ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แนวคิดแบบพุทธเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

กล่าวโดยสรุป คำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจนี้ มีจุดสนใจเบื้องแรกอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนทุกคนหรือคนทั่วไปมีปัจจัยสี่พอเพียงที่จะเป็นอยู่ได้ สภาพเช่นนี้จะต้องมีเป็นพื้นฐานเบื้องต้นไว้ก่อน เพราะว่า ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตอะไรต่อไป เพื่อความมีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่เป็นสุขนั้น ถ้าขาดแคลนปัจจัยสี่เป็นฐานเบื้องต้นเสียแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ไม่ว่าในชีวิตส่วนบุคคลหรือในสังคม เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงยอมรับความจำเป็นเบื้องแรกนี้ไว้เป็นขั้นต้นก่อน และจึงมีการเน้นมาก แม้แต่การจัดระบบเศรษฐกิจในวัดที่เรียกว่าวินัย อย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็ได้ย้ำเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยสี่ไว้มาก แต่สำหรับพระสงฆ์นั้น ชีวิตทางด้านเศรษฐกิจมีลักษณะพิเศษออกไปในแง่ที่ว่า พระสงฆ์นั้นควรมีชีวิตที่ดีงาม แม้แต่มีปัจจัยสี่น้อยที่สุด ก็มีความสุขได้ เป็นสุขที่ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุ เป็นตัวอย่างของคนที่แม้จะมีปัจจัยสี่น้อยที่สุด ก็มีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขได้ แต่สำหรับคนทั่วไป ท่านมุ่งให้มีปัจจัยสี่เป็นฐานเบื้องต้นก่อนที่จะมีทรัพย์สินอื่นๆ เมื่อมีปัจจัยสี่สำหรับความจำเป็นพื้นฐานแล้ว ก็ควรแสวงหาทรัพย์สินให้เพิ่มพูนขึ้น เพื่อให้พร้อมที่จะใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะผู้ครองเรือนนั้น นอกจากรับผิดชอบตัวเองให้เป็นอยู่ได้แล้ว ก็ยังมีความต้องการในทางวัตถุ ที่อาจจะมากสักหน่อย เพราะยังมีการพัฒนาทางจิตใจไม่มาก ยังหาความสุขทางจิตใจได้น้อย จึงยังต้องพึ่งพาวัตถุมาก นอกจากนั้น ยังมีภาระอื่นๆ ที่ต้องอาศัยวัตถุและทรัพย์สินเงินทองอีก เช่น การเลี้ยงดูคนที่เกี่ยวข้อง คนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ตลอดถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสังคมนี้ และการช่วยสนับสนุนการประกาศธรรม เผยแพร่ชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จึงมีภาระทางเศรษฐกิจในการที่จะแสวงหาทรัพย์สินมากขึ้น แต่ก็เริ่มต้นจากปัจจัยสี่นี้เหมือนกัน และสำหรับผู้ปกครองประเทศ หรือผู้รับผิดชอบต่อสังคม ก็มีภารกิจทางเศรษฐกิจต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจะจัดสรรให้คนทั่วไป มีปัจจัยสี่พอที่จะเป็นอยู่ได้ มีสัมมาชีพที่จะเลี้ยงตนเอง และช่วยส่งเสริม จัดสภาพสังคม ให้เอื้อต่อการที่กิจกรรมในทางเศรษฐกิจของสังคมนั้นจะดำเนินไปได้ด้วยดี โดยราบรื่น ไม่เกิดปัญหาการแย่งชิงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และไม่ให้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น นำมาซึ่งความไม่สงบสุข ความเดือดร้อนในสังคม แต่จัดสรรให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในสังคมและความเป็นอยู่ดีทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น เป็นปัจจัยส่งเสริมเกื้อกูลแก่การพัฒนาศักยภาพของบุคคล ให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา เพื่อความมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป อันนี้ก็เป็นภาระของนักปกครองในการที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ

หลักปฏิบัติเกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้น โดยทั่วไปจะเป็นหลักปฏิบัติต่อปัจจัยสี่และต่อทรัพย์สินเป็นสำคัญ ตามที่กล่าวมานี้ ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ก็ดี ต่อทรัพย์สินสมบัติต่างๆ ก็ดี เมื่อว่าตามหลักการของพระพุทธศาสนาจะรวมได้เป็นสี่ข้อด้วยกัน คือ

๑. การแสวงหาทรัพย์ ต้องคำนึงถึงว่าจะได้ทรัพย์มาอย่างไร ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการผลิตด้วย โดยมีหลักการที่เน้นว่า ให้การแสวงหาทรัพย์นั้นเป็นไปโดยทางชอบธรรม ไม่กดขี่ข่มเหง ส่วนในทางบวกก็คือ ให้เป็นไปด้วยความขยันหมั่นเพียร และความฉลาดในการจัดสรรดำเนินการ อย่างที่ท่านชอบใช้คำบรรยายว่า ด้วยความขยันหมั่นเพียร อาบเหงื่อต่างน้ำได้มา อะไรทำนองนี้ โดยย่อก็คือ การแสวงหาทรัพย์ที่เป็นไปโดยชอบธรรมหรือเป็นธรรม

๒. การเก็บออม หรือการรักษาทรัพย์ ตลอดจนการสะสมทุน เป็นด้านที่สองที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือการปฏิบัติต่อทรัพย์ การเก็บออมรักษานี้ ด้านหนึ่งเป็นการเก็บออมไว้เป็นทุนทำงานหรือเป็นทุนในการประกอบการ คือ ใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพของตนต่อไป และอีกด้านหนึ่งคือการเก็บออมไว้เป็นหลักประกันชีวิตในยามจำเป็น เช่น เมื่อเจ็บไข้ หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการสะดุดในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างที่ว่ามา นอกจากนั้นเมื่อกำลังการออมเกินจำเป็นสำหรับการใช้จ่ายสองด้านนั้น ก็กลายเป็นทุนสำหรับการสงเคราะห์บำเพ็ญประโยชน์ จรรโลงธรรม และเกื้อหนุนสังคมต่อไป

๓. การใช้จ่าย แยกได้เป็นด้านที่หนึ่ง การใช้จ่ายเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว รวมทั้งบิดามารดา และคนในความรับผิดชอบให้มีความสุข ด้านที่สอง คือ การเผื่อแผ่แบ่งปันเพื่อไมตรีจิตมิตรภาพ ความอยู่ดีในสังคม และการอยู่ร่วมกันด้วยความสุขในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ เช่น การปฏิสันถาร การต้อนรับ การสังสรรค์ในหมู่ญาติมิตร ด้านที่สาม คือ การใช้จ่ายทรัพย์นั้นทำความดี บำเพ็ญคุณประโยชน์ แม้แต่การเก็บรักษาหรือออมทรัพย์ในข้อที่ ๒. ก็อาจจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์นี้ด้วย ดังกล่าวแล้วในข้อก่อน

๔. การสัมพันธ์กับชีวิตด้านอื่น โดยเฉพาะด้านจิตใจ เช่น ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ห่วงกังวลเป็นทุกข์ กินใช้อย่างรู้เท่าทันความจริง ทำให้ทรัพย์สมบัตินั้นเป็นปัจจัยหรือเป็นฐานให้เกิดความพร้อมในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยิ่งขึ้นไป หรือใช้เป็นเครื่องช่วยทำให้เกิดความพร้อมในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ในการที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจ พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา

หลักการเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์ ในทางพระพุทธศาสนา เท่าที่สรุปได้จากคำสอนทั่วๆ ไป จะเห็นว่ามีสี่ประการอย่างที่ว่ามานี้ และมีข้อสังเกตซึ่งได้เคยพูดไปแล้ว แต่ขอเอามาย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า จะเห็นว่า ในทางพุทธศาสนานี้ พฤติกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่แยกต่างหากจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ของชีวิต ทัศนะนี้สอดคล้องกับการปฏิบัติในชีวิตที่เป็นจริง เพราะว่าในชีวิตที่เป็นจริงนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ไม่สามารถจะแยกออกจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ของชีวิตได้ คือ การมีชีวิตที่ดี ก็จะต้องมีกิจกรรมที่ดีในด้านต่างๆ สอดคล้องกลมกลืนปะปนกันไป แม้ว่าเราจะเอาวิชาเศรษฐศาสตร์มาเป็นวิชาชำนาญเฉพาะด้าน และเราก็สามารถที่จะศึกษาลึกซึ้งเฉพาะด้าน แต่เราก็จะต้องไม่ลืมหลักการใหญ่ที่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว จะต้องเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจมาโยงเข้ากับสภาพความเป็นจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลายอิงอาศัยซึ่งกันและกัน สัมพันธ์กันไปหมด การสอนวิธีประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องในทางเศรษฐกิจ ก็เป็นการสอนเกี่ยวกับพฤติกรรมและกิจกรรมส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น คำสอนในทางเศรษฐกิจของพระพุทธศาสนา จึงประสานโยงและปะปนกันไปกับคำสอนด้านอื่นๆ โดยรวมอยู่ในหมวดเดียวกัน ในการสอนครั้งหนึ่งจึงอาจจะมีคำสอนทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านจิตใจไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะเป็นเรื่องที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันอย่างที่ว่ามาแล้ว และเราก็ต้องการผล คือ เพื่อชีวิตที่ดีงาม ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่ดีงามหลายๆ ด้านมาประสานเข้าด้วยกัน ถ้าเราต้องการจะเอาคำสอนทางเศรษฐศาสตร์ในพระพุทธศาสนา เราก็ต้องมาสกัดออกไปเองจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่บูรณาการอยู่กับคำสอนด้านอื่นๆ เหล่านี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.