงทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ เพื่อให้บรรลุจุดหมายแห่งความหลุดพ้นมีอิสรภาพที่แท้จริง คือ หลักพึ่งตนเอง และวิมุตติ

การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก จากมนุษย์ด้วยกันก็ตาม หรือจากสิ่งเร้นลับที่มองไม่เห็นก็ตาม ไม่เฉพาะขัดกับหลักพระพุทธศาสนาในแง่การพัฒนาชีวิตของบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีผลร้ายในแง่สังคมด้วย กล่าวคือ ในแง่สังคมนั้น การที่คนมัวหวังพึ่งอำนาจจากภายนอกมาช่วยเหลือ จะทำให้เขามองข้ามเพื่อนมนุษย์ร่วมถิ่นร่วมชุมชนไปหมด เพราะว่าเมื่อคนต้องการผลประโยชน์หรือความสำเร็จ และผู้ที่จะให้ผลประโยชน์หรือบันดาลความสำเร็จแก่เขาอยู่ข้างนอก ไม่เกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ในชุมชนและท้องถิ่น เขาก็จะไม่ต้องคำนึงหรือใส่ใจถึงเพื่อนร่วมชุมชน

ดังนั้น ความหวังพึ่งอำนาจภายนอกนี้จึงทำให้คนไม่แสวงหาความร่วมมือจากเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในชุมชนหรือในท้องถิ่นของตน ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ว่า การจะพัฒนากิจการใดให้สำเร็จ คนในชุมชนจะต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ มนุษย์ที่อยู่ในชุมชนทุกคนจะต้องระดมศักยภาพความรู้ความสามารถมาช่วยกันแก้ปัญหา แต่ถ้าคนมัวหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอกมาช่วยเหลือ ก็ไม่ต้องหาความร่วมมือจากคนที่อยู่ในชุมชนด้วยกัน การพัฒนาประชาธิปไตยก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางสำเร็จ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.