ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ระวัง! การศึกษาที่แท้เพื่อพัฒนาคนไทย
หรือการศึกษาเทียมเพื่อลดคุณภาพคนไทย

คติว่า “มองกว้าง-คิดไกล-ใฝ่สูง” นั้น บางท่านเอาไปเปลี่ยนเป็นคำว่า “มองกว้าง-คิดไกล-ใฝ่ดี” หรือ “มองกว้าง-คิดไกล-ใฝ่รู้” ไม่ต้องเปลี่ยนหรอก เพราะเปลี่ยนแล้วจะรู้สึกเบาลง ไม่ค่อยเร้าใจและเสียพลังลงไป อย่างหลังนั้นท่านที่เปลี่ยนคงจะเอาจากอีกชุดหนึ่งมาผสมเข้า คือชุดที่ว่า “ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก” คำว่า “สู้สิ่งยาก” บางท่านไม่ค่อยเต็มใจจะรับ เพราะเข้าใจไปว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการพยายามทำให้ง่าย ชวนให้เด็กสนใจ ตรงนี้แหละระวังจะพลาด

การศึกษาที่ดีต้องช่วยให้เด็กพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ เพราะคนเรามีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อีกด้านหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ไปเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต เช่น กฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

การที่มนุษย์คนใดก็ตามจะพัฒนาได้ดี เขาจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้องกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต คือจะต้องสามารถมีชีวิตอยู่กับความเป็นจริงนั้นอย่างได้ผล ความเป็นจริงของโลกและชีวิตนั้นมันไม่เข้าใครออกใคร ทุกคนจะต้องรู้และรับผิดชอบตัวเองให้ได้ และมนุษย์เองก็ต้องมาช่วยกันท่ามกลางความเป็นจริงนั้นอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น พ่อแม่และครูจะมัวแต่ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กอย่างเดียวไม่ได้ การศึกษาแค่นั้นยังไม่เพียงพอ เป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิต เราจะต้องให้เด็กรู้จักสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตภายนอกอย่างได้ผลดีด้วย ถ้าเด็กไม่เข้มแข็ง คือไม่พัฒนาตัวให้รับผิดชอบชีวิตของตนเองได้แล้ว เขาจะอยู่ในโลกนี้อย่างดีไม่ได้ ฉะนั้นถ้าพ่อแม่และครูไปช่วยเหลือเด็กมากเกินไป ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี แต่เขาจะอ่อนแอ อยู่ในโลกไม่ไหว ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีความสัมพันธ์สองด้านอย่างมีดุลยภาพ

การสู้สิ่งยากและสู้ปัญหา เป็นคุณสมบัติที่จำเป็น ถ้าไม่อยากให้คนไทยเป็นผู้พ่ายแพ้หรือถูกครอบงำในโลกแห่งการแข่งขัน และถ้าไม่อยากให้เด็กของเรากลายเป็นคนเจ้าทุกข์ระทมเศร้า เป็นโรคจิตหรือหันไปพึ่งยาบ้าหรือฆ่าตัวตายง่ายๆ ในสภาพแวดล้อมที่มิใช่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อีกต่อไป

ในโลกยุคนี้ เมื่อเด็กออกไปอยู่ในสังคม เขาจะได้พบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกสบายมากมาย นี่เป็นด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่ง ในเวลาเดียวกันนั้น สังคมที่เจริญด้วยเทคโนโลยีก็มีความซับซ้อนที่ทุกคนจะต้องเข้มแข็งสามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย ถ้าเด็กมีแนวโน้มไปในทางอ่อนแอเห็นแก่ความสะดวกสบาย เมื่อไปพบกับระบบสังคมที่ซับซ้อน เช่นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สะดวกสบายนั้นก็ไม่ได้มาง่ายๆ เปล่าๆ แต่ต้องมีเงินหาซื้อ เป็นต้น เมื่อเผชิญกับระบบสังคมที่ซับซ้อนนี้ คนที่อ่อนแอก็สู้ไม่ได้ แล้วเด็กพวกนี้ก็จะมีปัญหา

ฉะนั้นจึงต้องสร้างพลังบุกฝ่า และแรงใจที่จะก้าวไปข้างหน้า ให้เด็กมีความเข้มแข็ง สู้สิ่งที่ยาก เมื่อเด็กเป็นคนเข้มแข็ง ไม่กลัวความยาก ก็จะกลายเป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย ในสังคมที่ซับซ้อนนี้คนอ่อนแอจะเหลือโอกาสที่จะมีความสุขได้น้อย แต่คนที่เข้มแข็งจะยิ่งมีโอกาสแห่งความสุขได้มาก

ความสุขแบ่งออกได้หลายระดับ คือ ความสุขทางพฤติกรรม ความสุขทางจิตใจ และความสุขทางปัญญา คนไทยที่เป็นนักเสพเห็นแก่บริโภค ก็จะได้เพียงความสุขทางพฤติกรรมที่อ่อนแอ ที่ง่ายๆ สะดวก พอเจออะไรยากก็เบื่อหน่าย ท้อใจ ถ้าไม่หันไปพึ่งยาอียาบ้า หรือหาเครื่องกล่อมใจในผับในบาร์ ก็เลยไปหาความสุขทางจิตโดยการนั่งสมาธิแบบหนีโลก กลายเป็นฤาษีสมัยใหม่ หรือโยคีธุรกิจ เวลานี้มีการใช้สมาธิอย่างไม่ถูกต้อง คือใช้สมาธิแบบเป็นยากล่อมกันมาก พระพุทธศาสนาสอนให้ก้าวไปถึงความสุขทางปัญญา ซึ่งเป็นความสุขอย่างอิสระ ที่จะเป็นฐานของความสุขทางพฤติกรรมและความสุขทางจิตใจอย่างแท้จริง

เหตุปัจจัยตัวแท้ที่จะทำให้คนเข้มแข็งสามารถแก้ปัญหาของสังคมได้ คือการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสาระของการพัฒนาคน แต่ก็ต้องให้เป็นการศึกษาแท้ที่ถูกต้องจึงจะพัฒนาคนได้

ปัจจุบันมีปัญหาซ้อนขึ้นมาคือ ยุคนี้กิจการแทบทุกอย่างของมนุษย์กำลังจะกลายเป็นธุรกิจไปหมด สังคมนี้กำลังเป็นสังคมยุคธุรกิจ แม้แต่การแพทย์ก็เป็นธุรกิจไปมากแล้ว เวลานี้การศึกษาก็เริ่มจะเป็นธุรกิจขึ้นมาด้วย คนไทยต้องคิดให้ดีว่าจะเอาการศึกษาเป็นธุรกิจหรือไม่ ต่อไปอาจเป็นได้ว่าจะเป็นยุคแห่งการต่อสู้ระหว่างการศึกษาเพื่อธุรกิจ กับการศึกษาเพื่อชีวิต คนไทยจะเลือกเอาอย่างไหน

การศึกษาเพื่อธุรกิจ หมายความว่า การศึกษาที่เป็นธุรกิจและดำเนินงานเพื่อสนองรับใช้ระบบผลประโยชน์ของธุรกิจ ซึ่งสนใจแต่เงินตรา ไม่ได้มุ่งพัฒนาตัวคน ส่วนการศึกษาเพื่อชีวิตหมายถึงการศึกษาที่เป็นการพัฒนาคนเพื่อให้คนมีชีวิตแห่งความดีงามและการสร้างสรรค์ สังคมไทยปัจจุบันนี้จะจัดการศึกษาเพื่อชีวิตหรือจัดการศึกษาเพื่อธุรกิจ ก็ต้องพิจารณาให้ดี เพราะเป็นเรื่องสำคัญว่าเราจะพัฒนาคนไทยกันจริงหรือไม่

ยังมีอีกคู่หนึ่ง คือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต กับการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิตนั้น มองเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย ก็สนใจในการพัฒนาคน แต่พัฒนาคนนั้นในฐานะเป็นทรัพยากรที่จะมาเป็นทุนหนุนเสริมเศรษฐกิจ ส่วนการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต มองเศรษฐกิจเป็นปัจจัย ที่จะให้คนที่พัฒนาแล้วสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปเป็นเครื่องเกื้อหนุนในการสร้างสรรค์ชีวิต สังคม และโลกที่ดีที่งามมีความเกษมสุข

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยกำลังกระจายอำนาจทางการเมืองออกไป การเมืองในที่นี้หมายถึงการเมืองแบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือประชาชนปกครอง ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพดีหรือไม่ก็อยู่ที่คุณภาพของประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้ปกครอง คุณภาพของประชาชนก็อยู่ที่การศึกษา ถ้ากระจายอำนาจทางการเมืองออกไปก็ต้องกระจายการศึกษาออกไปให้เป็นฐานของการเมืองที่ดีด้วย ถ้ากระจายการศึกษาไม่ได้ผลดี การกระจายอำนาจทางการเมืองก็เลื่อนลอยและเสี่ยงภัย แทนที่จะได้ก็จะกลายเป็นเสีย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.